ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด
  จำนวนคนเข้าชม  22386

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด

          เมื่ออับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอู๊ด กำลังย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เขาได้ออกจากบ้านไปสู่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ตามไหล่เขาในมักกะฮฺ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากผู้คน เพื่อรับจ้างเลี้ยงแกะให้หัวหน้าของชาวกุเรชคนหนึ่งชื่อ "อุกบะห์ บิน มุอี๊ด" ใครๆก็เรียกอับดุลลอฮฺว่า "อิบนุ อุมมิ อับดฺ" ทั้งที่ชื่อจริงของท่านคือ "อับดุลลอฮฺ" และบิดาของท่านชื่อ "มัสอู๊ด"

          เด็กหนุ่มผู้นี้ได้ยินข่าวของนบีท่านหนึ่ง ซึ่งปรากฎในหมู่ชนของเขา แต่เขาก็ไม่สนใจเพราะยังเยาว์วัยอยู่และไม่ค่อยได้สังคมกับชาวมักกะห์ อีกอย่างหนึ่งเขาเอาแต่ขมักเขม้นอยู่กับการออกไปเลี้ยงแกะของ "อุกบะห์" ตั้งแต่เช้าตรู่ กว่าจะกลับเข้าบ้านก็มืดค่ำ อยู่มาวันหนึ่ง "อับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอู๊ด" หนุ่มน้อยชาวมักกะห์มองเห็นชายสูงอายุสองคน กิริยาท่าทางน่าเลื่อมใสทั้งคู่ มุ่งหน้ามาหาเขาแต่ไกลดูทั้งสองจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก กระหายน้ำจนปากคอแห้งผาก

เมื่อทั้งสองมาถึงก็ให้สลามและกล่าวว่า :

          พ่อหนุ่มน้อย ช่วยรีดนมแกะเหล่านี้ให้เราดื่มดับกระหายด้วยเถิด

อับดุลลอฮฺตอบว่า :

          ฉันรีดนมให้ไม่ได้ เพราะแกะเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิทธิ์ของฉัน ฉันเป็นเพียงแต่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลเท่านั้น

          ชายทั้งสอง ไม่ว่ากระไรต่อคำปฎิเสธของอัลดุลลอฮฺ แต่กลับมีสีหน้าแสดงความพอใจ และชายอีกคนหนึ่งก็กล่าวกับอับดุลลอฮฺว่า :

          บอกหน่อยชิว่าแกะตัวไหนที่ยังไม่เคยผสมพันธุ์

         อับดุลลอฮฺจึงชี้ไปที่แกะตัวหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆนั้น ชายผู้นั้นจึงเดินเข้าไปจับไว้ ใช้มืออีกข้างหนึ่งรีดนมของมันพร้อมกับกล่าวพระนามของอัลเลาะห์ อับดุลลอฮฺ มองดูชายผู้นั้นอย่างแปลกใจ พลางก็นึกอยู่ว่า :
        
          แล้วเมื่อไหร่น้ำนมมันจะไหลออกมา?"
แกะตัวเล็กนิดเดียวมิหนำซ้ำยังไม่เคยผสมพันธุ์อีกด้วย จะมีน้ำนมได้อย่างไร?

         แต่ทันใดนั้นเต้านมเริ่มพองตัวและมีน้ำนมพุ่งออกมาเป็นจำนวนมาก ชายอีกคนหนึ่งรีบใช้มือทั้งสองป้องนมไว้จนเต็มชายทั้งสองก็ดื่มนม และให้ฉันดื่มด้วย ฉันเกือบไม่เชื่อสิ่งที่ได้เห็นกับตา เมื่อเราดื่มจนอิ่มแล้วชายผู้นั้นก็กล่าวกับเต้านมแกะว่า "จงแห้งลงเถิด" ทันใดนั้นมันก็ค่อยๆยุบลงจนกระทั่งกลับคืนสู่สภาพเดิม
อับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด จึงกล่าวกับชายผู้มี "บะรอกัต" ว่า :

          ช่วยสอนคำที่ท่านกล่าวนั้นให้ฉันด้วยซิ
     
ชายผู้นั้นตอบว่า :

          เจ้าเป็นเด็กหนุ่มที่มีทีท่าว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ

         ดังกล่าวนี้ คือจุดเริ่มต้นชีวประวัติของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ซึ่งเกี่ยวโยงกับศาสนาอิสลาม เพราะชายผู้ประเสริฐนั้นมิใช่ใครอื่น คือท่านรอซูล และอีกท่านหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ ท่านรอซูล คือท่านอบูบักรฺ ซึ่งในวันนั้นทั้งสองออกจากบ้าน มุ่งมายังซอกซอยตามภูเขาในมักกะห์ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกินขอบเขตของฝ่ายกุเรชซึ่งก่อความเดือดร้อน และก่อกรรมทำเข็ญต่อท่านทั้งสอง และเช่นเดียวกันที่เด็กหนุ่มผู้นั้นชื่นชอบท่านร่อซูล กับเพื่อนสนิทของท่าน ท่านทั้งสองพึงพอใจเด็กหนุ่มผู้นั้นมาก ชื่นชมในความมีอะมานะห์เป็นที่ไว้วางใจ และความเด็ดขาดของเขาทั้งสองได้สังเกตเห็นอากัปกิริยาที่ส่อว่าจะมีอนาคตดี

          วันเวลาผ่านพ้นไปไม่กี่วัน อับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็รับนับถือศาสนาอิสลาม และเสนอตัวต่อท่านรอซูล ขออยู่รับใช้ท่าน ท่านก็รับไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อับดุลลอฮฺ อิบนิมัสอู๊ด เด็กหนุ่มผู้โชคดีก็เปลี่ยนสภาพจากเด็กเลี้ยงแกะ เป็นผู้รับใช้ท่านนบีมุฮัมมัด ผู้นำของประชาชาติทั้งผอง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด อยู่กับท่านรอซูลเป็นประจำมิได้ออกห่าง คอยติดตามคล้ายดังเงา บริการรับใช้มิได้ห่างไม่ว่าท่านร่อซูล จะอยู่กับบ้าน หรือในยามที่จะต้องเดินทาง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ดจะอยู่ใกล้ชิดท่านร่อซูล ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เมื่อท่านรอซูลต้องการจะตื่นนอนเวลาใด อับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็จะปลุกให้ เมื่อท่านรอซูลอาบน้ำ อับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็จะหาสิ่งปิดกลั้นบังตาให้ ท่านรอซูลจะออกจากบ้าน ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็จะสวมรองเท้าให้ เมื่อท่านรอซูลเดินทางถึงที่หมายและจะเข้าไปในสถานที่นั้นๆท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด จะถอดรองเท้าให้ และจะเก็บรองเท้ากับไม้ซิวาก(ไม้ถูฟัน)ไว้ด้วย เมื่อท่านรอซูลเข้าห้องนอน ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็จะเฝ้าอยู่หน้าประตู ยิ่งกว่านั้นท่านรอซูล ยังอนุญาตให้เข้าข้างในบ้านได้ตามสะดวกอีกด้วย และยิ่งกว่านั้นท่านร่อซูล ยังอนุมัติให้รู้ความลับได้โดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องละเมิด จนกระทั้งถูกขนานนามว่า "เป็นผู้รักษาความลับของ ท่านรอซูล"

          ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิมัสอู๊ด ได้รับการอบรมอยู่ในบ้านของท่านรอซูล ค้นพบแนวทางที่ถูกต้องด้วยการแนะนำของท่านรอซูล มีมารยาทงดงามตามมารยาทของท่านรอซูล มีบุคลิกคล้ายกับบุคลิกของท่านร่อซูล เอาเยี่ยงอย่างท่านรอซูลทุกประการ จนกระทั้งกล่าวกันว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด นั้นใกล้ชิดท่านรอซูล มากกว่าผู้อื่น ทั้งด้านการกระทำบุคลิกภาพ และจริยธรรม

          ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนของท่านรอซูล ดังนั้นท่านอับดุลลอฮฺจึงเป็นศอหะบะห์ที่อ่านอัลกุรอานเก่ง เข้าใจความหมาย ตลอดจนรู้บทบัญญัติของอัลเลาะห์ยิ่งกว่าศอหะบะห์ท่านอื่นๆ ดังกล่าวมานี้ได้รับการยืนยันจากชายผู้หนึ่ง ซึ่งท่านได้มาหาท่าน อุมัร อิบนิล ค๊อฎฎ็อบ ซึ่งกำลังอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะห์

ชายผู้นั้นกล่าวว่า :

          โอ้ท่านอะมีรุลมุอฺมินีน ฉันมาจาก "กูฟะห์" และได้ปล่อยให้ชายผู้หนึ่งซึ่งท่องจำกุรอานไว้ที่นั้น
    
ท่านอุมัร โกรธมาก ท่านถึงกับอุทานเสียงดังลั่น ได้ยินตั้งแต่หัวขบวนจนถึงท้ายขบวนที่มาจาก กูฟะห์ว่า :

          เจ้านี่แย่จริงๆ ทิ้งใครไว้ที่กูฟะห์หรือ?

ชายผู้นั้นตอบว่า :

          ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด
   
เมื่ออุมัร หายตกใจท่านจึงกล่าวว่า :

          แย่จริง ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ ถ้าพวกเจ้ามาจากกูฟะห์อีก ครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำ อับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ดมาด้วย เพราะท่านเป็นคนสำคัญมากคนหนึ่ง ฉันจะเล่าเรื่องความสำคัญของท่านอับดุลลอห์ บิน มัสอู๊ด ให้เจ้าฟัง

ต่อจากนั้น ท่านอุมัร ก็เริ่มเล่าเรื่องว่า :
 
          ครั้งหนึ่งมืดแล้ว ท่านรอซูล ไปหาท่านอบูบักรฺ และต่างก็สนทนาเกี่ยวกับกิจการของพี่น้องมุสลิม ฉัน(หมายถึงท่านอุมัร)ก็อยู่ร่วมเจรจาครั้งนั้นด้วย เสร็จแล้วท่านรอซูล ก็กลับบ้าน พวกเราก็ออกมาด้วย ขณะที่เดินผ่านมัสยิดก็เห็นชายผู้หนึ่งยืนละหมาดอยู่ ไม่รู้แน่ชัดว่าท่านคือใคร
 
ท่านร่อซูลจึงหยุดฟังและหันมากล่าวว่า :

          ผู้ใดอยากจะภาคภูมิใจว่าอ่านกุรอานมีอรรถรสไพเราะเหมือนกับที่กุรอานถูกประทานมา ก็จงอ่านตาม "อิบนิ อุมมิ อับดฺ" (หมายถึงท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ดเถิด)
    
จนกระทั้งท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ละหมาดเสร็จก็นั่งขอดุอาอฺ ท่านรอซูล จึงกล่าวว่า :

          จงขอเถิด อัลเลาะห์จะทรงตอบสนองตามความต้องการ

          ท่านอุมัร เล่าต่อไปว่า ฉันนึกในใจว่า ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ ฉันจะต้องรีบเข้าไปบอกอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ให้ทราบข่าวที่น่ายินดีนี้ว่าท่านรอซูล รับประกันการขอดุอาอฺครั้งนี้แล้ว จะขอสิ่งใดก็จะได้สมความปรารถนาทุกประการ แต่เมื่อฉัน(หมายถึงท่านอุมัร) เข้าไปก็พบว่าท่านอบูบักรฺเข้ามาบอกข่าวดีแก่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด อยู่ก่อนแล้ว ฉันขอสาบานต่ออัลเลาะห์ว่า ฉันไม่เคยได้มีโอกาสแข่งขันเรื่องทำความดีกับท่านอบูบักรฺเลยเพราะท่านอบูบักรฺต้องทำก่อนฉันเสมอ


เกี่ยวกับความรู้ในคัมภีร์อัลกุรอานของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ดนั้น ท่านเคยกล่าวว่า  :

          ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ผู้ซึ่งไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์เท่านั้น ทุกๆครั้งที่คัมภีร์ถูกประทานลงมา ฉันต้องรู้ว่า ลงมา ณ ที่ใด และลงมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ใด ถ้าหากว่ามีผู้อื่นรู้มากกว่าฉัน ฉันต้องไปหาเขาแน่นอน ถ้าไม่มีอุปสรรคใดๆที่ฉันจะไปให้ถึงผู้นั้น

          ท่านอับดุลลอฮฺมิได้แอบอ้างตัวเอง แต่ท่านอุมัร ก็เป็นประจักษ์พยานให้ด้วย เพราะคืนหนึ่งขณะที่ท่านอุมัร ออกเดินตรวจตราท้องที่อยู่นั้น ท่านพบกองคาราวานบรรทุกสินค้าในระหว่างทาง ความมืดเข้าปกคลุมจนไม่สามารถรู้ว่าใครเป็นใครอยู่ในกองคาราวานนั้น ไม่รู้ว่าท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ดร่วมอยู่ในกองคาราวานนั้นด้วย ท่านอุมัรจึงใช้ให้ชายผู้หนึ่งร้องถามว่า :

          กองคาราวานนี้มาจากไหน?

          ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด (ซึ่งได้ร่วมมากับกองคาราวานนั้นด้วยแต่ฝ่ายท่านอุมัรไม่มีผู้ใดรู้เพราะต่างก็อยู่ในความมืด) จึงตอบด้วยกุรอานว่า มาจาก

          "ฟัจญินอะมี๊กฺ" หมายถึง "เส้นทางอันแสนไกล" ( อัลฮัจญ์ 22 :27 )

ท่านอุมัร ได้ยินดังนั้นจึงถามว่า :

          แล้วพวกเจ้าจะไปแห่งหนใด?

ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด ก็ตอบด้วย อัลกุรอาน อีกว่า :

         "อัลบัยติลอะติ๊ก" หมายถึง "บัยตุลลอฮ์" (อัลฮัจญ์ 22:29)

 

โปรดติดตามตอนต่อไป


ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัสอู๊ด 2 >>>Click