มาต้อนรับรอมาฎอนกันเถิด
  จำนวนคนเข้าชม  7449

 

มาต้อนรับเราะมะฎอนกันเถิด


 

1. ประกาศข่าวดีและแสดงความยินดีกับการมาถึงของเราะมะฎอน

     อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า เราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«أَتَاكُمْ رَمَضَانَ، شَهْرٌ مُبَارَكٌ، فَرَضَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، تُفْتَحُ فِيْهِ أَبْوَابُ السَّمَاءِ، وَتُغْلَقُ فِيْهِ أَبْوَابُ الْجَحِيْمِ، وَتُغَلُّ فِيْهِ مَرَدَةُ الشَّيَاطِيْنِ، للهِ فِيْهِ لِيْلَةٌ هِيَ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ، مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ»

     “เราะมะฎอนได้มาเยือนพวกเจ้าแล้ว เดือนแห่งความประเสริฐ อัลลอฮฺทรงบัญชาให้พวกเจ้าถือศิยามในเดือนนี้ เดือนที่บรรดาประตูสวรรค์ถูกเปิดอ้า   และประตูนรกถูกลงกลอน เดือนที่บรรดามารร้ายชัยฏอนที่ทะลึ่งลำพองถูกสวมปลอกคอ

     สำหรับอัลลอฮฺในเดือนนี้ มีอยู่คืนหนึ่งที่ (การอิบาดะฮฺในคืนนั้น) ประเสริฐกว่า (การอิบาดะฮฺใน) หนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ถูกห้ามจากความดีของมัน(หมายถึงไม่ได้รับประโยชน์จากเราะมะฎอน) แท้จริงเขาก็จะ (เป็นผู้ที่) ถูกห้าม(หมายถึงไม่ได้กำไรชีวิตอะไรเลย) 

          อิบนุเราะญับกล่าวว่า “อุละมาอ์บางท่านระบุว่า หะดีษนี้เป็นพื้นฐานหลักของการแสดงความยินดี (ตะฮฺนิอะฮฺ) ต่อกันของมนุษย์ (ต่อการมาเยือนของ) ดือนเราะมะฎอน จะไม่ให้มุอ์มินผู้ศรัทธาแสดงความยินดีได้อย่างไรกับการที่ประตูสวรรค์ถูกเปิดอ้า ? จะไม่ให้ผู้กระทำบาปแสดงความยินดีได้อย่างไรกับการที่ประตูนรกถูกลงกลอนและปิดลง ? จะไม่ให้ผู้มีสติปัญญาแสดงความยินดีได้อย่างไรกับเดือนที่ชัยฏอนมารร้ายถูกมัดตรึงไว้ ? จะหาเวลาที่ไหนอีกเล่าที่ (มีความประเสริฐ) คล้ายคลึง(หรือเทียบเท่า) กับเวลาในเดือนนี้ ?”


 

2. แสดงความยินดีและมีความสุขกับการมาถึงของเราะมะฎอน

          การแสดงออกถึงความยินดีกับฤดูการแห่งการภักดี พร้อมทั้งเสียดายและโศกเศร้ากับการพรากจากไปของมัน เป็นสิ่งที่บรรดาชาวสะลัฟต่างเห็นพ้องว่าอนุญาตให้กระทำ

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«قُلْ بِفَضْلِ ٱللهِ وَبِرَحْمَتِهِ فَبِذَلِكَ فَلْيَفْرَحُواْ هُوَ خَيْرٌ مّمَّا يَجْمَعُونَ»

     “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า (เหล่านั้นเป็นเพราะ) ด้วยความกรุณาของอัลลอฮฺ และความเมตตาของพระองค์ ดังนั้น ด้วยการดังกล่าว พวกเขาจงแสดงความดีใจ สิ่งนั้น(ความกรุณาและเมตตาของพระองค์นั้น)ย่อมดียิ่งกว่าสิ่ง (บรรดาทรัพย์สินบนโลกนี้) ที่พวกกำลังเขาสะสมอยู่”

(ยูนุส, อายะฮฺที่ 58)

     ฮิลาล บิน ยะสาฟ กล่าวว่า “หมายถึง ด้วย (การประทานทางนำแห่ง) อัลอิสลามและอัลกุรอาน”

     อิบนุ เราะญับกล่าวว่า “การมาถึงของเดือนเราะมะฎอนและการศิยามในเดือนนี้เป็นนิอฺมัตที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้ที่อัลลอฮฺทรงประทานความสามารถให้แก่เขา ดังหะดีษของบุคคลสามคนที่มีสองคนเสียชีวิตในสนามรบ (ชะฮีด) และอีกหนึ่งคนเสียชีวิตบนเสื่อหลังจากการเสียชีวิตของทั้งสอง แล้วเขาก็ฝันว่าเขา(ผู้ที่เสียชีวิตบนเสื่อ)ได้นำหน้าทั้งสองคน(ที่ตายชะฮีด) ดังนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวแก่เขาว่า

«أَلَيْسَ بَعْدَهُمَا كَذَا وَكَذَا صَلاَةٌ، وَأَدْرَكَ رَمَضَانَ فَصَامَهُ، فَوَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ، إِنَّ بَيْنَهُمَا لأَبْعَدُ مِمَّا بَيْنَ السَّمَاءِ وَالأَرْضِ»

      “หลังจากที่ทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว ยังมีละหมาดจำนวนเท่านั้นเท่านี้มิใช่หรือ และเขาก็ทันกับเดือนเราะมะฎอนและถือศิยามในเดือนนั้นมิใช่หรือ และฉันของสาบานด้วยพระนามของผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แท้จริงระยะทางระหว่างทั้งสองนั้นห่างไกลยิ่งกว่าระหว่างชั้นฟ้าและแผ่นดิน”

          ดังนั้น ผู้ใดได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺในเดือนเราะมะฎอน เขาก็จะเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตา และผู้ใดไม่ได้รับความเมตตาในเดือนนี้ เขาก็จะไม่ได้รับความเมตตา และผู้ใดไม่ยอมตระเตรียมสัมภาระสำหรับวันที่มาถึง (วันกิยามะฮฺ) เขาก็จะเป็นผู้ที่ถูกตำหนิ


 

3. ผู้ใดบ้างที่ดีใจและยินดีกับการมาถึงของเดือนเราะมะฎอน

          ผู้ที่ดีใจและปราบปลื้มกับการมาถึงของเดือนเราะมะฎอนส่วนใหญ่จะเป็นบรรดาผู้ที่ชอบทำอิบาดะฮฺและศรัทธา ค้านกับบรรดาผู้ที่หลงระเริงอยู่กับสิ่งบันเทิงและกระทำการเนรคุณต่างๆ ซึ่งการมาถึงของเดือนเราะมะฎอนสำหรับพวกเขาแล้วเสมือนกับว่าเป็นการปิดประตูทำมาหากินของพวกเขาเลยทีเดียว

          ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาและหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮฺ พวกเขาจะดีใจและยินดีเป็นล้นพ้นกับการมาถึงของเดือนเราะมะฎอน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสวงหาความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺอีกครั้งหนึ่ง เพราะเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการอิบาดะฮฺที่มีหลากหลายรูปแบบ และเป็นเดือนที่อัลลอฮฺทรงเตรียมรางวัลและผลบุญเพื่อตอบแทนแก่บ่าวผู้ภักดีของพระองค์อย่างไม่คณานับ อาทิเช่น

 

1. รางวัลจากการศิยาม

อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«ومَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

     “และผู้ใดถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน ด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิด (บาป) ที่ผ่านมา” 

     อิบนุ หะญัรกล่าวว่า “คำว่า (ด้วยเปี่ยมศรัทธา) หมายความว่า “เชื่อมั่นในสัญญาของอัลลอฮฺที่จะทรงประทานผลบุญต่อการปฏิบัติดังกล่าว” และคำว่า (หวังในผลบุญ) หมายความว่า “หวังเพียงค่าตอบแทน (ผลบุญจากอัลลอฮฺ) เท่านั้น ไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝง ไม่ว่าจะเป็นการโอ้อวด (ริยาอ์) หรืออื่นๆ”

 

2. รางวัลจากการละหมาดตะรอวีหฺ

อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

     “ผู้ใดที่ลุกขึ้น (ละหมาดหรือประกอบอิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนเราะมะฎอน ด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิด (บาป) ที่ผ่านมา” 

     อิมาม อันนะวะวีย์กล่าวว่า “คำว่า (ละหมาดในค่ำคืนเราะมะฎอน) ในที่นี้หมายถึงละหมาดตะรอวีหฺ” 

 

3. รางวัลจากการละหมาดในค่ำคืนอัลก็อดร์

อบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมกล่าวว่า

«مَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ»

     “ผู้ใดลุกขึ้น (ประกอบอิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ด้วยเปี่ยมศรัทธาและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิด (บาป) ที่ผ่านมา” 

 

4. รางวัลจากการทำอุมเราะฮฺ

อิบนุ อับบาส เล่าว่า นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวแก่สตรีชาวอันศอรนางหนึ่งว่า

«مَا مَنَعَكِ أَنْ تَحُجِّي مَعَنَا؟... فَإِذَا كَانَ رَمْضَانُ اعْتَمِرِي فِيْهِ، فَإِنَّ عُمْرَةً فِي رَمَضَانَ حَجَّةٌ» وفي لفظ: «فَإِنَّ عُمْرَةً فِي رَمَضَانَ تَقْضِي حَجَّةً أَوْ حَجَّةً مَعِي»

     “อะไรที่เป็นอุปสรรคทำให้เธอไม่สามารถไปทำหัจญ์กับพวกเราหรือ?...ดังนั้นเมื่อเดือนเราะมะฎอนมาถึง เธอจงไปทำอุมเราะฮฺในเดือนนั้นเสีย เพราะการทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะมะฎอน เพียงหนึ่งครั้ง (จะมีผลบุญ) เท่ากับทำหัจญ์หนึ่งครั้ง”  

         ในอีกสำนวนหนึ่งท่านกล่าวว่า

 “แท้จริงการทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะมะฎอนหนึ่งครั้งเท่ากับเป็นการทำหัจญ์หนึ่งครั้ง หรือได้ทำหัจญ์พร้อมกับฉันหนึ่งครั้ง” 

          อิบนุล อะเราะบีย์ กล่าวว่า “หะดีษอุมเราะฮฺ (ในเดือนเราะมะฎอน) นี้ถูกต้อง มันเป็นความกรุณาจากอัลลอฮฺและความโปรดปรานของพระองค์ แท้จริงผลบุญจากการทำอุมเราะฮฺได้ตามติดพร้อมกับความประเสริฐของการทำหัจญ์ด้วยการผนวกเราะมะฎอนเข้ากับอุมเราะฮฺ” 

          อิบนุล เญาซีย์ กล่าวว่า “บทเรียนที่ได้รับจากหะดีษนี้คือ ผลบุญของการปฏิบัติอิบาดะฮฺจะเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มขึ้นของความประเสริฐของเวลา เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลบุญด้วยความสงบ ตั้งมั่น และแน่วแน่ของจิตใจ และความบริสุทธิ์ใจของเป้าหมาย (การทำอิบาดะฮฺ)” 

 

5. รางวัลจากการเลี้ยงอาหารละศิยาม(อาหารละศีลอด)

ซัยดฺ บิน คอลิด อัล-ญุฮะนีย์ เล่าว่า นบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ فَطَّرَ صَائِمًا كَانَ لَهُ مِثْلُ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لاَ يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئًا»

     “ผู้ใดเลี้ยงอาหารละศิยามแก่ผู้ศิยาม เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผลบุญของผู้ถือศิยามคนนั้น โดยที่ผลบุญของผู้ถือศิยามคนนั้นไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด” 

 

          เช่นนี้แล้ว จะยังมีมุอ์มินท่านใดอีกเล่าที่ไม่ยินดีและดีใจกับการมาเยือนของเดือนเราะมะฎอน นอกจากบรรดาผู้ที่จมปลักอยู่กับมะอฺศิยะฮฺและหมกมุ่นอยู่กับทางโลกและตัณหา ... วัลอิยาซุบิลลาฮฺมินซาลิก

 

วะศ็อลลัลลอฮุอะลามุหัมมัด วะอาลิฮิ วะสัลลัม


 

อ.อุษมาน อิดรีส / Islam House