บทลงโทษบุคคลที่ตกศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  4578

 

บทลงโทษบุคคลที่ตกศาสนา


 

โดย… เชค ศอและฮฺ บิน เฟาซาน อัลเฟาซาน

 

          จากวาทกรรมที่พูดเกี่ยวกับอิสรภาพทางความคิด ซึ่งส่งผลให้เกิดแนวความคิดต่อต้านและปฏิเสธต่อบทบัญญัติเรื่องบทลงโทษของผู้ที่ตกศาสนา โดยอ้างเหตุผลว่า บทบัญญัติดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับวาทกรรมที่ได้กล่าวถึง ตามคำกล่าวอ้างของผู้ที่มีความคิดเห็นเช่นนั้น พวกเขากล่าวกันว่า เป็นเพราะไม่มีรายงานใดเลยที่ระบุว่า ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม เคยประหารผู้ตกศาสนาคนใดทั้งสิ้น และยังบอกกันอีกว่า เป็นเพราะบทบัญญัติในเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ขัดกับ พระดำรัสของพระผู้ทรงสูงส่งที่ว่า
 

(لاَ إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ)     "ไม่มีการบังคับแต่ประการใดในเรื่องของศาสนา"
 

พวกเขายังพูดกันอีกว่า และเป็นเพราะมาตรการในการลงโทษผู้ตกศาสนานั้น ไม่ได้มีการระบุไว้ในอัลกุรอาน

 

          ทั้งหมดนี้คือ ข้อมูลโดยสังเขป เท่าที่ค้นพบได้จากสิ่งที่พวกเขาพยายามยกกันขึ้นมาเป็นเหตุผลในประเด็น ๆ นี้ ซึ่งคำตอบสำหรับคำกล่าวอ้างข้างต้นมีดังนี้

 

          1. มาตรการในการลงโทษผู้ตกศาสนาเป็นสิ่งที่ได้รับการยืนยันอย่างแน่นหนาโดยมติเอกฉันฑ์ของบรรดานักวิชาการทางฟิกฮฺ 
 

          ท่านอิบนุกุ้ดดามะฮฺ ได้กล่าวไว้ ในหนังสือ อั้ลมุฆนีย์ (8/126) ว่า ข้อที่สี่ หมายถึง ในประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ตกศาสนา : คือ ถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัว เขาก็จะต้องถูกประหารชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดของนักวิชาการฟิกฮฺโดยรวม


 

          2. การประหารผู้ตกศาสนานั้น ถือเป็นการพิทักษ์หลักความเชื่อเอาไว้ให้พ้นจากพฤติกรรมเหลวไหลต่างๆ 
 

          ทั้งนี้เนื่องจากทางบทบัญญัติ ได้มีการพิทักษ์และปกป้องสิ่งที่เป็นความจำเป็นทั้งห้าประการเอาไว้ อันได้แก่ หลักความเชื่อ ชีวิต เกียรติยศ เชื้อสาย และทรัพย์สิน ตลอดจนความสงบเรียบร้อย


          3. สำหรับกรณีที่อ้างว่า มาตรการการลงโทษผู้ตกศาสนานั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงไว้ในอัลกุรอานแต่ประการใด อันที่จริงแล้วเรื่องดังกล่าวนี้ มีปรากฏอยู่ในซุนนะฮฺที่ศ่อเฮียฮะฮฺ เช่น คำกล่าวของท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมที่ว่า

    ( من بدَّل دينه فاقتلوه )  “ผู้ใดที่เปลี่ยนการนับถือศาสนาของตน พวกท่านก็จงสังหารเขาผู้นั้นเสีย”

 

และคำกล่าวของท่าน ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมที่ว่า


لا يحل دم امرئ مسلم إلا بإحدى ثلاث - الثيِّب الزاني - والنفس بالنفس - والتارك لدينه المفارق للجماعة

“เลือดของบุคคลที่เป็นมุสลิมนั้นไม่ถือเป็นที่อนุมัตินอกจากด้วยกับหนึ่งในสามกรณีนี้เท่านั้น 
 

 ผู้ที่เคยผ่านการสมรสแล้วที่ไปกระทำการผิดประเวณี 
 

 ชีวิตด้วยชีวิต 
 

 และ ผู้ที่ละทิ้งศาสนา ผู้ที่แตกแยกออกจากอัลญะมาอะฮฺ”
 

 

พระองค์พระผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสไว้ว่า


( وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُولُ فَخُذُوهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانتَهُو )

 

"และอะไรก็ตามที่ท่านร่อซู้ลได้นำมาให้แก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงยึดมันไว้เถิด และอะไรก็ตามที่ท่านได้ห้ามปรามพวกเจ้าไว้ พวกเจ้าก็จงยุติเสีย"

ซึ่งแน่นอนว่า ท่านร่อซู้ลได้ออกคำสั่งให้ทำการสังหารบุคคลที่เปลี่ยนการนับถือศาสนา ดังนั้น การสังหารบุคคลดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น


  4. ส่วนพระดำรัสของพระองค์พระผู้ทรงสูงส่งที่ว่า

(لاَ إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ)    

"ไม่มีการบังคับแต่ประการใดในเรื่องของศาสนา"

ความหมายของพระดำรัสนี้ หมายความว่า ไม่มีผู้ใดทั้งสิ้นที่ถูกบังคับเพื่อให้เข้ามาสู่ศาสนาอิสลาม

          ส่วนมาตรการการลงโทษผู้ตกศาสนานั้น เป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่มีการออกจากศาสนาอิสลามไม่ใช่เพื่อให้มีการเข้ารับอิสลามแต่ประการใด ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลใดที่ได้เข้าสู่ศาสนาอิสลามแล้วก็เท่ากับว่า เขาได้ยอมรับแล้วว่า อิสลามคือ สัจธรรม คือ ของจริง แต่แล้วในภายหลังเขากลับทำการละทิ้งอิสลามไปทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรคืออะไร จึงถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ทำเป็นเล่นกับเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่คู่ควรกับโทษประหาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิทักษ์หลักเชื่อมั่นไว้ให้ปลอดภัยจากพฤติกรรมอันเหลวไหลนั่นเอง


           5. เสรีภาพทางความคิดนั้น จะมีได้กับกรณีที่เอื้อกับการใช้ความคิดและความเห็น ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับหลักเชื่อมั่นและเรื่องของศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ไม่อำนวยให้ใช้ความคิดใส่ความเห็นลงไปในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเรื่องราวในกรณีเหล่านี้ล้วนมีที่มาที่ไปที่ตั้งอยู่บนการเชื่อมั่น การยอมรับและการยอมจำนนนั่นเอง


          6. มาตรการการลงโทษผู้ตกศาสนานั้นถือเป็นขอบเขตหนึ่งจากบรรดาขอบเขตของอัลลอฮฺ ที่ไม่อนุญาตให้กระทำการละเว้นใดๆได้ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม ท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้กล่าวไว้ว่า


ويم الله لو أن فاطمة بنت محمد سرقت لقطعت يدها

“สาบานต่ออัลลอฮฺว่า ถ้าหากฟาติมะฮฺบุตรสาวของมุฮัมหมัดไปลักขโมย ฉันจะทำการตัดมือของนางเสียอย่างแน่นอน”

          ซึ่งมาตรการในการลงโทษผู้ที่ตกศาสนานั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่ามาตรการในการลงโทษในกรณีของการลักขโมย ซึ่งท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้ห้ามไม่ให้มีการขอผ่อนปรนในกรณีที่เกี่ยวกับบทลงโทษที่เป็นขอบเขตของอัลลอฮฺ โดยท่านได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ไว้อย่างแน่นหนาเลยทีเดียว


          7. ส่วนเหตุผลที่ยกกันขึ้นมาว่า ไม่มีการยืนยันใดๆ ทั้งสิ้นที่ให้การยืนยันว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้เคยประหารผู้ตกศาสนาคนใดสักคนนั้น คำตอบของเรื่องนี้คือ จริงๆแล้วที่ท่านร่อซู้ล ละที่จะกระทำเช่นนั้นเนื่องจากมีอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคดังกล่าวได้แก่คำพูดของท่าน ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ที่ว่า


لا يتحدث الناس أن محمداً يقتل أصحابه

 

“เพื่อไม่ให้ผู้คนไปพูดกันว่า มุฮัมหมัดฆ่าพวกพ้องของตัวเอง”



 

แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ  โยธาสมุทร
 

จาก  http://www.alfawzan.af.org.sa/node/13970