การยับยั้งที่จะทำความชั่ว
  จำนวนคนเข้าชม  4895

 

การยับยั้งที่จะทำความชั่ว

 

โดย อาจารย์ อัชร็อฟ ทับทิม

 

ขอความสันติสุข ความผาสุก ความซาลามะห์ ความเราะห์มะห์ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า จงประสบแด่พี่น้องมุสลิมทุกคน 

 

      ท่านพี่น้องที่เคารพ ถ้าสมมุติว่า มีความชั่ว ความผิด มาวางอยู่ต่อหน้าเรา มันคอยชักจูงเรา รุกเร้าเรา ให้เราไปกระทำมัน แต่เราก็ไม่ได้กระทำ ละทิ้ง เดินหนี หันหลังให้มัน  ท่านเคยคิดหรือไม่ อะไรเป็นตัวยับยั้งห้ามปรามไม่ให้เราไปกระทำความผิดอันนั้น

เราอาจแบ่งตัวแปรที่คอยยับยั้งออกเป็น ประการ ดังนี้


 

ประการที่ ๑ 

 

        อีหม่าน คือ การศรัทธาต่อ อัลลอฮ์  ยอบรับในการเป็นพระเจ้าของพระองค์ ศรัทธาต่อ ศาสนทูต ของพระองค์ ศรัทธาต่อสิ่งที่ศาสนทูต ได้นำมาบอก และศรัทธาต่อโลกหน้า ศรัทธาต่อการตอบแทนความดีในสรวงสวรรค์ สำหรับผู้กระทำความดี ศรัทธาต่อการลงโทษในขุมนรก สำหรับผู้กระทำความผิดในดุนยา 

 

         ถ้าเราเชื่อมั่น ศรัทธาอย่าง ๑๐๐ % ว่าเราจะถูกลงโทษในขุมนรก ถูกทรมาร ถูกไฟที่ร้อน แผดเผา จนมอดไหม้ ผิวเกรียมดำ ถูกสัตว์นรกคอยกัดกิน เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆตามความประสงค์ของอัลลอฮ์  ตราบใดที่เรายังกระทำความผิดอยู่ การศรัทธาต่อการลงโทษตรงนี้ จะช่วยยับยั้งเราไม่ให้กระทำความผิดนั้น แต่ปัจจุบัน บางคนจากพวกเรา แกล้งลืม นรก ทำเหมือนไม่รู้จักนรก ลืมอัลลอฮ์ ตาอาลา  ผู้ที่คอยตัดสินเราให้ลงนรกในความผิด พวกเราก็เลยทำความผิดกันหน้าตาเฉย


ประการที่ ๒ 

อิสลาม คือข้อบัญญัติ ที่พระองค์อัลลอฮ์  ทรงกำหนดมาให้พวกเรา นำมาใช้บริหารงานต่างๆบนพื้นแผ่นดินแห่งดุนยานี้ 

        ท่านพี่น้องที่เคารพ ข้อบัญญัติ มันต้องมีคำสั่งใช้ และคำสั่งห้าม ในคำสั่งห้าม มันต้องมีบทลงโทษ จากบทลงโทษนี้เอง ที่เป็นตัวยับยั้ง ห้ามปรามจากการกระทำความผิด เช่น อิสลาม ห้ามทุกสิ่งที่ทำลายสมอง ฉะนั้นอิสลามจึงห้ามบริโภคของมึนเมาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบบแห้ง ยาบ้า เฮโรอีน กัญชา หรือแบบเหลว น้ำกระท่อม เหล้า เบียร์ อิสลามได้วางบทลงโทษสำหรับผู้ที่เสพย์ของมึนเมาเหล่านี้ ด้วยการเฆี่ยนตี ๑๐๐ ที  ถึงแม้ อิสลามได้วางบทลงโทษไว้ แต่ก็ยังมีผู้ละเมิดไปกระทำความผิดนั้นอยู่ อาจเนื่องมาจากแอบกระทำบ้าง ไม่มีใครเห็น หรือผู้ดูแล ผู้ควบคุมข้อบัญญัตอ่อนแอ หย่อนยานในการใช่กฎบ้าง ทำให้มีผู้กระทำความผิดมีมากขึ้นๆ


ประการที่ ๓ 

       เอี๊ยะซาน คือ อัคลาค คุณธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับบุคคลนั้น หรือเป็นสิ่งที่บุคคลนั้นพยายามสร้างมันขึ้นมาใหม่  

       ความอาย เป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่ ช่วยยับยั้งเรา ให้เลิก ละทิ้ง การกระทำความผิด ซึ่งถ้าคนหนึ่งคนใด ไม่มีความละอายในการกระทำความผิด ก็จะกระทำความผิดอยู่ร่ำไป เขาก็คล้ายกับสัตว์เดรฉาน สุนัขที่จะยกขาฉี่ตรงไหนก็ได้ โดยไม่อายสายตาผู้ใด  

ท่านนบี มูฮัมหมัด  ได้กล่าวว่า


إذا لم تَسْتَحِيْ فَأصْنَْع ما شئتَ رواه البخاري
 

“เมื่อท่านไร้ความอาย ท่านจงกระทำอะไรก็ได้ที่ท่านต้องการ” 
 

(รายงานโดยท่าน บุคอรีย์) 

        จากฮาดีสต้นนี้อาจเข้าใจว่า ท่านนบี  ใช้ให้กระทำทุกอย่าง ถ้าเราไม่อายที่จะกระทำ ถึงสิ่งนั้นจะเป็นความผิดก็ตาม แต่ความจริง นักวิชาการได้ขยายความออกเป็น ๒ นัยยะด้วยกัน

        นัยยะ ที่ ๑ คำว่า “จงกระทำ” ไม่ได้หมายความว่าให้กระทำ แต่หมายความถึงการขู่ การสัญญาในสิ่งที่ไม่ดี ที่จะเกิดขึ้น หรือการบอกเล่า คล้ายๆกับคำพูดของพวกเราที่กล่าว “ เจ้าลองทำซิ แล้วจะได้เห็นดีกัน” ฉะนั้นความหมาย คือ “ ถ้าเกิดว่าท่านไม่มีความละอาย ท่านจงกระทำ สิ่งที่ท่านต้องการ แล้วอัลลอฮ์จะเป็นผู้ลงโทษเจ้าเอง”

         นัยยะ ที่ ๒ คำว่า “จงกระทำ” คือใช้ให้กระทำจริงๆ ต่อสิ่งนั้น ฮาดีสนี้จึงมีความหมายว่า  "เมื่อคนหนึ่งคนใด ต้องการที่จะกระทำสิ่งหนึ่ง เป็นสิ่งที่เขาไม่อายที่จะกระทำสิ่งนั้นต่อหน้า อัลลอฮ์ ต่อหน้ามนุษย์ทั่ว ๆ ไป เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ให้เขาจงกระทำสิ่งนั้นตามที่เขาต้องการ” ตรงกันข้าม ถ้าเขาต้องแอบทำ แอบขาย ต้องหลบๆ ซ่อนๆ จากสายตาคนอื่น ให้รู้เถิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งไม่ดี อย่าได้ไปกระทำมัน


        ท่านพี่น้องที่เคารพ จากความหมาย ทั้ง ๒ นัยยะ เราจะเห็นได้ว่า ความอายมีบทบาทในการยับยั้งห้ามปรามเรา จากการกระทำความผิด ได้ 

ความอาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ด้วยกัน

๑. ความอายที่เกิดขึ้นมา พร้อมกับคนๆหนึ่ง เป็นนิสัยของเขา ไม่ต้อง แสวงหา เพียรพยายามให้ได้มา

๒. ความอายที่เราสามารถ เพียรพยายาม แสวงหาให้เกิดกับตัวเราได้

        วิธีการ คือ เราจะต้องตระหนัก นึกถึงอัลลอฮ์  ตลอดเวลา ยอมรับในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ และเราต้องรู้ว่าพระองค์มองดูอยู่ตลอด ไม่ว่าเราจะแอบไปกระทำความผิดในที่ลับ หรือกระทำในที่แจ้งก็ตาม พระองค์ทรงรู้ และจะตอบแทนเรา ถ้าคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลา ความอายต่อพระองค์ก็จะเกิดขึ้นกับเรา 

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


 “ความอาย และอีหม่าน เป็นของคู่กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดไร้ซึ่งความอาย อีหม่านของเขาก็จะหายไป”


 

คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ