มารยาทอาบน้ำละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  19004

 

มารยาทอาบน้ำละหมาด

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

การอาบน้ำละหมาดเป็นเงื่อนไขทำให้การละหมาดใช้ได้ อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้าจะดำรงละหมาด พวกเจ้าจงล้างหน้าของพวกเจ้า

และมือของพวกเจ้าพร้อมข้อศอก และพวกเจ้าจงเช็ดศีรษะของพวกเจ้า และ (ล้าง) เท้าของพวกเจ้าพร้อมตาตุ่ม” 
 

(5/6)

          การอาบน้ำละหมาด คือ การทำความสะอาดอวัยวะภายนอกด้วยน้ำสะอาด เพื่อเตรียมการเข้าสู่การละหมาด เตรียมตัวเพื่อเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นการแสดงเครื่องหมายอย่างหนึ่งในการชำระความโสมมแห่งโทษและบาปต่าง ๆ อันเกิดจากทางอวัยวะภายนอก รวมทั้งขัดเกลาหัวใจให้สะอาดจากการหลงลืมอัลลอฮฺ และความบาปที่เกิดจากหัวใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้หมดจดและเหลือแต่ความบริสุทธิ์ทั้งภายนอกและภายในขณะเข้าเฝ้าอัลลอฮฺตะอาลา

          นักวิชาการ (อุละมาอฺ) บางท่านกล่าวว่า : พึงทราบเถิดว่า เมื่อท่านอาบน้ำละหมาดแปลว่าท่านกำลังจะเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ ดังนั้น ท่านโปรดสารภาพโทษกับพระองค์ (เตาบัต) เพราะการที่พระองค์กำหนดให้มีการชำระด้วยน้ำนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการชำระให้สะอาดจากโทษต่าง ๆ

การอาบน้ำละหมาดที่ดี ถูกต้องและรักษามารยาท ท่านนบี  ได้กล่าวรับรองผลสัมฤทธิ์ความว่า

“ผู้ใดอาบน้ำละหมาด แล้วอาบน้ำอย่างดี บรรดาโทษของเขาจะออกจากร่างกายของเขา จนกระทั่งโทษนั้นจะออกจากเล็บของเขา”
 

(บันทึกโดยมุสลิมจากการรายงานของอุสมาน)

 

และต่อไปนี้คือบางส่วนของมารยาทอิสลามในเรื่องอาบน้ำละหมาด

 

1. เริ่มต้นอาบน้ำละหมาดด้วยการกล่าวพระนามของอัลลอฮฺว่า “บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรรอฮีม”

 

       2. ขณะอาบน้ำละหมาดควรมีสมาธิ ทำจิตให้สงบและมีความมุ่งมั่น เพราะการมีสมาธิ และมีจิตสงบ ในการอาบน้ำละหมาดนั้น เป็นเส้นทางสู่การละหมาดที่สำรวม

 

       3. ควรแปรงฟันทุกครั้งที่อาบน้ำละหมาด เพราะนอกจากจะทำความสะอาดช่องปากแล้ว ยังเป็นการสร้างความพอพระทัยแก่องค์อภิบาลด้วย

 

4. ไม่ควรพูดจาสนทนา หัวร่อต่อกระซิก และสาดน้ำเล่น ขณะอาบน้ำละหมาด

 

5. ไม่ควรเอน้ำตบหน้าและศีรษะแรง ๆ

 

6. ไม่ควรสลัดน้ำออกจากสองมือหลังการอาบน้ำละหมาด

 

       7. พยายามอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์โดยล้างอวัยวะน้ำละหมาดเกินกว่าที่กำหนด เช่น ล้างมือให้เลยถึงต้นแขนและล้างเท้าให้เกินถึงหน้าแข้ง เป็นต้น เพราะน้ำละหมาดนั้นเป็นแสงรัศมีสำหรับผู้ศรัทธาและเครื่องประดับในวันปรภพ

8. ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจะให้น้ำเข้าสู่ทั่วอวัยวะน้ำละหมาด ไม่ว่าจะเป็นช่องนิ้วเท้า นิ้วมือหรือผิวหนัง

9. กล่าวขอพร (ดุอาอฺ) ตามคนยุคก่อน (สะลัฟ) ในการล้างทุกอวัยวะน้ำละหมาด โดย

หลังบิสมิลลาห์ ให้กล่าวว่า  “อัลฮัมดุลิลลาฮิลละซี ญะอะลั้ลมาอะ ตอฮูรอ”

ขณะบ้วนปาก ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมัสกินี มินเฮาฎินะบียิกะ ศอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กะอฺซัน ลาอัซมะอุ้ บะอฺดะฮฺ”


ขณะล้างรูจมูก ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ ลาตะหฺริมนี รออิฮะตะ นะอีมิกิ วะญันนาติกะ”


ขณะล้างหน้า ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ บัยยิ๊ด วัจฮี เยามะ ตั๊บยั้ฎฎุ วุญูฮุน วะตั๊สวัดดุ วุญูฮุน”


ขณะล้างสองมือ ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ อะอฺฏินี กุตุบี บิยะมีนี วะลาตุ๊อฺฏินี กิตาบี บิซิมาลี”


ขณะเช็ดศีรษะ ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ อะซิ้ลละนี ตะห์ตะอั๊รซิกะ เยามะลาซิลละ อิลลาซิลลุกะ”


ขณะเช็ดใบหู ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ อิจอัลนี มิมมัน ยั้สมะอูนัลเกาละ ฟะยั้ตตะบะอูนะ อะหฺสะนะห์”


ขณะล้างเท้า ควรกล่าวว่า “อัลลอฮุมมะ ซั๊บบิต กอดะมี อะลั๊ศศิรอฎิ เยามะ ตะซิ้ลลุ้ลอักดาม”


10. กล่าวขอพรหลังอาบน้ำละหมาด ตามรายงานฮะดีษของอุมัรอิบนุลค๊อตต๊อบ  ว่า 

        “อัซฮะดุ อัลลาอิลาฮะ อิลลั้ลลอฮุวะหฺดะฮู ลาซะรีกะละฮ์ วะอัซฮะดุอันนะมุฮัมมะดัน อัลดุฮู วะร่อซูลุฮฺ อัลลอฮุมมะอิจอั้ลนี มินั้ตเตาวาบีน วัจอั้ลนี มินั้ลมุตะเฏาะฮฺฮิรีน”

11. หลังแล้วเสร็จการอาบน้ำละหมาด ควรละหมาดสุนัตสองรอกอัต

12. ใช้น้ำอย่างประหยัด และไม่ล้างอวัยวะน้ำละหมาดเกินกว่าสามครั้ง

       13. ควรมีน้ำละหมาดอยู่ตลอดเวลา และควรอาบน้ำละหมาดหลังเสียน้ำละหมาดทุกครั้ง เพราะน้ำละหมาดนั้นเป็นอาวุธทางจิตวิญญาณของผู้ศรัทธา การมีน้ำละหมาดอยู่ทำให้จิตอยู่ในอาการสงบ เป็นเหตุให้ละความชั่วได้ และพร้อมที่จะทำการละหมาดและจับอัลกุรอานมาอ่านตลอดเวลา