ผลของการรีบเร่งทำความดี
  จำนวนคนเข้าชม  4732

 

ผลของการรีบเร่งทำความดี

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัชชะกอวีย์

 

(1)  ได้เข้าสวนสวรรค์อันสุขสำราญสถาพร

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสความว่า
 

“และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า เขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้ใกล้ชิด” 
 

(อัลวากิอะฮฺ: 10-11 )

 

       “อัสสาบิกูน” คือผู้ที่รุดหน้าสู่การทำความดีในดุนยา และในอาคิเราะฮฺพวกเขาก็จะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ได้เข้าสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งแน่นอนว่า ความรวดเร็วในการเข้าสวรรค์ของแต่ละคนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลงานของพวกเขาในดุนยา เพราะการตอบแทนย่อมเป็นไปตามลักษณะการงานของแต่ละคน 
 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
 

“จะมีการตอบแทนความดีอันใดเล่านอกจากความดี” 
 

(อัรเราะหฺมาน: 60)

และตรัสอีกว่า

“และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดมา แก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา

บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง

บางคนในหมู่พวกเป็นผู้เดินสายกลาง และ

บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย

ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง” 

(ฟาฏิร :32) 

         อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “(บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย) คือ ผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) และสิ่งที่สมควรปฏิบัติ (มุสตะหับ) พร้อมกับงดเว้นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) หลีกห่างจากสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ) หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นที่อนุญาต (มุบาหฺ) บางอย่าง”

         อิบนุ อับบาส กล่าวว่า “ผู้ที่รุดหน้าทำความดี (سابق بالخيرات) จะได้เข้าสวรรค์โดยไม่ต้องถูกสอบสวน ส่วนผู้ที่เดินสายกลาง (مقتصد) นั้น จะได้เข้าสวรรค์ด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ ส่วนผู้ที่อธรรมต่อตัวเอง (ظالم لنفسه) รวมถึงผู้ที่มีระดับความดีและความชั่วเท่ากัน (أصحاب الأعراف) นั้น จะได้เข้าสวรรค์ด้วยความช่วยเหลือ (شفاعة) จากท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม”


(2)  การรีบเร่งปฏิบัติสิ่งที่เป็นข้อบังคับต่างๆ ตามบัญญัติศาสนาให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยนั้น เป็นการปลดภาระให้แก่ตัวเอง 

อัลฟัฎลฺ บิน อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ก็จงรีบเร่งปฏิบัติเสีย เพราะไม่แน่ว่าทรัพย์สินที่เตรียมไว้อาจจะสูญหาย

หรือเขาอาจจะเจ็บป่วย หรืออาจมีเหตุจำเป็นอื่นๆ มาเป็นอุปสรรคได้” 

(บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 1833)


(3)  ผู้ที่รีบเร่งทำความดีตั้งแต่ต้นเวลานั้น ย่อมดีกว่าผู้ที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนถึงช่วงท้าย นอกเสียจากว่าจะมีหลักฐานระบุเป็นข้อยกเว้น 

อิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า

มีผู้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “การงานใดประเสริฐที่สุดครับ?” 

ท่านตอบว่า “การละหมาดภายในเวลาที่กำหนด” 

(บันทักโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 527 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 85)

อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

          “หากมนุษย์ได้รู้ถึงความดีงามของการอะซานและการละหมาดแถวแรกแล้วพวกเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ นอกจากด้วยวิธีจับสลาก แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องพากันจับสลากกัน”  

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 615 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 43)

อบูสะอีด เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

       “คนกลุ่มหนึ่งจะยังคงล่าช้า (จากการละหมาดแถวแรกๆ) อยู่เรื่อย จนท้ายที่สุดแล้วอัลลอฮฺก็จะทรงให้พวกเขาล่าช้า (ในการได้รับผลตอบแทนและความเมตตาจากพระองค์)” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 438)


(4)  การรีบเร่งทำความดีนั้น เป็นการน้อมรับคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ 

อัลลอฮฺตรัสว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงตอบรับอัลลอฮฺและเราะสูลเถิด เมื่อท่านได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้น” 

(อัลอันฟาล: 24) 

     อนัส บิน มาลิก เล่าว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺ ได้ออกเดินทางไปยังบัดรฺและไปถึงที่นั่นก่อนพวกมุชริกีน

     แล้วท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็กล่าวว่า ‘คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจงอย่าได้ล่วงหน้าฉันไป’ (เพื่อจะได้ไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ ที่พวกท่านอาจไม่ทราบ)

แล้วพวกมุชริกีนก็เข้ามาใกล้ 

     ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า ‘พวกท่านจงลุกขึ้นไปยังสรวงสวรรค์ ซึ่งความกว้างขว้างของมันนั้นเท่ากับความกว้างของท้องฟ้าทั้งหลายและพื้นพิภพเถิด’ 

     แล้วอุมัยรฺ บิน อัลหุมาม อัลอันศอรีย์ ก็กล่าวขึ้นว่า: ‘ท่านเราะสูลครับ ความกว้างของสวรรค์นั้นเท่ากับความกว้างของท้องฟ้าทั้งหลายและพื้นพิภพอย่างนั้นหรือครับ?’ 

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ตอบว่า ‘ใช่แล้ว’ 

อุมัยรฺจึงอุทานว่า: ‘บัค บัค’ (เป็นคำที่กล่าวเมื่อรู้สึกชื่นชอบหรือพึงพอใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด) 

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า ‘อะไรทำให้ท่านอุทานว่า บัค บัค หรือ?’ 

เขาตอบว่า: ‘ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ท่านเราะสูลครับที่ฉันกล่าวเช่นนั้นมิได้มีเจตนาอื่นใด เพียงแต่ฉันปรารถนาที่จะเป็นผู้หนึ่งจากบรรดาชาวสวรรค์’ 

ท่านเราะสูลกล่าวว่า ‘ท่านจะได้เป็นผู้หนึ่งจากบรรดาชาวสวรรค์’ 

จากนั้นเขาก็นำอินทผลัมแห้งออกมาจากกระบอกธนู แล้วก็รับประทานไปบางเม็ด 

แล้วเขาก็กล่าวว่า: ‘ถ้าหากว่าฉันมีชีวิตอยู่จนกระทั่งรับประทานอินทผลัมพวกนี้หมด มันก็คงเป็นชีวิตที่ยืนยาวเกินไปแล้ว’ 

ว่าแล้วเขาก็ทิ้งอินทผลัมที่เขามี แล้วออกสู้รบกับพวกมุชริกีนกระทั่งถูกสังหาร” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1901)

          ท้ายนี้ขอจบบทความด้วยอายะฮฺอัลกุรอาน ที่อัลลอฮฺ ได้ทรงระบุว่าบรรดาเศาะหาบะฮฺที่เข้ารับอิสลามก่อนสงครามพิชิตมักกะฮฺนั้น มีความประเสริฐกว่าผู้ที่เข้ารับอิสลามในภายหลัง พระองค์ตรัสว่า  

“และไฉนเล่าพวกเจ้าจึงไม่บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ทั้ง ๆ ที่มรดกแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้เป็นของอัลลอฮฺ

ในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้บริจาคและได้ต่อสู้ (ในหนทางของอัลลอฮฺ) ก่อนการพิชิต (นครมักกะฮฺ)

ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้หลังการพิชิต และอัลลอฮฺทรงสัญญาความดีงาม (สวนสวรรค์) แก่ทั้งสองฝ่าย” 

(อัลหะดีด: 10)



والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمعين.

 



ผู้แปล: อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse