มารยาทครูผู้สอน
  จำนวนคนเข้าชม  12435

 

มารยาทครูผู้สอน
 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ
 

         บรรดาผู้รู้หรืออุละมาอฺ เป็นทายาทของบรรดาศาสดา และบรรดาศาสดาต่าง ๆ นั้น ท่านได้ทิ้งมรดกที่เป็นทรัพย์สินหรือของมีค่าหายากไว้ให้ทายาทเลย นอกจากท่านเหล่านั้นได้ทิ้งศาสนา ทิ้งความดีงาม และทิ้งความรู้ให้เป็นมรดกตกทอดเท่านั้น
 

     ♦ บรรดาศาสดาต่าง ๆ เช่น ท่านศาสดานูฮฺ ได้ทิ้งมรดกเรื่องความอดทนของท่านไว้ ท่านอดทนในการประกาศศาสนา ซึ่งใช้เวลานาหลายร้อยปี แม้จะมีผู้ยอมเชื่อตามน้อย ท่านก็มิได้ย่อท้อแต่ประการใด ดังนั้น ผู้เป็นทายาทคือ ผู้รู้ ต้องรับมรดกเป็นการอดทน

 

     ♦ มรดกของศาสดาอิบรอฮีม ท่านทิ้งมรดกความกล้าหาญไว้ให้ ท่านไม่ยอมก้มหัวให้แก่อิทธิพลหรืออำนาจใด ๆ นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น แม้ตัวเองจะต้องถูกเผาทั้งเป็นก็ตาม ท่านจึงทิ้งมรดกความกล้าหาญให้แก่ทายาทองท่านคือ ผู้รู้หรืออุละมาอฺ นั่นหมายความว่า ผู้รู้ต้องมีความกล้าหาญ กล้าในการพูดความจริง
 

     ♦ มรดกจากท่าศาสดมูซา เป็นความเข้มแข็ง ความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ และไม่ยอมสยบให้กับจอมอหังการ เช่น ฟิรอูนหรือฟาโรห์ ดังนั้น มรดาตกทอดของท่านคือ ความเข้มแข็งและความรับผิดชอบ ดังนั้น ผู้รู้ต้องมี 2 คุณสมบัตินี้
 

     ♦ มรดกศาสดาอีซา เป็นความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อันเป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทของท่านคือ บรรดาอุละมาอฺหรือผู้รู้ ต้องมีความเมตตา และมีใจเอื้อเฟื้อ
 

        ส่วนท่านศาสดามุฮัมมัด  ได้ทิ้งมรดกไว้มากมาย เช่น ความอดทน ความสุขุมรอบขอบ การต่อสู้ที่ทรหด และลักษณะคุณสมบัติของผู้ดีทุกประการ เพื่อให้โลกมีความผาสุก แม้จะมีคนมาต่อรองให้ท่านเลิกล้มงานด้านการประกาศสัจธรรมอิสลาม ท่านก็ไม่ยินยอม ดังมีอยู่ครั้งหนึ่ง ณ มหานครมักกะฮฺ มีกลุ่มหัวหน้ามุชริกีน มายื่นข้อเสนอต่อท่าน โดยผ่านอาของท่านว่า หากต้องการสตรีงามพวกเราจะหามาให้ หากต้องการทรัพย์พวกเราจะรวบรวมมาให้ และหากต้องการตำแหน่งพวกเราจะสถาปนาให้ แต่คำตอบของท่านศาสดา  ผ่านอาของท่าน คือ

       “ขอสาบานด้วยพระนามอัลลอฮฺ โอ้ ผู้เป็นอา มาตรแม้นว่าพวกเขาเอาดวงอาทิตย์มาวางที่มือขวาของฉัน และเอาดวงจันทร์มาวางที่มือซ้ายของฉัน โดยให้ฉันยกเลิกการประกาศสาสน์ของอัลลอฮฺ พระเจ้าของฉัน ไม่มีวันที่ฉันจะยอม ฉันจะทำหน้าที่ฉันต่อไป จนกว่าศีรษะของฉันจะหลุดจากบ่า”

(บันทึกหะดีษโดยบัยฮะกี) 

         เมื่อบรรดาอุละมาอฺ เป็นกลุ่มบุคคลที่จะให้ความผาสุก ด้วยการให้มนุษย์มีความรู้ ในภพดุนยานี้ พวกเขาก็ยังสามารถให้ความผาสุกในภพหน้าได้อีกด้วย

ท่านนบี  กล่าวว่า 

“ในวันกิยามะฮฺ (วันปรภพ) นั้น ผู้ที่ได้รับโอกาสให้ช่วยเหลือคนอื่น (ชะฟาอะฮฺ) ได้นั้น มีอยู่ 3 คน

หนึ่ง บรรดาศาสดา สอง บรรดาอุละมาอฺ และ สาม บรรดานักรบศาสนา” 

(บันทึกหะดีษโดยอิบนุมาญะฮฺ)
 

        บรรดาอุละมาอฺหรือผู้รู้ และอีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ครู” นั้น ควรมีมารยาทอย่างสมบูรณ์ตามที่อิสลามได้กำหนด และนี้เป็นมารยาทบางส่วนของครูผู้สอน คือ

 

1. รักในความรู้ และต้องพยายามหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
 

       2. ต้องปฏิบัติตามความรู้ที่สอน เพราะผู้มีความรู้ที่แท้จริงนั้น การปฏิบัติต้องไม่สวนทางกับคำสอน และการสอนด้วยพฤติกรรมที่ดีของครูนั้น ย่อมได้ผลกว่าการสอนเพียงคำพูดของครู ซุฟยา อิบนุอะไยนะฮฺ กล่าวว่า

“ไม่ถือว่าเป็นผู้รู้ สำหรับคนที่เพียงรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่ผู้รู้ที่แท้จริงนั้นคือ ผู้ที่รู้ว่าอะไรดีแล้วปฏิบัติ และรู้ว่าอะไรชั่วแล้วไม่กระทำ”
 

3. มีความยำเกรงในอัลลอฮฺในทุกครั้งที่ได้รับความรู้เพิ่มเติมเป็นการขอบคุณอัลลอฮฺ
 

4. ต้องไม่นำความรู้ที่อัลลอฮฺ ประทานมานั้น แลกกับปัจจัยและความสุขทางโลก
 

       5. มีความอ่อนน้อมถ่อมตนกับมนุษย์ทุกคน และมีความรู้ ความเมตตาต่อผู้เป็นศิษย์ โดยต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้และปฏิบัติตาความรู้ แม้จะพ้นวัยการเรียนแล้วก็ตาม

       6. ต้องมีใจบริสุทธิ์ในการให้ความรู้ ต้องทำตนเป็นครูผู้สอนที่เป็นที่พอพระทัยของอัลลอฮฺ โดยไม่ตอนเอาหน้าหรือประโยชน์แก่ตน และหรือต้องการการตอบแทนบุญคุณ

7. ต้องมีความแม่นยำ ถูกต้อง และชัดเจนในความรู้ที่จะถ่ายทอดให้ผู้เรียน เพราะสิ่งที่ครูสอนไปคือความถูกต้องในทัศนะของผู้เรียน

8. ต้องดำรงตนอยู่ในความสุขุม รอบคอบ มีคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ เพราะครูคือ ต้นแบบแห่งความดีงมของทุกคน

9. ต้องมีความอดทนต่อความไม่รู้หรือความดื้อของนักเรียน อดทนต่อคนที่คอยจะอิจฉาริษยา และอดทนต่ออิทธิพลความเป็นศัตรูของผู้ไม่หวังดี

10. ต้องเปิดใจให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ในทุกเรื่องที่จำเป็น โดยต้องไม่มีการปิดบังความรู้เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์

11. ยอมฟังและยอมรับในหลักฐานที่เป็นความจริง โดยไม่รู้สึกละอายเมื่อตนผิดพลาด และต้องไม่ยืนหยัดในความผิดพลาดนั้นอีกต่อไป

       12. ต้องมีความกล้าหาญในการพูดและแสดงความจริงแม้ต่อหน้าผู้มีอำนาจหรืออิทธิพล ทั้งนี้ ต้องเป็นไปด้วยหลักการและวิธีการที่นิ่มนวลและอ่อนน้อม

13. ต้องถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนตามสภาพสติปัญญาและพื้นฐานความรู้ของพวกเขา หาไม่แล้วจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ผู้เรียนเลย

14. ควรเลือกถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่มีความสามารและจะได้รับประโยชน์จากความรู้นั้น

       15. ผู้เป็นครูต้องแสดงออกทางกายภาพให้อยู่ในหลักการแห่งคุณธรรมและจริยธรรม ภายในใจต้องเต็มไปด้วยหลักศรัทธาอย่างมั่นคงในศาสนา และจิตต้องผูกพันอยู่กับอัลลอฮฺ ตลอดเวลาแห่งความเป็นครู เพราะความรู้นั้นมิได้อยู่เพียงการแสดงออกทางคำพูดเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยกาย ใจ สมอง และจิตสำนึก

      16. ต้องไม่ออกคำฟัตวา (ตอบปัญหา) ใด ๆ ในเรื่องที่ยังไม่มีความรู้พอ หรือไม่รู้จริง หากมีคำถามของลูกศิษย์ซึ่งคำถามนั้นตนยังไม่รู้ ควรจะตอบว่ายังไม่รู้และจะค้นคว้ามาตอบในโอกาสต่อไป

      17. ต้องไม่ทวงบุญคุณการสอนจากลูกศิษย์ และต้องไม่ทำตนประเสริฐเลิศล้ำเหนือคนอื่น เพราะการทำอย่างนั้น เป็นการลบล้างผลบุญแห่งความดีที่ได้เป็นครูผู้สอนมา และเป็นการลดเกียรติที่อัลลอฮฺ ทรงยกให้ในความเป็นผู้รู้ผู้สอน

18. ต้องเจริญรอยตามแบบอย่างของท่านนบี  ในความเป็นครู เพราะท่านนบี  คือ บรมครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นต้นแบบของมนุษย์ในทุกด้าน