มารยาทผู้เรียน
  จำนวนคนเข้าชม  48058

 

มารยาทผู้เรียน

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

          เป็นที่ทราบกันดีแล้ว่า อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการศึกษาอย่างเต็มที่ แม้แต่อัลกุรอานบทแรกที่ถูกประทานลงมา ยังมีข้อความบ่งบอกถึงการศึกษาทั้งสิ้น เช่น มีคำว่า จงอ่าน มีคำว่า สอน และมีคำว่า ปากกา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของการศึกษาทั้งสิ้น อีกทั้งอัลกุรอานในบทที่สองต่อมา ก็ยังเริ่มต้นสาบานด้วยคำว่า ปากกา คือ อัลกุรอานบท อัลกอลัม
 

          ในยุคก่อนนั้น การศึกษาสงวนไว้สำหรับลูกหลานคนมีเงิน มีตำแหน่งอำนาจ เท่านั้น คนธรรมดาทั่วไปไม่มีโอกาสทางการศึกษาจนเมื่ออิสลามได้อุบัติขึ้น อิสลามประกาศอย่างท้าทายว่า “มุสลิมทุกคนต้องได้รับการศึกษา” ท่านอุมัร อิบนุลคอตต๊อบ ถึงกับกล่าวว่า 

“มนุษย์นั้นมี 2 คน คือ คนรู้และคนเรียน และที่นอกจาก 2 คนนี้ หาความดีไม่ได้เลย “ 

(บันทึกโดยต๊อบรอนี จากอิบนิมัสอูด) 

          จากนัยแห่งคำพูดนี้ แสดงให้เห็นว่าเหมือนกับว่า “ถ้าไม่รู้ ไม่เรียน ก็เหมือนไม่ใช่คน” อะไรประมาณนี้  คนที่ศึกษาหาความรู้นั้น เขาได้ปูทางเพื่อสู่สวรรค์ ท่านนบี  กล่าวความว่า 

“ผู้ใดกำหนดแนวทางสู่การศึกษา อัลลอฮ์ จะทรงปูทางสวรรค์ให้เขา” 

(บันทึกทึกโดยมุสลิม) 

ผู้เป็นนักเรียนนักศึกษา ได้รับความคุ้มครองจากเบื้องฟ้าด้วย ท่านนบี  รับรองไว้ความว่า  

“บรรดามลาอิกะฮฺ จะกางปีโอบผี่ศึกษาหาความรู้ เพราะพอใจในสิ่งที่เขากระทำ” 

(บันทึกโดยอบูดาวูด)

การออกไปศึกษาหาความรู้ ถือเป็นผู้ทำสงครามศาสนา ท่านนบี  กล่าวความว่า 

“ผู้ใดออกไปศึกษาหาความรู้ เขาคือผู้ที่ออกไปในหนทางของอัลลอฮฺ จนกระทั่งเขากลับ” 

(บันทึกหะดีโดยติรมิซี)

การศึกษาหาความรู้นั้น แม้ระยะทางจะไกลแค่ไหนก็ควรจะไป เพราะท่านนบี  กล่าวความว่า 

“ท่านทั้งหลายจงไปศึกษาหาความรู้เถิด แม้จะไกลถึงประเทศจีนก็ตาม” 

(บันทึกโดยอิบนุอะดีย์ และบัยฮะกี จากอนัส)

ผลแห่งความรู้นั้น จะส่งผลดีแก่เขาในภาคภพนี้ รวมทั้งหลังจากที่เขาจากโลกนี้ไปแล้วก็ตา ท่านนบี  กล่าวว่า 

“มนุษย์นั้น เมื่อเสียชีวิตไป กิจการของเขาต้องขาดตอนลง นอกจาก 3 อย่าง คือ

หนึ่ง การบริจาคถาวรวัตถุ สอง ความรู้ที่ก่อประโยชน์ และสาม ลูกที่ดีขอพรให้” 

(บันทึกหะดีษโดยมุสลิม)

          มีคำสอนอันเป็นสัจธรรมในอิสลามว่า “ผู้ใดต้องการความสุขในโลกนี้ ก็ต้องมีความรู้ด้วย และผู้ใดต้องการความสุขในโลกหน้า ก็ต้องด้วยความรู้ อีกทั้งถ้าผู้ใดต้องการความสุขทั้งสองโลก ก็ต้องด้วยความรู้เช่นกัน”

          จากนัยแห่งคำสอนนี้ แสดงว่า การศึกษาหรือความรู้ที่อิสลามส่งเสริมนั้น มิใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะความรู้ทางศาสนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความรู้อื่นๆ ที่เรียกว่าความรู้สามัญด้วย หลักฐานสนับสนุนแนวคิดนี้คือ อัลกุรอานบท อันอะอฺรอฟ โองการที่ 185 ความว่า

“พวกเหล่านั้นจะไม่พิจารณาถึงการปกครองบรรดาชั้นฟ้าและผืนแผ่นดินตลอดจนสรรพสิ่งที่ อัลลอฮฺทรงสร้างมา กระนั้นหรือ ?” 

และอีกโอการหนึ่งในบทอะลาอิมรอน โองการที่ 191 ความว่า

 

“และพวกเหล่านั้น ได้พินิจพิเคราะห์ ถึงการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและผืนแผ่นดิน โอ้องค์พระผู้อภิบาลแห่งบรรดาข้าพระองค์

พระองค์มิได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เปล่าประโยชน์เลย พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งมหาบริสุทธิคุณ” 

          ไม่ว่าจะศึกษาวิชาการใด อิสลามส่งเสริมทั้งสิ้น หากธาตุแท้แห่งวิชาการนั้นมิได้นำสู่การต่อต้านความมีเอกภาพของอัลลอฮฺ และอิสลามได้กำหนดมารยาทการศึกษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ นี้คือบางส่วนมารยาทของผู้เรียน


มารยาทผู้เรียนต่อความรู้

1. ต้องแสวงหาสถานศึกษาเรียนรู้ และใฝ่หาความรู้ที่ต้องการจากสถานศึกษานั้น

       2. มีความจริงจังในการเรียนรู้ ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาอย่างเต็มกำลัง และต้องตัดขาดจากการใดที่จะทำลายความก้าวหน้าของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องละเว้นทำบาปโดยเด็ดขาด 

       ท่านอิหม่ามซาฟิอี รอฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้ร้องทุกข์กับครูของท่านชื่อวะเกี๊ยะอฺว่า ระยะหลังความจำไม่ค่อยดี ท่านครูได้แนะนำว่า ต้องงดการทำบาป เพราะความรู้นั้นคือรัศมี และรัศมีนั้นจะไม่อยู่กับคนทำบาป

3. มีความบริสุทธิ์ใจในการศึกษาหาความรู้ และต้องไม่มีเจตนาหาความรู้เพื่อหวังผลในปัจจัย ทางโลก

       4. ก่อนศึกษาความรู้ ต้องชำระจิตใจให้สะอาดจากความโสมมทางใจ เพราะความรู้นั้น เมื่อตกอยู่กับคนที่มีจิตทรามมันจะเป็นผลเสียแก่ผู้นั้น และอาจเป็นภัยต่อคนอื่นอีกด้วย

5. ต้องห่างไกลการอวดดีและไม่โต้แย้งเมื่อความจริงปรากฏ เพราะการอวดดีนั้นหาความดีไม่ได้ มันมีแต่จะทำให้เสียเวลา ทำให้ใจกระด้าง

       6. ต้องประพฤติดีมีศีลธรรม มีความสุขุมคัมภีรภาพ และทำตนให้มีคุณค่าในฐานะมีความรู้ โดยไม่มีพฤติกรรมหรือแสดงออกใด ๆ ที่จะเป็นการหลู่เกียรติขององค์ความรู้ เช่น การพูดจา การเดิน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

7. แสวงหาวิชาความรู้ที่จะก่อประโยชน์ต่อศาสนาของมุสลิมทั้งทางโลกและทางธรรม และไม่ศึกษาหาความรู้ที่จะเป็นภัยต่อศาสนาของมุสลิม

       8. เลือกสรรหาวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต้องการ และเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม เพราะความรู้คือศาสนา จงพิจารณาหาศาสนาจากผู้รู้ที่แท้จริงเท่านั้น

       9. ต้องมีความอดทนต่อการศึกษา การท่องจำและการทบทวนบทเรียน อย่าปล่อยให้เวลาหมดไปโดยไม่ได้มีความรู้เพิ่มเติม ท่านอุมัร กล่าวว่า “จงมีความรู้ที่แท้จริง ก่อนที่จะเป็นผู้นำ”

       10. ต้องถามทุกอย่างที่ไม่รู้ และไม่ต้องอายที่จะสอบถามเพื่อความเข้าใจ มีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า “จะไม่มีวันได้ความรู้ สำหรับผู้ที่อายและอวดดี”

       11. ต้องรีบไปยังสถานศึกษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้เตรียมการให้พร้อมสำหรับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนหรือการทำใจให้พร้อมที่จะรับความรู้จากครูผู้สอน


มารยาทผู้เรียนต่อครูผู้สอน

1. ต้องมีสัมมาคารวะต่อครูผู้สอน ครูคนนั้นจะมีอายุน้อยกว่าก็ตาม เพราะไม่เป็นการเสียหายแต่อย่างใดที่จะเรียนกับครูผู้สอนที่มีอายุน้อยกว่า

2. ต้องให้เกียรติยกย่องครูผู้สอนและมองครูด้วยสายตาชื่นชมและน่าเกรงขาม

3. เมื่อครูเดินเข้ามา ควรยืนเพื่อแสดงความเคารพ และสลามพร้อมจูบมือครูเพื่อให้เกียรติและเอาความสิริมงคล (บารอกะฮฺ)

4. ต้องรักษากิริยามารยาทความเป็นลูกศิษย์ที่ดีในขณะครูกำลังสอน ด้วยการนิ่งฟังอย่างสงบ และสอบถามเมื่อจำเป็น

       5. ต้องไม่ออกไปจากสถานที่สอนหรือห้องเรียน จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากครู เมื่อครูอนุญาต จงขออภัยจากอัลลอฮฺ เพราะที่ดีแล้วต้องไม่ออกจากห้องเรียนจนกว่าจะสิ้นสุดชั่วโมงเรียนเท่านั้น

       6. ต้องมีวินัย และเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของครูทุกอย่าง หากคำสั่งนั้นไม่ผิดต่อหลักศาสนา เพราะหลักการมีอยู่ว่า “ต้องไม่เชื่อฟังคนอื่นในเรื่องที่บาปต่ออัลลอฮฺ”

7. ต้องปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อครูผู้สอนโดยเต็มใจ บรรดานักวิชาการ (อุละมาอฺ) ได้แนะนำหน้าที่ของศิษย์ที่พึงมีต่อครูบางส่วน ดังนี้

* เริ่มให้สลามและแสดงความเคารพ
* ให้เกียรติ ยกย่องและนอบน้อมถ่อมตนต่อผู้เป็นครู
* พูดให้น้อยเมื่ออยู่ต่อหน้าครู
* ไม่พูดในสิ่งที่ครูไม่ได้ถาม
* ไม่ถามจนกว่าครูจะอนุญาต
* ไม่โต้แย้งคำพูดของครู
* ไม่ขึ้นเสียงดังกลบเสียงของครู
* ไม่หันซ้ายหันขวาเมื่ออยู่ต่อหน้าครู แต่ต้องนั่งอย่างเรียบร้องและฟังอย่างสงบ
* ต้องไม่นำคำกล่าวของคนอื่นที่เป็นการแย้งกับคำพูดของครูมากล่าวต่อหน้าครู
* ต้องไม่คิดในแง่ร้าย ในพฤติกรรมภายนอกที่ดูไม่ดีของครู
* ก่อนเข้าพบครูหรือลาจากครู ต้องได้รับอนุญาตจากครูก่อน
* ต้องขอพรต่ออัลลอฮฺให้แก่ครูตลอดชีวิต เหมือนกับขอพรให้พ่อแม่