การปฏิบัติของท่านรอซูลต่อบรรดาศัตรู
  จำนวนคนเข้าชม  13867

การปฏิบัติของท่านรอซูล ต่อบรรดาศัตรู

 

           ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับทุกคน แต่ทว่าบรรดาศัตรูได้พยายามทำร้ายท่าน เพราะท่านถูกส่งมาเพื่อให้ทางสว่างแก่มวลมนุษย์ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะดึงพวกเขาออกจากความมืดมิดสู่แสงสว่าง และออกจากความหลงผิดสู่หนทางที่เที่ยงตรง ท่านจะมีความสุขมากเมื่อได้ช่วยคนๆ หนึ่งออกจากความเลวร้ายสู่ความผาสุข จากความหลงผิดสู่หนทางสว่าง ท่านเราะซูลลุลลอฮ์  อดทนอย่างมากต่อการถูกทำร้ายจากกลุ่มชนที่ต่อต้าน แต่ท่านเองมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในการที่จะทำให้พวกเขาได้รับแสงสว่าง เหล่านี้คือตัวอย่างจากมารยาทที่ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ปฏิบัติต่อบรรดาศัตรู


ความจริงจังในการที่จะให้พวกเขาได้รับแสงสว่าง

           ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ เอาใจใส่อย่างมากในการที่จะชี้นำศัตรูสู่ทางสว่าง ท่านจะเสียใจและเจ็บปวดมากขณะที่พวกเขาเหล่านั้นเมินเฉยการเผยแพร่ ท่านจริงจัง แต่พวกเขากับทำร้ายท่านมากยิ่งขึ้น

อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงกล่าวไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานว่า :

           “บางทีเจ้าอาจเป็นผู้ทำลายชีวิตของเจ้าด้วยความเสียใจ เนื่องจากการผินหลังของพวกเขา หากพวกเขาไม่ศรัทธาต่ออัลกุรอานนี้” ( อัลกะฮ์ฟี่ 18 : 6)

อีกโองการหนึ่ง อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   ทรงตรัสว่า :

           “บางทีเจ้า (มุฮัมมัด) เป็นผู้ทำลายชีวิตของเจ้า เพราะพวกเขาไม่เป็นผู้ศรัทธา”  ( อัชชุอะรออ์ 26 : 3)

            หมายความว่า ท่านเสียใจ อันเนื่องจากการปฏิสธศรัทธาของพวกเขา (*1*)


การขอดุอาร์ให้ได้รับทางนำและห่างไกลจากความหลงผิด

           หลายๆ ครั้งที่ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ได้ขอดุอาร์ต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ประทานทางสว่างแก่ผู้ต่อต้านศาสนา และผู้ที่หลงผิด ไม่ว่าจะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   ทรงตอบรับคำขอ โดยการให้หัวอกของบุคคลนั้นมีความเข้าใจต่ออัลอิสลาม เช่น การขอดุอาร์ให้ท่าน อุมัร บิน คอฎฏอบ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ โดยที่ท่านขอว่า :

           “โอ้อัลลอฮ์ขอพระองค์ได้ทรงทำให้อิสลามสูงส่งจากชายสองคน อันเป็นที่รักของข้าพระองค์ คือ อบูญะฮัล หรือ อุมัร บิน คอฎฏอบด้วยเถิด” (*2*)  

            และแล้วเผ่า เด้าซ์ ก็ตอบรับอิสลาม เนื่องจากการขอดุอาร์ของท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ให้แก่พวกเขา และในขณะที่ท่าน ตุฟัย บินอัมริ อัดเดาซีย์ ได้เรียกร้องเชิญชวนกลุ่มชนในเผ่าของเขาสู่อิสลาม และมีผู้คนคัดค้านต่อต้าน เขาจึงกลับมายังท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ท่านจึงขอดุอาร์ให้แก่กลุ่มชนของเขา แต่ทว่าเขาปฏิเสธ ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ จึงขอดุอาร์ว่า :

           “โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงให้ทางสว่างแด่ชาวเด้าซ์ด้วยเถิด”

แล้วท่านเราะซูลลุลลอฮ์  ก็พูดว่า :
          
           “เจ้าจงกลับไปเถิด จงเชิญชวนพวกเขาด้วยความนิ่มนวล”

           เขาจึงกลับไปและได้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนอีกครั้ง และพวกเขาได้เข้ารับอิสลาม(*3*)  เมื่อวันพิชิต ตออิฟ ในขณะที่พวกเขาฝ่าฝืนต่อบรรดามุสลิมีน ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ได้เรียกร้องให้บรรดาศอฮาบะฮ์เปิดการล้อมให้กับเผ่า สะกีฟ และเชิญชวนให้กลุ่มมุสลิมขอดุอาร์ให้แก่ศัตรู แต่บรรดามุสลิมปฏิเสธ ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ จึงขอดุอาร์ให้แก่พวกเขาโดยกล่าวว่า : 

          “โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงให้ทางสว่างแก่ชาวสะกีฟด้วยเทอญ” (*4*) 

           และไม่นานเผ่าสะกีฟ ก็มาประกาศรับอิสลาม


ให้อภัยทั้ง ๆ ที่สามารถจะเล่นงานพวกเขาได้

           หลังจากการเสียชีวิตของลุง คือ อะบู ฎอลิบและภรรยา ท่านหญิง คอดีญะฮ์  พวกกุเรชได้ทำร้ายท่านหนักข้อมากขึ้น ท่านจึงเดินทางไปยังฎออีฟ แต่กับพบว่าพวกเขาพยายามทำร้ายท่านยิ่งกว่าชาวมักกะฮ์เสียอีก และในขณะที่เดินทางผ่านเมืองฎออีฟ ระหว่างทาง ญิบรีล อะลัยฮิสสลาม ได้มาหาแล้วบอกว่า :
 
           “แท้จริง อัลลอฮ์ทรงได้ยินคำพูดของกลุ่มชนของท่านแล้ว และทราบดีถึงสิ่งที่พวกเขาตอบโต้ท่าน และอัลลอฮ์ได้ส่งมายังท่านแล้ว มะลักแห่งขุนเขา เพื่อที่จะให้ท่านได้ใช้เขาให้แก้แค้นได้ตามที่ท่านต้องการ”

โดยที่มะลักแห่งขุนเขาได้เรียกท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ว่า :
 
           “โอ้มุฮัมมัดเอ๋ย หากท่านต้องการที่จะจัดการกับพวกนี้ ข้าจะทำลายพวกนี้อย่างราบคาบ”

ท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ตอบว่า : 

           “ฉันหวังให้อัลลอฮ์ นำเขาออกมาจากความหลงผิดสู่การทำอิบาดะห์แด่พระองค์เพียงผู้เดียว โดยไม่ตั้งภาคีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด”

           ท่านเราะซูลลุลลอฮ์  อภัยโทษให้แก่ชาวกุเรชขณะที่พิชิตเมืองมักกะฮ์นั้น โดยที่ท่านกล่าวแก่พวกเขาว่า :

           “พวกท่านทั้งหลายไม่มีความผิดแล้วขณะนี้ เพราะอัลลอฮฺทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขาแล้ว”  (*5*)

           และท่านยังได้ให้อภัยโทษให้แก่ท่าน เฆาริษ บิน ฮาริษ ทั้งๆที่เขาพยายามที่จะฆ่าท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ครั้นเมื่อเขากลับไปยังพวกพ้องของเขา เขากล่าวว่า :

           “ฉันได้มาจากคนที่ดีที่สุดในหมู่มนุษย์”  (*6*) 


ให้เกียรติต่อสนธิสัญญาที่ทำขึ้น

           ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลยว่า ท่านเราะซูลลุลลอฮ์   ทำสัญญากับผู้ใดแล้วท่านก็ผิดสัญญา ถึงแม้ว่าผู้ที่ท่านทำสัญญานั้นจะเป็นศัตรูก็ตาม ในเรื่องนี้ศัตรูของท่านได้ยืนยัน ซึ่งขณะที่ชาวยะฮูดี คนหนึ่ง ชื่อ ฮัยยี บุตรของ อัคต็อบ ลุกขึ้นพูดกับ กะอฺ บิน อะซัด ซึ่งเป็นผู้นำยิวจากเผ่าบะนี กุรอยเซาะฮ์ ซึ่งต้องการจะฉีกสัญญาที่ทำกับท่านเราะซูลลุลลอฮ์ แล้วรวมตัวกับพวกพันธมิตร, คำพูดที่กะอฺบพูดกับฮัยย์ ในตอนแรกว่า :

           “ฉันได้ทำสัญญากับมุฮัมมัด และฉันจะไม่ผิดสัญญาที่ทำไว้กับเขา เพราะฉันไม่เคยพบเลยสักครั้งที่เขาผิดสัญญา เพราะเขารักษาสัญญาและซื่อสัตย์มาตลอด” (*7*)  


จำกัดขอบเขตในการทำสงครามให้อยู่ในวงแคบที่สุด

           การทำสงครามของท่านเราะซูลลุลลอฮ์  กับบรรดาศัตรู จะแตกต่างกับการทำสงครามของคนอื่นๆบนแผ่นดินนี้  เพราะท่านเราะซูลลุลลอฮ์ ไม่เคยคิดที่จะฆ่าคู่ปรปักษ์ของท่านเลย หากแต่ที่ต้องทำสงคราม เพราะเกิดภาวะคับขันอันเนื่องมาจากการถูกปิดกั้นการเผยแพร่ศาสนาของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ด้วยเหตุนี้การทำสงครามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความวุ่นวายของผู้ที่จะเข้ารับอิสลาม   

อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า :

           “และพวกเจ้าจงต่อสู้กับพวกเขา จนกว่าความวุ่นวายจะหมดไป และการอิบาดะฮ์ทั้งมวลจะต้องเป็นสิทธิของอัลลอฮ์แต่เพีงผู้เดียว ถ้าหากพวกเขายุติ แน่นอนอัลลอฮ์ทรงเห็นในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน”  ( อัลอันฟาล 8 : 39)

          การทำสงครามของท่านเราะซูล เป็นการทำสงครามที่ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในสนามรบ และกับบุคคลที่ทำตัวแข็งข้อกระด้างกระเดื่องต่อต้านอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเราะซูลของพระองค์ เมื่อท่านแต่งตั้งผู้นำกองกำลังทหารหรือหัวหน้า ซะรียะฮ์ (سرية   กำลังทหารมีจำนวนตั้งแต่  5 ถึง 300 นาย ) ท่านนะบี จะกำชับผู้นำทัพให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และบรรดามุสลิมีนที่อยู่ร่วมกับเขาให้กระทำสิ่งที่ดีงาม แล้วท่านนะบี  ได้กล่าวว่า :

           اغْزُوا بِاسْمِ اللَّهِ فِي سَبِيلِ اللَّهِ قَاتِلُوا مَنْ كَفَرَ بِاللَّهِ اغْزُوا وَلاَ تَغُلُّوا وَلاَتَغْدِرُوا وَلاَ تَمْثُلُوا وَلاَ تَقْتُلُوا وَلِيدًا وَإِذَا لَقِيتَ عَدُوَّكَ مِنْ الْمُشْرِكِينَ فَادْعُهُمْ إِلَى ثَلاَثِ خِصَالٍ أَوْ خِلاَلٍ فَأَيَّتُهُنَّ مَا أَجَابُوكَ فَاقْبَلْ مِنْهُمْ وَكُفَّ عَنْهُمْ ثُمَّ ادْعُهُمْ إِلَى الإِسْلاَمِ فَإِنْ أَجَابُوكَ فَاقْبَلْ مِنْهُمْ وَكُفَّ عَنْهُمْ .....فَإِنْ هُمْ أَبَوْا فَسَلْهُمْ الْجِزْيَةَ فَإِنْ هُمْ أَجَابُوكَ فَاقْبَلْ مِنْهُمْ وَكُفَّ عَنْهُمْ فَإِنْ هُمْ أَبَوْا فَاسْتَعِنْ بِاللَّهِ وَقَاتِلْهُمْ

           “พวกเจ้าจงสู้รบด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในหนทางของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกท่านจงสู้รบกับผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พวกท่านจงสู้รบและจงอย่าบิดพลิ้ว อย่าฉ้อฉลทรัพย์เชลยและอย่าผิดสัญญา อย่าทำสิงที่น่ารังเกรียจ อย่าทำคนตายให้เสียโฉม (ด้วยการตัดจมูก ตัดหู ในขณะที่มีชีวิตอยู่) และอย่าสังหารเด็กเล็ก และเมื่อท่านได้เผชิญหน้ากับศัตรู จากพวกมุชริกีนจงเรียกร้องเชิญชวนพวกเขาสู่สิ่งสามประการ ไม่ว่าพวกเขาจะตอบรับท่านประการใด จงรับพวกเขา และจงหยุดยั้งการทำสงครามกับพวกเขา จงเชิญชวนพวกเขาเข้ารับอิสลาม หากพวกเขาตอบรับการเชิญชวนก็จงรับการตอบรับ และจงยุติการทำสงครามกับพวกเขา....หากพวกเขาปฏิเสธ ก็จงเรียกเก็บ อัลญิซยะฮ์ (ภาษีหัว) และหากพวกเขายอมจ่ายให้แก่ท่าน ก็จงรับการตอบรับและจงยุติการทำสงคราม และหากพวกเขาปฏิเสธไม่ยอมจ่ายภาษีหัว ก็จงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และจงทำสงครามกับพวกเขา”  (*8*) 


การปฏิบัติต่อผู้ที่รอดชีวิตตามสิทธิและหน้าที่

           มีผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมุสลิม ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้สัญญาคุ้มครองและดูแลของมุสลิม หรือเป็นกลุ่มมุนาฟิกีน(พวกกลับกลอก)ที่แสดงถึงการยอมรับนับถืออิสลามภายนอก แต่ปกปิดซ่อนเร้นการปฏิเสธศรัทธา และการเป็นศัตรูกับบรรดามุสลิมเอาไว้ ท่านเราะซูล จะปฏิบัติในส่วนที่เป็นสิทธิ และหน้าที่สำหรับพวกเขาอย่างดี

           ดังเช่น สิทธิในการเป็นเพื่อนบ้าน หากพวกเขานั้นเป็นเพื่อนบ้าน หรือสิทธิในการเป็นญาติ หากพวกเขาเป็นญาติ

           ท่านเราะซูล เคยมีเพื่อนบ้านที่เป็นยิว  และท่านมีเด็กรับชาวยิว เมื่อเด็กคนนั้นป่วยเขาได้หายหน้าไป ท่านเราะซูล ได้ไปเยี่ยมและได้เชิญชวนให้เขาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม แล้วเขาก็ได้รับอิสลาม (*9*) 

           ที่กล่าวมาคือ มารยาท อุปนิสัย และบุคลิกภาพของท่านนะบี เพียงน้อยนิดที่นำมาเสนอ และยังต้องการให้รำลึกนึกถึงมารยาท บุคลิกภาพในการดำรงชีวิตส่วนตัวของท่าน เช่น การใช้ชีวิตอย่างสันโดษ อยู่อย่างพอเพียง การห่างไกลจากความสุขสบายอันฉาบฉวย ความสะอาด ความรัก การสวมใส่เสื้อผ้า การใช้เครื่องหอม วิธีกินอยู่ การแต่งกาย การนอน การเดิน และความกล้าหาญของท่าน ฯลฯ ตลอดจนจรรยามารยาท โดยรวมซึ่งไม่สามารถจะนำมากล่าวได้ทั้งหมด แต่จรรยามารยาทของท่านนะบี นั้นได้ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือเกี่ยวกับจรรยามารยาทและสุนัตต่างๆมากมาย

 

 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด

 

 

 

 

 

 


 

 

  1. ตัฟซีร อิบนุกะซีร 5/132. 6/144
  2. มุสนัด อะฮฺมัด 1/95 สุนัน อัตติรมิซี
  3. กิศเซาะฮฺฯ ลิอิบนิ้ลอะษีร 4/54 จากอิบนิอิสหาก ในศ่อฮีฮุ้ลบุคอรี ค่อบัรฯ อัลมะฆอซี กิศเซาะฮฺเด้าซฺ/75
  4. สุนันอัตติรมิซี มะนากิบษะกีฟ เป็นศอเอี๊ยฆ่อรีบ
  5. ศอฮีฮุ้ลบุคคอรี กิตาบ บะด่าอั้ลค็อล บทที่7 ฮฺ/3231 ใน ฟัต 6/321-313 ศอเฮี๊ยมุสลิม 3/1420ฮฺ /1795.- อบูอุบัยดฺ กิตาบุ้ลอัมวาล 1/202 ซีเราะฮฺอิบนุฮิชาม 4/32 ฯ ดู..ฯ มะฮฺดีริสกุลลอฮฺ อัซซีร่อตุ้ลนะบ่าวียะฮฺ 569 ..ฯ
  6. ศอฮีฮุ้ลบุคคอรี อัลมะฆอซี บท สงครามซาตอัรริก้อ 31 ศ่อเฮี๊ยมุสลิม อัศศ่อลา บทศ่อลาตุ้ลเค้าฟฺ
  7. ซีเราะฮิ อิบนิ ฮิชาม 3/236 อัซซีร่อตุ้ลนะบ่าวียะฮฺ ลิอิบนิกะซีร 3/198 ทั้งสองรายงานจาก อิบนิ อิสหาก อัลบัยฮะกี ด้าลาอิ้ล นุบูวะฮฺ 3/400
  8. ซอฮี๊ฮฺ มุสลิมเล่มที่ 3 ฮะดีษที่ 1357 / เปลี่ยนสายรายงานเป็น 1731 สุนัน อัตติรมิซียฺ เล่ม 4 ฮะดีษ เลขที่ 162 มุสนัด  อิมาม อะฮฺมัด เล่ม 5 ฮะดิษที่ 358 และคำ“ มุซละฮฺ”  หมายถึงการตัดอวัยวะบางส่วนของร่างกายในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ .
  9. ซอฮี๊ฮฺ อัล บุคอรีย์ อิตาบ อัลญะนาอิซ (الجنائز) บท เมื่อเด็กเข้ารับอิสลาม (ฮะดิษเลขที่ 1356) สุนัน อบีดาวู๊ด เล่มที่ 3 ฮะดิษ ที่ 185 มุสนัด อิมาม อะฮฺมัด เล่ม 3 ฮะดิษ 175