สงครามครูเสด ตอนที่ 2
  จำนวนคนเข้าชม  22717

สงครามครูเสด

โดย อ.กามาล  อับดุลวาฮาบ

ท่านศอลาฮุดดีน อัล อัยยูบี    صلاح الدين الأيوبي - رحمه الله


           ท่านศอลาฮุดดีน อัล อัยยูบี เกิดที่เมืองตักรีตในอิรัก เมื่อปี ค.ศ.1138 เป็นชาวเคิร์ก บิดาชื่อนัจญ์มุดดีน อัล อัยยูบี เป็นผู้ปกครองเมืองบะอฺละบักของซัลจู๊ค ไม่ปรากฏชีวประวัติของท่านเมื่อเยาว์วัยมากนัก จะเริ่มเป็นที่รู้จักกันเมื่อตอนที่ชีกูรนำทัพเข้าสู่อียิปต์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1164 หลายปีต่อมาคือในปี ค.ศ.1169 คอลีฟะฮฺอัลอาฎิดแห่งฟาฏีมียะฮฺก็ได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นวะซีรแทนชีกูรที่เสียชีวิตไป

ศอลาฮุดดีนมีตำแหน่งเป็นทั้งวะซีรของคอลีฟะฮฺอัลอาฏิดแห่งฟาฏีมียะฮฺ และขณะเดียยวกันก็เป็นแม่ทัพของนูรุดดีนแห่งรัฐอะตาเบคฮะลับ ซึ่งให้การยอมรับอำนาจของคอลีฟะฮฺแห่งอับบาซียะฮฺ ท่านศอลาฮุดดีนจึงดำเนินการที่จะล้มล้างอำนาจของคอลีฟะฮฺแห่งฟาฏีมียะฮฺอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในที่สุดเมื่อถึงปี ค.ศ.1171 ท่านศอลาฮุดดีนจึงประกาศปลดอัลอาฏิดออกจากตำแหน่งคอลีฟะฮฺและยกเลิกระบบคอลีฟะฮฺแห่งฟาฏีมียะฮฺ ท่านได้ใช้ความพยายามในอันที่จะเปลี่ยนชาวอียิปต์ให้มานับถือนิกายซุนนี่แทนชีอะฮฺ ซึ่งส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าวก็คือการสร้างโรงเรียนอันนาซิรียะฮฺ อัลซูยูฟียะฮฺ และจะแต่งตั้งบุคคลที่เป็นซุนนี่เท่านั้นในการเป็นผู้พิพากษา

เมื่อปัญหาเรื่องชีอะฮฺหมดไป ท่านศอลาฮูดดีนก็เริ่มสร้างฐานะของตนเอง นูรุดดีนเสียชีวิตไปในปี ค.ศ.1174 ศอลาฮุดดีนจึงรวบรวมซีเรียมาอยู่ในอำนาจ นอกจากนี้ท่านศอลาฮุดดีนยังได้ส่งพี่ชายชื่อตูรอน ชาห์ นำทัพเข้ายึดนูเปียน เยเมน ตลอดจนแคว้นฮิญาซมาอยู่ในอำนาจ เพื่อคุมเชิงพวกคริสเตียนในเอธิโอเปียไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับพวกครูเสด ในปี ค.ศ.1175

คอลีฟะฮฺแห่งอับบาซียะฮฺก็ได้ประกาศให้ท่านศอลาฮุดดีนเป็นสุลต่านแห่งราชวงศ์อัยยูบียะฮฺเป็นสุลต่านแห่งรัฐอียิปต์ รัฐนูเปียน รัฐเยเมน รัฐซีเรีย และอัลญะซีเราะฮฺ ( คือภาคเหนือของประเทศอิรัก ) รวมทั้งเป็นผู้พิทักษ์นครอันศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามคือ นครมักกะฮฺ และมะดีนะฮฺ เมื่อรวมโลกอิสลามเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ท่านศอลาฮุดดีนก็เริ่มรณรงค์เข้ายึดดินแดนที่ตกไปอยู่ในมือของพวกครูเสดคืน พวกครูเสดเห็นว่าท่านศอลาฮุดดีนเป็นผู้มีความสามารถต่างก็พากันวิตก และได้พยายามจ้างคนลอบสังหาร แต่ไม่สำเร็จ

วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 กองทัพของคริสเตียน 20,000 คนก็ได้ปะทะกับทหารของท่านศอลาฮุดดีนที่สมรภูมิฮิตติน ( Hittin ) ใกล้กับทะเลสาบฏอบรียะฮฺ พวกคริสเตียนมี กายเดอ หลุยซีนาน ( Guyde Lusignan ) และริจแนลด์เป็นแม่ทัพ อีก 4 วันต่อมา ทัพของคริสเตียนก็พ่ายแพ้แก่อิสลาม ท่านศอลาฮุดดีนจับเชลยได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งกษัตริย์แห่งเยรูซาเล็มและริจแนลด์ ผลจากสงครามครั้งนี้ เมืองอักกา นาซาเรท คอยซาเรีย ไฮฟา ไซดอน และเบรุต ตกเป็นของอิสลามในเวลาต่อมา

ท่านศอลาฮุดดีนมุ่งหน้าสู่เยรูซาเล็ม ปรากฏว่าพวกครูเสดที่หนีรอดจากสงครามฮิตตินได้มารวมพลกันอยู่ที่นี่ แต่ในที่สุดท่านศอลาฮุดดีนก็สามารถยึดเมืองนี้ได้ รวมเวลาที่เยรูซาเล็มตกอยู่ในมือของพวกครูเสดถึง 88 ปี ท่านศอลาฮุดดีนได้ปฏิบัติต่อพวกเชลยศึกเป็นอย่างดี ซึ่งปรากฏว่ามีเชลยจำนวนมากที่ท่านได้ปล่อยตัวไปเมื่อเห็นว่าไม่สามารถหาเงินมาไถ่ตัวได้ และไม่ปรากฏว่ามีการสังหารเชลยศึกเลย เมื่อถึงตอนนี้อำนาจของครูเสดเหลืออยู่เพียงแต่ในเมือง ทรอยย์,ทริโปลี,อันตากียะฮฺ และเมืองสำคัญไม่กี่เมืองเท่านั้น


สงครามครูเสดครั้งที่ 3


          สงครามครั้งนี้เป็นการรวมกำลังใหม่ของพวกครูเสด ในอันที่จะบุกยึดเยรูซาเล็มคืน กองทัพของครูเสดคราวนี้ได้แก่กองทัพที่มาจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน มีผู้นำคือกษัตริย์ริชาร์ด ( Richard The Lion Heauld ) กษัตริย์แห่งอังกฤษ กษัตริย์ฟิลิป ออกัสตัส ( Philip Augustus ) แห่งฝรั่งเศส กษัตริย์เฟดเดอริค บาร์บาโรซซ่า ( Federick Barbarossa ) แห่งเยอรมัน สงครามคราวนี้มีสิ่งที่แตกต่างจากสงครามครั้งก่อนๆ กล่าวคือ เจตนารมณ์เดิมของการทำสงครามคือ เพื่อศาสนา กลับมาเป็นความมุ่งหมายในการแสวงหาความร่ำรวย เรื่องราวความร่ำรวยของตะวันออกที่พวกครูเสดได้ไปเล่าให้ผู้คนในยุโรปฟัง เป็นสิ่งเย้ายวนใจให้ชาวยุโรปเดินทางมาทำสงครามคราวนี้

          กองทัพจากอังกฤษและฝรั่งเศสยกมาทางเรือ ส่วนกองทัพจากเยอรมันยกมาทางบก ปรากฏว่า กษัตริย์เฟดเดอริคจมน้ำตายในขณะที่เขาข้ามแม่น้ำสายหนึ่งในแคว้นซิลิเซีย ใกล้ๆเมืองอัรรูฮะฮฺ กองทัพจากเยอรมันเลยไม่ได้มารบกับอิสลามแต่อย่างใด นอกจากทหารจำนวนน้อยที่ติดตามลูกชายของเฟดเดอริคไป ซึ่งไม่มีความสำคัญทางทหารแต่อย่างใด

กองทัพจากอังกฤษและฝรั่งเศสได้มารวมพลกันที่เกาะซิซิลี เพื่อวางแผนในการทำสงครามกัน แต่เกิดมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ดังนั้น แต่ละกองทัพจึงยกไปตามลำพัง ริชาร์ดเข้าตีเกาะไซปรัสจากอิสลาม และได้เข้ายึดครองเกาะนี้ไว้ ส่วนฟิลิปเดินทางตรงไปยังปาเลสไตน์ และเข้าล้อมเมืองอักกาไว้ ทัพของอังกฤษซึ่งยกมาทีหลังได้เข้าช่วยฝรั่งเศสเอาไว้ ส่วนท่านศอลาฮุดดีนได้ยกทัพออกมาต้านพวกครูเสดไว้ หลังจากที่ล้อมเมืองอยู่นานถึง 2 ปี

ในปี ค.ศ.1191 ศอลาฮุดดีนจึงขอทำสัญญายอมอ่อนข้อให้กับพวกครูเสด โดยแลกเปลี่ยนกับเงื่อนไขที่ว่า พวกครูเสดต้องไม่กระทำการใดๆต่อชาวเมือง พวกครูเสดได้เสนอความต้องการของตน กล่าวคือ อิสลามต้องจ่ายเงิน 200,000 ดินาร์ และจะต้องคืนไม้กางเขนแห่งเยรูซาเล็มแก่พวกครูเสด ริชาร์ดเห็นว่ามุสลิมมีความล่าช้าในการจ่ายค่าตัว จึงได้ทำการฆ่าหมู่มุสลิมที่เป็นเชลย ซึ่งมีจำนวนถึง 2,700 คน การกระทำครั้งนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเมตตาของท่านศอลาฮุดดีนที่ได้กระทำต่อเชลยศึกคริสเตียนที่เยรูซาเล็มเมื่อ 2 ปีก่อน

ในที่สุดสัญญาสงบศึกก็ได้ทำกันในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1192 โดยที่ชายเมืองฝั่ง อักกาและบริเวณโดยรอบตกเป็นของพวกครูเสด และท่านศอลาฮุดดีนต้องยอมให้พวกคริสเตียนเดินทางไปสู่เยรูซาเล็มโดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่นำเอาอาวุธติดตัวมาด้วย สัญญาฉบับนี้เป็นการสิ้นสุดของสงครามครูเสดครั้งที่ 3

          เมื่อสงครามยุติแล้ว ท่านศอลาฮุดดีนก็ได้ยกทัพไปตรวจเมืองต่างๆซ่อมแซมอาคารสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากการทำสงคราม และได้กลับมาพักที่นครดามัสกัสพร้อมกับครอบครัว จนกระทั่งสิ้นชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1193 ขณะมีอายุได้ 55 ปี การตายของท่านเป็นที่เศร้าโศกเสียใจกันทั่วไปในโลกอิสลาม เป็นสุลต่านที่อยู่ในความทรงจำของโลกอิสลามเช่นเดียวกับคอลีฟะฮฺฮารูน อัรรอซีด สุลต่านมะมูดแห่งฆอสนาวียะฮฺ (ในอินเดีย และอัฟกานิสถาน) และสุลต่าน ปีปรัสแห่งมัมลูค (ในอียิปต์)

ท่านเป็นนักรบที่กล้าหาญ เฉลียวฉลาด มีความยุติธรรม โอบอ้อมอารีในการปฏิบัติต่อผู้แพ้เป็นที่ยกย่องแม้แต่ศัตรู และเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะวิทยาการที่ยิ่งใหญ่ผู้หนึ่ง ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง เช่น กอฎีย์อัลฟาฎิล,อิมาดุดดีน อัลอิศฟะฮานีย์,บะฮาอุดดีน อิบนุ ชัดดาด เป็นต้น ท่านได้เปิดโรงเรียนและวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในอาณาจักร ที่นับว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดคือ มหาวิทยาลัยอัยยูบียะฮฺในนครดามัสกัส และท่านเป็นผู้ที่ทำให้มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรแห่งนครไคโรประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนอิสลามตามแนวซุนนะฮฺ หลังจากที่มหาลัยวิทยาลัยแห่งนี้สถาปนาขึ้นเพื่อสอนตามแนวชีอะฮฺ
 

ท่านศอลาฮุดดีนนับเป็นสุลต่านคนแรกของราชวงศ์อัยยูบียะฮฺ สุลต่านของราชวงศ์นี้หลายชั่วอายุคนได้ต่อต้านการรุกรานของพวกครูเสดมาโดยตลอด

พี่น้องมุสลิมได้ข้อคิดอะไรจากสงครามครั้งนี้  หรือไม่?

สงครมครูเสด>>>Click