อะไร คือ ความดีในอิสลาม ?
  จำนวนคนเข้าชม  34281


อะไรคือความดีในอิสลาม ?


โดย อิจรลาลีย์

 

          ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ทุกครั้งที่มีดำรัสของพระองค์ที่ว่า   และบรรดาผู้ศรัทธา   มักจะต้องตามด้วยดำรัสของพระองค์ที่ว่า    และประกอบคุณงามความดี   จึงเห็นได้ว่าศาสนาอิสลามไม่ได้ตั้งอยู่บนศรัทธาแต่เพียงอย่างเดียว แต่อิสลามคือศรัทธาและปฏิบัติควบคู่กันไป ศรัทธาเป็นเรื่องภายใน ไม่อาจบังคับ ไม่มีใครเห็น ปัญหาอยู่ที่ว่าการปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งภายนอกที่ทุกคนสัมผัส มีอะไรเป็นเครื่องวัด ว่าอย่างไรคือดี อย่างไรคือไม่ดี     

          นักปรัชญานักการศาสนาให้คำตอบปัญหาจริยศาสตร์ข้อนี้ไว้หลากหลาย ตามสภาพบุคคลและสังคม บ้างว่าใช้ผลที่ได้รับเป็นเครื่องวัด บ้างใช้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นเคริ่องวัด และอีกหลายๆคำตอบที่ยังไม่อาจหาข้อสรุปที่แน่นอน ตายตัว ครอบคลุมทุกสังคมชนชั้น                 

          แต่สำหรับจริยศาสตร์อิสลามแล้ว ความดี ความชั่วคืออะไรไม่ถือเป็นประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันอีกต่อไป เพราะ อิสลามมีมาตรวัดที่ชัดเจน เด็ดขาด แน่นอน สมบูรณ์และไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด นั่นคือ คัมภีร์ของ    อัลลอฮ   และแนวทางของท่านศาสดามุฮัมหมัด    มาตรการที่ใช้วัดจึงไม่ได้อาศัยมติบุคคลหรือมติมหาชน ไม่ได้อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี  ความนิยมหรือภาวะแวดล้อม   แต่อาศัยศาสนบัญญัติเป็นหลัก   ความดีที่อัลลอฮ ทรงเรียกร้องนั้น คือความดีทั้งปวงซึ่งครอบคลุมการงานที่ดีต่างๆ การเชื่อฟังพระองค์ เป็นความดี การกระทำที่ทำให้ได้รับความประเสริฐ เป็นความดี การมีใจบริสุทธิ์ มีเจตนาดี เป็นความดี การทำดีต่อเพื่อนมนุษย์เป็นความดี คำพูดที่ดี เป็นความดี การงานที่สร้างความสมัครสมาน รักใคร่ปรองดองในสังคม และทำให้สังคมดีขึ้นก็เป็นความดี  ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเรียกร้องเชิญชวนสู่ความดี  ดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์อัลกุรอาน และในพระวจนะศาสดา  โดยที่มิได้แจกแจงรายละเอียดเอาไว้ หรือ กำหนดขอบเขตปักเป็นเครื่องหมายไว้แต่ประการใด  

          วิธีการบรรยายถึงความดีที่พระคัมภีร์ใช้มีอยู่หลายวิธีการด้วยกัน ส่วนใหญ่จะปรากฏในลักษณะสำนวนที่ว่า  อัลลอฮ ทรงเป็นฝ่ายผู้ ....    หรือการบอกถึงความพึงพอพระทัยของพระองค์ในการใดการหนึ่ง อันถือเป็นข้อยุติตัดสินแล้วว่า นั่นคือความดีที่อิสลามส่งเสริม ไม่มีผู้ใดสามารถแย้งหรือออกความเห็นเป็นอื่นได้อีก นอกจากนี้แม้การใดที่กำหนดว่าดี ในศาสนบัญญัติ ยังต้องคำนึงถึงสภาพผู้กระทำด้วย เพราะอิสลามถือเจตนาและเป้าหมายของผู้กระทำเป็นหลัก หากแม้นเป็นความดีแต่มีเจตนาอื่นแอบแฝง อาทิ เพื่อโอ้อวด เพื่อสร้างชื่อเสียง  ลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลในการตอบแทนของผู้กระทำ  อิสลามจึงเน้น การกระทำ ในวิถีทางแห่งพระองค์เป็นหลัก หมายถึง ในวินิจฉัยแห่งพระองค์ โดยมอบความวางใจและศรัทธาทั้งสิ้นต่อพระองค์ โดยปราศจากข้อสงสัยหรือการลังเลใดๆ   

"พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ "( อัลมุลก 67 / 2 )          

             การงานจะไม่ถูกตอบรับและไม่ถือเป็นการงานที่ดี นอกเสียจากเป็นการกระทำมี่มาจากเจตนาที่ดี มีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮ     พระองค์จะไม่ทรงบัญชาใช้นอกจากสิ่งที่เป็นความดี และพระองค์จะไม่ทรงพอพระทัย  นอกจากความดีเท่านั้น 

ดังนั้น ความดีในอิสลามจึงต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการเป็นส่วนประกอบ อันได้แก่

1. การศรัทธา

2. การปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ

 3. ความยำเกรงและบริสุทธิ์ใจต่อพระเจ้า 

          

           ทั้งสามนี้ต้องดำเนินควบคู่กันเสมอ หากมีแต่ศรัทธาแต่ไม่ประกอบคุณงามความดี ก็หาเป็นผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์ไม่ การกระทำที่ปราศจากการยำเกรงต่อพระเจ้า ก็หาเป็นคุณธรรมที่ประเสริฐไม่ การศรัทธาที่แท้จริงของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ศรัทธาแล้ว จึงหมายถึงการเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นด้วยหัวใจ และแสดงออกถึงความศรัทธาด้วยการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางที่อิสลามได้วางไว้

 ท่านศาสดามุฮัมมัด   กล่าวว่า   

          “ แท้จริงการงานทั้งหลายนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนา และแท้จริงทุกคนจะได้รับตามที่เขาตั้งเจตนาไว้ ผู้ใดที่การอพยพของเขานั้นเพื่ออัลลอฮ และ ศานทูตของพระองค์แล้ว การอพยพของเขาก็เป็นไปเพื่ออัลลอฮ และ ศานทูตของพระองค์ ผู้ใดที่การอพยพของเขาเพื่อสิ่งที่เขาปรารถนาในโลกนี้ หรือเพื่อสตรีที่เขาจะแต่งงานด้วย การอพยพของเขาก็เป็นไปตามที่เขาประสงค์ ”   (   บันทึกโดยอิมามบุคอรีและอิมามมุสลิม )   

          และอิสลามยังสอนไม่ให้ดูถูกความดีแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ดังปรากฏในฮะดีสที่ว่า

         “ ท่านทั้งหลายอย่าได้ดูถูกการทำดีใดๆ แม้จะเป็นเพียงการพบปะกับพี้น้องของท่านด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสก็ตาม” ( บันทึกโดย อิมามมุสลิม) 

          “ การที่ท่านยิ้มแย้ม เมื่อพบหน้าพี่น้องของท่านนั้น นับเป็นทานอย่างอย่างหนึ่ง ” ( บันทึกโดย อิมาม ติรมีซีย์ ) 

             นอกจากนี้แล้ว อิสลามยังกำชับให้รีบเร่งทำความดี และส่งเสริมให้เคยชินกับความดีตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อสร้างพื้นฐานให้มั่นคงอยู่กับการทำดี ดังบทกวีอาหรับที่ว่า “ เด็กจะเติบโต ตามแต่ที่บิดามารดาฝึกฝนอบรม” ดวงตะวันไม่เคยคอยใคร กาลเวลาล่วงผ่านอย่างรวดเร็ว  เวลาจึงเป็นโอกาสทองที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานแก่มนุษย์ เพื่อปรับปรุงพัฒนาตนให้ดีและเป็นประโยชน์     ท่านศาสดามุฮัมมัด   กล่าวว่า   

“ ท่านทั้งหลายจงรีบเร่งทำการงานเถิด มิฉะนั้นท่านจะพบกับ 7 ประการดังต่อไปนี้

1. ความยากจน ที่ทำให้ลืมหน้าที่ที่มีต่ออัลลอฮ์

2. ความร่ำรวย ที่ทำให้ละเมิดของเขตของพระองค์

3. ความเจ็บป่วย ที่ทำให้ไร้ความสามารถ   

4. ความชราภาพ ที่ทำให้หลง          

5. ความตาย ที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน    

6. อัดดัจญาล จอมโกหก วายร้ายที่ทุกคนเฝ้ารอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ปรากฏตัว  

7. วันสิ้นโลก ซึ่งเป็นเรื่องหนัก และขมขื่นยิ่ง ”    ( บันทึกโดย อิมาม ติรมีซีย์ )  

          มีผู้ถามท่านศาสดามุฮัมมัด   ว่า การทำทานชนิดใด ที่จะได้รับรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่จากอัลลอฮ ? ท่านศาสดามุฮัมมัด   ตอบว่า 

“ การทำทาน ในขณะที่ท่านมีสุขภาพดี ในขณะที่ท่านมีความหวงแหน หวังความรวย และกลัวความยากจน

จงอย่าเพิกเฉย รอจนกระทั่งชีวิตมาถึงลูกกระเดือก ( เมื่อวิญญาณออกจากร่าง ) แล้วเพิ่งจะพูดว่า

นี่ของคนนี้ นั่นของคนนั้น ทั้งๆที่ความจริงสิ่งนั้นก็เป็นกรรมสิทธิ์ของคนๆนั้นอยู่แล้ว อย่างแน่นอน”

( หมายถึงเป็นมรดก ) 

( บันทึกโดย อิมาม บุคอรีย์ )