การปฏิบัติตน
  จำนวนคนเข้าชม  58901

การปฏิบัติตน


“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใด นอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงและดำรงการละหมาด และจ่ายซะกาต และนั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”    (Al-Quran 98:5)

หลักปฏิบัติ ที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติมี 5 ประการ


1) การปฏิญาณตน   คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น และมุฮัมมัดเป็นบ่าวและศาสนาทูตของอัลลอฮ์” ในการปฏิญาณนี้คือ การยอมรับ ยอมจำนนทุกอย่างที่เกี่ยวกับอิสลาม ทุกอย่างที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮะดิษ คือซุนนะฮ์ที่มาจากท่านนะบี   ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิต ศาสนาอิสลามมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว ห้ามสักการะในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาและห้ามก้มกราบมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะมนุษย์นั้นมีฐานะเท่าเทียมกันถึงแม้จะต่างกันที่สถานภาพ ฐานะ ตำแหน่ง และหน้าที่เราสามารถให้ความเคารพได้แต่เป็นในแนวทางอื่น  เพราะมนุษย์เกิดมาจากดินเหมือนกัน มิได้มีวิวัฒนาการมาจากลิง ลิงเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา 


2) การละหมาด ซึ่งในภาษาอาหรับเรียกว่า “อัศเศาะลาฮ์” คือการเข้าเฝ้าอัลลอฮ์   เป็นการสรรเสริญยกย่องเกียรติคุณ การวิงวอนขอพรและขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์   การรำลึกถึงอัลลอฮ์   ตลอดเวลา ด้วยอิริยาบทที่ถูกบัญญัติด้วยการยืน การโค้งคำนับ การก้มกราบ(สุญูด) เป็นการแสดงความใกล้ชิดกับพระองค์ภายใต้ความนอบน้อม ความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง เหล่านี้เองทำให้ผู้ที่ละหมาดได้ทำการขัดเกลาและชำระจิตใจให้สะอาดเป็นการแสดงความจงรักภักดี และหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่พึงมีต่ออัลลอฮ์   ผู้ทรงเดชานุภาพ อันเป็นการปลูกฝังจิตใจให้เกิดความยำเกรงต่อพระองค์ ตลอดจนรู้สึกละอายใจที่จะกระทำสิ่งที่ขัดต่อบัญญัติศาสนา โดยมุสลิมต้องทำการละหมาดวันละ 5 เวลา การละหมาดได้ถูกบัญญัติไว้แก่บรรดามุสลิมทุกคน    เมื่อบรรลุศาสนภาวะแล้ว


“ จงดำรงละหมาดไว้ตั้งแต่ตะวันคล้อยจนพลบค่ำ และการอ่านยามรุ่งอรุณ แท้จริงการอ่านยามรุ่งอรุณนั้นเป็นพยานยืนยันเสมอ ” (Al-Quran 17:78)


         ช่วงชีวิตคนเราอาจจะมีบางครั้งที่กระทำผิด ฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์   ผู้ทรงเกียรติยิ่ง  ผู้ทรงเห็นทุกอย่าง การเตาบะฮ์ (การสำนึกผิด) จึงเป็นวิธีที่ทุกคนสามารถขออภัยในความผิดที่ทำมาโดยสุจริตใจ เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยให้อย่างมากมาย เราสามารถที่จะกลับไปทำความดีเพื่อพระองค์และลบล้างบาปที่ได้กระทำไป
 

 “แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงรับการเตาบะฮ์ ของบ่าว (ทุกกาลเวลา) เว้นแต่ในสภาพที่วิญญาณใกล้ออกจากร่าง”   (บันทึกโดย ติรมิซีย์)


“เว้นแต่ผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และศรัทธา และประกอบการงานที่ดี เขาเหล่านั้น อัลลอฮ์จะทรงเปลี่ยนความชั่วของพวกเขาเป็นความดี และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอและผู้ใดกลับเนื้อกลับตัวและกระทำความดีแท้จริงเขากลับเนื้อกลับตัวเข้าหาอัลลอฮ์อย่างแท้จริง” (Al-Quran 25:70-71)


          การละหมาดทำให้จิตใจแข็งแกร่งและอ่อนน้อม  การละหมาดเป็นสัญญาณเมื่อถึง วันกิยามะฮ์ การละหมาดและการอาบน้ำละหมาดคือรัศมีที่บ่งบอกความเป็นบ่าวของอัลลอฮ์   ในวันนั้นเองการละหมาดจะเป็นงานชิ้นแรกที่ถูกชำระสอบสวน


“แท้จริงสิ่งแรกที่มนุษย์จะถูกสอบถามในวันกิยามะฮ์ จากการงานของพวกเขาก็คือ การละหมาด”  (บันทึกโดย อบูดาวูด อันนะซาอีย์  ติรมีซีย์และ ฮากิม)
 

“โอ้ผู้ปรารถนาในโลกหน้า จงเตรียมเรือของท่านให้พร้อม เพราะทะเลมันลึกมาก


จงเตรียมเสบียงให้มากที่สุด เพราะการเดินทางมันสุดแสนลำเค็ญ


จงบริสุทธิ์ในการกระทำ เพราะผู้ตรวจสอบนั้นช่างหยั่งรู้เหลือเกิน”


          เมื่อละหมาดยุซรอจะมีสมาธิและสติปัญญาในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น เมื่อมีสมาธิจากการละหมาดทำให้ค้นพบคำตอบของปัญหาต่างๆ อยู่เป็นประจำไม่รู้ว่าความคิดหรือคำตอบต่างๆ เหล่านี้มาได้อย่างไร ยุซรอพยายามไม่ให้ขาดละหมาดเลยสักครั้งเดียว เมื่อใดที่ขาดละหมาดจะไม่สบายใจและรู้สึกว่าตนนั้นได้กระทำความผิดต่อพระองค์ เพราะเวลาออกไปซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้า  ห้างฯที่ใหญ่โตและทันสมัยเหล่านั้นบางห้างฯไม่มีห้องละหมาดให้มุสลิม แล้วจะบอกว่ามุสลิมไม่เดินห้างฯไม่ได้นะ! ห้างสรรพสินค้าในประเทศอาหรับเขามีที่ละหมาด ทำไมอาหรับถึงไม่เดินห้างสรรพสินค้าในเมืองไทย เพราะไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลาม แต่รู้ไหมว่าคนกลุ่มประเทศอาหรับเขามีกำลังซื้อมากขนาดไหน (ทำไมไม่ดูว่าเดี๋ยวนี้อะไรมันแพงที่สุดน้ำมัน แล้วมาจากไหน) พวกเขาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) เรานั่นเอง    เพราะมีห้องละหมาดไว้บริการให้มุสลิมกันทุกห้างฯ เมื่อใกล้ถึงเวลาละหมาดจะมีนกบินผ่านมาส่งเสียงร้องเป็นประจำ เหมือนกับพวกเขาจะมาเตือนให้ยุซรออย่างหลงลืมการละหมาดและพวกเขาก็ขอพรต่อพระองค์ด้วย


“ เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นผู้ที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และนกที่กางปีกอยู่ ต่างก็แซ่ซ้องสดุดีพระองค์ ทั้งหมดนั้นต่างก็รู้การสวดขอพรของเขาและการแซ่ซ้องสดุดีของเขา และอัลลอฮ์ทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเขากระทำ ”  (Al-Quran 24:41)


3) การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน  คือการงดการกิน การดื่มและการมีเพศสัมพันธ์การงดเว้นในการทำความชั่วทางกาย วาจา ใจ ทุกชนิด ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ ตี 4:50 ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาประมาณ 6:20 ช่วงดวงอาทิตย์ตกดิน โดยประมาณ 29-30 วัน และสามารถดำเนินชีวิตปกติควบคู่กับการทำงานได้

          เมื่อถึงเดือนที่ 9 ตามจันทรคติ ผู้ที่เป็นมุสลิมและบรรลุศาสนภาวะ  แล้วต้องปฏิบัติ ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบ การถือศีลอดนี้ต้องปฏิบัติทั้งคนรวยและคนจน เป็นการสอนคนรวยจะได้รู้ว่าการที่คนจนไม่มีข้าวกินนั้นมีความรู้สึกอย่างไร เวลาที่คนเราหิวมากๆและมองเห็นอาหารวางอยู่ตรงหน้าแต่ยังไม่สามารถกินได้มันจะทรมานแค่ไหน ความรู้สึกที่สะท้อนกลับมาหาตัวของมนุษย์ เพื่อให้เพื่อนมนุษย์รู้จักแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจซึ่งกันและกัน นี่คือวิธีที่พระองค์ทรงใช้สอนมนุษย์ วิธีที่แยบยลโดยไม่ต้องป่าวประกาศแต่ใช้การทดสอบจิตใจและร่างกาย ด้วยความรู้สึกหิว กระหาย พระองค์ไม่ได้ทำเพื่อใครอื่นเลย นอกจากเพื่อปวงบ่าวผู้ศรัทธา โปรดตรึกตรองดูเถิดว่า พระองค์รักบ่าวของพระองค์มากแค่ไหนพวกท่านที่มีสติปัญญาทั้งหลายควรตรึกตรองดู และยังมีการถือศีลอดในวาระต่าง ๆ ที่ศาสนาสนับสนุนแต่ไม่บังคับ


“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง ” (Al-Quran 2:183)


          ไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการพิสูจน์ด้วยตนเอง ยุซรอได้ทดลองกับตนเองโดยในแต่ละวันทานอาหารจาก 3 มื้อ ลดลงเหลือ 2 มื้อ นี่แค่ลดลงมื้อเดียวยังทรมานขนาดนี้เลย แต่จะต้องรู้ให้ได้ถ้าไม่กินทั้งวันจะรู้สึกอย่างไร ช่วงแรกๆ นั้นมีอาการที่เรียกว่าโหยหาอาหาร ทำให้รู้ว่าคนจนที่ไม่มีข้าวกินนั้นเขารู้สึกกันอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงบอกเพื่อนๆให้ทำบุญกับคนยากจนขัดสน พวกเขาจะได้มีเงินซื้อข้าวกิน  แต่ก่อนเมื่อมีความรู้สึกหิวไม่เคยนึกถึงสิ่งนี้เลยเพราะยังไงเดี๋ยวก็ได้กินอยู่ดีและจะกินให้เยอะๆด้วย แต่พอถึงเวลากินจริงๆด้วยความที่เราหิวมากๆมักจะทานได้ไม่เยอะพระองค์ทรงสอนยุซรอทางอ้อมเพื่อให้ได้ใช้สติปัญญาในการคิดใคร่ครวญถึงชีวิตของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

          หลังจากได้ทดลองกับตนเองนั้นจึงได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้และไม่เคยที่จะรับรู้ว่าเราจะต้องคิดถึงคนอื่นในหนทางไหน คิดเวลาไหนถึงจะเข้าถึงความรู้สึกของคนจน เพราะความหิวพวกเขาทำได้ทุกอย่างไม่ว่าจะทำอะไร จะฆ่าใคร จะขโมยของที่ไหน ต้องยกมือไหว้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาอย่างไม่ใยดี ต้องเดินขอเศษเงินจากคนอื่นๆ ต้องทนกับการปฏิเสธของคนแล้วคนเล่า ต้องนั่งตากแดดบนพื้นที่ร้อนระอุ ต้องเสี่ยงอันตรายข้างถนน แม้แต่บางคนยังต้องขายตัวเองและลูกเพื่อจะนำเงินนั้นมาดำรงชีวิตอยู่ต่อไป


“ (คือให้บริจาคทาน) แก่บรรดาผู้ที่ยากจนที่ถูกจำกัดตัวให้อยู่ในทางของอัลลอฮ์ โดยที่พวกเขาไม่สามารถจะเดินทางไปในดินแดนอื่นๆได้ (เพื่อประกอบอาชีพ) ผู้ที่ไม่รู้คิดว่าพวกเขาเป็นผู้มั่งมี อันเนื่องจากความสงบเสงี่ยมเจียมตัวโดยที่เจ้าจะรู้จักเขาได้ ด้วยเครื่องหมายของพวกเขา พวกเขาจะไม่ขอจากผู้คนในสภาพเซ้าซี้ และสิ่งดีใดๆ ที่พวกเจ้าบริจาคไปนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ดีในสิ่งนั้น ” (Al-Quran 2:273)


          ความเสมอภาคทางสังคมทุกวันนี้เราวัดระดับกันที่ไหน การแต่งตัวที่หรูหราตามยุคสมัย ใส่เครื่องประดับ  ถือกระเป๋าราคาแพง ขับรถยนต์รุ่นใหม่  เดินช็อปปิ้งในห้างฯดัง การไปเที่ยวต่างประเทศ กินอาหารในโรงแรม 5 ดาว ดื่มกาแฟแก้วละแพงๆ นี่คือการวัดระดับของสังคมไทยในทุกวันนี้หรือ เพราะอะไร? ใครช่วยตอบที ! ทำไมสังคมที่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือคนยากคนจน การโอบอ้อมอารี การรู้จักแบ่งปันกันหายไปไหนกันหมด “ยิ้มสยาม” ที่ทุกคนในประเทศไทยเคยมีอยู่บนใบหน้าเวลาเดินผ่านกัน มันหายไปไหนกันหมด ทุกวันนี้การโฆษณาการท่องเที่ยวไม่สามารถนำยิ้มสยามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณาได้แล้ว เพราะอะไร?  ทุกคนก้มหน้าก้มตาทำงานหาเงิน รอยยิ้มที่สดชื่น รอยยิ้มที่สามารถยิ้มให้ทุกคนได้แม้จะไม่รู้จักกัน รอยยิ้มในอดีต หายไปไหนหมด?? คุณค่าของคนเรานั้นอยู่ที่ตรงไหน?    เงิน  เงิน  เงิน  เงินคือพระเจ้า อย่างนั้นหรือ  งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข แค่นี้เองหรือที่พวกเรากำลังคิดกัน


“ และอัลลอฮ์ทรงทำให้บางคนในหมู่พวกเจ้าดีเด่นกว่าอีกบางคนในเรื่องปัจจัยยังชีพ แล้วทำไมบรรดาผู้ที่ได้รับความดีเด่น จึงไม่แบ่งปัจจัยยังชีพของพวกเขา แก่บรรดาผู้ที่มือขวาของพวกเขาครอบครอง เพื่อพวกเขาจะได้เท่าเทียมกันในเรื่องนั้น ดังนั้นต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์พวกเขาอกตัญญูกระนั้นหรือ ” (Al-Quran 16:71)


          ยุซรอลดอาหารลงเหลือมื้อเดียวและพยายามกินให้น้อยที่สุด และยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้สุขภาพยังแข็งแรง เพราะถ้าเรารู้จักกินให้พอดีพอประมาณชีวิตและร่างกายพระองค์ทรงเป็นผู้สร้างมาพระองค์ทรงรู้ดียิ่ง ว่าสิ่งไหนที่ดีสำหรับมนุษย์ สิ่งไหนที่ไม่ดี สิ่งไหนที่มนุษย์สามารถปฏิบัติและอดทนได้ พระองค์ทรงรู้ดีที่สุด


4) การจ่ายซะกาต   คือการที่เราจ่ายเงินออกมาส่วนหนึ่งของเงินสะสมที่เรามี ผู้ที่จะจ่ายซะกาตคือ ผู้ที่มีเงินสะสมเทียบเท่ากับทองคำประมาณ 6 บาท เงินจำนวนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีหรือการบริจาคทานใดๆ เป็นเงินที่ทุกคนจะต้องรับผิดชอบให้สังคม

          ในการจ่ายซะกาตคิดคำนวณจาก 2.5 % ของเงินเก็บที่มีและทรัพย์สินที่มีอยู่ เมื่อครบรอบปี จ่ายให้กับบุคคล 8  จำพวก คือ คนยากจน, คนขัดสน, คนเดินทางไกล, คนทำงานในหนทางศาสนา, คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว, ผู้ที่รับนับถืออิสลามใหม่, เจ้าหน้าที่เก็บรวบรวมซะกาต, ทาสที่ต้องการไถ่ตัวเองเป็นอิสระ และส่งเสริมให้จ่ายซะกาตให้กับผู้ที่ใกล้ชิดก่อน


“พวกเขาจะถามเจ้า (มุฮัมมัด) ว่าพวกเขาจะบริจาคสิ่งใดบ้าง? จงกล่าวเถิดว่า คือทรัพย์สินใดๆ ก็ตามที่พวกท่านบริจาคไป ก็จงให้แก่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และบรรดาญาติที่ใกล้ชิดและแก่บรรดาเด็กกำพร้า และบรรดาคนยากจนและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง และก็ความดีใดๆ ที่พวกท่านกระทำอยู่นั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรู้ดี”  (Al-Quran 2:215)


          การจ่ายซะกาตถือเป็นการจ่ายเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมและเป็นการยืนยันในการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์   เพื่อให้ผู้ที่ได้รับซะกาตเหล่านั้นได้กลับมาช่วยเหลือสังคม นี่คือการทำบุญที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องประกาศให้ผู้อื่นรับรู้ ถ้าท่านหวังแค่ชื่อเสียงในโลกนี้ท่านจะได้แค่ชื่อเสียงในโลกนี้เพราะนั่นไม่ใช่การทำบุญโดยบริสุทธิ์ใจ ท่านควรภูมิใจว่าเพียงมีทรัพย์สินและเงินสะสมเทียบเท่ากับทองคำแค่  6 บาท ก็สามารถจ่ายซะกาตได้แล้ว
 
 
“ บรรดาผู้บริจาคทานทั้งหลาย! จงอย่าให้บรรดาทานของพวกเจ้าไร้ผล ด้วยการลำเลิกและการก่อความเดือดร้อน เช่นผู้บริจาคทรัพย์ของเขาเพื่ออวดอ้างผู้คน และทั้งเขาก็ไม่ศรัทธาอัลลอฮ์ และวันปรโลก ดังนั้นอุปมาเขาผู้นั้นดั่งอุปไมยหินเกลี้ยงที่มีฝุ่นจับอยู่บนมัน แล้วมีฝนหนักประสบแก่มัน แล้วได้ทิ้งมันไว้ในสภาพเกลี้ยง พวกเขาไม่สามารถจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดจากสิ่งที่ขวนขวายไว้ และอัลลอฮ์นั้นจะทรงไม่แนะนำแก่กลุ่มชนที่ปฏิเสธศรัทธา ” (Al-Quran 2:264)


          ประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามจะมีกองทุนซะกาตเพื่อทำหน้าที่เก็บรวบรวมเงินซะกาต ของประชาชน แต่ประเทศที่ไม่มีกองทุนซะกาต ถือเป็นหน้าที่ ของมุสลิมที่จะต้องรับผิดชอบในการแสดงความเคารพและภักดีต่อพระองค์ ความรับผิดชอบจะถูกบันทึกไว้ในบัญชีแห่งความดีเพื่อยืนยันในวันฟื้นคืนชีพและนำมาพิพากษาตัดสิน  ข้อสำคัญที่สุดคือมนุษย์ทุกคนรักในทรัพย์สินของตนเอง ถ้าทุกคนเต็มใจที่จะจ่ายเงินที่ทุกคนรักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ นั่นคือการขจัดความตระหนี่ ถี่เหนียวออกจากจิตใจหรือการขจัดความเห็นแก่ตัว ออกจากตัวของเราเอง


“ บรรดาผู้ที่ตระหนี่ และใช้ผู้คนให้ตระหนี่และปกปิดสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่พวกเขา จากความกรุณาของพระองค์นั้น (แน่นอนพวกเขาจะอยู่ในนรกตลอดกาล) และเราได้เตรียมไว้แล้ว ซึ่งการลงโทษที่ยังความอัปยศ แก่ผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ”  (Al-Quran 4:37)


“ และพวกเจ้าจงดำรงซึ่งการละหมาดเถิดและจงชำระซะกาตเสีย และความดีใดๆที่พวกเจ้าได้ประกอบล่วงหน้าไว้สำหรับตัวของพวกเจ้าเอง พวกเจ้าก็จะพบมัน ณ ที่อัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงเห็นในสิ่งที่พวกเจ้าปฏิบัติกันอยู่ ” (Al-Quran 2:110)

 

 

 


                

เด็กน้อยผู้น่าสงสารจะรู้ไหมว่า “สุนัข”มันยังเดินบนพรม
มันมีคนอาบน้ำเสริมสวย ตัดแต่งขนให้ มันมีคนคอยดูแลคอยจูบมัน
แล้วหนูเป็นอะไร !  ทำไม ? เขาถึงมองไม่เห็นคุณค่าของมนุษย์
บางทีราคาค่าตัวของสุนัขเหล่านั้น มันยังแพงมากกว่ามนุษย์บางคน
นี่หรือคือมนุษย์ผู้เจริญแล้ว ผู้ซึ่งไม่เคยเหลียวมองมนุษย์ด้วยกันเอง
มนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้างจาก “น้ำอันไร้ค่า”

 

5) การประกอบพิธีฮัจญ์   เป็นภารกิจหลักที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถทั้งสภาพร่างกายและทรัพย์สินต้องปฏิบัติ ตลอดชีวิตทำฮัจญ์เพียง 1 ครั้ง การทำฮัจญ์นั้นเป็นพิธีที่เรียบง่าย ปราศจากการแยกชั้นวรรณะทุกคนเท่าเทียมกัน ณ ที่อัลลอฮ์    แสดงถึงความเป็นเอกภาพของประชาชาติมุสลิมที่มาร่วมชุมนุมกัน ณ อัลกะอ์บะฮ์ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย การประกอบพิธีฮัจญ์มีขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ 12 ของปฏิทินอิสลาม


“ ในบ้านนั้น มีหลายสัญญาณที่ชัดแจ้ง(ส่วนหนึ่ง) คือมะกอมอิบรอฮิม และผู้ใดได้เข้าไปในบ้านนั้น เขาก็เป็นผู้ปลอดภัยและสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีแก่มนุษย์นั้น คือการมุ่งสู่บ้านหลังนั้น อันได้แก่ผู้ที่สามารถหาทางไปยังบ้านหลังนั้นได้ และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย ”  (Al-Quran 3:97)


          บางคนไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่นทุกปี และบางคนยังหวังที่จะไปเที่ยวรอบโลก เพื่อซื้อความสุขทางกาย แต่การทำฮัจญ์เป็นการเคารพพระองค์ เป็นความสุขทางใจที่ไม่สามารถหาที่ไหนได้ การทำฮัจญ์นั้นเปรียบเสมือนการไปเยี่ยมบ้านของอัลลอฮ์   จะมีศาสนาใดบ้างที่พระเจ้าเชิญชวนพวกท่านที่เป็นมนุษย์ไปยังบ้านของพระองค์ ปกติถ้าเพื่อนชวนเราไปบ้านยังดีใจเลย แต่นี่พระองค์ทรงเรียกให้มนุษย์ไปบ้านของพระองค์เพื่อทำอิบาดะฮ์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีโอกาสไปพำนัก ณ สวนสวรรค์หลังจากที่ได้ตายไป ผู้ที่ไปทำฮัจญ์ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ เป็นการสำนึกบาป หลังจากทำฮัจญ์แล้วคงไม่มีใครอยากที่จะมีบาปติดตัวอีก การทำฮัจญ์ที่ถูกต้อง สมบูรณ์ครบถ้วนตามศาสนากำหนดนี่เองจะทำให้ผู้ที่ได้ไปกลับมาเสมือนกับทารกที่เพิ่งคลอดออกมาจากครรภ์มารดา


“และพวกเจ้าจงให้สมบูรณ์ซึ่งการทำฮัจญ์ และการทำอุมเราะฮ์เพื่ออัลลอฮ์เถิด แล้วถ้าพวกเจ้าถูกสกัดกั้น ก็ให้เชือดสัตว์พลีที่หาได้ง่าย และจงอย่าโกนศีรษะของพวกเจ้า จนกว่าสัตว์พลีนั้นจะถึงที่ของมัน.......” (Al-Quran 2:196)

Next >>>>Click