แนวทางการจัดระบบซะกาตอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  21963

 

 

แนวทางการจัดระบบซะกาตในยุคสมัยต่างๆของอิสลาม

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อับดุลเลาะ   หนุ่มสุข

บทนำ

 

          ซะกาตเป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน บุคคล หรือองค์กร การจ่ายซะกาตเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายจึงต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และเข้าใจในการจัดระบบของแต่ละส่วนให้เป็นไปตามศาสนบัญญัติ ตามความจำเป็น และผลประโยชน์สูงสุดของสังคมมุสลิมโดยรวม 

          การศึกษาถึงแนวทางการจัดระบบซะกาตในยุคสมัยต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยของท่านนบี และสมัยเคาะลีฟะฮ์ทั้ง5 (อบูบักร อุมัร อุสมาน อะลี และอุมัรอิบนุอับดิลอะซีร) จะทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจในแนวทางของท่านนบี และของสลัฟศอลิหฺ (กัลญาณชนรุ่นแรก) ที่เกี่ยวกับการจัดระบบซะกาต และสามารถกำหนดรูปแบบการจัดระบบซะกาตที่ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งนี้โดยการยึดมั่นในส่วนที่เป็น เตากีฟียะห์ (ส่วนที่คงที่และตายตัว) และปรับเปลี่ยนส่วนที่ไม่ไช่เตากีฟียะห์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอแนวทางและรูปแบบการจัดระบบซะกาตในยุคสมัยต่างๆโดยเน้นยุคสมัยของท่านนบี และของเคาะลีฟะฮ์ทั้ง 5  เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่ประชาชนได้รับประโยชน์จากซะกาตสูงสุด

 

การจัดระบบซะกาตตามศาสนบัญญัติ

     หากได้พิจารณาถึงหลักฐานต่างๆจากอัลกุรอ่าน อัลหะดีษ และการปฏิบัติของเศาะฮาบะฮฺก็จะพบว่า ซะกาตไม่ไช่ศาสนกิจที่บุคคลแต่ละคนจะปฏิบัติกันเองเหมือนกับศาสนกิจอื่นๆ แต่ซะกาตเป็นศาสนกิจที่ต้องทำเป็นระบบ มีการจัดการ มีเจ้าหน้าที่ และมีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจนในการจัดเก็บ ซะกาต และแจกจ่ายซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธ์ และกิจการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

 

หลักฐานจากอัลกุรอ่าน


     1. อัลกุรอ่านได้บอกถึงบุคคลผู้มีสิทธิ์รับซะกาต 8 จำพวก  หนึ่งในนั้นคือ:   " وَالْعَامِلِيْنَ عَلَيْهَا " แปลว่า: เจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต (อัตเตาบะฮฺ: 60) เป็นสิ่งยืนยันว่าการจัดเก็บซะกาตเป็นหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงานซึ่งมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บซะกาต โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นส่วนของซะกาต


     2. ในซูเราะห์อัตเตาบะฮฺ ซูเราะห์เดียวกันอัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า: " خُذْ مِنْ أَمْوَالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَتُزَكِّيْهِمْ بِهَا " 

     "(โอ้มูฮำหมัด) เจ้าจงเอาจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทานซะกาต ซึ่งจะทำให้พวกเขาสะอาด และจะทำให้พวกเขาบริสุทธิ์อีกด้วย" 

(อัตเตาบะฮฺ 103)


         อายะห์นี้เป็นหลักฐานว่าท่านนบี (ซึ่งเป็นผู้นำทั้งฝ่ายศาสนจักร และอาณาจักร) เป็นผู้มีอำนาจในการจัดเก็บซะกาต และบรรดานักปราชญ์ชั้นนำต่างมีความเห็นตรงกันว่า หลังจากท่านนบีเสียชีวิตไปแล้วอำนาจดังกล่าวนี้ตกเป็นของผู้ปกครองมุสลิม และผู้ดูแลกิจการของมุสลิมโดยทั่วไป

(อัลก็อรฏอวีย์, 1981: 2/748)

 

หลักฐานจากอัลหะดีษ


     มีรายงานจากท่านนบี  ว่าท่านนบีได้ส่งเศาะฮาบะฮฺไปยังหัวเมืองต่างๆเพื่อทำหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมซะกาต ส่วนหนึ่งจากรายงานดังกล่าวคือ รายงานของท่านอิบนุอับบาส ได้รายงานว่าท่านนบีได้ส่งท่าน มุอ๊าซ อิบนุ ญะบัล ไปยังแคว้นเยเมน และท่านได้สั่งเสียมุอ๊าซไว้ตอนหนึ่งว่า:

" فأخبرهم أنّ الله تعالى فرض عليهم صدقة تؤخذ من أغنيائهم فتُردّ على فقرائهم "


     "จงบอกพวกเขาว่าอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดซะกาตเหนือพวกเขา โดยเก็บจากคนร่ำรวยของพวกเขา และจ่ายคืนให้แก่คนยากจนของพวกเขา"

(บุคอรีย์ 1997: หมายเลข 1496)

     ท่านอิบนุหะญัรกล่าวว่า หะดีษนี้เป็นหลักฐานว่าผู้นำ (อิสลาม) หรือตัวแทนมีหน้าที่ในการจัดเก็บ และแจกจ่ายซะกาต หากประชาชนท่านใดฝ่าฝืนไม่ยอมจ่ายก็ให้จัดเก็บโดยบังคับ (อิบนุหะญัร , 1985 : 3/23)


 

หลักฐานจากการปฏิบัติของเศาะฮาบะฮฺ


         เหล่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺต่างยึดมั่นในซุนนะฮฺของท่านนบี ในการจัดเก็บและการแจกจ่าย ซะกาต ดังปรากฏหลักฐานว่า บรรดาเคาะลีฟะฮฺทั้งสี่ (อบูบักร อุมัร อุสมาน และอะลี) ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต และส่งคนเหล่านั้น ไปยังหัวเมืองต่างๆตลอดสมัยการปกครอง (อ้างแล้ว)

          มีรายงานจากสะหฺลอิบนุอบีซอและห์ จากบิดาของท่านได้กล่าวว่า: ข้าพเจ้ามีเงินครบพิกัดที่จะต้องจ่ายซะกาต ข้าพเจ้าได้ถามท่าน สะอฺดอิบนุอบีวักก๊อศ ท่านอิบนุอุมัร ท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ และท่านอบีซะอีด อัลคุดรีย์ ว่า

     ข้าพเจ้าจะจ่ายซะกาตนี้ด้วยตนเองหรือจะส่งมอบให้ผู้ปกครองเป็นผู้จ่าย?

     พวกเขาทั้งหมดตอบตรงกันว่า: ให้ส่งมอบให้ผู้ปกครองเป็นผู้จ่าย

(อันนะวะวีย์, มปป : 4/180)

 

เหตุผลทั่วไป


     การที่อิสลามได้กำหนดให้การจัดเก็บซะกาตและการจ่ายซะกาตเป็นหน้าที่ขององค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ มิใช่เป็นหน้าที่ของบุคคลแต่ละคนที่จะทำกันเอง เนื่องจากมีเหตุผลอื่นๆอีกดังนี้คือ:


     1. ผู้มีทรัพย์สินที่จะต้องจ่ายซะกาต บางคนไม่ยอมจ่ายซะกาตเพราะมีความตระหนี่ บางคนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องจ่ายซะกาต หรือรู้ว่าตัวเองต้องจ่ายซะกาตแต่ไม่รู้ว่าจะจ่ายให้ใคร? ใครเป็นผู้มีสิทธ์? และใครไม่มีสิทธ์? ผู้มีสิทธ์อยู่ที่ไหนกันบ้าง? สำหรับผู้มีสิทธ์เองก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปขอรับซะกาตจากผู้ใดได้บ้าง? การจัดระบบซะกาตจะแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ได้


     2. การให้คนยากจนเอาสิทธิซะกาต จากรัฐมิใช่จากบุคคลเป็นการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของมนุษย์ คนยากจนจะไม่ต้องอับอายด้วยการขอ และไม่เจ็บช้ำน้ำใจด้วยคำพูดและการลำเลิก


     3. การแจกจ่ายซะกาตกันเองในหมู่ประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างในสังคมมุสลิมได้ ตรงกันข้ามอาจทำให้ปัญหาช่องว่างในสังคมเพิ่มขึ้น เช่น คนรวยหลายคนจ่ายซะกาตให้คนจนเพียงคนเดียว ในขณะที่มีคนยากจนอีกหลายคน ที่ยากจนกว่าแต่ไม่ได้รับการเหลียวแล


     4. ซะกาตไม่เจาะจงการจ่ายเฉพาะบุคคลบางประเภทเช่น คนยากจน คนมีหนี้ คนเดินทาง เท่านั้นแต่ยังต้องจ่ายให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนการศึกษา การประกอบอาชีพ และการเผยแผ่อิสลามให้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย ส่วนต่างๆเหล่านี้ประชาชนโดยทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบา?เพื่อทำหน้าที่จ่ายซะกาตให้กับทุกส่วนที่กล่าวมา



แนวทางการจัดการซะกาตในสมัยท่านนบี


         จากการศึกษารายงานต่างๆเกี่ยวกับการจัดระบบซะกาตของท่านนบี พบว่าท่านได้ใช้แนวทางในการจัดระบบซะกาต พอสรุปได้เป็นหัวข้อดังนี้:


1. การส่งเจ้าหน้าที่เพื่อจัดเก็บซะกาต และการตั้งเสมียนซะกาต
 
          ท่านนบี จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เฉพาะสำหรับการจัดเก็บซะกาต และจะส่งคนเหล่านั้นไปยัง หัวเมือง  และเผ่าต่างๆ เช่น: ส่งท่านอะลีอิบนุอบีฏอเล็บ ไปยังเมืองนัจรอน , ส่งท่านซิยาด อิบนุละบีด ไปยังเมือง หะเฎาะเราะเมาตฺ , ส่งท่านมุฮาญิรอิบนุอะบีอุมัยยะฮฺ ไปยังเมือง ศ็อนอาอฺ , ส่งท่านมุอ๊าซอิบนุญะบัล ไปยังเมือง อัลยุนดฺ , ส่งท่านอัลอะลาอฺอิบนุลหัฎเราะมียฺ ไปยังแค้วนบะห์เรน เป็นต้น

(ดู อิบนุลก็อยยิม, 1997 : 2/472)


         สำหรับเผ่าต่างๆนั้นมีตัวอย่างเช่น: ส่งท่านวะลีดอิบนุอุกบะฮฺ ไปยังเผ่า บะนิลมุศเฎาะลิก , ส่งท่าน อุยัยนะฮฺอิบนุหิศฺนฺ ไปยังเผ่าบะนีตะมีม , ส่งท่านอะดีย์อิบนุฮาติม ไปยังเผ่าฎ็อย และบะนีอะสัด , ส่งท่าน มาลิกอิบนุนุวัยเราะฮฺ ไปยังเผ่าบะนีฮันเซาะละฮฺ , ส่งท่าน อัมรฺอิบนุลอ๊าศ ไปยังเผ่าฟะซาเราะฮฺ , ส่งท่านรอฟิอฺอิบนุมากีซไปยังเผ่าญุฮัยนะฮฺ , ส่งท่าน บุสรฺอิบนุสุฟยาน ไปยังเผ่าบะนีกะอฺบ์ , และส่งท่านอิบนุลลุตบียะฮฺ ไปยังเผ่าบะนีซุฟยาน เป็นต้น

(ดู อิบนฺสะอฺดฺ ,มปป :2/160) 

          นอกเหนือจากนี้แล้วยังพบรายงานว่าท่านนบีได้แต่งตั้ง ผู้ทำหน้าที่เสมียน (กาติบ) มี หน้าที่บันทึกรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับซะกาตอีกด้วย เช่นรายงานของอิบนุหัซมฺ ได้กล่าวว่า: ผู้ทำหน้าที่เป็นเสมียนซะกาตของท่านนบีคือท่าน อัซซุเบรอิบนุลเอาวาม และหากท่านอัซซุเบรไม่อยู่หรือมีธุระ  ท่านญะฮมฺอิบนุอัสศุลตฺ และท่านหุซัยฟะฮฺอิบนุลยะมาน จะทำหน้าที่แทน

(อ้างใน อัลก็อรฎอวีย์, 1981: 2/751)


2. การคัดเลือกเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต

           ท่านนบี จะคัดเลือกเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต (อามิล) จากเหล่าเศาะฮาบะฮฺ (สาวก) ที่มี คุณสมบัตติเพียบพร้อม โดยเน้นเรื่องคุณธรรม ความรู้ และความสามารถ เศาะฮาบะฮฺ โดยทั่วไปจะมีคุณธรรมที่สูง แต่จะลดหลั่นกันในเรื่องความรู้ความสามารถ

          ท่านนบี  จะคัดเลือกเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาตจากบุคคลที่มีความรู้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน และมีความรู้ใน ซุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านนบี) เป็นอย่างดี (มูฮำหมัด อัมหะซูน, 2002:หน้า  178) ทั้งนี้ เพื่อให้คน เหล่านั้นสามารถทำหน้าที่เผยแผ่ สั่งสอน และสามารถตอบคำถามที่เกี่ยวกับ ศาสนาให้กับประชาชนได้ ตัวอย่างของท่าน มุอ๊าศอิบนุญะบัล และคนอื่นๆ คือตัวอย่างที่ ชัดเจนสะท้อน ถึงวิธีการคัดเลือกของท่านนบีที่มีความละเอียดและประณีต เนื่องจากคน เหล่านั้นสามารถ ปฏิบัตติงานในฐานะผู้จัดเก็บซะกาต และในฐานะผู้เผยแผ่อิสลามใน ขณะเดียวกัน



3. การมอบนโยบายในการจัดเก็บซะกาต
 
          ท่านนบี จะให้คำแนะนำ และคำตักเตือนแก่เจ้าหน้าที่ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไป ปฏิบัติงาน คำแนะนำและคำตักเตือนเหล่านั้นเป็นเสมือนนโยบายที่เจ้าหน้าที่จะต้อง ปฏิบัติโดยเคร่งครัด นโยบายของท่านนบีเกี่ยวกับการจัดเก็บซะกาต ตามที่ปรากฏในรายงาน มีดังนี้คือ:

     1. เจ้าหน้าที่จะต้องมีความเมตตา สงสาร ต่อเจ้าของซะกาต จะต้องรู้จักผ่อนปรน โดยคำนึงถึงความต้องการและสภาพความเป็นจริง

     2. เจ้าหน้าที่จะต้องให้ความเป็นธรรมในการจัดเก็บซะกาต และให้ความสะดวกกับเจ้าของซะกาต

     3. เจ้าหน้าที่จะต้องไม่เจาะจงเอาเฉพาะแต่ทรัพย์สินที่ดีๆ( كرائم الأموال )แต่ให้เอาทรัพย์สินที่เหลือจากการใช้จ่ายและเหลือจากความต้องการ (العفو )

     4. เจ้าหน้าที่จะต้องไม่ปิดบังหรือซ่อนเร้นซะกาต และไม่นำซะกาตไปใช้จ่ายแม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม

     5. เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธ์รับของกำนัลใดๆจากเจ้าของซะกาต และถือว่าการรับของกำนัลเป็นการฉ้อราษฎร์ ( رشوة )

     6. เจ้าหน้าที่จะต้องขอดุอาอฺให้กับผู้จ่ายซะกาต  เพราะดุอาอฺจะทำให้จิตใจพวกเขาสงบ

(ดู อัลก็อรฎอวีย์, 1981: 2/593, 750-753)  


4. การตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาต

            ท่านนบี จะสอบสวนเจ้าหน้าที่จัดเก็บซะกาตในบางครั้งเมื่อพบว่ามี พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เช่นในกรณีของท่าน อิบนุลลุตบียะฮฺ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ท่านนบีได้ แต่งตั้ง และส่งไปเก็บซะกาต ณ เผ่าบนีสุลัยมฺ เมื่อท่านอิบนุลลุตบียะฮฺมาหาท่านนบี  ท่านได้สอบสวนเขา

     เขากล่าวว่า: อันนี้เป็นของพวกท่าน (เป็นซะกาต) ส่วนอันนี้เป็นของกำนัล  (ฮะดียะฮฺ) ที่เจ้าของซะกาตมอบให้แก่ฉัน

     ท่านนบีได้ตำหนิเขาแล้วกล่าวว่า: ท่านน่าจะนั่งอยู่ในบ้านบิดาและมารดาของท่าน เพื่อที่จะมีใครนำของกำนัลนี้มาให้แก่ท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ พวกท่านจะรับของกำนัล (ฮะดียะฮฺ) ใดๆมิได้

(บุคอรีย์: 1997 หมายเลข 7197)

            ตัวอย่างดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นรูปแบบการบริหารของท่านนบี ในด้านการ ควบคุมและการตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้อย่างดี



5. การจ่ายซะกาตให้แก่ผู้มีสิทธ์รับซะกาตในเมืองนั้นๆ

          ท่านนบี  จะกำชับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ส่งไปยังแคว้นและหัวเมืองต่างๆให้จัดเก็บซะกา ตจากชาวเมืองที่ร่ำรวย และมอบซะกาตให้แก่ชาวเมืองที่ยากจน ความหมายที่เข้าใจง่ายๆก็คือ  เก็บซะกาตจากชาวเมืองใดก็ให้จ่ายซะกาตแก่ชาวเมืองนั้น ดังปรากฏตัวอย่างในหะดิษของ ท่าน มุอ๊าซอิบนุญะบัล (ที่กล่าวมาแล้ว) โดยที่ท่านมุอ๊าซได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีด้วย การจ่ายซะกาตของชาวเยเมนให้แก่ชาวเยเมนที่ยากจน

(อัลก็อรฎอวีย์: 1981. 2/810)

          สำหรับรูปแบบการจัดการซะกาตที่เป็นระบบกองคลัง (บัยตุลมาล) นั้นยังไม่มีความชัดเจนในสมัยของท่านนบี แม้ว่าท่านนบีจะมีเศาะฮาบะฮฺบางคนทำหน้าที่เสมียนจดบันทึกรายงานทรัพย์สินต่างๆของซะกาต เศาะดะเกาะฮฺ และทรัพย์ที่เก็บได้จากสงครามก็ตาม เนื่องจากทรัพย์สินเหล่านี้ยังมีเป็นจำนวนน้อย จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีที่เก็บรักษา ท่านนบี  จะจ่ายทรัพย์สินเหล่านี้ทันทีที่ได้รับมา ท่านจะไม่ปล่อยทิ้งไว้แม้เพียงคืนเดียวในบ้านของท่าน

(ฟุอ๊าด อับดุลลอฮฺ. 1996 : หน้า3)

 

 

ติดตามการจัดระบบซะกาตในสมัยคอลีฟะฮ์ทั้ง 4

ในตอนที่ 2 ....