อัลลอฮฺทรงเลือกแต่สิ่งที่ดี
  จำนวนคนเข้าชม  10794

 

อัลลอฮฺทรงเลือกแต่สิ่งที่ดี

 

ชัยคฺ มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ

 

          กล่าวคือ อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงเลือกรับแต่สิ่งที่ดีที่สุดจากทุกๆสิ่ง เพราะพระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะที่ดี ไม่ทรงโปรดนอกจากสิ่งที่ดี และจะไม่ทรงรับคำพูดการกระทำ หรือการบริจาคทานใดๆนอกจากสิ่งที่ดีงาม และด้วยสิ่งนี้ทำให้เราเห็นถึงสัญญาณแห่งความสำเร็จหรือความล้มเหลวของบ่าว เพราะผู้ที่มีความดีงามในตัวนั้นย่อมเหมาะสมกับสิ่งที่ดีงาม และย่อมไม่พอใจกับสิ่งอื่นใดนอกจากสิ่งที่ดี และไม่ขวนขวายแสวงหาหรือพึงพอใจสิ่งใดนอกจากว่าจะเป็นสิ่งที่ดีงาม

        คำพูดของบ่าวผู้นั้นก็ย่อมเป็นคำพูดที่ดีอันควรค่าแก่การนำขึ้นไปยังอัลลอฮฺเพื่อจดบันทึกผลบุญความดี ในขณะเดียวกันเขาก็จะหลีกเลี่ยงห่างไกลอย่างที่สุดจากคำพูดที่ไม่ดี การโกหกมดเท็จ การยุแยง การติฉินนินทา การใส่ร้ายป้ายสี และทุกคำพูดที่น่ารังเกียจ เขาจะไม่พอใจในการงานใด ๆ นอกจากการงานที่ดีเลิศสมบูรณ์ นั่นคือ การงานที่ถูกต้องตามแนวทางของท่านศาสนทูต ศีลธรรมจรรยา ตลอดจนกมลสันดานอันบริสุทธิ์ เช่น

การเคารพภักดีอัลลอฮฺตะอาลาเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดเทียบเคียง 

 การให้ความสำคัญต่อความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺเหนืออารมณ์ความรู้สึกของตนเอง 

       ♥ การพยายามเข้าหาพระองค์เพื่อให้พระองค์ทรงรัก หรือการทำดีต่อบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลายเท่าที่สามารถจะทำได้ ด้วยการปฏิบัติต่อพวกเขาเหล่านั้นในลักษณะที่ตนชอบที่จะได้รับการปฏิบัติจากพวกเขา

       ♥ นอกจากนี้เขาย่อมเป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทอันงดงามสูงส่ง มีความอ่อนโยนนุ่มนวล ความสุขุมรอบคอบ ความอดทนอดกลั้น มีความเมตตาปราณี รักษาสัจจะวาจา มีความจริงใจ นอบน้อมถ่อมตน และมีเกียรติศักดิ์ศรี ไม่ยอมศิโรราบต่อผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ

       ♥ เช่นเดียวกับที่ไม่ยอมเลือกบริโภคอาหารเว้นแต่สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งก็หมายถึง อาหารที่หะลาลถูกต้องตามหลักการ อันจะแปรสภาพเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตวิญญาณอย่างดี และปลอดภัยที่สุด

 และเขาก็จะไม่เลือกแต่งงานนอกจากกับผู้ที่มีความดีงาม ไม่คบหาสมาคมนอกจากกับผู้ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม 

บุคคลเช่นนี้ คือ ผู้ที่อัลลอฮฺ ตรัสถึงพวกเขาว่า

﴿ ٱلَّذِينَ تَتَوَفَّىٰهُمُ ٱلۡمَلَٰٓئِكَةُ طَيِّبِينَ يَقُولُونَ سَلَٰمٌ عَلَيۡكُمُ ٱدۡخُلُواْ ٱلۡجَنَّةَ بِمَا كُنتُمۡ تَعۡمَلُونَ ٣٢ ﴾ [النحل: ٣٢]  

“บรรดาผู้ที่มลาอิกะฮฺเอาชีวิตของพวกเขาโดยที่พวกเขาเป็นคนดี พลางกล่าวว่า

"ศานติจงมีแด่พวกเจ้าจงเข้าไปในสวนสวรรค์เนื่องจากสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไว้” 

(อันนะหฺล์: 32)

และเป็นผู้ที่มลาอิกะฮฺซึ่งทำหน้าที่เฝ้าประตูสวรรค์กล่าวแก่เขาว่า


﴿ سَلَٰمٌ عَلَيۡكُمۡ طِبۡتُمۡ فَٱدۡخُلُوهَا خَٰلِدِينَ ٧٣ ﴾ [الزمر:  ٧٢]

"ขอความสันติจงประสบแด่พวกท่าน พวกท่านได้ทำดีแล้ว ดังนั้นจงเข้าสู่สรวงสวรรค์และพำนักอยู่ในนั้นชั่วกาลนานเถิด” 

(อัซซุมัรฺ: 72)

อัลลอฮฺตะอาลายังตรัสว่า


﴿ ٱلۡخَبِيثَٰتُ لِلۡخَبِيثِينَ وَٱلۡخَبِيثُونَ لِلۡخَبِيثَٰتِۖ وَٱلطَّيِّبَٰتُ لِلطَّيِّبِينَ وَٱلطَّيِّبُونَ لِلطَّيِّبَٰتِۚ أُوْلَٰٓئِكَ مُبَرَّءُونَ مِمَّا يَقُولُونَۖ لَهُم مَّغۡفِرَةٞ وَرِزۡقٞ كَرِيمٞ ٢٦ ﴾ [النور : ٢٦]  

"  หญิงชั่วย่อมคู่ควรกับชายชั่วและชายชั่วย่อมคู่ควรกับหญิงชั่ว และหญิงดีย่อมคู่ควรกับชายดี และชายดีย่อมคู่ควรกับหญิงดี

ชนเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขากล่าวร้าย สำหรับพวกเขา(ผู้ถูกกล่าวร้าย) จะได้รับการอภัยโทษและเครื่องยังชีพอันมีเกียรติ” 

(อันนูร: 26)

        นักวิชาการได้ให้ความหมายอายะฮฺนี้ว่า คำพูดที่ไม่ดีนั้นย่อมคู่ควรกับคนไม่ดี ส่วนคำพูดที่ดีก็ย่อมคู่ควรกับคนที่ดี ในขณะที่นักวิชาการบางส่วนให้ความหมายว่าสตรีที่ดีย่อมคู่ควรกับบุรุษที่ดี และในทางกลับกันก็เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าอายะฮฺข้างต้นนั้นครอบคลุมความหมายดังกล่าวทั้งหมด

        ทั้งนี้ อัลลอฮฺทรงให้สวรรค์เป็นสถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งดีงามทุกประการ ทรงให้นรกเป็นศูนย์รวมความชั่วร้ายทั้งหมด และทรงให้โลกดุนยาเป็นสถานที่ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งดีงามและความชั่วร้ายในเวลาเดียวกัน กระทั่งเมื่อวันสิ้นโลกมาถึงพระองค์ก็จะทรงแยกความชั่วร้ายออกจากความดีงาม เหลือไว้แต่เพียงที่พำนักสองแห่งเท่านั้น

         ซึ่งมนุษย์เรานั้นอาจมีทั้งการงานด้านดีอันนำไปสู่สวรรค์ และด้านลบอันเป็นกุญแจนำไปสู่นรก อยู่ในตัวการงานด้านใดเหนือกว่าเขาก็จะได้รับผลตอบแทนในด้านนั้น ผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เขาได้พบจุดจบที่ดีพระองค์จะทรงลบล้างความผิดให้เขาก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิต โดยไม่ต้องชดใช้ความผิดในขุมนรกอีก

          แน่นอนว่าอัลลอฮฺจะไม่ทรงให้บ่าวเข้าพำนักในสรวงสวรรค์ของพระองค์ในสภาพที่เนื้อตัวแปดเปื้อนด้วยบาปความผิด พระองค์จึงทรงให้เขาชดใช้ความผิดในนรกเสียก่อน เพื่อชำระล้างตัวให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งการชำระล้างนี้จะใช้ระยะเวลานานเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับความเร็วหรือช้าของการขจัดบาปความผิดของแต่ละคน

        และในเมื่อมุชริกผู้ตั้งภาคีนั้นโดยเนื้อแท้ภายในแล้วเป็นผู้ที่สกปรกน่ารังเกียจ ไฟนรกจึงไม่อาจชำระล้างเขาให้บริสุทธิ์ได้ เปรียบได้กับสุนัขที่แม้จะลงไปแหวกว่ายในน้ำทะเลก็ไม่อาจทำให้ตัวมันสะอาดในมุมมองของศาสนาได้

          ในขณะเดียวกันผู้ศรัทธาที่ดำรงไว้ซึ่งความดีงามและห่างไกลจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ นรกก็จะเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา เพราะไม่มีเหตุให้ต้องชำระล้างอีกต่อไป


 

แปลโดย:อัสรัน นิยมเดชา / islamhouse