การบิดเบือนคำพูด
  จำนวนคนเข้าชม  5250

 

การบิดเบือนคำพูด

 

 

เชค มุฮัมหมัด ค่อลี้ล ฮั้รร้อซ : เขียน

 

 

          การบิดเบือนคำพูด (ตะฮฺรีฟุ้ลกะลาม) หมายถึง การทำให้คำพูดนั้นๆ เอนเอียงออกจากความหมายซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทันทีเมื่อมีการได้ยินได้ฟัง ไปสู่ความหมายอื่นซึ่งเป็นความหมายที่ตัวถ้อยคำไม่ได้ให้การบ่งชี้ใดๆ เอาไว้ นอกจากจะเป็นไปด้วยการตีความหมายที่อ่อนน้ำหนักเท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ต้องอาศัยหลักฐานแวดล้อมที่ให้การชี้แจงว่า ความหมายที่ได้มีการตีความไว้นี้คือ จุดมุ่งหมายที่ถ้อยคำดังกล่าวต้องการสื่อออกมา 

 

        ส่วนการตะอฺตี้ล (การยกเลิกหน้าที่ของคำ) มาจากคำว่า อั้ลอั้ตลฺ ซึ่งหมายถึง ความว่างเปล่า ,ช่องว่าง และการละเอาไว้  ซึ่งส่วนหนึ่งจากถ้อยคำนี้ ก็ได้แก่พระดำรัสของพระองค์ ตะอาลา ที่ว่า 


"وبئر معطلة”     “และบ่อน้ำที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง”

 

         หมายถึง เจ้าของละเลยและไม่ได้ใส่ใจกับมันและละทิ้งโดยไม่เข้าไปตักน้ำจากบ่อน้ำนั้นแล้ว ซึ่งจุดมุ่งหมายที่ต้องการจะสื่อสารไว้ ณ ที่นี้ ได้แก่ การปฏิเสธพระลักษณะต่างๆ แห่งพระผู้ทรงถือสิทธิโดยชอบในการได้รับการสักการะและภักดี ตลอดจนคัดค้านและไม่ให้การยอมรับว่า พระลักษณะดังกล่าวประจำอยู่ที่ตัวตนของพระองค์จริง 


 

ดังนั้น ข้อแตกต่างระหว่าง อั้ตตะฮฺรี้ฟ กับ อั้ตตะอฺตี้ล คือ 

 

 การตะอฺตี้ล หมายถึง การปฏิเสธความหมายที่แท้จริงที่คัมภีร์และอั้ซซุนนะฮฺ ได้บ่งชี้ออกมา 

 

♦ การตะฮฺรี้ฟนั้นหมายถึง การอธิบายตัวบท โดยการให้ความหมายที่ ผิดเพี้ยนซึ่งเป็นความหมายที่ตัวบทไม่ได้ให้การบ่งชี้ใดๆ ไว้ นั่นเอง

 

        ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสองวิธีการที่กล่าวถึงอยู่นี้ ถือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกว้างและในเชิงจำเพาะโดยภาพรวมเท่านั้น กล่าวคือ โดยภาพรวมแล้ว การตะอฺตี้ล จะกว้างกว่าการ ตะฮฺรี้ฟ ซึ่งหมายความว่า ทุกครั้งที่มีการ ตะฮฺรี้ฟ ก็จะต้องมีการ ตะอฺตี้ล อยู่ด้วยเสมอ แต่จะไม่เป็นเช่นนั้นในกรณีที่ตรงข้ามกันนั่นเอง 


 

         จากข้อมูลนี้ วิธีการทั้งสองวิธีที่กล่าวไว้จึงปรากฏอยู่พร้อมๆกันในบุคคลที่ กระทำการยืนยันในความหมายที่เป็นเท็จและกระทำการปฏิเสธความหมายที่แท้จริง ในขณะที่การตะอฺตี้ล จะปรากฏอยู่โดยปราศจากการตะฮฺรี้ฟ ในตัวบุคคลที่ปฏิเสธพระลักษณะต่างๆ ที่ได้มีการระบุไว้ในคัมภีร์และอั้ซซุนนะฮฺ และกล่าวอ้างว่าความหมายที่ประจักษ์จากการสื่อออกมาของพระลักษณะเหล่านี้นั้น ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการสื่อสารแต่ประการใด แต่ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้กระทำการยัดเยียดความหมายอื่นๆ ให้เข้ามาแทนที่ ซึ่งวิธีการนี้พวกเขาเรียกมันว่า อั้ตตัฟวี้ด (การส่งมอบความรับผิดชอบในเรื่องๆ นี้ กลับคืนสู่อัลลอฮฺ ตะอาลา)


 

         ส่วนหนึ่งจากความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้น ได้แก่คำพูดที่ว่า วิธีการที่ได้นำเสนอไปนั้น ถือเป็นวิถีของชาวซะลัฟ ดังที่คนรุ่นหลังของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺและคนกลุ่มอื่นๆ พยายามอ้างอิงกันถึงพวกท่านเหล่านั้น เพราะอันที่จริงแล้ว บรรดาซะลัฟนั้น พวกท่านไม่ได้ทำการโยนความรับผิดชอบในประเด็นเรื่องการรับรู้ความหมายแต่ประการใด อีกทั้งพวกท่านก็ไม่ได้เป็นพวกที่อ่านข้อความที่พวกตนไม่เข้าใจความหมายของมันอีกด้วย แต่ทว่า พวกท่านต่างเข้าใจกันดีในความหมายของตัวบทต่างๆ ทั้งที่มาจากคัมภีร์และจากอั้ซซุนนะฮฺ และพวกท่านก็ยังได้ให้การยืนยันความหมายดังกล่าวนี้แก่อัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล  เสร็จจากนั้นแล้วพวกท่านจึงได้ทำการส่งมอบความรับผิดชอบในประเด็นที่นอกเหนือไปจากนี้ อันได้แก่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงของพระลักษณะข้างต้น ตลอดจนรูปแบบและรายละเอียดของพระลักษณะนั้นๆ ว่าเป็นเช่นไร

     ซึ่งก็เป็นไปดังคำพูดของท่าน มาลิก ครั้งที่ท่านถูกถามถึง รายละเอียดของการประทับของพระองค์ ตะอาลา บนบรรลังก์ว่าเป็นอย่างไร ที่ว่า 
 

 

“การประทับนั้น เป็นเรื่องที่เป็นที่ทราบกันดี ส่วนรายละเอียดว่าเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่ทราบกัน”

 

 

ที่มา : ชั้รฮฺ อั้ลอะกีดะติ้ลวาซิตียะฮฺ หน้าที่ ๑๗
 

อาบีดีณ  โยธาสมุทร   แปลและเรียบเรียง