อุมมะตัน วะสะฏอ
  จำนวนคนเข้าชม  7365

 

อุมมะตัน วะสะฏอ

 

อ.อุษมาน ยูโซะ

 

  นิยาม  

 

      อุมมะตันวะสะฏอเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮฺประการหนึ่งที่ทรงมอบให้แก่ประชาชาติของนบีมุฮัมมัด  ผู้เป็น “ค็อยรุอุมมะฮฺ” (ประชาชาติที่ดีเลิศ) ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นสักขีพะยานต่อมนุษยชาติทั้งบนบนโลกนี้และวันอาคิเราะฮฺ
 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า


( وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا )

 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2:143) 

         ความหมาย “และในทำนองเดียวกับที่เราได้ประทานทางนำแก่เจ้าโอ้มุฮัมมัดสู่เส้นทางที่เที่ยงตรง หรือเราได้คัดเลือกเจ้าในฐานะลูกหลานท่านนบีอิบรอฮีมเพื่อแต่งตั้งเป็นเราะสูลบนโลกนี้ เราก็ได้กำหนดให้พวกเจ้า (หมายถึงประชาชาติของนบีมุฮัมมัดที่เป็นมุสลิม/อุมมะตัน วาฮิดะฮฺ) เป็น อุมมะตันวะสะฏอ หมายถึงประชาชาติที่เที่ยงธรรม ถูกคัดเลือก และประเสริฐที่สุด เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานต่อ (การกระทำของ) มนุษย์ทั้งหลาย และเพื่อให้ท่านเราะสูล (มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุออะลัยฮิวะสัลลัม) เป็นสักขีพยานต่อ (การกระทำของ) พวกเจ้า”
 

(ดูคำอิบายของอัลวาหิดีย์, อัลวะสีฏ 1/224, อัลอีญีย์, ญามิอฺ อัลบะยาน ฟี ตัฟสีร อัลกุรอาน 1:100)


          ท่านเราะสูลุลลอฮฺ  ได้อธิบายความหมายของคำว่า “อุมมะตัน วะสะฏอ” ในอายะฮฺข้างต้นว่าหมายถึง “อัลอัดลุ” หมายถึง “ความเที่ยงธรรม” โดยในวันอาคิเราะฮฺประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดในฐานะ “อุมมะตัน วะสะฏอ” จะเป็นสักขีพยานที่สัจจริงและเที่ยงธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเหล่านบีกับบรรดาประชาชาติของพวกเขา เพราะประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัดผู้เป็นประชาชาติที่เที่ยงธรรม

         “อุมมะตัน วะสะฏอ” เป็นประชาชาติที่มีชะรีอะฮฺที่เที่ยงตรงและสมบูรณ์ที่วางอยู่บนพื้นฐานแห่งความเที่ยงธรรม ปานกลางคำว่า “ปานกลาง” (ในที่นี้หมายถึงความพอดี อยู่ระหว่างที่สุดของสองขั้ว ไม่มากและไม่น้อยเกินไป ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป ไม่สุดโต่งจนเลยเถิดและไม่หย่อนยานจนละเลย ) และมีดุลยภาพอันเป็นเหตุให้พวกเขาได้รับคัดเลือกให้เป็นประชาชาติที่น่ายกย่องและเหมาะสมที่จะเป็นสักขีพยานแก่มนุษยชาติทั้งหมดที่ถือกำเนิดบนโลกนี้ก่อนหน้าพวกเขา

 

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ เศาะลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

 

(يُدْعَى نُوحٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فَيُقَالُ: هَلْ بَلَّغْتَ؟ فَيَقُولُ: نَعَمْ، فَيُدْعَى قَوْمُهُ فَيُقَالُ: هَلْ بَلَّغَكُمْ؟ فَيَقُولُونَ: مَا أَتَانَا مِنْ نَذِيرٍ وَمَا أَتَانَا مِنْ أَحَدٍ، قَالَ، فَيُقَالُ لِنُوحٍ: مَنْ يَشْهَدُ لَكَ؟ فَيَقُولُ: (مُحَمَّدٌ وَأُمَّتُهُ، قَالَ: فَذَلِكَ قَوْلُهُ {ﭪ ﭫ ﭬ ﭭ}، قَالَ: الْوَسَطُ الْعَدْلُ، قَالَ: فَيُدْعَوْنَ فَيَشْهَدُونَ لَهُ بِالْبَلَاغِ، قَالَ: ثُمَّ أَشْهَدُ عَلَيْكُمْ بَعْدُ


(อิบนุ อบีชัยบะฮฺ, อัลมุศ็อนนัฟ เลขที่ 31684 จากสำนวนของท่าน, อะหมัด, อัลมุสนัด เลขที่ 11283 อัลบุคอรีย์, เศาะฮีหฺ เลขที่ 4487)

ความหมาย

“ในวันกิยามะฮฺท่านนบีนูหฺจะถูกเรียกตัวและถูกถามว่า “ท่านได้ป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺ (แก่ประชาชาติของท่าน) หรือไม่?” 

ท่านตอบว่า “ใช่ ฉันได้ป่าวประกาศแล้ว” 

หลังจากนั้นประชาชาติของท่านก็ถูกเรียกตัว และถูกถามว่า “นบีนูหฺได้ป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺแก่พวกเจ้าหรือไม่?” 

พวกเขาตอบว่า “ไม่มีผู้ให้คำตักเตือนมาป่าวประกาศคำสอนของอัลลอฮฺแก่พวกเราเลยแม้แต่คนเดียว” 

ดังนั้น ท่านนบีนูหฺจึงถูกถามว่า “ใครสามารถเป็นสักขีพยานแก่ท่าน?” 

ท่านตอบว่า “นบีมุฮัมมัดและประชาชาติของท่าน” 

       ท่านนบี  จึงกล่าวว่า นั่นแหละคือความหมายคำตรัสของอัลลอฮฺ (وَكَذَلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا) ท่านกล่าว (อธิบายความหมายของ อัลวะสัฏ) ว่า “อัลวะสัฏ คือ อัลอัดลุ หมายความว่า พวกท่านคือประชาชาติที่เที่ยงธรรม  ดังนั้น พวกท่านจึงเหมาะสมที่จะเป็นสักขีพยานแก่ผู้อื่น ” 

ท่านนบี  กล่าวว่า “ดังนั้น ประชาชาตินบีมุฮัมมัด  จึงถูกเรียกตัว แล้วพวกเขาก็เป็นสักขีพยานต่อการประกาศของนบีนูหฺ” 

ท่านนบี  กล่าวต่อไปว่า “หลังจากนั้น ฉันก็จะเป็นสักขีพยานต่อความสัจจริงในคำพูดของพวกเจ้า”



ท่านอิบนุกะษีร ได้กล่าวอธิบายความหมายของอายะฮฺนี้ว่า


(  وَلَمَّا جَعَلَ اللهُ هَذِهِ الْأُمَّةَ وَسَطًا خَصَّها بِأَكْمَلِ الشَّرَائِعِ وَأَقْوَمِ الْمَنَاهِجِ وَأَوْضَحِ الْمَذَاهِب ) 

          “ในเมื่ออัลลอฮฺได้ทรงสร้างประชาชาตินบีมุฮัมมัด เป็นอุมมะตันวะสะฏอ พระองค์ก็ได้ทรงกำหนดชะรีอะฮฺที่สมบูรณ์ที่สุด ความเข้าใจที่ดีที่สุด และแนวทางที่ชัดเจนที่สุดแก่พวกเขา”

(อิบนุ กะษีร, ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีม 1/454 )

อัลลอฮฺ ตรัสว่า


( هُوَ اجْتَبَاكُمْ وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ مِلَّةَ أَبِيكُمْ إِبْرَاهِيمَ هُوَ سَمَّاكُمُ الْمُسْلِمِينَ مِنْ قَبْلُ وَفِي هَذَا لِيَكُونَ الرَّسُولُ شَهِيدًا عَلَيْكُمْ وَتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ )

(สูเราะฮฺอัลหัจญ์ 78)

        ความหมาย “พระองค์อัลลอฮฺทรงคัดเลือกพวกเจ้า (โอ้ประชาชาติมุฮัมมัด จากบรรดาประชาชาติทั้งหลายเพื่อให้เป็นประชาชาติที่ประเสริฐที่สุด ผ่านชะรีอะฮฺที่ดีที่สุดและเราะสูลที่ประเสริฐที่สุด) และพระองค์มิได้ทรงทำให้การนับถือศาสนาของพวกเจ้าเกิดความยากลำบาก  นั่นแหละคือศาสนาของอิบรอฮีม บรรพบุรุษของพวกเจ้า พระองค์ทรงตั้งชื่อพวกเจ้า (โอ้ประชาชาติมุฮัมมัด) ว่ามุสลิมีน (หมายถึงผู้ที่มอบตนและสิโรราบต่ออัลลอฮฺ) ทั้งในคัมภีร์ก่อนหน้านี้ และในอัลกุรอาน เพื่อให้เราะสูลุลลอฮฺ เป็นพยานต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาของพวกเจ้า และเพื่อให้พวกเจ้าเป็นพยานต่อประชาชาติอื่นๆ”

       เกียรติที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่ประชาชาตินบีมุฮัมมัด ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “อุมมะตัน วะสะฏอ” และได้รับคัดเลือกให้เป็นพยานต่อมวลมนุษยชาตินั้น ได้รับการยอมรับจากประชาติทั้งหลาย โดยเฉพาะในวันอาคิเราะฮฺ

ท่านเซด บิน อัสลัม ได้กล่าวว่า 

          “ในวันกิยามะฮฺประชาชาติทั้งหลายต่างพากันกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริง (สถานะของ) ประชาชาตินบีมุฮัมมัด   ทั้งหมด (ในวันนี้) เสมือนกับว่าพวกเขาล้วนเป็นนบี” เนื่องจากพวกเขาได้เห็นถึงความโปรดปราน (ในรูปของการเป็นพยาน) ที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่ประชาชาตินบีมุฮัมมัด  ”

(อับดุลร็อซซาก, ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีซ 1/80)


ความหมายของหะดีษข้างต้น ทำให้เราประจักษ์ว่า

     1. บทบาทส่วนหนึ่งของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือ เป็นพยานต่อมวลมนุษยชาติในทุกยุคสมัย นับตั้งแต่ประชาชาติสมัยนบีอาดัม อะลัยฮิสลาม จวบจนวันกิยามะฮฺ ทั้งบนโลกนี้และในวันอาคิเราะฮฺ 


     2. ความมีเกียรติของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” เกิดจากความเที่ยงธรรมที่มีอยู่ในตัวพวกเขา ซึ่งวางอยู่บนหลักแห่งความรู้ที่เที่ยงตรงและข้อมูลที่ชัดแจ้งจากอัลกุรอาน


     3. การเป็นพยานทั้งหมดของ “อุมมะตัน วะสะฏอ” จะขึ้นอยู่กับการเป็นพยานของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาและการเป็นพยานของพวกเขา วัลลอฮุอะอฺลัม


     4. “อุมมะตัน วะสะฏอ” ที่ได้รับการเป็นพยานจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ต่อความสัจจริงในการนับถือศาสนาของพวกเขา และเป็นพยานต่อพวกเขาในวันอาคิเราะฮฺ เป็นประชาชาติที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ด้านรากฐานของศาสนาอิสลาม นั่นคือปลอดจากการตั้งภาคี การอุตริ และความจอมปลอมในด้านอะกีดะฮฺและอิบาดะฮฺ 


     5. “อุมมะตัน วะสะฏอ” คือ ประชาชาติที่ใช้ชีวิตเคียงคู่อัลกุรอานพร้อมกับคำอธิบายจากสุนนะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ทั้งด้านอะกีดะฮฺ อิบาดะฮฺ มุอามะลาต และอื่นๆ อันเป็นเงื่อนไขหลักในการเป็นพยานของท่านเราะสูล ต่อความสัจจริงและความเที่ยงธรรมของพวกเขา