หลุมฝังศพ...
  จำนวนคนเข้าชม  25701

 

หลุมฝังศพ...

โดย... อะมะตุ้ลญะลิ้ล 

 

          “ ความตาย ” สัจธรรมอันจริงแท้ที่ไม่อาจปฏิเสธ  ภาวะความจริงที่มนุษย์หวาดกลัวและคิดว่าห่างไกลจากตนที่สุด ทั้งที่ความจริงแล้ว มันใกล้ชิดและตามติดกระชั้น ยิ่งกว่าเงาที่ตามติดร่างกาย  เลขอายุที่เดินไปข้างหน้า กำลังบอกกล่าวตัวเลขแห่งเวลา ที่นำพามนุษย์ก้าวเท้าเข้าหาอ้อมแขนของ      “ ความตาย ”ในทุกขณะ เมื่อทุกชีวิตล้วนมีความตาย เป็นสิ่งสุดท้ายที่ให้ลิ้มลองรสชาติ  จะเร็วหรือช้ารสชาตินั้นย่อมเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่สุดเสมอ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความตายเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาเช่นไร หากแต่ภาวะก่อนก้าวสู่ประตูแห่งความตาย และภาวะหลังจากเป็นสมาชิกหนึ่งในหมู่ผู้ไร้วิญญาณต่างหาก ที่สำคัญและจำเป็นที่มนุษย์พึงพิจารณา
 

อิสลาม เป็นศาสนาหนึ่งที่สอนให้ตระหนักถึงความตายเสมอ พระคัมภีร์ได้ย้ำถึงสัจธรรมข้อนี้ว่า

 "ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย"       

( อัล-อัมบิยาอ์ 21/35 )

         อิสลามปฏิเสธการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ปฏิเสธความเชื่อเรื่องชาติภพ เมื่อผ่านพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนจบสิ้น มีเพียงแต่วิญญาณและการงานของมนุษย์เท่านั้นที่จะยังคงอยู่เพื่อรอรับการพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้าในโลกหน้า
 
         หากแต่อิสลามมีคำสอนที่ให้รายละเอียดในช่วงเวลาอันลี้ลับที่ไม่มีใครสามารถพิสูจน์เพื่อยืนยันในข้อเท็จจริงได้ นอกจากผู้ที่เข้าไปสัมผัสอย่างไม่มีวันถอนตัวกลับมาได้อีกอย่างเด็ดขาด  ซึ่งอิสลามถือเป็นหลักศรัทธา ที่มุสลิมจำเป็นต้องเชื่อมั่นโดยปราศจากการสงสัยใดๆ  อิสลามไม่เคยวางบทบัญญัติใดที่สติปัญญาไม่ยอมรับ แต่สามารถมอบสิ่งที่เกินกว่าสติปัญญามนุษย์จะหยั่งถึง เพื่อเป็นการทดสอบและประเมินผู้ศรัทธา 
 
         บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงตามนัยอิสลามเกี่ยวกับภาวะมนุษย์หลังความตาย โดยประมวลไว้ด้วยเรื่องของความหมาย และรายละเอียดในโลกหลังความตาย สภาพวิญญาณและการตอบแทนที่ผู้ตายจะต้องประสบ ตามตัวบทและหลักฐานที่ถูกต้องชัดเจนของศาสนา ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้ท่านรู้จักและรับทราบถึงทัศนะของอิสลามที่มีต่อชีวิตหลังความตายได้ดียิ่งขึ้น อินชาอัลลอฮ์

  

การศรัทธาในสิ่งเร้นลับ

         การศรัทธาในสิ่งเร้นลับ เป็นหลักของทุกศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะข้อจำแนกระหว่างผู้ที่นับถือศาสนากับผู้ที่ไม่นับถือศาสนานั้นอยู่ที่การศรัทธาในสิ่งเร้นลับ และศรัทธาว่าเบื้องหลังเเห่งวัตถุนั้นมีพลังอื่นอยู่ นอกเหนือจากวัตถุ  ดังนั้น ผู้ที่ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ ถือว่าเป็นผู้รับนับถือศาสนา ตรงกันข้าม ผู้ที่ปฏิเสธหรือไม่ศรัทธาในสิ่งเร้นลับ ก็ถือว่าปฏิเสธศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่พบว่าศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ปราศจากการศรัทธาในสิ่งเร้นลับ  หมายถึงศรัทธาในพลังซึ่งอยู่เบื้องหลังแห่งวัตถุ ดังนั้น การมีศรัทธาในอัลลอฮ   โดยปราศจากการมีศรัทธาในสิ่งเร้นลับ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  ในการนี้อัลลอฮ์  ได้ทรงระบุลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาไว้ดังต่อไปนี้

 

 "คือบรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ  และพวกเขาดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยแก่เขานั้น พวกเขาก็บริจาค

 และบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนหน้าเจ้า และต่อวันปรโลกนั้น พวกเขาเชื่อมั่น"   

( อัล-บะเกาะเราะฮ์ 2 / 3-4 )


           การศรัทธาในสิ่งเร้นลับนั้น ทำให้จำเป็นต้องศรัทธาในบรรดาเทวทูต(มะลาอิกะฮ์ )ซึ่งเป็นวิญญาณอันบริสุทธิ์ และศรัทธาในสิ่งที่ถูกบังเกิด อันพ้นญาณวิสัย และจะต้องศรัทธาว่า ชีวิตความเป็นอยู่ในโลกนี้ เป็นชีวิตที่ไม่ยั่งยืน ส่วนชีวิตอันยั่งยืนนิรันดรนั้น คือชีวิตความเป็นอยู่ในปรโลก ( อาคิเราะฮ์ )

          อิสลามจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการศรัทธาในปรโลก เพราะเมื่อศรัทธาในปรโลกย่อมหมายรวมถึง การศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับทั้งมวล และเน้นย้ำว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องฟื้นคืนชีพเพื่อรับการตอบแทนอย่างแน่นอน

 

 "พวกเจ้าคิดว่า  แท้จริงเราได้ให้พวกเจ้าบังเกิดมาโดยไร้ประโยชน์ และแท้จริงพวกเจ้าจะไม่กลับไปหาเรากระนั้นหรือ ? "

( อัล-มุมินูน 23 /  115)


          หลักฐานการศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ มาจากการรับฟังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงมีชื่อเรียกว่า “ ซัมอียาต” หมายถึง บรรดาสิ่งที่ได้รับฟัง เพราะสิ่งเหล่านั้นมาถึงเราได้ด้วยคำบอกเล่าจากพระคัมภีร์และวจนะศาสดาเท่านั้น  อันได้แก่เรื่องเร้นลับที่เกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะเข้าใจได้ด้วยผัสสะ อาทิเช่น เรื่องเทวทูต ซาตาน วิญญาณ การทรมานในหลุมฝังศพ การฟื้นคืนชีพ ตลอดจนสวรรค์และนรก

           ซึ่งในการศรัทธาของมุสลิมในสิ่งเร้นลับเหล่านี้ จำเป็นต้องยึดหลักการที่ถูกต้อง จากหลักฐานที่ชัดเจน ซึ่งก็คือ อัลกุรอาน และวจนะศาสดา ( ที่ถูกรายงานต่อเนื่องกันมาโดยผู้รายงานจำนวนมาก )เพื่อป้องกันความผิดพลาดและห่างไกลจากการหลงผิด 


   
 

 เรื่องของวิญญาณ 


           ไม่มีใครหยั่งรู้สภาพของวิญญาณ ว่ามีลักษณะ รูปร่าง แก่นแท้ เป็นเช่นไร นอกจากผู้สร้างวิญญาณเท่านั้นที่ทรงทราบดีที่สุด เรื่องของวิญญาณจึงจัดเป็นเรื่องเร้นลับที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงห้ามการเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 

"และพวกเขาจะถามเจ้า เกี่ยวกับวิญญาณจงกล่าวเถิดว่า เรื่องวิญญาณนั้นเป็นไปตามพระบัญชาของพระเจ้าของฉัน

และพวกท่านจะไม่ได้รับความรู้ใดๆ เว้นแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น"  

 

( อัลอิสรออ์17/ 85 )

 

           พอเพียงแล้วสำหรับมนุษย์ ที่จะรู้ว่า การมีอยู่ของวิญญาณคือการมีอยู่ของชีวิต และการจากไปของวิญญาณคือการสิ้นสุดของชีวิต เพราะการที่มนุษย์พยายามจะไขว่คว้าในสิ่งที่พระองค์ทรงเก็บไว้เป็นเรื่องลับเฉพาะของพระองค์ เท่ากับกำลังดิ้นรนหาคำตอบในสิ่งที่พ้นญาณวิสัย ซึ่งไม่ว่าจะพยายามสักเท่าใดก็ยังคงไร้ความสามารถอยู่นั่นเอง

         วิญญาณเป็นหนึ่งในสรรพสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงบังเกิด วิญญาณไม่ใช่สิ่งดั้งเดิม แต่เมื่อถูกบังเกิดแล้ว จะมีสภาพเป็นอมตะ ไม่สูญสลายอีกต่อไป และสิ่งหนึ่งที่เรารับรู้จากเรื่องของวิญญาณ คือ เมื่อวิญญาณออกจากร่าง วิญญาณยังคงรับรู้ ได้ยิน จำผู้มาเยี่ยม ตอบรับสลาม ( คำทักทาย ) และได้รับผลานิสงค์จากผลกรรมที่ได้ประกอบไว้

 

           ท่านอิบนุ ก็อยยิม -ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ- กล่าวว่า "จากการตรวจสอบในวจนะของท่านศาสดา  พบว่า วิญญาณนั้น รู้ถึงความเป็นไปของญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่ วิญญาณเห็น วิญญาณรับรู้ วิญญาณมีความพึงพอใจและทุกข์ใจกับการกระทำของเขาเหล่านั้น"

 

ความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย

     อิสลามจำแนกโลกที่มนุษย์จำเป็นต้องพำนักอาศัยออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกันคือ

     1. โลกดุนยา ( โลกนี้ )

     2. โลกหลังความตาย

     3. โลกอาคิเราะฮฺ (ปรโลก) โลกแห่งความนิรันดร์กาล

 

           ในแต่ละสภาวะมีความแตกต่าง ดังนั้นกฎเกณฑ์ตลอดจนการดำรงอยู่ของมนุษย์ในช่วงระยะเวลาทั้งสาม ย่อมแตกต่างกัน และไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้  ตัวอย่างเช่น พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดให้การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดเฉพาะแก่โลกนี้ มนุษย์มีความสามารถเฉพาะที่จะหยั่งรู้ในสิ่งที่พระองค์ทรงขีดกรอบไว้สำหรับโลกนี้เท่านั้น สติปัญญาจะไร้ความสามารถทันทีในส่วนที่นอกเหนือกรอบของพระองค์ที่ได้ทรงขีดเอาไว้ เพราะในเมื่อทั้ง 3 โลกมีสภาวะที่ต่างกัน กฎเกณฑ์ และสภาพความเป็นอยู่ก็ย่อมไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน

          ในสภาวะแห่งโลกนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้กำหนดสภาพกฎเกณฑ์แก่ร่างกาย โดยมีวิญญาณเป็นผู้ตาม  ส่วนสภาพกฎเกณฑ์ในโลกหลังความตาย ได้ถูกกำหนดแก่วิญญาณ โดยมีร่างกายเป็นผู้ตาม และสำหรับ สภาพกฎเกณฑ์แห่งปรโลก พระองค์ได้ทรงวางไว้เพื่อร่างกายและวิญญาณโดยพร้อมเพรียง  หากพิจารณาระหว่างร่างกาย กับ วิญญาณ มีความเกี่ยวพันในช่วงใด อย่างไรบ้าง ก็จะพบระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองดังนี้

 1. ความสัมพันธ์ของวิญญาณต่อร่างกายขณะเป็นทารกในครรภ์มารดา

 2. ความสัมพันธ์ของวิญญาณต่อร่างกายเมื่อพ้นจากครรภ์มารดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 3.  ความสัมพันธ์ของวิญญาณต่อร่างกายขณะหลับ มีช่วงที่ข้องเกี่ยวและแยกจาก

 4.  ความสัมพันธ์ของวิญญาณต่อร่างกายในโลกหลังความตาย

 5. ความสัมพันธ์ของวิญญาณต่อร่างกายในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ อันเป็นสัมพันธภาพที่สัมบูรณ์  ปราศจากการแยกจาก ไม่สิ้นสุดด้วยความตายหรือการทำลาย 

 

 

 

 

หลุมฝังศพ ผู้ปลิดชีวิต ...>>>>Click