อำนาจ ของ ราชวงค์อับบาสิยะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  15540

ราชวงค์อับบาสิยะฮ์  (The Abbasid Dynasty)

 

           การเรือง อำนาจของราชวงศ์อับบาสียะฮ์เป็นการเปิดศักราชใหม่ของมุสลิมในด้านศิลปวิทยาการสาขาต่างๆ ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ของมุสลิมได้เริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มขึ้นของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ เคาะลีฟะฮ์ในราชวงศ์อับบาสียะฮ์เป็นผู้อุปถัมภ์วิทยาการอย่างใหญ่หลวง ได้ทนุบำรุงเลี้ยงดูนักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถซึ่งได้สร้างประโยชน์อันมีค่าให้แก่วัฒนธรรมของโลก

           ท่านเคาะลีฟะฮ์อัลมะอ์มูน ( ค . ศ . 813-833) ทรงเปิดแผนกแปลเพื่อรักษาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของต่างชาติไว้เช่น ผลงานของอริสโตเติล กาเลน แต่คงจะหายสาปสูญไปถ้าหากมุสลิมไม่ได้เก็บรักษามันไว้ด้วยการแปลเป็นภาษาอาหรับ นอกจากนี้ยุโรปเป็นหนี้มุสลิมในเรื่องความรู้ทางเคมี การแพทย์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ท่านอัลรอซี และอิบนุซินาเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่โลกรู้จักกัน ตำราอัลกอนูน ของอิบนุซินาได้ใช้เป็นตำราทางการแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในยุโรปมาหลายร้อยปี

          เคาะลีฟะฮ์ต้นๆ ของราชวงศ์อับบาสียะฮ์ได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นซึ่งเรียกว่า “ บิมาริสตาน ” โรงพยาบาลแห่งแรกถูกสร้างขึ้นโดยเคาะลีฟะฮ์ฮารูน อัรรอชีดในกรุงแบกแดด ต่อมาก็ได้มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นอีก 34 แห่งในส่วนต่างๆของโลกมุสลิม สาขาอื่นๆ อาทิเช่น ศัลยกรรม เภสัชกรรม วิชาเกี่ยวกับสายตา ฯลฯ ก็เจริญก้าวหน้ามากในสมัยอับบาสียะฮ์

          ชาวมุสลิมได้ปลูกฝังความรักด้านปรัชญาอย่างกระตือรือร้นเท่าๆ กันกับวิทยาศาสตร์ อัลฆอซาลี , อัลกินดี , อัลฟารอบีและอิบนุ ซินา เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของชาวมุสลิมในสมัยอับบาสียะฮ์

           ท่านอัลกินดี นอกจากเป็นนักปรัชญาแล้วท่านยังเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุ นักประดิษฐ์กล้อง และนักทฤษฏีด้านดนตรีอีกด้วย ท่านได้เขียนตำราในด้านต่างๆ กว่า 200 เล่ม ส่วนท่านฟารอบี ชาวอาหรับได้ให้สมญานามว่า “ อริสโตเติลอาหรับ ” ท่านได้เขียนตำราทางด้านจิตวิทยา การเมืองและอภิปรัชญาไว้มากมาย นอกจากนี้ในด้านดาราศาสตร์ในรัชสมัยของเคาะลีฟะฮ์อัลมะอ์มูนได้มีการสร้างหอดูดาวแห่งแรกขึ้นที่เมืองจันดีชาปูร ในเปอร์เซียตะวันออกเฉียงใต้ และต่อมาได้มีการสร้างอีกแห่งหนึ่งในเมืองแบกแดด

          ในบรรดานักคณิตศาสตร์ทางดาราศาสตร์คนที่สำคัญคืออัลเคาะวาริซมีย์ ผู้เขียนตำรา “ กิตาบ ซูรอตุลอัรฏ์ ” ซึ่งอธิบายแผนโลกที่เป็นเล่มแรกในศตวรรษที่ 9 นอกจากนี้ ท่านอัลบัยรูนี และท่านอุมัร อัลค็อยยาม ) เป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้น

          ชาวอาหรับยังทำประโยชน์ทางความรู้วิชาเคมีอีกด้วย ท่านญาบิร อิบนุ ฮัยยาน แห่งเมืองกูฟะฮ์นับว่าเป็นบิดาแห่งวิชาเคมีสมัยใหม่ ท่านได้สร้างห้องทดลองขึ้นในเมืองกูฟะฮ์ ได้ค้นพบสารประกอบทางเคมีมากมายและได้เขียนตำราเกี่ยวกับวิชาเคมีไว้หลายเล่ม ทางด้านประวัติศาสตร์มุสลิมก็เจริญก้าวหน้าไม่น้อยกว่าสาขาอื่นๆ ท่านบาลาซูรี , ฮามาดัน , มัสอูดีย์ , ตอบารีย์ , และอิบนุ อะษีร ล้วนแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เด่นอยู่ในสมัยอับบาสียะฮ์ นักวรรณกรรมภาษาอาหรับและเปอร์เซียที่มีชื่อเสียงก็มีท่านอิสฟาฮานีย์ ท่านอิบนุค็อลลิกาน ท่านอบูนุวาส ท่านฟิรเดาซีย์ ท่านอบูฟะรอจญ์ เป็นต้น
 

 

ที่มา : Islamic information center of psu Fathoni


Next Part 3 >>>>> Click