การครองตน
  จำนวนคนเข้าชม  17343

การบริหารงานบุคคลตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยใช้หลักที่ว่า

การครองตน            การครองคน            การครองงาน
 

 

การครองตน

 

โดย ... อ. อรุณ  บุญชม

 อิสลามมีหลักในการครองตนดังต่อไปนี้


(1) หลัก มุรอกอบะห์ (المراقبة) 

          คือมีสำนึกอยู่เสมอว่าตนถูกพระเจ้าติดตามและเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา  เมื่อมีสำนึกอย่างนี้ก็จะทำแต่ความดีไม่กล้าทำความผิด และละอายที่จะทำบาปเพราะพระเจ้ารู้และเห็นการกระทำของตนทั้งในที่ลับและเปิดเผย ดังพระองค์ได้ตรัสว่า

 “พระองค์จะอยู่กับพวกท่านไม่ว่าพวกท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม”

 
 

(2) หลัก อะมานะห์(الأمانة) 

          คือความซื่อสัตย์สุจริต ในการทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย  ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ว่า

" لاَ إيمانَ لِمَنْ لاَ أمَانةَ له "   “ไม่มีศรัทธาสำหรับผู้ที่ไม่มีความซื่อสัย์”

          ความซื่อสัตย์กับความศรัทธาในศาสนาจึงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม (ผู้นับถือศาสนาอิสลาม) จะต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ หากเขาไม่มีความซื่อสัตย์  เขาก็ขาดคุณสมบัติที่สำคัญในการเป็นมุสลิมของเขา


 

(3) หลัก มัสอูลียะห์(المسئولية) 

          คือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มุสลิมตระหนักในความรับผิดชอบต่อหน้าที่เพราะเป็นสิ่งที่ท่านศาสดา  ได้กำหนดไว้ให้แก่ทุกคนอย่างชัดเจนว่า

"ألا كلكم راعٍ، وكلكم مسئولٌ عن رعيته ؛ فالأمير الذي على الناس راعٍ، وهو مسئولٌ عن رعيته، والرجل راعٍ على أهل بيته، وهو مسئولٌ عنهم، والمرأة راعيةٌ على بيت بعلها وولده، وهي مسئولةٌ عنهم، والعبد راعٍ على مال سيده، وهو مسئولٌ عنه، ألا فكلكم راعٍ، وكلكم مسئول عن رعيته" رواه مسلم.

“พึงทราบเถิดว่าท่านทั้งหลายมีหน้าที่ และท่านทั้งหลายต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นกล่าวคือ

ผู้นำ มีหน้าที่ปกครองประชาชน  เขาจะต้องรับผิดชอบทุกข์สุขของประชาชนของเขา 

ผู้ชายมีหน้าที่ดูแลครอบครัวของเขา และเขาต้องรับผิดชอบครอบครัวของเขา

ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้านของสามี และบุตร  และนางต้องรับผิดชอบพวกเขา

คนรับใช้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้เป็นนาย และเขาจะต้องรับผิดชอบทรัพย์สินนั้น

พึงทราบเถิดว่าพวกท่านทุกคนมีหน้าที่และจะต้องถูกสอบถามถึงหน้าที่ที่รับผิดชอบ” 

 

         ดังนั้นเมื่อมุสลิมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบไม่ว่าในเรื่องใด เขาจะต้องทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มความสามารถและดีที่สุด เพราะเขาจะต้องรับผิดชอบและถูกตรวจสอบทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

 

 

(4) หลัก มุญาฮะดะห์ (المجاهدة) 

          คือการทุ่มเทให้แก่การปฏิบัติภารกิจ โดยอาศัยหลักการจากอัลกุรอานที่ว่า

  “ ผู้ใดทำความดีแม้เล็กเท่าผงธุลี เขาก็จะได้เห็นมัน” 

          เมื่อเป็นดังนี้มุสลิมจึงต้องทุ่มเทในการสร้างผลงานที่ดีและปฏิบัติภารกิจอย่างสุดความสามารถ เพราะมีความเชื่อมั่นว่าเขาจะได้เห็นผลงานนั้น แม้จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม


 

 (5) หลัก อัซซอบร์(الصبر) 

          คือความอดทน มุสลิมมีความเชื่อมั่นว่าในการทำงานต้องพบกับอุปสรรค และความล้มเหลว แต่ต้องมีความอดทนในการต่อสู้และหาแนวทางฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปให้ได้ โดยไม่ท้อแท้และหมดกำลังใจเพราะอัลเลาะห์เจ้าได้แจ้งแก่ศาสดาให้บอกข่าวดีแก่พวกที่มีความอดทนว่า

“ เจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่พวกที่มีความอดทนเถิด”

 “พวกเจ้าอย่าหมดหวังในความเมตตาของอัลเลาะห์” 

 

          มุสลิมมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อพบกับอุปสรรคหรือความล้มเหลว มุสลิมจะต้องยืนหยัดต่อสู้หาหนทางแก้ไข และจะต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด อย่าท้อทอยหรือหมดกำลังใจ แล้วอัลลอฮ์ จะช่วยเหลือให้รอดพ้น  มีตัวอย่างมากมายในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยืนยันในเรื่องนี้ เช่น

 

          ประวัติของพระนางฮาญัร ที่เดินหาน้ำให้แก่ลูกน้อยอิสมาอีล ขณะเมื่อเสบียงอาหารและน้ำดื่มหมด พระนางได้ขึ้นไปบนภูเขาซอฟา เพื่อมองดูกองคาราวานที่จะเดินทางผ่านมาแล้วขอความช่วยเหลือ แต่ไม่พบ จึงเดินไปขึ้นบนภูเขามัรวะห์ ที่อยู่ห่างออกไปเกือบหนึ่งกิโลเมตร แต่ก็ไม่พบเห็นผู้ใด พระนางได้เดินไปมาเช่นนั้นถึงเจ็ดเที่ยวรวมระยะทางได้เกือบห้ากิโลเมตรท่ามกลางแสงแดดของท้องทะเลทรายอันร้อนระอุ และพื้นที่ขรุขระจนนางหมดแรง อัลลอฮ์ จึงช่วยนางโดยให้มีน้ำผุดขึ้นมาจากผืนทรายที่เรียกว่า น้ำซัมซัม ซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

          นี่คือแบบอย่างของการอดทนและต่อสู้อย่างถึงที่สุด เพราะหากอัลลอฮ์จะช่วยเหลือนางให้ได้พบน้ำตั้งแต่การเดินเที่ยวแรก พระองค์ก็สามารถกระทำได้  แต่เพื่อเป็นบทเรียนของความอดทนและการต่อสู้ว่าจะต้องให้ถึงที่สุดเสียก่อน แล้วความช่วยเหลือของอัลลอฮ์จึงจะมีมา พระองค์จึงให้ความช่วยเหลือเมื่อพระนางได้เดินไปมาถึงเจ็ดเที่ยวและหมดเรี่ยวแรง


 

(6) หลัก “ตะวักกุล” (التوكل)  

          คือการมอบหมายความสำเร็จในการทำงานให้แก่อัลลอฮ์เจ้า โดยยึดหลักจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า

 
“ ดังนั้นเมื่อเจ้าตัดสินใจแล้ว ก็จงมอบหมายความสำเร็จให้แก่อัลลอฮ์”

 

          หมายความว่าเมื่อได้มีการศึกษาโครงการ ประชุมปรึกษาหารือกัน มีการวางแผนการเป็นอย่างดีแล้วจนถึงขั้นตัดสินใจอนุมัติโครงการ และลงมือปฏิบัติ โดยที่เราไม่รู้หรอกว่าโครงการนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลว ดังนั้นให้เรามอบหมายความสำเร็จของโครงการนั้นให้แก่อัลเลาะห์  ส่วนเรามีหน้าที่ปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ

         หากโครงการนั้นสำเร็จ ถือว่าความสำเร็จนั้นมาจากอัลลอฮ์ หากโครงการนั้นล้มเหลวก็จะต้องหาหนทางแก้ไขด้วยความอดทนและต่อสู้ให้ถึงที่สุด โดยไม่สิ้นหวังและท้อแท้ เพราะถือว่าอัลลอฮ์เจ้าได้กำหนดให้เกิดขึ้นเช่นนั้น