การครองคน
  จำนวนคนเข้าชม  12554

 

การบริหารงานบุคคลตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยใช้หลักที่ว่า

การครองตน            การครองคน            การครองงาน

 

 

การครองคน

โดย..... อ. อรุณ  บุญชม


          อิสลามมีหลักในการครองคนดังต่อไปนี้ โดยอาศัยบุคลิกภาพของท่านศาสดา  ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

{ فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لاَنفَضُّواْ مِنْ حَوْلِكَ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الأَمْرِ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ }

 آل عمران : 159
 
“ เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮ์ เจ้าจึงเป็นผู้ที่สุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา

และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ที่มีความหยาบคาย และมีใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนพวกเขาก็คงปลีกตัวออกไปจากเจ้า

ดังนั้นเจ้าจงให้อภัยพวกเขา จงวิงวอนขออภัยโทษให้แก่พวกเขา  จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในการทำงาน

และเมื่อพวกเจ้าได้ตัดสินใจแล้ว  ก็จงมอบหมายความสำเร็จให้แก่อัลลอฮ์เถิด 

เพราะความจริงอัลลอฮ์ทรงโปรดปรานผู้มอบหมายทั้งหลาย”

(อาละอิมรอน 159)


(1) ความสุภาพอ่อนโยน (الرفق) 

          ไม่ใช้วาจาหยาบคาย  ท่านศาสดามุฮัมมัด จะเป็นผู้ที่มีความสุภาพอ่อนโยนต่อคนรอบข้างทุกคน ท่านไม่เคยใช้วาจาหยาบคายกับผู้ใด ท่านไม่เคยดุว่าคนรับใช้ ท่านไม่เคยตำหนิอาหารหากท่านชอบ ท่านจะรับประทาน หากท่านไม่ชอบท่านก็จะไม่รับประทาน ท่านจะกล่าวสลามทักทายเด็กๆ เมื่อท่านเดินผ่านพวกเขา ท่านได้กล่าวแก่อาอิชะห์ภรรยาของท่านว่า

( إِنَّ اللَّهَ رَفِيقٌ يُحِبُّ الرِّفْقَ ، وَيُعْطِي عَلَى الرِّفْقِ مَا لاَ يُعْطِي عَلَى الْعُنْفِ)  رواهُ مُسْلِم
 
“ อัลลอฮ์ สุภาพอ่อนโยน ทรงรักความสุภาพอ่อนโยนพระองค์จะมอบให้แก่ความอ่อนโยน อย่างที่ไม่เคยมอบให้แก่ความรุนแรง”

 (รายงานโดยมุสลิม)


(2) ความเมตตาสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (الرحمبة) 

          ท่านศาสดามุฮัมมัด เป็นผู้ที่มีใจกรุณา เมตตาและสงสารผู้อื่น  มีหญิงชราชาวเมืองมะดีนะห์พาท่านไปที่บ้านเพื่อให้ท่านทำธุระให้แก่นาง ซึ่งท่านก็ไปทำให้แต่โดยดี  ด้วยความสงสาร   ท่านได้กล่าวเตือนผู้เป็นนายว่า จะต้องไม่บังคับใช้งานบ่าวในสิ่งที่เกินกำลังความสามารถ และท่านได้กำชับผู้เป็นนายให้ให้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแก่บ่าว ด้วยอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่นายรับประทานและสวมใส่  ท่านได้เตือนนักปกครองที่ใช้มาตรการรุนแรงและสร้างความยุ่งยากไว้ในคำวิงวอนของท่านว่า

“ ข้าแด่อัลลอฮ์  ผู้ใดที่ปกครองประชาชนของฉันในเรื่องหนึ่ง แล้วเขาทำให้ประชาชนต้องยุ่งยากลำบาก

ขอพระองค์จงให้เกิดความยุ่งยากลำบากแก่เขา” 

 

 แม้กระทั่งในเรื่องสัตว์ท่านได้กล่าว ผู้เอาน้ำให้สุนัขที่กระหายน้ำว่าอัลเลาะห์ขอบคุณเขาและให้เขาได้เข้าสวรรค์ 

 แล้วมีผู้ถามท่านว่า  พวกเราจะได้รับผลบุญในการการทำความดีแก่สัตว์หรือ ?

ท่านตอบว่า "การทำความดีแก่สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ได้รับผลบุญทั้งสิ้น” 

         และท่านได้กล่าว่า 

“หญิงคนหนึ่งเข้านรกในเรื่องแมวที่นางได้กักขังมันไว้ โดยไม่ให้อาหารและไม่ปล่อยมันให้จับสัตว์เป็นอาหารเอง”


 

 (3) การให้อภัยไม่ถือโทษ (العفو)

          อัลลอฮ์  บัญชาใช้ให้อภัยไม่ถือโทษ   และนับว่าการให้อภัยเป็นอาวุธของผู้ที่เข้มแข็งโดยพระองค์ได้ตรัสว่า

 “ และพวกเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การอภัยจากองค์อภิบาลของพวกเจ้า”

          อัลลอฮ์  ทรงเชิญชวนบ่าวของพระองค์สู่การให้อภัย พระองค์ตรัสว่า

 
(โอ้ มูฮัมมัด)  เจ้าจงยึดถือไว้ซึ่งการให้อภัย  และจงใช้ให้กระทำสิ่งที่ดีงาม  และจงผินหลังให้แก่ผู้โฉลดเขลาทั้งหลายเถิด” 

  
    
 “(บรรดาผู้ยำเกรง) คือบรรดาผู้ข่มโทสะ และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลลอฮ์ นั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย ” 

          ท่านอับดุลเลาะห์  บุตรมัสอูด  กล่าวว่า  : ฉันมองดูท่าน นะบีมูฮัมมัด   ขณะท่านกำลังเล่าถึงนบีท่านหนึ่งที่ถูกพวกพ้องของพวกเขาทำร้ายจนเลือดออก  เขาใช้มือลูบเลือดที่เปื้อนใบหน้า  พลางก็กล่าวว่า :

  “ ข้าแด่องค์อภิบาลได้โปรดให้อภัยแก่พวกพ้องของฉันด้วยเถิด  เพราะความจริงพวกเขาไม่รู้” 

อิสลามอบรมมุสลิมให้ยึดถือความหมายอันยิ่งใหญ่และสูงส่งนี้จนถึงกับทำให้ท่าน

อุมัร อิบนุ คอตตอบ  กล่าวว่า  ประชาชนของฉันทุกคนได้รับการอภัยจากฉัน” 

          ในความหมายเดียวกันนี้  เราจะรู้สึกได้ในคำพูดของอิบนุมัสอูด ขณะที่เขานั่งอยู่ในตลาดเพื่อซื้ออาหาร  เมื่อเขาต้องการจะจ่ายเงินค่าอาหาร  เขาพบว่ามันได้ถูกขโมยไปเสียแล้ว  ประชาชนเมื่อทราบเช่นนั้นก็ประกาศหาตัวคนที่ขโมยเงินของเขาไป 

อับดุลเลาะห์ บุตร มัสอูด  ได้ยกมือวิงวอนว่า  : “ข้าแด่อัลเลาะห์  ถ้าหากความจำเป็น  เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องเอาเงินไป  ขอพระองค์ได้โปรดเพิ่มพูนมันแก่เขา  แต่ถ้าหากเขาเอามันไปโดยไม่เกรงกลัวบาป  ขอพระองค์ได้โปรดให้มันเป็นบาปสุดท้ายของเขาด้วยเทอญ”

     คนที่ให้อภัยผู้อื่นย่อมเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่ง และงดงาม  มีความมุ่งมั่นสูง มีขันติธรรม  และมีความอดทน 

มุอาวิยะห์ ได้กล่าวว่า : “พวกท่านจงมีความขันติธรรม และอดทน  จนกว่าพวกท่านจะมีโอกาส  และเมื่อพวกท่านมีโอกาส พวกท่านจงให้อภัย  และให้ความกรุณา”


 

(4) ประชุมปรึกษาหารือ   (المشاورة)

         อัลลอฮ์ ได้บัญชาให้ท่านนบีมุฮัมมัด ประชุมปรึกษาหารือกับเพื่อร่วมงานดังมีความว่า

 “ จงปรึกษาหารือกับพวกเขาในการทำงาน”     

และยังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานอีกว่า

 “ และกิจการงานของพวกเขาคือการปรึกษาหารือกันในหมู่พวกเขา”

          ประโยชน์ของการประชุมปรึกษาหารือก็คือผู้ร่วมงานทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและนำเอาแนวทางที่ดีที่สุดหรือมติในที่ประชุมนั้นไปปฏิบัติ  ผู้ร่วมงานทุกคนจะมีความรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมในแนวทางนั้นหรือมตินั้น ก็จะเกิดความร่วมมือในการผลักดันให้งานนั้นบรรลุความสำเร็จ


 

 

(5) ตัดสินใจและมอบหมายความสำเร็จให้แก่อัลลอฮ์ (العزم والتوكل)  

          เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกันแล้ว ก็ให้มอบหมายความสำเร็จนั้นไว้ในอำนาจของอัลลอฮ์ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

“ผู้ใดมอบหมายความสำเร็จในการทำงานไว้ให้แก่อัลเลาะห์ พระองค์ผู้เดียวก็พอแล้วสำหรับเขา”  

          โดยเพื่อนร่วมงานทุกคนมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ  และถ้าหากงานนั้นเกิดความล้มเหลว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์ได้กำหนดไว้เช่นนั้น  ก็จะไม่เสียใจและหมดหวัง แต่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยความอดทน และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆอย่างถึงที่สุด