ฮุก่มการนั่งท้าวมือซ้ายไปด้านหลัง
  จำนวนคนเข้าชม  7597

 

ฮุก่มการนั่งท้าวมือซ้ายไปด้านหลัง

 

แปลและเรียบเรียง อุมมุ อุ้ลยา

 

          ผมมีคำถามเกี่ยวกับหะดีษที่ปรากฏในหนังสือ “ริยาฎุซซอลิฮีน” ที่ว่า ท่านอัชชะรี๊ด บิน สุวัยดฺ กล่าวว่า : ท่านร่อซู้ล ผ่านมาที่ฉัน ขณะที่ฉันกำลังนั่งพิงโดยท้าวมือซ้ายไปด้านหลัง ท่านกล่าวกับฉันว่า : 


أتقعد قِعْدة المغضوب عليهم     “ท่านจะนั่งอยู่ในท่านั่งของพวกที่ถูกกริ้วกระนั้นหรือ” 
 

(บันทึกโดยอิมาม อะบูดาวูด)


 

คำตอบ

 

         คำถามคือ หะดีษนี้ถูกต้องเชื่อถือได้หรือไม่ ? และการนั่งท้าวแขนซ้ายไปด้านหลังถือว่า หะรอม หรือ มักรู๊ฮฺ ? กรุณานำเสนอความเห็นของอุละมาอฺในประเด็นนี้ด้วยครับ ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนความดีให้แก่ท่าน

 

ประการแรก

 

         เราขอตอบว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษศ่อเฮียะฮฺ ท่านอิมามอะฮฺมัด อิมามอบูดาวูดและท่านอิบนิฮิบบานได้บันทึกไว้ในตำราศ่อเฮียะฮฺของพวกท่าน ท่านอัลฮากิมกับท่านอัซซะฮะบียฺได้ยืนยันความถูกต้องของหะดีษนี้ เช่นเดียวกับอิมามนะวะวียฺได้ยืนยันไว้ใน “ริยาฎุซซอลิฮีน ท่านอิบนิ มุฟลิฮฺยืนยันไว้ใน “อาดาบ อัชชัรอียะฮฺ” และเชค อัลอั้ลบานียฺยืนยันไว้ในศ่อเฮียะฮฺ อบีดาวูด

 

         ท่านอัฎฎีบียฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า ความหมายของพวกที่ถูกกริ้ว คือพวกยิว และสำหรับการเจาะจงท่านั่งดังกล่าวมีความหมายใน 2 ประเด็นคือ

1. ท่านั่งนี้เป็นท่าที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกริ้ว

 

2. มุสลิมคือ ผู้ที่อัลลอฮฺทรงประทานความโปรดปรานให้ ดังนั้น จึงสมควรที่เขาจะออกห่างจากการเลียนแบบผู้ที่พระองค์ทรงกริ้วและทรงสาปแช่งไว้

        ท่านอัลกอรียฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวเสริมว่า : การที่พวกยิวถูกเจาะจงถึงในที่นี่ก็เพราะ ลักษณะเด่นของพวกเขาที่อัลลอฮฺทรงกริ้วนั้นครอบคลุมและเด่นชัดกว่าพวกกุฟฟารอื่นๆที่มีความโอหัง ทั้งนี้เพราะ ความยโสโอหังของพวกยิวเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในท่านั่งและท่าเดินของพวกเขา

         ชัยคุลอิสลาม อิบนิ ตัยมียะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : มีรายงานจากท่านอิบนิอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาว่า ท่านเห็นชายคนหนึ่งนั่งพิงด้วยมือซ้ายขณะละหมาด ท่านจึงบอก “ท่านอย่านั่งท่านี้ เพราะมันเป็นท่านั่งของพวกที่ถูกลงทัณฑ์ ”

อีกรายงานหนึ่งระบุว่า : 

" تلك صلاة المغضوب عليهم "     “นี่เป็นการละหมาดของพวกที่ถูกกริ้ว”

อีกรายงานหนึ่งระบุว่า : 

 " نهى رسول الله صلى الله عليه وسلم أن يجلس الرجل في الصلاة وهو معتمد على يده "
 

“ ท่านร่อซู้ล ห้ามไม่ให้คนใดนั่งพิงมือของเขาขณะละหมาด”

( บันทึกโดย อิมาม อบูดาวูด)


          ในหะดีษนี้ได้ห้ามนั่งท่าดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นท่านั่งของผู้ถูกลงทัณฑ์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะออกห่างจากวิถีปฏิบัติของพวกเขา

มีผู้ถามท่านเชค บินบาส ว่า : ท่านั่งที่ห้ามนี้ห้ามนั่งเฉพาะในละหมาดหรือเป็นการห้ามโดยรวม ?

        ท่านเชคตอบว่า : มีหะดีษระบุห้ามนั่งในท่านี้จริง และเป็นการห้ามนั่งโดยรวมทั้งในและนอกละหมาด เพราะฉะนั้น ใครที่ต้องการนั่งพิงแขน ก็จงนั่งพิงทางด้านขวา หรือพิงทั้งสองข้างพร้อมกัน

       ท่านเชค อิบนิ อุซัยมีน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : ท่านั่งเช่นนี้เป็นท่านั่งที่ท่านนบี  ได้บรรยายลักษณะว่าเป็นท่านั่งที่ถูกกริ้ว ส่วนการท้าวทั้งสองมือไปด้านหลังแล้วนั่งพิงนั้น ถือว่าไม่เป็นไร และถึงแม้ว่าจะท้าวแขนข้างขวาข้างเดียวก็ไม่เป็นไรเช่นกัน เพราะท่านั่งที่ท่านนบี  อธิบายว่าป็นท่าที่ถูกกริ้วนั้น คือ การใช้มือซ้ายท้าวไปทางด้านหลัง และวางฝ่ามือกับพื้นแล้วนั่งพิง และท่านเชคยังกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ในฟัตวา

       “นูรุน อะลา ดัรบฺ” ว่า : ความหมายของหะดีษนี้ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว หมายถึง ไม่ให้นั่งเอนโดยที่มือซ้ายพิงอยู่กับพื้น มีคำถามถามท่านเชคว่า : แล้วถ้าหากว่านั่งท่านี้โดยเจตนาเพียงนั่งพักและไม่ได้คิดเลียนแบบพวกยิวจะบาปหรือไม่ ?

ท่านเชค อิบนิ อุซัยมีน กล่าวตอบว่า : หากเจตนาเช่นนั้นจริงๆ ก็ให้ท้าวแขนด้วยมือขวาด้วยอีกข้างหนึ่งถึงจะไม่เป็นที่ต้องห้าม


ประการที่สอง

         นักวิชาการระบุว่าท่านั่งนี้เป็นท่านั่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรกระทำ (มักรู๊ฮฺ) ซึ่งท่านอิมามอบูดาวูดได้ตั้งชื่อบทหนึ่งในตำราสุนันของท่านว่า : “ บทว่าด้วยท่านั่งที่น่ารังเกียจ ” (โดยระบุหะดีษนี้ได้บทดังกล่าว)

อิบนิ มุฟลิฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรู๊ฮฺ) ที่จะนั่งพิงโดยท้าวมือซ้ายไปด้านหลัง

       เชค อับดุลมุฮฺซิน อัลอับบ๊าด กล่าวว่า : บางครั้งมั๊กรูฮฺอาจมีความหมายว่าหะรอม หรืออาจหมายถึงมั๊กรูฮฺที่ใช้ให้ออกห่างจากสิ่งนั้นเสีย แต่หะดีษนี้ระบุถึงท่านั่งของพวกที่ถูกกริ้ว จึงหมายความถึงการห้ามนั่งในท่าดังกล่าว


         สรุปว่า ท่านั่งนี้ (นั่งพิงแขนซ้ายไปด้านหนัง) เป็นท่าที่ห้ามนั่งทั้งในและนอกละหมาด และห้ามนั่งไม่ว่าจะจงใจเลียนแบบพวกยิวหรือพวกอื่นๆ ที่ยโสโอหัง หรือไม่มีเจตนาจงใจก็ตาม คำจำกัดความของการนั่งท่านี้คือ ท่านั่งของพวกที่ถูกกริ้วและเป็นท่านั่งของพวกที่ถูกลงทัณฑ์ จึงส่งผลให้การห้ามปฏิบัติในที่นี้มีน้ำหนักมากกว่าการบ่งว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ไม่ควรกระทำ (มักรู๊ฮฺ) เพียงอย่างเดียว และอัลลอฮฺทรงเป็นผู้รอบรู้อย่างที่สุด

 

 

ที่มา http://mishkat-elnoor.blogspot.com/2013/05/blog-post_21.html