จุดยืนของมุสลิม กับการเผชิญความชั่วร้าย
  จำนวนคนเข้าชม  9412

 

จุดยืนของมุสลิม กับการเผชิญความชั่วร้าย

 

เชค มุฮัมมัด อิบนุ ซอลิฮฺ อุซัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ

 

คำถาม
 

อะไรคือ จุดยืน ของมุสลิม กับการเผชิญความชั่วร้าย ที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศมุสลิม เช่น ดอกเบี้ย ผู้หญิงเปิดสัดส่วน การทิ้งละหมาด ?


 

คำตอบ 

 

         จุดยืน ของมุสลิมคือสิ่งที่ท่านนบีได้กำหนดเอาไว้แล้ว ดังที่รายงานจากท่านอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าแท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า


مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِيمَانِ


“ใครก็ตามในหมู่ของพวกท่านที่เห็นความชั่วร้ายเขาจงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา

หากเขาไม่สามารถก็ด้วยลิ้นของเขา และหากไม่สามารถก็ด้วยหัวใจของเขา

ดังกล่าวนี้นั้น แสดงถึงระดับขั้นอีมานที่อ่อนแอที่สุดแล้ว” 
 

(เศาะฮีหฺ มุสลิม)

 

จากตัวบทหะดีษข้างต้น การตักเตือนในเรื่องของความชั่วแบ่งออก 3 ระดับ

 

         1. หากว่าท่านนั้นมีความสามารถตักเตือนและเปลี่ยนแปลงมันได้ จงเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำมือของท่าน เมื่ออำนาจนั้นอยู่ในมือเรา อาจด้วยการออกคำสั่ง ถือเป็นการหยุดด้วยกับน้ำมือของเขาเอง อาทิคนที่เป็นผู้นำครอบครัวสามารถตักเตือนคนในครอบครัวได้ เช่น เมื่อเข้าไปในบ้านพบเจอ เครื่องเล่นดนตรีของลูก จำเป็นแก่ผู้นำครอบครัวจะต้องตักเตือนทำลายเครื่องเล่นดนตรีหากมีความสามารถที่จะต้องกระทำ เช่น ทุบ ทำลาย หัก เป็นต้น

 

 

        2. การตักเตือนด้วยการใช้คำพูด ลิ้น หากว่าท่านไม่มีความสามารถที่จะตักเตือนและเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้อำนาจ จงใช้ลิ้นของท่านในการกล่าวคำตักเตือน พูดให้เข้าใจถึงสิ่งไม่ดีที่ค้านกับศาสนา

 

การตักเตือนด้วยลิ้นมี 2 รูปแบบ

2.1) หนึ่ง การกล่าวแบบตักเตือนให้เลิกกระทำชั่วและพฤติกรรมที่ไม่ดี เตือนให้ระวัง บอกให้หลีกห่าง

2.2) หากว่าไม่สามารถกล่าวตักเตือนได้ด้วยคำพูด จงนำเรื่องนี้ไปบอกกับผู้นำในชุมชนหรือคนที่มีอำนาจจัดการ

 

         3. ตักเตือนและเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้หัวใจ หากว่าไม่สามารถกล่าวตักเตือนได้ด้วยการใช้มือและลิ้น จงใช้หัวใจของท่านในการตีตัวออกห่าง หลีกห่างสิ่งที่ไม่ดี การรังเกียจนี้คือสิ่งบ่งชี้ถึงเครื่องหมายของการอีหม่านในระดับขั้นต่ำ คือรังเกียจในสิ่งที่ไม่ดี ด้วยหัวใจนั่นเอง


 

        นี้คือสิ่งสำคัญในการตักเตือนเมื่อเผชิญความชั่วตามที่ท่านนบีได้กล่าวเอาไว้ ส่วนคำว่า “เมื่อพวกท่านเห็น” ในหะดีษนี้ คือการเห็นแบบไหน ? เห็นด้วยตา ด้วยความรู้ หรือด้วยการนึกคิด คาดเดา

♦ การนึกคิด หรือคาดเดาเอาเองนั้น ไม่อนุญาตแก่มุสลิมคนหนึ่งคนใดที่จะคิดไม่ดีต่อพี่น้องมุสลิมด้วยกันเอง

♦ การพบเห็นด้วยตา เป็นหลักฐานที่แสดงเห็นชัดเจนถึงการกระทำความชั่ว

♦ การรับรู้ด้วยกับการฟัง โดยที่เขานั้นไม่ได้เห็นด้วยตัวเอง หรือว่ารับฟังมาจากคนที่สามารถเชื่อถือไว้ใจได้

          ฉะนั้นแล้วจากคำพูดของท่านนบี  ที่เราได้อธิบายมานี้ สมควรยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคน ไม่รีบกล่าวร้าย ตัดสินกล่าวหาคนหนึ่งคนใด เว้นแต่ว่าจะมีหลักฐานเสียก่อน ดังในตัวบทข้างต้นท่านนบี  กล่าวว่า

مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الإِيمَانِ

“ใครในหมู่ของพวกท่านที่พบเห็นความชั่วร้าย จงตักเตือน และ เปลี่ยนแปลงด้วยกับมือ

แต่ทว่าหากท่านไม่มีความสามารถ ก็จงตักเตือนและเปลี่ยนด้วยลิ้น

แต่ทว่าหากพวกท่านไม่มีความสามารถจงก็จงตักเตือนและเปลี่ยนแปลงมัน ด้วยหัวใจ

ดังกล่าวนี้นั้น แสดงถืงระดับขั้นของอิหม่านที่ต่ำสุด” 

(บันทึกโดย มุสลิม)

มีบางคนถามฉัน(เชค) ว่า ฉันนั่งอยู่กลุ่มคนที่ทำชั่ว แต่หัวใจนั้นรังเกียจการกระทำดังกล่าว ฉันจะมีความผิดหรือไม่ ?

        เชค ตอบว่า ท่านนั้นมิได้รังเกียจเขาด้วยกับหัวใจจริงๆ เพราะว่า หากว่าท่านนั้นรังเกียจจริงๆ ด้วยหัวใจของท่าน ท่านก็จะรังเกียจสภาพแวดล้อมของเขาด้วยเช่นกัน เหมือนที่ท่านนบี  กล่าวว่า


أَلا وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ, وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ, أَلا وَهِيَ الْقَلْبُ

“พึงรู้เถิดว่า ในร่างกายนั้น มีเนื้อก้อนหนึ่ง หากว่า เนื้อก้อนนี้มันดี ส่วนอื่นก็จะดีไปด้วย

หากเนื้อก้อนนี้มันเสีย ส่วนอื่นก็จะเสียไปด้วย นั้นคือ หัวใจ” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

หากว่าหัวใจของท่านนั้นรังเกียจการกระทำความชั่วแล้ว ทำไมท่านยังอยู่ร่วมกับพวกเขาได้ในขณะที่เขาทำชั่ว ?!

อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

“และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่พวกเจ้าแล้วในคัมภีร์ นั้นว่า

เมื่อพวกเจ้าได้ยินโองการของอัลลอฮฺ โองการเหล่านั้นถูกปฏิเสธศรัทธา และถูกเย้ยหยัน

ดังนั้น พวกเจ้าอย่านั่งอยู่ร่วมกับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะคุยเรื่องอื่นหลังจากนั้น 

แท้จริงพวกท่านก็ไม่ต่างอะไรจากพวกเขา

แท้จริงแล้วอัลลอฮฺจะรวบรวมบรรดาพวกมุนาฟิก และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไว้ในนรกญะฮันนัมทั้งหมด” 

(อันนิซาอฺ 140)

          คนทั่วไปคิดว่าการนั่งอยู่ร่วมกับกลุ่มคนชั่วกระทำได้ โดยที่เขามักจะอ้างว่า หัวใจของเขานั้นรังเกียจ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ว่าตรงกับคำสอนของท่านนบี  ที่ว่าแท้จริง "หากว่าท่านไม่มีความสามารถจงใช้ การรังเกียจด้วยหัวใจ" เพราะในความเป็นจริงแล้วการรังเกียจความชั่วด้วยกับหัวใจนั้นไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้หากว่า เขานั้นยังอยู่ร่วมกับคนชั่วอยู่ มีบางคนบอกกับฉันว่า ห้ามนั่งร่วมวงกับบุคคลที่โกนเครา เพราะว่า การโกนเครานั้นเป็นสิ่งที่ห้าม ฉะนั้นจึงมีข้อสังเกต การแบ่งประเภทของความชั่ว

* การกระทำชั่ว
 

* ร่อยรอยจากการทำชั่ว

          เมื่อท่านพบเห็นบุคคลที่กำลังกระทำชั่ว จำเป็นสำหรับท่าน ที่จะต้องละทิ้งโดยการออกห่างจากเขา พร้อมกับการตักเตือนที่ดี หากว่าเราไม่ทำชั่ว ก็ไม่ควรที่จะอยู่ร่วมวงด้วย เพราะว่าการรังเกียจความชั่วด้วยกับหัวใจนั้นไม่สมควรที่จะนั่งอยู่ร่วมกับเขา

         เมื่อเราพบเห็นคนที่เคยกระทำชั่ว แต่ขณะที่ท่านอยู่ร่วมด้วยและเขา ว่างเว้นจากพฤติกรรมไม่ดีนั้นแล้ว ร่อยรอยของความชั่วยังอยู่กับพวกเขา ท่านจะนั่งร่วมวงกับพวกเขาด้วยได้หรือไม่ ? 

คำตอบคือ อนุญาตให้นั่งได้เพราะว่าสิ่งที่ท่านเห็นนั้น เป็นร่อยรอยของการกระทำชั่ว

          คนสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่ปกปิดความชั่ว กับกลุ่มที่มีร่องรอยความชั่ว เราจะต้องแยกให้ออก กลุ่มคนที่โกนเคราอยู่ กับคนที่โกนเคราไปแล้ว เพราะแตกต่างกันอย่างแน่นอน อย่าได้นั่งและอยู่ร่วมกับคนที่กำลังทำชั่วคือในขณะที่เขากำลังโกนเครา แต่สำหรับคนที่เขาทำไปแล้วคือโกนเคราแล้วนั้น หากเราไปพบที่ตลาดหรือตามร้านทั่วไปสามารถนั่งร่วมกับเขาได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การตักเตือนเรื่องที่ไม่ดีและชักชวนไปสู่สิ่งที่ดี 

          เมื่อเราพบเห็นในสิ่งที่ไม่ดี การตักเตือนคือทางออกที่ดี นี้คือ เรียกว่า ส่งเสริมความดี ห้ามปรามความชั่ว ดังนั้นการนั่งอยู่ในวงที่มีกลิ่นเหม็นของบุหรี่(ถือเป็นร่องรอย) สมควรแก่ท่านอย่างยิ่งในการตักเตือน แต่หากว่าพวกเขากำลังสูบกันอยู่ไม่สมควรที่ท่านนั้นจะไปนั่งร่วมวงอยู่ เพราะว่าการไปนั่งอยู่ด้วยนั้นเปรียบเสมือนการมีหุ้นส่วนในการทำชั่วด้วย



แปลและเรียบเรียงโดย อับดุลวาเฮด สุคนธา
 

ตรวจทาน โดย ดะลีลา ไวยศิลป์