สาเหตุของภัยธรรมชาติ
  จำนวนคนเข้าชม  99116

สาเหตุของภัยธรรมชาติ


นิพล  แสงศรี


          สาเหตุของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้งอย่างรุนแรง  อุทกภัยน้ำท่วมถี่ขึ้น  พายุฝนฟ้าคะนองเป็นประจำ  แผ่นดินถล่มแผ่นดินไหวในหลายประเทศ  หรือเกิดพายุอย่างรุนแรงฉับพลัน  ภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้ทำลายทั้งชีวิต  ทรัพย์สิน  และเศรษฐกิจ  ซึ่งมักจะมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญๆ ได้แก่


1.การเปลี่ยนแปลงของโลกตามกาลเวลา

          โลกเราถูกสร้างมานานมาก  หากเป็นคนก็คงชรามากใกล้จบสิ้นแล้ว  ทุกสิ่งจึงย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลแห่งวันเวลา  จะให้คงที่หรือคงอยู่แบบเดิมย่อมไม่ได้  ซึ่งสังเกตุจากสัญญาณต่างๆที่ปรากฎมากขึ้นและจำนวนถี่ขึ้นเรื่อยๆ  อย่างไรก็ตามอัลกุรอานก็ไม่ได้ระบุวันเวลาแน่นอนว่าเมื่อไร  โดยอัลกุรอานระบุไว้ความว่า

يَسْأَلُكَ النَّاسُ عَنِ السَّاعَةِ قُلْ إِنَّمَا عِلْمُهَا عِنْدَ اللَّهِ وَمَا يُدْرِيكَ لَعَلَّ السَّاعَةَ تَكُونُ قَرِيبًا
(63) الاحزاب

“  ผู้คนจะซักถามท่าน (มุฮัมมัด)  เกี่ยวกับวันอวสานของโลก  ท่านจงกล่าวว่า 

ความรู้เรื่องนี้อยู่ ณ ที่อัลลอฮฺ  และอะไรละที่จะทำให้ท่านรู้  บางทีวันอวสานอาจจะอยู่ใกล้ๆนี้เอง”

 (อัลอะฮฺซาบ 36)


          เมื่อ  1400 ปีที่ผ่านมา  ท่านนบีมุฮัมมัด ได้เปรียบเทียบระหว่างยุคท่านกับวันสิ้นโลกมีระยะห่างกันแค่นิ้วชี้กับนิ้วกลาง   ดังนั้นในยุคของพวกเราวันอวสานของโลกยิ่งใกล้เข้าไปอีก ท่านได้กล่าวว่า 

بُعِثْتُ أَنَا وَالسَّاعَةُ كَهَاتَيْنِ وَيَقْرُنُ بَيْنَ إِصْبَعَيْهِ السَّبَّابَةِ وَالْوُسْطَى

“ข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูต ข้าพเจ้ากับวันกิยามะฮฺใกล้เหมือนกับ  2  สิ่งนี้  โดยเปรียบเทียบระหว่าง  2  นิ้ว  นิ้วชี้กับนิ้วกลาง”

(บันทึกโดยมุสลิม)

 

2.การกระทำและฝีมือมนุษย์ 

          การเจาะชั้นน้ำแข็งในขั้วโลกของนักวิชาการด้านธรณีวิทยาพบว่า  ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  6  พันกว่าปีที่ผ่านมาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะหลัง การปฎิวัติอุตสาหกรรม ของชาติมหาอำนาจ  ในยุโรปก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมในหลายประเทศผุดขึ้นมากมาย  โรงงานเหล่านี้ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก  จนทำให้มีคนค้นพบสิ่งที่เรียกว่า  ปรากฎการณ์เรือนกระจก  ได้แก่  การค้นพบไอระเหยของน้ำมากถึง 30-60 เปอร์เซ็น  ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก  92.6  เปอร์เซ็น  แก๊สมีเทนอีก  49  เปอร์เซ็น  และโอโซนอีก  39  เปอร์เซ็น 

          ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บรรยากาศผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น  จนทำให้มีการค้นพบ  ปรากฎการณ์เรือนกระจกในเวลาต่อมา  หรือเรียกอีกอย่างว่า  ภาวะโลกร้อน  (Global  Warming)  กล่าวคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากภาวะเรือนกระจก  จนทำให้สภาพภูมิอากาศทั่วโลกเกิดการแปรปรวนอย่างรุนแรง  หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง  เช่น เวลาหนาวก็หนาวจัด  เวลาแล้งก็แห้งแล้งมาก  เวลาฝนตกก็ตกจนน้ำท่วม  บางครั้งอาจจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง  หรือแผ่นดินถล่ม  หรือแผ่นดินไหวอย่างฉับพลัน


          แถบที่ได้รับผลกระทบมากสุดและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายคือแถบขั้วโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาน้ำแข็งในขั้วโลกและน้ำแข็งบนยอดเขาสูงจะละลายอย่างรวดเร็ว ปริมาณในน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นและไหลลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก จนอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ทุกๆทวีปได้  ส่วนทวีปเอเชียอุณหภูมิจะสูงขึ้นเกิดฤดูกาลที่แห้งแล้ง มีน้ำท่วม ผลิตผลทางอาหารลดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น  สภาวะอากาศแปรปรวน  จนอาจทำให้เกิดพายุต่าง ๆ มากมายเข้าไปทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  เหมือนอย่างที่พายุหรือสึนามิถล่มไทย  อินโดนิเซีย  ญี่ปุ่น  และสหรัฐอเมริกา  เป็นต้น 

ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้ว่า 

لاتقوم الساعة حتى يمطرالناس مطرا عاما ولا تنبت الارض شيئا  رواه احمد
)وصحه الالباني في سلسلة الصحيحة المختصرة (2773

“  วันกิยามะฮฺจะไม่เกิดจนกว่าฝนจะตกให้มนุษย์ตลอดปี จนแผ่นดินไม่สามารถทำให้สิ่งใดงอกเงยขึ้นมาเลย”

 (บันทึกโดยอะหมัด)

          กล่าวคือ  ฝนจะตกทั้งปีจนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นดินในการเกษตรได้  เพราะทุกพื้นที่จะเต็มไปด้วยน้ำท่วมขัง  เน่าเสีย  และสร้างความเดือนร้อนอย่างหนักแก่ทุกคน  โดยต้นเหตุของฝนตกหนักผิดฤดูกาลเกิดจากการเปลี่ยนแปลของโลกและอุณหภูมิที่ กล่าวมาคือผลกระทบที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ (ทางอ้อม) 


          นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของโลก  ยังสามารถเกิดขึ้นจากความโลภและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อน (โดยตรง)  ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อธุรกิจและการเกษตร  จนเป็นสาเหตุทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศ หรือทำให้ต้นไม้หมดไป  ซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางลดความรุนแรงของกระแสน้ำไหล ขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ  การขนส่ง  และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม  เป็นสาเหตุช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   ส่วนการบุกรุกที่ว่างเปล่า เช่น  บ่อ  บึง  ลำธาร  ลำคลอง  รวมถึงท้องนา    เพื่อธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมเป็นสาเหตุทำให้พื้นที่ที่เป็นอ่างเก็บน้ำทางธรรมชาติเหลือน้อยลงหรือบางพื้นที่หายไปเกือบทั้งหมด  หรือการก่อสร้างถนนหนทาง โรงงาน  หมู่บ้าน  เมือง  ทาวเฮาส์  และคอนโด  จนกลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางการไหลของน้ำ  สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากฝีมือของมนุษย์  จนเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆแทรกตามมา  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจริงตามอัลกุรอานระบุความว่า

ظَهَرَ الْفَسَادُ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ بِمَا كَسَبَتْ أَيْدِي النَّاسِ لِيُذِيقَهُمْ بَعْضَ الَّذِي عَمِلُوا لَعَلَّهُمْ يَرْجِعُونَ (41) الروم

“  การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายกระทำไว้ 

เพื่อพระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสกับบางสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบไว้   โดยหวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว”

   (อัรรูม 41)

อัลบัยฎอวีย์  กล่าวว่า  การบ่อนทำลายหมายถึง ความแห้งแล้ง อัคคีภัย อุทกภัย  วาตภัย  และภัยอื่น ๆ   ตลอดจนความจำเริญที่ลดน้อยลงนั้นเนื่องมาจากการก่อกรรมทำบาปของมนุษย์

 

3.ความประสงค์ของอัลลอฮฺ 

อัลลอฮฺทรงประสงค์จะทดสอบมนุษย์ด้วย

     (1) ความหวาดกลัว  หวาดระแวง  และความวิตกกังวลจนเป็นทุกข์ 

     (2)  อดยาก  หิวโหย  ขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำ 

     (3)  การสูญเสียและเสียหาย  ทั้งชีวิต  ทรัพย์สิน  และเศรษฐกิจ 

 

          เพื่อค้นหาผู้มีความอดทน  ผู้ที่ยอมรับว่าการทดสอบนี้มาจากพระองค์  และผู้ที่ใช้สนามสอบในการเรียนรู้ที่มาที่ไป  และการใช้ชีวิตขณะถูกทดสอบ  อัลกุรอานระบุความว่า

وَلَنَبْلُوَنَّكُمْ بِشَيْءٍ مِنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِنَ الْأَمْوَالِ وَالْأَنْفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ (155) الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُمْ مُصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ (156) أُولَئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِنْ رَبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ (157) البقرة

“  และแน่นอนเราจะทดลองพวกเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง)จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล

และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า

แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์

 ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง”

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 155-157)
 

         คนที่สามารถผ่านเหตุการณ์ต่างๆอันเลวร้ายไปได้  หรือสามารถเปลี่ยนเหตุการณ์วิกฤติให้เป็นโอกาสได้  คนๆนั้นถือเป็นคนที่มีความอดทน  สมควรได้รับคำชมเชย  และได้รับความเมตตาจากอัลลอฮฺผู้ทรงปรีชาญาณ   เครื่องมือหรือสาเหตุที่ใช้ในการทดสอบมีมากมายหลายประการ  ทั้งในรูปภัยธรรมชาติ  เช่น  อุทกภัยน้ำท่วม  พายุถล่ม  แผ่นดินไหว  อุบัติเหตุ  หรือในรูปแบบอื่นๆ  

นอกจากนั้นการทดสอบยังบ่งบอกถึง

     (1) เดชานุภาพของพระองค์นั้นเหนือขอบเขตและขีดความรู้  ความสามารถ  และเทคโนโลยีของมนุษย์ 

     (2)  แก่นแท้ในตัวและในใจของแต่ละคนว่าคิดอย่างไรและเป็นอย่างไร  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์และศาสทูตของพระองค์ในยามทุกข์  หรือความสามัคคี  ความร่วมมือ  การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนมนุษย์  หรืออื่นๆอีกมากมาย  สิ่งเหล่านี้จะเปิดเผยออกมาให้เห็น   

     (3) การตอกย้ำให้มนุษย์ที่มีสติปัญญาสำนึกเสมอว่า  ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทุกสรรพสิ่งที่มาจากพระองค์  และเป็นกรรมสิทธิของพระองค์  และจะต้องหวนกลับคืนสู่พระองค์ 

 

تَبَارَكَ الَّذِي بِيَدِهِ الْمُلْكُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ (1) الَّذِي خَلَقَ الْمَوْتَ وَالْحَيَاةَ لِيَبْلُوَكُمْ أَيُّكُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا وَهُوَ الْعَزِيزُ الْغَفُورُ (2)الملك

“  ความเจริญสุขจงมีแด่พระผู้ซึ่งอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ¹ และพระองค์คือผู้ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง²

พระผู้ทรงให้มีความตายและให้มีความเป็น ³ เพื่อจะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง 4 และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ”

 (อัลมุลก์ 1-2)


(1)  อิบนฺอับบาส  กล่าวว่า พระผู้ซึ่งอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ คือ พระองค์จะให้เกียรติแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และจะทรงให้ต่ำต้อยแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงให้เป็นและทรงให้ตาย ทรงให้ร่ำรวยและทรงให้ยากจน และทรงประทานให้และทรงหวงห้าม
(2)  พระองค์ทรงอานุภาพอย่างสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงบริหารและจัดระบบอย่างสมบูรณ์ในทุกกิจการโดยปราศจากผู้โต้แย้งและผู้ต่อต้าน
(3)  บรรดาอุละมาอฺ  กล่าวว่า  ความตายมิใช่การสูญสิ้นและการตัดขาดอย่างสมบูรณ์จาการมีชีวิตแต่เป็นการเคลื่อนย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง  ดังปรากฎในอัลฮะดีษว่า คนตายนั้น ได้ยิน เห็น และรู้สึกในกุบูรของเขา
(4)  เพื่อที่จะได้เห็นคนดีในหมู่พวกเจ้าจากคนเลว


         นอกจากนั้นภัยธรรมชาติอาจจะเป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺ เพื่อชำระล้างความเลวร้าย  สิ่งชั่วช้า  และสิ่งไม่ดีไม่งามออกจากสังคมมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอย่างผิดพลาดตลอดเวลา  อัลกุรอานระบุความว่า


أَلَمْ يَرَوْا كَمْ أَهْلَكْنَا مِنْ قَبْلِهِمْ مِنْ قَرْنٍ مَكَّنَّاهُمْ فِي الْأَرْضِ مَا لَمْ نُمَكِّنْ لَكُمْ وَأَرْسَلْنَا السَّمَاءَ عَلَيْهِمْ مِدْرَارًا وَجَعَلْنَا الْأَنْهَارَ تَجْرِي مِنْ تَحْتِهِمْ فَأَهْلَكْنَاهُمْ بِذُنُوبِهِمْ وَأَنْشَأْنَا مِنْ بَعْدِهِمْ قَرْنًا آَخَرِينَ (6)الانعام

“  พวกเขามิได้เห็นดอกหรือว่า กี่ประชาชาติมาแล้วที่เราได้ทำลายมาก่อนหน้าพวกเขา โดยเราเคยให้พวกเขาทั้งมีอำนาจและความสามารถบนแผ่นดิน

ในสิ่งหนึ่งที่เรามิได้ให้แก่พวกเจ้า  และเราได้ส่งฝนมายังพวกเขาอย่างมากมาย  และเราได้ให้มีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่เบื้องล่างของพวกเขา

แล้วเราก็ทำลายพวกเขาเสียด้วยบรรดาความผิดของพวกเขาเอง  และเราได้ให้มีประชาชาติอื่นเกิดขึ้นแทนหลังพวกเขา”

 (อัลอันอาม 6)


          ไม่ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดจากสาเหตุใด  สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนสร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน หรือคุกคามระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  ดังนั้นการพยายามป้องกันไปพร้อมๆกับการใช้เวลาที่เหลืออย่างเป็นประโยชน์สุงสุดจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำที่สุด  อันได้แก่ 

     (1)  การหาหลักยึดและทางนำชีวิตที่ถูกต้อง 

     (2) ร่วมมือกันและรับผิดชอบสังคมร่วมกันยามเกิดปัญหา  


และนั้นคือสิ่งที่นบีมุฮัมมัด  เป็นห่วงประชาชาติของท่าน  โดยท่านกล่าวไว้ว่า

بُعِثْتُ أَنَا وَالسَّاعَةُ كَهَاتَيْنِ وَيَقْرُنُ بَيْنَ إِصْبَعَيْهِ السَّبَّابَةِ وَالْوُسْطَى وَيَقُولُ أَمَّا بَعْدُ فَإِنَّ خَيْرَ الْحَدِيثِ كِتَابُ اللَّهِ وَخَيْرُ الْهُدَى هُدَى مُحَمَّدٍ وَشَرُّ الْأُمُورِ مُحْدَثَاتُهَا وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ ثُمَّ يَقُولُ أَنَا أَوْلَى بِكُلِّ مُؤْمِنٍ مِنْ نَفْسِهِ مَنْ تَرَكَ مَالًا فَلِأَهْلِهِ وَمَنْ تَرَكَ دَيْنًا أَوْ ضَيَاعًا فَإِلَيَّ وَعَلَيَّ

“  ข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งเป็นศาสนทูต ข้าพเจ้ากับวันกิยามะฮฺใกล้เหมือนกับ  2  สิ่งนี้  โดยเปรียบเทียบระหว่าง  2  นิ้ว  นิ้วชี้กับนิ้วกลาง”


  และท่านกล่าวว่า 

“หลังจากนั้นพึงทราบเถิดว่า  แท้จริงที่ดียิ่งแห่งวาทะคือพระคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  และที่ดียิ่งแห่งทางนำคือทางนำของนบีมุฮัมมัด 

และที่เลวร้ายยิ่งของกิจการงานคือการอุตริกรรมมันขึ้นมา  และทุกๆอุตริกรรมทางศาสนาคือการหลงผิด”


  ท่านกล่าวต่อว่า 

ข้าพเจ้าคือผู้สมควรยิ่งกว่าผู้ศรัทธาทุกคน บุคคลใดที่ทิ้งทรัพย์สินไว้ย่อมเป็นสิทธิของครอบครัวเขา 

 และบุคคลใดทิ้งหนี้สินไว้หรือทำตกหล่นสูญหาย  ย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของฉันรับผิดชอบ”

(บันทึกโดยมุสลิม)