รูปแบบของความอดทน
  จำนวนคนเข้าชม  39125

 

รูปแบบของความอดทน

 

ดร.มุฮัมมัด บินมุซัฟฟิรฺ บินฮุเซนอัฏเฏาะวีลอัซซะฮฺรอนี

 

 

          ความอดทนเป็นการงานอันสูงส่งอย่างหนึ่ง มันคืออำนาจจิตและการยอมรับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดมา มันคือ ความสามารถในการอดทนต่อเคราะห์กรรมใดๆ และไม่รู้สึกกังวลใจในยามลำบาก
 

          ความอดทน เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งมีขึ้นและมีลง มันพัฒนาตัวมันเองโดยความรู้และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล มันเป็นสภาพทางจิตใจที่ทำให้ผู้คนสงบและอุทิศตนให้แก่งานที่ตัวเองทำ โดยไม่ส่อให้เห็นถึงความเศร้าโศกเสียใจ ความโกรธหรือการบ่น ดังวจนะของอัลลอฮฺ  ที่ว่า

 

“จงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทน ผู้ที่เมื่อทุกข์ภัยมาประสบแก่พวกเขา

พวกเขาจะกล่าวว่า แท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺและยังพระองค์ที่เราจะกลับไป”
 

(กุรอาน 2: 156)

 

         ผู้อดทนในอายะฮฺดังกล่าวนี้ คือผู้ที่เตรียมตัวเองไว้เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับเคราะห์กรรมและการทดสอบใดๆ ที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงกำหนดไว้สำหรับพวกเขาด้วยความอดทน อัลลอฮฺ  ได้ทรงกล่าวถึงความอดทนไว้ในที่ต่างๆ กว่า 70 แห่งในคัมภีร์กุรอาน และต่อไปนี้เป็นเพียงบางตัวอย่าง เช่น

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงขอความช่วยเหลือ อดทน และจงละหมาด เพราะอัลลอฮฺจะทรงอยู่กับบรรดาผู้อดทน”
 

(กุรอาน 2: 153)

“แท้จริง บรรดาผู้อดทนจะได้รับการตอบแทนโดยไม่มีการคำนวณ”

(กุรอาน 39: 10)

“บรรดาผู้อดทนจะได้รับรางวัลตอบแทนสิ่งที่พวกเขาได้ทำไว้อย่างดีที่สุด”

(กุรอาน16: 96)

ในซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด  มีคำพูดของท่านนบีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น

“ความอดทนในยามทุกข์ยากเดือดร้อน (โดยหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺในโลกหน้า) ช่วยให้เราปลอดภัยจากไฟนรก

เพราะอัลลอฮฺได้ทรงทำให้คนเหล่านั้นเข้าสวรรค์ โดยไม่คิดคำนวณสำหรับการงานของเขา”

(อัลฮัยษะมี, “มัจญมะฮฺอัซซะวาอิด” 10/284-285)

“ใครก็ตามที่ได้รับอะไรบางอย่างและรู้สึกขอบคุณ

ใครที่ถูกทดสอบและมีความอดทน

ใครที่กดขี่คนอื่นและขอการอภัยโทษหลังจากนั้น และ

ใครที่ถูกกดขี่และให้อภัย

คนเหล่านั้น จะได้รับความสงบสุขและความปลอดภัย (จากอัลลอฮฺ) และพวกเขาได้รับการชี้ทางที่ถูกต้อง”

(อัลฮัยษะมี, “มัจญมะอฺอัซซะวาอิด” 10/284)

“ความอดทนเป็นครึ่งหนึ่งของความศรัทธา”

(อัลเฆาะซาลี, “อิฮฺยาอุลูมุดดีน” 4/61)

“ไม่มีใครได้รับอะไรที่ดีไปกว่าและยิ่งใหญ่ไปกว่าความอดทน”

(บันทึกโดยมุสลิม 7/145, มาลิก “อัลมุวัฏเฏาะอฺ” 2/997)


ความอดทนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของความศรัทธา(อีมาน) อับดุลลอฮฺ บินอับบาส รายงานว่า 

ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้ถามสาวกของท่านว่า “พวกท่านเป็นผู้ศรัทธาจริงหรือ?”

บรรดาสาวกต่างนิ่งเงียบ ดังนั้น อุมัรฺ บินอัลค็อฏฏอบ จึงกล่าวว่า “ครับ ท่านรอซูลุลลอฮฺ”

ดังนั้น ท่านจึงถามว่า “อะไรคือสัญลักษณ์ของความศรัทธาของพวกท่าน?”

พวกเขาตอบว่า “เราขอบคุณต่ออัลลอฮฺในยามมีความสุขและมั่งคั่ง เราอดทนในยามประสบเคราะห์กรรม และเรายอมรับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้”

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า “ขอสาบานด้วยพระเจ้าแห่งก๊ะอฺบ๊ะอฺ พวกท่านเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง”

(อัลเฆาะซาลี, “อิฮฺยา อุลูมุดดีน” 4/61-62)


ลุฮัยบ์ บินสินาน รายงานว่าท่านนบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า

           “เป็นเรื่องที่น่าทึ่งเหลือเกินสำหรับชีวิตของผู้ศรัทธาเพราะในทุกกิจการของพวกเขานั้นมีความดี และนี่มิใช่กรณีของผู้ใดนอกไปจากกรณีของผู้ศรัทธาเท่านั้น เพราะถ้าหากเขามีโอกาสได้รับความสุข เขาก็ขอบคุณพระเจ้า ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องดีสำหรับเขา และถ้าเขาประสบความทุกข์ยากลำบาก เขาก็ยังคงอดทน ซึ่งก็เป็นสิ่งดีสำหรับเขา”

(บันทึกโดยมุสลิม 18/125)


ผู้ศรัทธาได้รับคำแนะนำให้มีความอดทน ผู้ศรัทธาที่อดทนนั้นดีกว่าผู้ศรัทธาที่ไม่มีความอดทน ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้กล่าวว่า

“ผู้ศรัทธาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนและยังคงอดทนต่อพฤติกรรมไม่ดีของผู้คนเหล่านั้น ดีกว่า ผู้ศรัทธาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนและไม่มีความอดทนต่อพวกเขา”

(บันทึกโดยอัลบุคอรี)


          มุสลิมต้องมีความอดทนในทุกเรื่อง เพราะเมื่อใครมีความอดทนน้อย เขาก็จะมีความกังวลและอาจสร้างความเสียหายได้  ความอดทนเป็นข้อพิสูจน์ถึงการมีวุฒิภาวะ มีความสุขุมและความกล้าหาญ โดยมาตรฐานนี้เองที่มนุษย์ถูกวัดระดับตามความอดทนของพวกเขา เมื่อพวกเขาเผชิญกับการทดสอบและความทุกข์ยากลำบาก

          มนุษย์ไม่รู้ถึงสิ่งที่พวกเขายึดมั่น ยกเว้นเมื่อเขาแสดงความอดทนต่อสิ่งที่เขาไม่ชอบ และการงานใดๆ ที่ไม่มีความอดทน การงานนั้นก็มีแต่จะประสบความล้มเหลว  และผู้ศรัทธาต้องอดทนเมื่อเผชิญหน้ากับเคราะห์กรรมและต้องยับยั้งตัวเองให้พ้นจากความเจ็บปวดร้าวและความวิตกกังวล เพราะความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ  มาตามระดับความอดทนของแต่ละคน

ท่านนบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

“แท้จริง ความอดทนอยู่ที่ตอนประสบเคราะห์กรรมครั้งแรก”

(บันทึกโดยอัลบุคอรี)

          ความอดทนถูกถือว่าเป็นหนึ่งในหลักการที่ความศรัทธา (อีมาน) วางอยู่บนพื้นฐาน 4 อย่าง อันได้แก่ ความเชื่อมั่นโดยปราศจากข้อสงสัย ความยุติธรรม ความอดทน และการฮิญาด

          ผลของความอดทนถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานหลายแห่งด้วยกัน เพราะอัลลอฮฺ  ทรงรู้ว่าการจะเป็นคนดีนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เนื่องจากเขาต้องอดทนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา ทำการฮิญาดในหนทางของอัลลอฮฺ  ละเว้นจากการทำความชั่ว ต่อต้านอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง ต้องอดทนต่อความโง่เขลา ความไม่เป็นธรรมและความเห็นแก่ตัวของใครบางคน และอดทนต่อแรงเย้ายวนของมารร้ายในยามที่ถูกทดสอบและประสบความทุกข์ยากลำบาก

(อัลเฆาะซาลี, “อิฮฺยา อุลูมุดดีน” 4/63)

          มุสลิมต้องมีความอดทนในทุกสถานการณ์ แม้เขาจะมีชีวิตอยู่ในความเจริญรุ่งเรือง มีสุขภาพพลานามัยดี มีทรัพย์สินมั่งคั่งและมีลูกหลานมากมายก็ตาม เพราะถ้าหากเขาไม่มีความอดทนในการมีชีวิตประเภทนี้ เขาก็จะเป็นผู้กดขี่หรือโหดร้ายต่อคนอื่นที่มีโอกาสน้อยกว่าเขา

         ผู้ทรงความรู้คนหนึ่งกล่าวว่า การแสดงความอดทนในยามเจริญรุ่งเรืองนั้น ยากกว่าในยามทุกข์ยากลำบาก เพราะเขาต้องต่อต้านการมีชีวิตที่สะดวกสบายและต้องต่อสู้กับความต้องการและความสุขสำราญ ในทำนองเดียวกัน การแสดงความอดทนในเรื่องทรัพย์สินของตนเองก็คือ การต้องใช้จ่ายทรัพย์สินในหนทางของอัลลอฮฺและขอบคุณพระองค์ที่ประทานแก่เขา

อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงอย่าให้ทรัพย์สินของสูเจ้าและลูกหลานของสูเจ้าทำให้สูเจ้าหันห่าง ออกจากการระลึกถึงอัลลอฮฺ บรรดาผู้ที่ทำเช่นนั้น คือ ผู้ขาดทุนอย่างแท้จริง”

(กุรอาน 63: 9)

“ทรัพย์สินของสูเจ้าและลูกหลานของสูเจ้ามิใช่อื่นใด นอกไปจากการทดสอบ และอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงมีรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่อยู่กับพระองค์”

(กุรอาน 64: 15)


         เมื่ออัลลอฮฺ  ประทานชัยชนะให้แก่ผู้ศรัทธาในการพิชิต การแผ่ขยายอิสลามและการเพิ่มอำนาจ สาวกคนหนึ่งของท่านนบี  ได้กล่าวว่า

“เราถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยากลำบาก เราอดทนได้ แต่เมื่อเราถูกทดสอบด้วยชีวิตที่สะดวกสบาย เรากลับไม่อดทน”

          ความอดทนของมุสลิมในยามประสบเคราะห์กรรมและการทดสอบเป็นการไถ่โทษบาปและความผิดของคนผู้นั้น ครั้งหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้ไปเยี่ยมหญิงคนหนึ่งซึ่งกำลังป่วย

ท่านได้บอกนางว่า “ทำไมเธอจึงตัวสั่นเช่นนั้นเล่า?” 

นางได้ตอบว่า “ฉันเป็นไข้และขออย่าให้มันเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺประทานมาเลย” 

              ดังนั้น ท่านนบี  จึงบอกนางว่า “อย่าสาปแช่งมัน เพราะมันไถ่โทษบาปของลูกหลานของอาดัม เหมือนกับเตาเผาขจัดสิ่งเจือปนออกจากเหล็ก”

(บันทึกโดยมุสลิม)


เรื่องราวของนบีอัยยูบเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความอดทนในยามประสบเคราะห์กรรม อัลลอฮฺ  ทรงกล่าวว่า

“และจงรำลึกถึงเรื่องราวของอัยยูบ เมื่อเขาได้ร้องเรียนพระเจ้าของเขาว่า

แท้จริงข้าพระองค์ประสบความทุกข์ยาก และพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ทรงเมตตายิ่งในบรรดาผู้เมตตาทั้งหลาย”

(กุรอาน 21: 83)


          เราเห็นได้ว่านบีอัยยูบได้บรรยายสภาพของตัวเองว่าเป็นเช่นไร แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็ยังคงนึกถึงคุณลักษณะแห่งความเมตตาของพระองค์โดยไม่ขอให้พระองค์ทรงช่วยให้หายป่วยด้วยความเกรงใจพระองค์ นบีอัยยูบไม่แม้แต่จะแสดงความหงุดหงิดฉุนเฉียวหรือแสดงความไม่พอใจ และท่านควบคุมตัวเองไว้ไม่ให้ขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺโดยตรงเพื่อช่วยให้ท่านพ้นจากความเจ็บป่วย ด้วยศีลธรรมอันสูงส่งและความไว้วางใจในความเมตตาของอัลลอฮฺ  อัลลอฮฺ  จึงทรงตอบรับคำร้องเรียนของท่าน และขจัดความทุกข์ทรมานทั้งหลายให้หมดไปจากท่าน มิเพียงเท่านั้น พระองค์ยังได้ทรงชดเชยให้ท่านด้วยการกลับมาของครอบครัวที่ท่านได้สูญเสียไปอีกด้วย

(อิบนุกะซีรฺ, “ตัฟซีรฺอัลกุรอาน” 3/188-190)

          ในบรรดาเรื่องของความอดทนซึ่งหาได้ยากนั้น เรื่องราวของอิมามอะหมัด บินฮัมบัล เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง อิมามอะหมัดถูกทรมานเพื่อที่จะให้ท่านกล่าวว่าคัมภีร์กุรอานถูกสร้างขึ้นมา แต่ท่านปฏิเสธและต้องใช้ความอดทนอย่างสุดขีดในการยืนยันความเชื่อของท่าน

          กฎของอิสลามแบ่งความอดทนออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ ความอดทนที่เป็นหน้าที่ (ฟัรดู) เลือกทำก็ได้ (นะฟัล) น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) และต้องห้าม (มุฮัรฺรอม) มุสลิมมีหน้าที่ต้องแสดงความอดทนในเรื่องสิ่งต้องห้าม ความอดทนเมื่อถูกทดสอบและในยามที่ประสบเคราะห์กรรมคือความพยายามเป็นพิเศษที่ขึ้นอยู่กับระดับความศรัทธาของแต่ละคน

♦ ความอดทนที่น่ารังเกียจก็คือความอดทนที่มุสลิมยอมให้ความเสียหายใดๆ ในหนทางที่ขัดต่อคำสอนของอิสลามเกิดขึ้น

       ♦ ส่วนความอดทนที่ต้องห้ามคือความอดทนที่คนผู้หนึ่งละเว้นจากการแสดงความไม่เคารพตัวเองต่อครอบครัวของเขา และเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น 

(อัลเฆาะซาลี, “อิฮฺยา อุลูมุดดีน” 4/69-70)


ความอดทนมีหลายรูปแบบ เช่น

1. ความอดทนเมื่อแสวงหาความรู้ เพราะใครที่อดทนก็จะได้รับความรู้ แต่ใครที่ไม่อดทนก็จะโง่ไม่รู้ต่อไป

2. ความอดทนในขณะปฏิบัติหน้าที่ของตน ระดับความอดทนของแต่ละคนจะมีผลต่อการทำงานของคนผู้นั้น

3. ความอดทนในการต่อสู้ เพราะชัยชนะเป็นของกองทัพที่มีความอดทน

4. ความอดทนในยามอดอยากยากจน เพราะความอดทนในยามนี้ทำให้ผู้อดทนมีเกียรติ

5. ความอดทนเมื่อปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา เช่น การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีฮัจญ์ และการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺ

6. ความอดทนในการยับยั้งตนเองมิให้ทำบาปและสร้างความเสียหาย

7. ความอดทนเมื่อต้องเผชิญกับการทดสอบและเคราะห์กรรม


          ความอดทนอดกลั้นของมนุษย์ต่อความปรารถนาของตัวเองนั้นยากยิ่งกว่าความอดทนในระหว่างการต่อสู้ ดังนั้น จึงได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺมากกว่า ทหารอดทนในการรบด้วยความหวังในชัยชนะและทรัพย์ที่จะได้จากสงคราม เขาอาจอดทนในสนามรบเพื่ออุทิศตนให้แก่คนของเขาหรืออดทนเพราะหน้าที่ของเขา หรืออาจอดทนเพื่อโอ้อวดให้คนอื่นยกย่องเขาว่าเป็นคนกล้าหาญก็ได้ แต่ผู้ศรัทธาอดทนต่อความขมขื่นจากความสูญเสียและต่อสู้กับความปรารถนาของตนเองเพื่อเชื่อฟังอัลลอฮฺ โดยการแสวงหารางวัลตอบแทนและความโปรดปรานจากพระองค์ ในกรณีนี้ อัลลอฮฺ  จะประทานความช่วยเหลือและสนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาต้องการ เพราะใครก็ตามที่มีเจตนาบริสุทธิ์ต่ออัลลอฮฺในการทำดีและละเว้นความชั่ว อัลลอฮฺจะทรงช่วยเขาและคุ้มครองเขาให้พ้นความชั่วเหล่านั้น


คนที่มีความอดทน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

1. คนที่มีความอดทนและละเว้นจากการตามใจตนเองและละเว้นจากการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า คนที่หันไปหาอัลลอฮฺ

2. คนที่พึงพอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดแก่พวกเขา คนเหล่านี้อยู่ในระดับของผู้ยอมจำนนอย่างมีความสุข

3. คนที่ยึดมั่นในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้สำหรับเขา เช่น อุปสรรคและความยากลำบากต่างๆ คนเหล่านี้อยู่ในระดับของผู้ซื่อสัตย์และเป็นคนดีมีศีลธรรม


          เคาะลีฟะฮฺอุมัร บินค็อฏฏ็อบ ได้แบ่งความอดทนเป็น 2 ประเภทคือ ความอดทนต่อเคราะห์กรรมและความอดทนเกี่ยวกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม และเขาถือว่าความอดทนประเภทที่สองดีกว่าประเภทแรก

          อิมามอัลเฆาะซาลี กล่าวว่าความอดทนมี 2 ประเภท

     ประเภทแรก เป็นความอดทนทางร่างกายซึ่งเป็นความอดทนในระหว่างการทำกิจกรรมใดๆ เช่น การทำงานหนัก การลงโทษทางร่างกาย ความเจ็บป่วย บาดแผลที่เจ็บปวดแสนสาหัสเพราะการต่อสู้หรืออุบัติเหตุ

     ส่วนประเภทที่สอง เป็นความอดทนทางจิตใจต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำ และความอดทนประเภทนี้แบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่น

1. ความอดทนในเรื่องความต้องการอาหารและการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า “อิฟฟะฮฺ” (ความบริสุทธิ์)

2. ความอดทนเมื่อต่อสู้ในสนามรบ ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า ความกล้าหาญ

3. ความอดทนเมื่ออยู่ในสภาวะโกรธหรือฉุนเฉียว ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า ความอดกลั้นหรือการหักห้ามใจ

4. ความอดทนเมื่อประสบภัยพิบัติ ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า ความทุกข์ทรมานอันยาวนาน

5. ความอดทนเมื่อได้รับความสุขแห่งชีวิต ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า การถือสันโดษ

6. ความอดทนเมื่อมีรายได้ไม่พอตอบสนองความจำเป็นของชีวิต ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า ความพอใจในสิ่งที่มีอยู่

7. ความอดทนเกี่ยวกับการเปิดเผยความลับของมุสลิม ความอดทนเช่นนี้ถูกเรียกว่า การรักษาความลับ  

อัลลอฮฺ  ได้ทรงรวบรวมความหมายทั้งหมดนี้ไว้ในคำหนึ่ง นั่นคือ ความอดทน พระองค์ทรงกล่าวว่า

“บรรดาผู้อดทนต่อความทุกข์ยากในยามยากจน และในยามต่อสู้”

(กุรอาน 2: 177)


มีงานเขียนอิสลามมากมายที่รวบรวมคำพูดเกี่ยวกับความดีงามของความอดทนไว้ เช่น

1. ความอดทนในยามทุกข์เป็นหนึ่งในขุมทรัพย์แห่งความศรัทธา

2. ความอดทนคือความรีบเร่งในเรื่องความสงบและชิงผ่อนคลายไว้ก่อน และคือการวางใจในอัลลอฮฺ

3. ความอดทนนำมาซึ่งความปลอดภัย ในขณะที่ความหุนหันพลันแล่นนำมาซึ่งความเสียใจและความเศร้าโศก

4. ความอดทนเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

5. ความกระวนกระวายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากกว่าความอดทน

6. คนชั่วมีความอดทนทางร่างกายได้มากกว่า แต่คนดีมีความอดทนทางจิตใจได้มากกว่า

7. ผลลัพธ์ที่เป็นความสุข มาพร้อมกับความอดทนและความเอื้อเฟื้อในยามมีเคราะห์กรรม

       8. ถ้าคุณอดทน การกำหนดของอัลลอฮฺก็จะผ่านไปและคุณจะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺสำหรับความอดทน แต่ถ้าคุณกระวนกระวายไม่เป็นสุข การกำหนดของอัลลอฮฺก็จะผ่านไปและคุณได้รับความช่วยเหลือแล้ว

9. ความอดทนประกันความสำเร็จ และอัลลอฮฺไม่ทรงทำให้ผู้วางใจในพระองค์ผิดหวัง

10. พระผู้อภิบาลของคุณจะทรงยินดีกับความอดทนของคุณ


ท่านนบีมุฮัมหมัด  กล่าวว่า

          “ตัวอย่างของผู้ศรัทธาก็เหมือนกับต้นไม้ที่อ่อนลู่ลม ไม่ว่าลมจะมาในทิศทางใด มันก็จะทำให้ต้นไม้นั้นเอนไป แต่เมื่อลมสงบ ต้นไม้นั้นก็จะตั้งตรงอีกครั้ง 

เช่นเดียวกับผู้ศรัทธาที่ประสบเคราะห์กรรม (แต่เขายังคงอดทน จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงขจัดความทุกข์ยากลำบากของเขาไป) 

ส่วนคนชั่วก็เหมือนกับต้นสนที่ยืนแข็งทื่อ จนกระทั่งอัลลอฮฺทรงหักมันลงเมื่อพระองค์ทรงประสงค์”



 

ที่มา : หนังสือการเยียวยาหัวใจ (Healing of the Heart)