สิทธิและหน้าที่ผู้เป็นภรรยา
  จำนวนคนเข้าชม  9501

 

สิทธิและหน้าที่ผู้เป็นภรรยา

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

 

         สิทธิและหน้าที่ที่สามีภรรยาพึงปฏิบัติต่อกันนั้นจะต้องมีพื้นฐานจากขนบธรรมเนียม มารยาทอันดีงาม และความชอบธรรม ทั้งนี้ศาสนาอิสลามยังได้บัญญัติหน้าที่ต่าง ๆ ที่ผู้เป็นภรรยาจำเป็นจะต้องเอาใจใส่และปฏิบัติตาม อาทิ


 

        ♥ หนึ่ง ภรรยาต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามสามีในสิ่งที่ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า
 

“และบรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาความลับด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้”
 

 “หากว่านางเชื่อฟังเชื่อฟังเจ้าแล้วก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นาง”
 

 (อันนิสาอ์: 34) 

 

มีบันทึกจากรายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

          “เมื่อชายคนหนึ่งได้ชักชวนภรรยาของเขาให้ร่วมหลับนอนด้วยแล้วนางปฏิเสธ แล้วเขาก็หลับไปอย่างขุ่นเคือง บรรดา มลาอิกะฮฺจะสาปแช่งนางจนกระทั่งรุ่งเช้า” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3237 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1436)

และในอีกรายงานหนึ่งระบุว่า 

         “ขอสาบานต่อผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า ไม่มีชายคนใดชักชวนภรรยาของเขาให้ร่วมหลับนอนกับเขาแล้วนางปฏิเสธเขา เว้นแต่ผู้ที่อยู่บนชั้นฟ้าจะโกรธกริ้วนางจนกว่าสามีของนางจะกลับมาพอใจนาง” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1436)

มีบันทึกจากอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อบีเอาฟา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“หากฉันสามารถสั่งให้คนหนึ่งสุญูดให้อีกคนหนึ่งได้ ฉันก็จะสั่งให้ภรรยาสุญูดให้สามีของนาง

และสตรีคนหนึ่งจะยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ของนางต่ออัลลอฮฺอย่างสมบูรณ์ได้

จนกว่านางจะปฏิบัติหน้าที่ของนางต่อสามีของนางอย่างสมบูรณ์เสียก่อน

แม้หากว่าสามีของนางเรียกร้องที่จะร่วมหลับนอนกับนางในขณะที่นางกำลังคลอดบุตรอยู่ นางก็จะต้องปฏิบัติตามเขา”
 

 (บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 19403) 

         อีกรายงานหนึ่งจากอับดุรเราะหฺมาน อิบนฺ เอาฟฺ ซึ่งบันทึกโดยอิมามอะหฺมัด ระบุว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

         “เมื่อสตรีคนหนึ่งทำการละหมาดครบห้าเวลา ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน รักษาอวัยวะเพศของนาง และเชื่อฟังปฏิบัติตามสามีของนาง จะมีเสียงกล่าวแก่นางว่า เธอจงเข้าสวนสวรรค์ทางประตูใดก็ได้ที่เธอประสงค์” 

(มุสนัด อิมามอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 1661)


          ♥ สอง ภรรยาจะต้องมีความรักความเสน่หาต่อสามี คอยสอดส่อง ปรนนิบัติรับใช้สามี และอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ดังมีหะดีษรายงานโดยอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อัมรฺ ระบุว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ดุนยาคือความสุขชั่วคราว และความสุขชั่วคราวที่ดีที่สุดในดุนยาก็คือภรรยาที่เป็นกุลสตรี” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1467)

        คุณลักษณะของกุลสตรีนั้น ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวไว้ในอีกหะดีษหนึ่ง ซึ่งรายงานโดย อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า 

มีคนถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า “สตรีใดถือว่าประเสริฐที่สุด ?”

       ท่านเราะสูล ตอบว่า “คือสตรีที่ทำให้สามีสุขใจเมื่อได้มองนาง เมื่อสามีบอกกล่าวอะไรก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม และไม่ขัดใจสามี ทั้งด้วยตัวของนางและทรัพย์สินของนาง”

 (บันทึกโดยอันนะสาอีย์ หะดีษเลขที่ 1231)

และมีรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“ไม่อนุญาตให้สตรีคนใดถือศีลอดในขณะที่สามีอยู่กับนาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสามีเสียก่อน

และไม่อนุญาตให้สตรีอนุญาตให้ใครเข้าบ้านเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสามีเสียก่อน” 
 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 5195 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1026) 

อันนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า 

        “เหตุที่ไม่อนุญาตแก่สตรีในเรื่องดังกล่าวนั้นคือ สามีมีสิทธิ์จะหาความสุขกับภรรยาได้ทุก ๆ วัน ซึ่งสิทธิ์ของสามีนั้นจำเป็น (วาญิบ) แก่ภรรยาจะต้องปฏิบัติตามโดยทันที ไม่สามารถปล่อยทิ้งไว้เพื่อไปทำสิ่งที่เป็นสุนัต หรือสิ่งจำเป็น (วาญิบ) อื่นที่สามารถกระทำในคราวหลังได้” 

(ชัรหฺ เศาะฮีหฺมุสลิม เล่ม 3 หน้า 115)

         อุมมุลมุอ์มินีน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องดังกล่าว เมื่อนางประวิงการถือศีลอดใช้ของเราะมะฎอนปีก่อน กระทั่งเวลาล่วงเลยถึงเดือนชะอฺบานปีถัดไป โดยนางให้เหตุผลว่า

 “ฉันต้องวุ่นอยู่กับการปรนนิบัติท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 1950 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1146)

         ♥ สาม ภรรยาจะต้องรักนวลสงวนตัว และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้สามีเกิดความสงสัยในตัวของนาง ดังมีบันทึกรายงานจากอัมรฺ อิบนุลอะหฺวัศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวในคุฏบะฮฺเมื่อตอนทำหัจญ์อำลา (หัจญะตุลวะดาอฺ) ว่า

         “สิทธิของภรรยาของพวกเจ้าพึงมีต่อพวกเจ้าคือ นางจะต้องไม่ให้ใครก็ตามที่พวกเจ้ารังเกียจขึ้นไปอยู่บนที่นอนของพวกเจ้า และจะต้องไม่อนุญาตให้ใครก็ตามที่เจ้ารังเกียจเข้าไปในบ้านของพวกเจ้า” 

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1163)


         ♥ สี่ ภรรยานั้นจะไม่ออกนอกบ้านเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสามีแม้กระทั่งออกไปมัสญิด ดังมีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

“เมื่อภรรยาของพวกท่านขออนุญาตออกไปมัสญิดในยามกลางคืน พวกท่านก็จงอนุญาตเถิด” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 865 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 442)

อิบนุ หะญัร ได้ถ่ายทอดคำพูดของอันนะวะวีย์ซึ่งให้คำอธิบายหะดีษบทนี้ว่า 

       “บางคนใช้หะดีษนี้เป็นหลักฐานว่า สตรีนั้นจะต้องไม่ออกนอกบ้านสามีของนาง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเขาเสียก่อน ตามที่ในหะดีษมีคำสั่งแก่บรรดาสามีว่าให้อนุญาตแก่ภรรยา ให้นางออกไปมัสยิดในยามกลางคืน” 

(ฟัตหุลบารีย์ เล่ม 2 หน้า 347-348)

จากหะดีษของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม

“ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติตามคำสั่งเสียของฉันเกี่ยวกับบรรดาภรรยา เพราะนางทั้งหลายนั้นเปรียบเสมือนเชลยศึกสำหรับพวกท่าน” 

(อัตติรมีซีย์ หะดีษเลขที่ 1163)

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ ได้อธิบายหะดีษดังกล่าวว่า 


       “สำหรับสามีนั้น ภรรยามีลักษณะบางส่วนคล้ายกับทาสหรือเชลยศึก คือนางไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเขาเสียก่อน แม้ว่าจะเป็นคำสั่งของบิดาหรือมารดาของนางหรือคนอื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งในประเด็นนี้อุละมาอ์มีความเห็นตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์” 

(มัจมูอฺ อัลฟะตาวา เล่ม 32 หน้า 263) 

 

 

 

แปลโดย : ฟารีด พุกมะหะหมัด / Islamhouse