รู้และเข้าใจพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กช่วงขวบปีแรก
  จำนวนคนเข้าชม  12651

รู้และเข้าใจพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กช่วงขวบปีแรก
 

 
       เด็กในช่วงขวบปีแรกของชีวิตนั้น เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตและมีพัฒนาการเป็นไปอย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้เป็นวัยที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลใกล้ชิด เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน บทความนี้จะกล่าวถึงพัฒนาการทุกด้านของเด็กในช่วงปีแรก
      
       พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เป็นพัฒนาการที่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมาก โดยเฉพาะในช่วงปีแรก แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการควบคุมการทรงตัวและเคลื่อนที่ และการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กๆของตาและมือ ที่ทำงานประสานกันเพื่อใช้ทำกิจกรรมปรับตัวแก้ปัญหาต่างๆเป็นพฤติกรรมที่แสดงความสามารถเบื้องต้นทางสติปัญญา
      
       พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่
      
       แรกเกิด-1 เดือน - ทารกจะมีการเคลื่อนไหวแบบปฏิกิริยาสะท้อนซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่จำเพาะเจาะจง แต่ช่วยให้ทารกเกิดการเรียนรู้และตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ใกล้ชิด ระยะนี้แม้ตาจะเริ่มมองเห็น หูได้ยินและสามารถรับรู้สัมผัสต่างๆแล้ว แต่ความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหวจะเกิดขึ้นในระยะต่อไปตามขั้นตอนวุฒิ

       ภาวะและโอกาสมีประสบการณ์
      
       อายุ 2-4 เดือน - ควบคุมการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น หากจับเด็กนอนคว่ำ ทารกจะยกศีรษะขึ้นได้เล็กน้อย ต่อมาเมื่ออายุ 4 เดือน จะยกได้สูงโดยยกคอกับหน้าอกลอยจากพื้น ใช้แขนส่วนล่างยันพยุงตัวไว้ ชันคอ หันศีรษะได้
      
       อายุ 6 เดือน - คว่ำและหงายได้เอง นั่งเองได้ชั่วครู่ จับยืนเริ่มลงน้ำหนักที่เท้า 2 ข้างได้
      
       อายุ 9 เดือน - นั่งได้มั่นคง คลาน เกาะยืน
      
       อายุ 12 เดือน - เกาะเดิน ยืนเองได้ชั่วครู่ อาจกางแขนขาเพื่อทรงตัว
      
       พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก
      
       แรกเกิด-2 เดือน - แรกเกิดมือยังกำแน่นแบบปฏิกิริยาสะท้อน ต่อมามือจะกำหลวมๆขึ้น
      
       อายุ 4 เดือน - กางและหุบนิ้วมือได้โดยไม่ต้องมีสิ่งเร้ามากระตุ้นที่ฝ่ามือ เอามือมาจับกันได้ตรงกลาง
      
       อายุ 6 เดือน - เอื้อมหยิบหรือจับได้อย่างแม่นยำเมื่อเห็นสิ่งของ เริ่มไขว่คว้าสิ่งที่ไกลกว่าช่วงแขนของตน
      
       อายุ 9 เดือน - ใช้นิ้วหยิบของได้ เริ่มหยิบของเล็กโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ เปิดหาของที่ซ่อนได้
      
       อายุ 12 เดือน - ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของเล็กๆได้ถนัด หยิบของใส่ถ้วยหรือกล่อง
      
      
การส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว
      
       1. เอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด สนใจตอบสนองกับทารก อุ้มชู กอดอย่างอ่อนโยนและช่วยทารกเมื่อจำเป็น

         2.  ดูแลสุขภาพและโภชนาการที่เหมาะสม

       3. จัดให้มีบริเวณ ที่ปลอดภัยให้ทารกมีอิสระในการเคลื่อนไหว และมีของที่น่าสนใจ สะอาดปราศจากสารพิษและส่วนแตกหักง่ายหรือแหลมคม ให้ทารกมองและหยิบจับ ฝึกทักษะใหม่ๆเหมาะสมกับวัยและ

        4. ประเมินพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของทารกจึงต้องทดสอบความสามารถใหม่ที่เพิ่มขึ้นร่วมไปกับปฏิกิริยาเหล่านี้เสมอ หากถึงวัยที่ทารกควรควบคุมได้แต่ทารกคนนั้นยังแสดงออกเป็นปฏิกิริยาสะท้อน แสดงว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง ซึ่งจำเป็นต้องตรวจอย่างละเอียด เพื่อให้การบำบัดรักษาช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ (early intervention) ซึ่งจะได้ผลดีในช่วงที่สมองอยู่ในระหว่างการเติบโตและมีความยืดหยุ่นสูง
      
 
     ขอบคุณข้อมูลจาก Kids Center โรงพยาบาลเวชธานี