ความเป็นพี่น้อง
  จำนวนคนเข้าชม  18544

ความเป็นพี่น้อง


อาจารย์มุยาฮิด ลาตีฟี


السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

وَالَّذِيْنَ تَبَوَّؤُالدَّارَ وَاْلإِيْمَانَ مِنْ قَبْلِهِمْ يُحِبُّوْنَ مَنْ هَاجَرَ إِلَيْهِمْ وَلاَيَجِدُوْنَ فِى صُدُوْرِهِمْ حَاجَةً مِمَّا أُوْتُوْا  وَيُؤْثِرُوْنَ عَلَى أَنْفُسِهِمْ وَلَوْكَانَ بِهِمْ خَصَاصَةٌ وَمَنْ يُوْقَ شُحَّ نَفْسِهِ فَأُولَئِكَ هُمُ اْلمفْلِحُوْنَ


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีความตั้งมั่น ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันมหาศาล จากอัลเลาะห์ ที่พระองค์ยังมอบโอกาส เวลา ในการปฏิบัติอามั้ลอิบาดะห์ให้กับเราทุกคนในวันนี้

          ดังนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องชุโกร ขอบคุณต่ออัลเลาะห์ ให้มากยิ่งขึ้น กับช่วงเวลาที่ผ่านพ้น กับสภาพการณ์ การเป็นอยู่ที่มีความยาก มีความลำบาก กับมหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ในประเทศของเรา ซึ่ง ณ เวลานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มที่จะคลี่คลาย กลับคืนสู่สภาพเดิม เราต้องชุโกรในเนียะมัตอันยิ่งใหญ่นี้ เพราะเราในฐานะที่เป็นศรัทธาชนนั้น ในความหมายของคำว่า ศรัทธาชนที่แท้จริง ชีวิตของเขาจะสลับ หมุนเวียนอยู่บน ๒ ลักษณะ ในลักษณะแรก คือ การชุโกรต่ออัลเลาะห์ ในสิ่งซึ่งที่เราได้รับ ในสิ่งที่เป็นเนียะมัต และเมื่อใดก็ตามที่สิ่งที่เป็น نقمة ภัยพิบัติมาประสบพบเจอกับเรา ลักษณะอีกลักษณะหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเราที่จำเป็นต้องมีนั่นก็คือ ความซอบัร ความอดทน เราอดทนมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา อดทนในการปฏิบัติ طاعة ต่ออัลเลาะห์ อดทนต่อการละทิ้งสิ่งที่เป็น معصية ต่ออัลเลาะห์ อดทนต่อสิ่งที่เป็นภัยพิบัติที่ประสบพบเจอกับเรา


          ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ช่วงเวลาที่ผ่านมากับสภาวะน้ำท่วม เรามีการปฏิสัมพันธ์ที่แนบแน่น นั่นหมายถึง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เราได้รู้จักคุณค่าของคำว่าพี่น้องเพิ่มมากขึ้น ได้รู้จักสัมพันธภาพ ความห่วงใย การถามไถ่สาระทุกข์สุกดิบ  ซึ่งมันซ่อนเร้นอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่า บาลาอ์ ถ้าหากบุคคลที่ช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่ ไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ไม่มีเวลาให้กับพี่น้อง ไม่มีเวลาให้กับคนใกล้ตัว แต่แล้วเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เราสามารถที่จะบริหารจัดการเวลาต่าง ๆ ให้กับบุคคลซึ่งคู่ควรที่จะได้เวลาอันมีค่านั้นจากเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้ดูแลครอบครัว เราเป็นพ่อ นั่นคือสิ่งที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามติดตามมา เพราะเราได้จัดสรรเวลาให้กับบุคคลซึ่งคู่ควรที่จะได้รับ นั่นแหละคือแนวทางที่ถูกต้อง และแน่นอนที่สุดว่าต่อไป บุคคลที่ได้รับโอกาสในการปฏิบัติของเรา เขาก็จะปฏิบัติในสิ่งนั้นตอบแทนกลับมาสู่ตัวเราเหมือนกัน


          ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย ความสำคัญของพี่น้องในทรรศนะของอิสลาม ในความหมายที่แท้จริง จากอัลกุรอานที่กล่าวไปในตอนต้นนั้น อัลเลาะห์ ได้ทรงบอกกับเราถึงสัมพันธภาพ ความเป็นพี่น้อง ของชาวอันซอร และชาวมุฮายิรีน ซึ่งอัลเลาะห์ ได้ทรงบอกกับเราว่า

 

“และบรรดาบุคคลที่ได้ตั้งถิ่นฐานในมหานครมะดีนะห์ และมีศรัทธามั่นในอิสลาม ก่อนพวกนั้น (คือบุคคลซึ่งที่อพยพมาจากนครมักกะห์)

พวกเขามีความรัก ต่อผู้ซึ่งที่อพยพมายังพวกเขา และพวกเขาไม่มีความต้องการใด ๆ จากสิ่งที่ผู้อพยพได้นำติดตัวมาจากทรัพย์สินเลย

และพวกเขาให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านั้น เหนือตัวของพวกเขาเอง ถึงแม้ว่าพวกเขามีความต้องการสักปานใดก็ตาม”

(ซูเราะห์อัลฮัชร์ อายะห์ที่ ๙)


         ส่วนหนึ่งจาก ความสัมพันธ์ คือท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาวฟ์ ซึ่งเป็นมุฮายีรีนคนหนึ่ง จากบรรดามุฮายีรีน กับท่าน ซะอัด อิบนุ รอเบี๊ยะอ์ อัลอันซอรี่ ท่านซะอัดได้หยิบยื่นทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของท่านที่มีอยู่ พร้อมกับภรรยาที่ท่านมี ๒ คน โดยที่ท่านบอกกับท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาวฟ์ว่า ท่านจงเลือกภรรยาของฉัน ๑ คน ที่ท่านพอใจ แล้วฉันจะทำการหย่านาง และเมื่อใดก็ตาม ที่นางได้หมดอิดดะห์แล้ว ท่านจงทำการแต่งงานกับนางเถิด แต่ท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาวฟ์ ไม่ตอบรับคำเสนอของท่านซะอัด  ท่านอับดุรเราะห์มาน อิบนุ เอาวฟ์  ว่า ขอเพียงแค่บอกกับเราว่า ตลาดในเมืองมะดีนะห์นั้นอยู่ที่ใด ฉันจะไปทำการค้าในตลาดนั้น จนกระทั่งท่านอับดุรเราะห์มานได้ทำการค้า มีทรัพย์สินเงินทอง และได้สมรสในภายหลัง นั่นคือการ إِعْتَمَادٌ عَلَى النَّفْسِ “การยึดถือการปฏิบัติของตัวเองเป็นหลัก หรือการพึ่งพาตนเอง”

ท่านนบีมูฮำมัด ได้บอกกับเราว่า

لاَيُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيْهِ مَايُحِبُّ لِنَفْسِهِ

“คนหนึ่งคนใดจากสูเจ้า จะยังไม่มีการศรัทธาที่สมบูรณ์ จนกว่าเขาจะมีความรักให้กับพี่น้องของเขา ในสิ่งซึ่งที่เขารักจะให้ได้รับกับตัวของเขาเอง”

 

         ตามนัยยะความหมาย คำว่า พี่น้อง ณ ตรงนี้ มิได้หมายความเฉพาะ ผู้ซึ่งที่เป็นมุสลิมเท่านั้น มีความหมายรวมถึงผู้ที่เป็นกาเฟร (ผู้ปฏิเสธ) อยู่ในความหมายของท่านนบี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะต้องถามตัวเราว่า แล้วสิ่งใดกันเล่า คือสิ่งซึ่งที่เรารัก อยากจะให้ได้รับกับตัวของเราเองกับการมีชีวิตอยู่ในโลกดุนยา ว่าอะไรคือสิ่งที่เรารักที่สุด และเราต้องการที่จะหยิบยื่นสิ่งนี้ให้กับพี่น้องของเรา คำตอบก็คือ การศรัทธา การอีหม่านต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ที่เราต้องการจะหยิบยื่นสิ่งนี้ให้กับพี่น้องที่เป็นกาเฟร ต้องการให้เขาได้เข้ามาในร่มเงาของอัลอิสลาม และต้องการให้พี่น้องที่เป็นมุสลิมคงสภาพการเป็นผู้มีศรัทธา จวบจนกระทั่งวาระสุดท้าย แห่งการดำรงชีวิตในดุนยา นั่นแหละคือจุดมุ่งหมาย เป้าหมายสูงสุด นัยยะความหมายของความเป็นพี่น้อง

          ด้วยกับสิ่งนี้เอง ด้วยกับความรู้สึกของเราที่มีตรงนี้ จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันคลี่คลาย ไปในทิศทางที่ดีงาม จะก่อให้เกิดประโยชน์ จะก่อให้เกิดสิ่งซึ่งที่มีคุณค่า มีราคา มากยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ เพราะศาสนานั้นเป็นหนึ่ง จากศาสนปัจจัยทั้ง ๖ ประการ ที่จำเป็นสำหรับในฐานะมุอ์มิน ผู้ศรัทธานั้นจะต้องรักษาไว้ หนึ่ง คือ ศาสนา สอง คือ ร่างกาย สาม คือ ปัญญา สี่ คือ เชื้อสาย ห้า คือเกียรติยศ หก คือทรัพย์สิน  ศาสนาคือสิ่งแรกที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องรักษาให้คงไว้กับตัวเรา และหวังให้สิ่งนี้นั้นได้รับกับบุคคลซึ่งเป็นพี่น้องของเรา ดังความหมายในฮะดีษข้างต้น

 

         ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เราอย่าลืมว่าสิ่งที่ได้รับจากการช่วยเหลือนั้น ไม่ใช่เกิดจากเฉพาะผู้ที่เป็นมุสลิมเท่านั้น เราได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่เป็นกาเฟร (เรียกว่ากาเฟร صُلْحِيّ) พวกเราอยู่ด้วยกันด้วยการโอบอ้อมอารีย์ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การเฟรในบ้านเรานั้นอยู่ในความหมายนัยยะของฮะดีษบทนี้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความรู้สึกอยากให้เขาเป็นอย่างเรา และอยากให้พี่น้องของเราคงอยู่ในสภาพนี้จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของการมีชีวิต

           เพราะฉะนั้น จึงมีคำถามต่อไปว่า ทำไมอัตรา จำนวน ของบุคคลซึ่งที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ในประเทศไทย ถ้าหากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซึ่งที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในยุโรป ในอเมริกาแล้ว มีจำนวนน้อยมาก  ยังไม่ได้นับถึงบุคคลที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามด้วยเหตุการสมรส นับเฉพาะผู้ที่เข้ามาด้วยกับความต้องการอย่างแท้จริง ที่จะเข้ามารับนับถือศาสนาอิสลาม คำตอบก็คือ สิ่งที่เขาได้พบ ได้เจอในองค์กร ในสังคมมุสลิมนั้น ไม่ได้แสดงภาพแห่งความเป็นอิสลามให้ประจักษ์ชัด ให้เขาเกิดความเลื่อมใส ให้เขาเกิดความอยากที่จะเข้ามาอยู่ในศาสนาอิสลาม


          ทุก ๆ คำสัมภาษณ์ คำบอกกล่าวของผู้ที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามในยุโรป ส่วนใหญ่แล้ว จะบอกว่า ที่รับอิสลาม เพราะว่าเขารู้จักอิสลามก่อนมุสลิม นั่นหมายความว่า เขารู้จักหลักการอิสลามก่อน เรียนรู้ ซาบซึ้ง เข้าใจ อัลเลาะห์ ประทานฮิดายะห์ให้แก่เขาในท้ายที่สุด แต่พวกเขาไม่แน่ใจว่า ถ้าหากว่าเขารู้จักมุสลิมก่อนอิสลาม เขาจะมีวันนี้หรือไม่ นั่นแสดงว่า มุสลิม คือ มนุษย์ มุสลิมที่ไม่รู้จักอิสลาม ไม่รู้จักหลักการอิสลาม ไม่ทำความเข้าใจอิสลาม ไม่ให้ความสำคัญกับอิสลาม ก็ไม่ต่างอะไรกับบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิม สังคมมุสลิมคือกระจกเงาที่จะสะท้อนแก่นแท้ ความเป็นจริงของอิสลามออกมา

 

           ท่านพี่น้องที่รักและเคารพทั้งหลาย ท่านอิหม่ามอะห์หมัด ได้กล่าวด้วยกับสายรายงานของท่านว่า เพื่อนบ้านของท่าน ญาบิร อิบนุ อับดิ้ลลาห์ ได้สนทนากับฉัน โดยที่เพื่อนบ้านคนนั้นได้กล่าวว่า ฉันได้กลับมาจากการเดินทาง แล้วท่านญาบีร อิบนุ อับดิ้ลลาห์ได้มาหาฉัน มาให้สลามฉัน แล้วฉันก็ได้เริ่มสนทนากับท่านญาบีร อิบนุ อับดิ้ลลาห์ عَنْ إِفْتِرَاقِ النَّاسِ  จากการแตกแยกของผู้คน เป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นก๊กเป็นเหล่า  وَمَاأَحْدَثَوْهُ  และสิ่งที่พวกเขาได้อุตริขึ้นมา การสนทนานี้ทำให้ท่านญาบีรถึงกับร่ำไห้  ร้องไห้จากคำถามนี้ ท่านญาบีรกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ยินท่านร่อซู้ล  กล่าวว่า

 

 سَمِعْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَقُوْلُ 
 إِنَّ النَّاسَ دَخَلُوْا فِى دِيْنِ اللهِ أَفْوَاجًا

“แท้จริงผู้คนทั้งหลาย เข้ามาสู่ศาสนาของอัลเลาะห์ เป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ เป็นพวก เป็นจำนวนที่มาก”

 

          นั่นคือสภาพที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมแล้ว นั่นหมายถึงในยุโรป ในอเมริกา ที่ความเจริญมันอิ่มตัวจนถึงขีดสุดแล้ว แต่แล้วก็ยังไม่สามารถที่จะค้นพบ สัจธรรม ความจริงในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เมื่อมาค้นพบ เจอหลักธรรมคำสอนของอิสลาม มาเรียนรู้ มาทำความเข้าใจ ก็เข้าสู่อิสลาม เป็นกลุ่ม เป็นพวก เป็นจำนวนมาก แต่สิ่งซึ่งที่น่าเป็นห่วง ที่ท่านนบี  ได้ทรงกล่าวไว้ในตอนท้าย

 وَسَيَخْرُجُوْنَ مِنْهُ أَفْوَاجًا

“และพวกเขาก็จะออกจากศาสนาอิสลามในสภาพที่เป็นกลุ่ม เป็นพวกเช่นเดียวกัน”

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ความเป็นพี่น้อง ความรัก ความสมัครสมาน ความสามัคคีในหมู่ ระหว่างพี่น้องของเราถือเป็นจุดมุ่งหมาย เป็นหลักธรรมของการที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา ในสังคมของเรา ในหมู่บ้านของเรา อินชาอัลเลาะห์ ด้วยกับอุดมการณ์ หลักการอย่างนี้ จะทำให้สภาวะความเป็นมุสลิม ในทุๆสังคม จะได้รับการตอบรับจากบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ที่รับนับถือศาสนาอิสลาม เราจะต้องปฏิบัติโดยต้องเป็นแบบอย่าง ในฐานะที่เป็นพ่อ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคคลซึ่งที่อยู่ในการดูแลของเราได้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่เส้นทางแห่งอิสลาม และเมื่อใดก็ตามที่เราให้ความสำคัญกับครอบครัว ซึ่งที่เป็นหน่วยเล็ก ๆ ในสังคมแล้ว สังคม ชุมชน ในหมู่บ้าน ก็จะได้รับในสิ่งที่ดีงามติดตามมา อินชาอัลเลาะห์

 

 
คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ