การอ่านเพื่อศึกษา
  จำนวนคนเข้าชม  10236

การอ่านเพื่อศึกษา

 

          พี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลาย อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมการศึกษาและความก้าวหน้าทางวิชาการ ถึงขนาดที่ตราไว้เป็นบทบัญญัติให้มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากโองการของอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามุฮัมหมัด ว่า

จงอ่าน ด้วยพระนามขององค์พระผู้อภิบาลของเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้าง”

(กุรอาน 96: 1)


          อัลลอฮฺทรงบัญชาให้อ่าน ทั้งที่การอ่านนั้นเป็นผลจากการศึกษา เท่ากับเป็นการย้ำอย่างหนักแน่นให้รีบเร่งทำการศึกษา เพื่อให้บรรลุผลโดยเร็ว นั่นคือ การอ่านออกเขียนได้ เพราะถ้าหากเราย้อนกลับไปมองดูสภาพของผู้คนในยุคนั้น ก็จะพบว่า ความไม่รู้หนังสือมีอยู่โดยทั่วไปในคาบสมุทรอาหรับ นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุตัวเลขว่า ขณะที่ท่านนบีมุฮัมหมัดถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดาเผยแผ่ศาสนาอิสลามนั้น มีผู้รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้อยู่เพียง 17 คนเท่านั้น

จากวัจนะของท่านศาสดามุฮัมหมัด  ที่ได้กล่าวว่า “การขวนขวายหาความรู้ ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติของมุสลิมทุกคน”

(อิบนิมาญะฮฺ)

ดังนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิม ก็จะต้องขวนขวายหาความรู้ จะปล่อยให้ตัวเองจมปลักอยู่กับความโง่เขลา หรือจมอยู่กับความไม่รู้หนังสือไม่ได้

         จากตัวบทอัลฮะดิษที่ได้ยกมากล่าวอ้างนั้น เป็นฮะดิษที่กินความกว้างๆ ไม่ได้ระบุอย่างแน่ชัดลงไปว่า  การขวนขวายหาความรู้เฉพาะด้านศาสนาเท่านั้น ที่เป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างที่มีบางคนเข้าใจ และเป็นความเข้าใจที่สร้างสมกันมาเป็นเวลานานแล้ว จนมีคนจำนวนไม่น้อยที่ฝังใจเชื่อเช่นนั้น และทำให้มองเห็นอิสลามผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คือมองว่าอิสลามมุ่งเฉพาะเรื่องหลักศรัทธาและการทำอิบาดะฮฺเท่านั้น อิสลามไม่สนใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง แต่ที่จริงแล้ว อิสลามถือว่าการศึกษาหาความรู้ที่เป็นผลประโยชน์แก่ตัวเอง และแก่ผู้อื่น ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ล้วนแล้วแต่เป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติทั้งสิ้น


ทั้งนี้อิสลามได้แบ่งหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้ไว้เป็น 2 ระดับ คือ

หนึ่ง :

         เป็นหน้าที่เฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า “ฟัรดุอัยน์” ที่ทุกคนต้องทำการศึกษา อันได้แก่ หลักการเบื้องต้นของอิสลาม ทั้งหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ ในระดับนี้ มุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาหลักการศรัทธาในอิสลามให้เข้าใจโดยถ่องแท้ด้วยตนเองจนกว่าจะพ้นจากสภาพที่เรียกว่า “ตักลีด” คือศรัทธาตามๆ กันไปโดยที่ไม่รู้จักหลักฐาน ทั้งตัวบทและในการใช้ความคิด เช่น ลูกศรัทธาตามพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายว่า อัลลอฮฺ มีโดยไม่รู้จักหาเหตุผลและหลักฐานในเรื่องการมีของอัลลอฮฺ  เป็นต้น

          และมุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาหลักปฏิบัติต่างๆ ที่เป็นหน้าที่ของตนจนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง อาทิเช่น การละหมาด การถือศีลอด ซะกาต และฮัจย์ เป็นต้น เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนต้องขวนขวายหาความรู้ จะปล่อยปละละเลย โดยไม่ศึกษาไม่ได้

 

สอง :

          เป็นหน้าที่โดยส่วนรวม ที่เรียกว่า “ฟัรดุกีฟายะฮฺ” ที่เรียกว่าเป็นหน้าที่โดยส่วนรวม ก็คือ ถ้ามีมุสลิมบางคนในชุมชนหนึ่งๆ ขวนขวายหาความรู้ในด้านนี้แล้ว มุสลิมที่เหลือก็จะพลอยพ้นบาป ความรู้ในด้านนี้ ได้แก่ วิชาแพทย์ ที่จำเป็นในการรักษาสุขภาพของร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์ วิชาคำนวณ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำธุรกิจต่างๆ และใช้ในการจัดการเรื่องพินัยกรรมและมรดก วิชาการเกษตร การทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า การก่อสร้าง วิชาวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นวิชาการที่จะช่วยเสริมให้การดำรงชีวิตอยู่ในดุนยานี้เป็นไปด้วยดี

 

          ศรัทธาชนผู้มีเกียรติทั้งหลาย จากโองการที่อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ ความว่า “จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเจ้าผู้ทรงบังเกิด” นั้น ทำให้ได้ทราบว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษานั้น ก็คือ ต้องเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺองค์พระผู้อภิบาล ผู้ทรงสร้างเท่านั้น จะมีเป้าหมายอื่นมาแอบแฝงไม่ได้ เช่น ทำการศึกษาเพื่อหวังลาภยศ สรรเสริญ หรือหวังผลตอบแทนในทางดุนยา หมายความว่า อิสลามกำหนดให้มุสลิมทุกคนทำการศึกษาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่ออัลลอฮฺ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลทางการศึกษาอันบริสุทธิ์ นั่นคือ จิตใจจะได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น ดังได้มีโองการว่

 

“ที่จะยำเกรงอัลลอฮฺจากบ่าวของพระองค์ ก็ได้แก่ ผู้ทรงความรู้เท่านั้น”

 (กุรอาน 35 : 28)


          ผู้ที่ศึกษาวิชาการด้านต่างๆ นั้น ยิ่งเขาศึกษาค้นคว้ากว้างขวางออกไปเท่าไร ลึกลงไปเท่าไร เขาก็จะยิ่งรู้จักพระเจ้ามากขึ้นเท่านั้น เขาก็จะยิ่งมีความยำเกรงในพระองค์มากยิ่งขึ้นกว่าคนอื่นๆ และผลของการศึกษาจะทำให้ร่างกายได้รับการพัฒนา ท่านนบี มุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า

“ท่านทั้งหลายจงสอนบุตรชายของท่านให้ว่ายน้ำและยิงธนู ส่วนลูกผู้หญิงนั้น ของเล่นที่ดี ก็คือ เครื่องปั่นด้าย”

          ฮะดิษบทนี้ได้สั่งกำชับผู้ปกครองให้สอนบุตรชายของตนให้รู้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองในอนาคต อาทิเช่น การว่ายน้ำ และยงิธนู เป็นต้น ส่วนลูกผู้หญิงก็ให้สอนการบ้านการเรือน อาทิ การเย็บปักถักร้อย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ท่านนบี เอ่ยถึงในฮะดิษนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกด้วย


          พี่น้องมุสลิมทั้งหลาย จากหลักการที่ได้นำมาอ้างอิงไว้นี้ เราจะพบความจริงที่ว่า อิสลามส่งเสริมวิชาการทุกแขนงที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ถึงขนาดที่ตราไว้เป็นบทบัญญัติบังคับมุสลิมทุกคนต้องศึกษาหาความรู้ จะปล่อยให้ตนเองเป็นคนโง่ ไม่รู้หนังสือไม่ได้
 

 

 

ที่มา: หนังสือคุตบะฮฺวันศุกร์ โดยสำนักจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด)