การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก (ตอนที่ 2)
  จำนวนคนเข้าชม  2548

 

 

การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก (ตอนที่ 2)


การเน้นหนักให้ออกห่างจากข้อห้ามต่างๆ และถอนรากความชั่วร้ายทั้งมวล

          บทบัญญัติของอัลเลาะห์ จะเน้นเสมอถึงเรื่องการห้าม เพื่อที่จะไม่ตกอยู่ในการทำความชั่วร้ายหรือความเสียหาย เราจะเห็นว่าบทบัญญัติของอัลเลาะห์นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องข้อห้ามต่างๆ ยิ่งกว่าการให้ความสำคัญกับคำสั่งใช้ให้กระทำเสียอีกในบางครั้ง และสิ่งดังกล่าวก็มิได้หมายความว่า ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของคำสั่งใช้ให้กระทำ แต่ทว่าเน้นหนักในเรื่องของข้อห้าม เพราะข้อห้ามต่างๆที่บทบัญญัติได้ห้ามไว้นั้น จะนำมาซึ่งความเสียหายและอันตรายอันใหญ่หลวง

          และจากจุดนี้ ชี้ให้เห็นถึงแนวทางอันไม่ถูกต้องของมุสลิมจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ที่เอาใจใส่และให้ความสำคัญกับการกระทำในสิ่งที่เป็นการเคารพภักดี(อิบาดะห์) หรือสิ่งที่เป็นวาญิบและเคร่งครัดในการปฏิบัติซุนนะห์ต่างๆที่ชอบให้กระทำ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขากลับเพิกเฉย หรือไม่เอาใจใส่ต่อข้อห้ามต่างๆ เช่น เราจะพบว่ามีผู้ถือศีลอดที่ยังไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของดอกเบี้ย

          การกระทำดังกล่าวขัดแย้งกับสิ่งที่บทบัญญัติได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งรากฐานของการอิบาดะห์นั้นก็คือ การออกหากจากสิ่งที่อัลเลาะห์ ทรงห้าม และแนวทางสู่ความสำเร็จนั้นก็คือการต่อสู้กับตัวเอง และอารมณ์ใฝ่ต่ำ ทำให้ตนเองละทิ้งสิ่งที่ต้องห้ามต่างๆ และผลตอบแทนในสิ่งนี้ จะเหนือกว่าหรือมีมากกว่าการกระทำสิ่งที่เป็นวาญิบเสียอีก

          ท่านรอซูล ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

          “ท่านจงยำเกรง ห่างไกลจากข้อห้ามต่างๆแล้ว ท่านก็จะเป็นผู้ที่ทำอิบาดะก์มากที่สุดในหมู่มนุษย์”
          (บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)

          ท่านหญิงอาอิชะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า :

          “ผู้ใดชอบที่จะล้ำหน้า(ในการได้รับผลบุญ) ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรในการทำอิบาดะห์ เขาก็จงเลิกทำบาป”

          ท่านอุมัร อิบนิล ค็อฏฏอบได้ถูกถามถึงกลุ่มชนหนึ่งที่ปรารถนาที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนแต่มิได้กระทำ ท่านตอบว่า :

          “เขาเหล่านั้นคือ บรรดาผู้ที่อัลเลาะห์ทรงทดสอบจิตใจของพวกเขา เพื่อความยำเกรง สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่”

สาเหตุความหายนะของประชาชาติต่างๆ

          ท่านรอซูล ได้ชี้แจงและบอกถึงสาเหตุแห่งความหายนะ ความอ่อนแอ และสาเหตุแห่งการถูกลงโทษของประชาชาติต่างๆไว้สองประการด้วยกันคือ พวกเขาถามมาก และมีความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ อีกทั้งยังไม่ยึดมั่นในบทบัญญัติของอัลเลาะห์ ท่านรอซูลได้ห้ามบรรดาซอฮาบะห์ของท่านมิให้ถามมาก เพราะเกรงว่าคำถามเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความบากลำบากแก่พวกเขา และเพื่อเป็นการปิดกั้นสาเหตุแห่งการกระทำที่ไร้ประโยชน์ หรือการถามในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์

          มีรายงานจากท่านมุฆีเราะห์ อิบนิ ชุอฺบะห์ ว่า :

          ท่านรอซูล ได้ห้ามการที่จะพูดว่าคนนั้นพูดอย่างนั้น คนนั้นพูดอย่างนี้ การถามมาก และการสุรุ่ยสุร่าย
          (บันทึกโดยท่านอิมามอัลบุคอรีย์)

คำถามและฮุก่มต่างๆของคำถาม

          คำถามนั้นมีอยู่สองชนิดด้วยกันคือ คำถามที่อนุญาตให้ถามได้ และคำถามที่ไม่อนุญาตให้ถาม

    1. คำถามที่อนุญาตให้ถาม

        ซึ่งมีอยู่หลายขั้นด้วยกันคือ ;

1.1 ฟัรฎูอีน : หมายความว่าไม่อนุญาตให้มุสลิมละทิ้งหรือนิ่งเฉย ซึ่งได้แก่การถามในสิ่งที่เขาไม่รู้จากเรื่องราวต่างๆ ของศาสนา ฮุก่มและบทบัญญัติ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่เขาจะต้องปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ฮุก่มของการทำความสะอาด การละหมาด หรือฮุก่มของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน การจ่ายซะกาต การทำฮัจญ์เมื่อมีความสามารถ
  
จากจุดนี้เอง อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

         

          “ดังนั้นเจ้าจงถามบรรดาผู้รู้หากพวกเจ้าไม่รู้” 
         (อันนะหฺล 16 : 43)

ท่านรอซูล กล่าวว่า :

          “การแสวงหาความรู้นั้น เป็นฟัรฎูเหนือมุสลิมทุกคน”
         (บันทึกโดยท่านอัลบัยฮะกีย์)

1.2 ฟัรฎูกิฟายะห์ : หมายความว่า ไม่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน แต่เมื่อมีคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งทำ ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ซึ่งได้แก่คำถามที่ถามเพื่อเพิ่มความเข้าใจในเรื่องศาสนา และรับรู้ถึงรายละเอียดของบทบัญญัติ มิใช่เพื่อปฏิบัติเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเพื่อช่วยในการรัษาไว้ซึ่งศาสนาของอัลเลาะห์ เพื่อใช้ในการชี้ขาดและตัดสินปัญหาต่างๆของศาสนา และเพื่อใช้ในการเรียกร้องเชิญชวนไปสู่ศาสนาของอัลเลาะห์

อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

          ไม่บังควรที่บรรดาผู้ศรัทธาจะออกไปสู้รบกันทั้งหมด ทำไมแต่ละกลุ่มในหมู่พวกเขาจึงไม่ออกไปเพื่อหาความเข้าใจในศาสนา และเพื่อจะได้ตักเตือนหมู่คณะของพวกเขา เมื่อพวกเขาได้กลับมายังหมู่คณะของพวกเขา โดยหวังว่าหมู่คณะของพวกเขาจะได้ระมัดระวัง
         (อัตเตาบะห์ 9 : 122)

1.3 ซุนนะห์ : หมายความว่าชอบให้ถามถึง ตัวอย่างเช่นคำถามที่เกี่ยวกับการปฏิบัติคุณงามความดี หรือสิ่งที่จะทำให้เขาใกล้ชิดกับอัลเลาะห์ ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นฟัรฎู

   2. คำถามที่ไม่อนุมัติให้ถาม
 
          ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภทด้วยกันคือ :

    • ฮะรอม : คือ ถ้าถามถือเป็นความผิด หรือเป็นบาป เช่นการถามถึงสิ่งที่อัลเลาะห์ได้ปกปิดเอาไว้ โดยได้บอกไว้ว่าพระองค์เท่านั้นที่ทรงรับรู้ เช่น การถามถึงเรื่องวิญญาณ หรือกฎกำหนดสภาวการณ์ของอัลเลาะห์
    •  คำถามที่ไร้สาระ มีจุดประสงค์เพื่อดูหมิ่น หรือเยาะเย้ยศาสนา
    • คำถามในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นหรือคำถามที่คำตอบนั้นไม่มีประโยชน์ใดๆทางด้านวิชาการ และอาจเป็นคำถามที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ผู้ถามเอง
    • คำถามในเรื่องที่บทบัญญัติได้ละเว้นไว้ โดยมิได้ชี้แจงว่าให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ บางครั้งคำถามในลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นสาเหตุให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องกระทำโดยไม่ยกเว้น อันจะทำให้มุสลิมส่วนมากได้รับความยากลำบาก เนื่องจากผู้ถามเป็นต้นเหตุ ลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยที่ท่านรอซูล ยังมีชีวิตอยู่
    • ถามถึงมัวอฺญิซาต และเรียกร้องให้ทำในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ เนื่องจากด้วยความดื้อดึง ฝ่าฝืน หรือก่อให้เกิดความลำบากใจหรือกวนใจ ดังเช่นที่พวกมุชริกีนและชาวคัมภีร์ได้เคยกระทำต่อท่านรอซูล และท่านนบีอื่นๆในอดีต

          อย่างไรก็ตามสิ่งที่มุสลิมควรเอาใจใส่ก็คือ การค้นคว้าในสิ่งที่มาจากอัลเลาะห์ และรอซูลของพระองค์ และพยายามทำความเข้าใจ ถ้าหากเป็นเรื่องของความรู้ก็ให้เชื่อฟังและยึดมั่น และถ้าหากเป็นเรื่องการปฏิบัติก็ให้พยายามปฏิบัติสุดความสามารถที่จะทำตามคำสั่งใช้ และห่างไกลจากสิ่งที่ศาสนาห้าม ผู้ใดที่ทำได้เช่นนี้ ก็จะพบกับความสุขในโลกนี้ และความปลอดภัยในโลกหน้า

ระวังการขัดแย้งและส่งเสริมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          แท้จริงอัลเลาะห์ ได้ให้ลักษณะแก่บรรดามุสลิม และบรรดาผู้ศรัทธาว่าเป็นประชาชาติเดียวกัน

อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

          แท้จริง นี่คือประชาชาติของพวกเจ้า ซึ่งเป็นประชาชาติเดียวกัน และข้า(อัลเลาะห์(ซ.บ.)) เป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้าเถิด        

 (อัลอัมบิยาอฺ 21 : 92)

          ดังนั้นจึงสมควรที่บรรดามุสลิมจะต้องเอาใจใส่ต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อที่จะได้เป็นกำลังที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับพลังแห่งความชั่วและการปฏิเสธ อัลเลาะห์และรอซูลของพระองค์ได้เตือนเราเรื่องความแตกแยก อีกทั้งอัลกุรอานยังได้บอกกับเราอีกว่า การแตกแยกนั้นเป็นลักษณะของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาจากอะฮฺลุลกิตาบ

อัลเลาะห์ ตรัสไว้ว่า :

          และพวกเจ้าจงอย่าเป็นเช่นบรรดาผู้ที่แตกแยกกัน และขัดแย้งกันหลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้มายังพวกเขาแล้วและชนเหล่านี้แหละสำหรับพวกเขา คือการลงโทษอันใหญ่หลวง         

(อาละอิมรอน 3 : 105)

           แท้จริงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชาติอิสลามเกิดความแตกแยกและความขัดแย้งกันคือ การโต้เถียง โต้แย้งกันในเรื่องของวิชาความรู้ และการทะเลาะกันในเรื่องศาสนา และนับว่าเป็นการทดสอบอันยิ่งใหญ่ที่ว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องศาสนาคือผลประโยชน์ และอารมณ์ การดื้อดึง และการฝ่าฝืน

          อัลกุรอานได้กล่าวถึงตัวอย่างของผู้ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในเรื่องของศาสนา และมีความต้องการให้มุสลิมแตกแยกกัน และไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า พวกเขาได้ออกจากแวดวงอิสลาม

อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

          แท้จริงบรรดาผู้ที่แบ่งแยกศาสนาของพวกเขา และพวกเขาได้กลายเป็นนิกายต่าง ๆนั้นเจ้า (มุฮัมมัด) หาใช่อยู่ในพวกเขาแต่อย่างใดไม่แท้จริงเรื่องราวของพวกเขานั้น ย่อมไปสู่อัลลอฮ์แล้วพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเขาในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน

(อัลอันอาม 6 : 159)

          และความขัดแย้งที่อันตรายที่สุดก็คือ การขัดแย้งที่ไม่ใช้หลักฐานในการตัดสิน อ้างอิง และไม่ยอมจำนนต่อหลักฐาน การขัดแย้งดังกล่าวนี้คือ สาเหตุที่ทำให้ประชาชาติต่างๆได้รับความหายนะ

ท่านรอซูล กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

          “แท้จริงสิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนๆประสบกับความพินาศก็คือ การที่พวกเขาถามมาก และการที่พวกเขาขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขา”

          ส่วนการขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากหลักฐานและมีต้นตอหรือที่มานั้น ไม่เกี่ยวกับการขัดแย้งที่เรากล่าวไปเบื้องต้น เพราะการขัดแย้งที่เกิดจากการตีความหลักฐานนั้นเป็นการขัดแย้งในเรื่องปลีกย่อย ไม่ใช่เรื่องหลักการศาสนา การขัดแย้งในเรื่องปลีกย่อยไม่ทำให้เกิดการแตกแยกในประชาชาติ  หากแต่แสดงถึงความยืดหยุ่นของบทบัญญัติศาสนาและอิสระในความคิด ภายใต้หลักเกณฑ์และรากฐานของศาสนา

 

วัสสลาม

โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์

เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์


  Click<<< การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก 1