บทบาทมัสยิดที่ควรมีต่อสังคม
  จำนวนคนเข้าชม  11844

บทบาทของมัสยิดที่ควรมีต่อสังคม


โดย  อิสมาอีล  กอเซ็ม


มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก เราขอสรรเสริญและขอความช่วยเหลือขออภัยโทษต่อพระองค์ และขออภัยโทษต่อพระองค์ และขอความคุมครองให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายที่เกิดจากการกระทำของตัวเราเอง


          แท้จริงมัสยิดนั้นเป็นบ้านของอัลลอฮ์ โดยที่อัลลอฮ์ได้กล่าวคำว่ามัสยิดในอัลกุรอานไว้ 28 ครั้ง และอัลลอฮ์ได้เรียกร้องให้ทำการสร้างชีวิตชีวาให้กับมัสยิด ไม่ว่าจะเป็นด้วยกับการสร้างที่เป็นการบูรณะ หรือการทำอิบาดะห์ในมัสยิดของพระองค์

ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า 

إنمايعمر مساجد الله من آمن بالله واليوم الآخر

“แท้จริงผู้ที่ทำการบูรณมัสยิดนั้นคือผู้ที่ศรัทธา ต่ออัลลอฮ์ และวันสุดท้าย”

         และท่านเราะซูลุลลอฮ์  ได้ทำการรีบเร่งในการสร้างมัสยิดทันทีเมื่อท่านเดินทางมาถึงยังเมืองมาดีนะฮ์ ท่านได้กำหนดให้มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบอิบาดะห์  เป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้แก่คนทุกเพศทุกวัย   เป็นสภาที่ปรึกษากิจการต่างๆ และท่านยังใช้มัสยิดเป็นศูนย์บัญชาการที่ส่งทหารออกไปต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์   มัสยิดเป็นสถานที่ที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เดินทางมาจากแดนไกล และมัสยิดเป็นที่พักอาศัยของคนยากจนอีกด้วย 

          บรรดาคอลีฟะฮ์ได้ดำเนินตามแบบอย่างนี้ตลอดมา และบรรดาสาลัฟซอแหละห์ได้ปฏิบัติตามแบบอย่างนี้สืบมาเช่นเดียวกัน พวกเขามิได้ให้มัสยิดเป็นสถานที่ประกอบอิบาดะห์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

         มัสยิดของท่านเราะซูล  มีคนจำนวนมากที่ได้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ และคนเหล่านี้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ถูกจารึกไว้ถึงความรุ่งเรืองของอณาจักรอิสลาม

          คนเหล่านี้ได้สร้างมรดกที่มีคุณค่าต่อประชาชาตินี้ ไม่ว่าความเจริญรุ่งเรืองในด้านวิชาการ และความผาสุกที่ได้เกิดในยุคนั้นๆ ซึ่งบุคคลคนเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นผู้ที่ถูกอบรมภายใต้เสาหลักในของมัสยิดของท่านเราะซูล  พวกเขาไม่ได้ครอบครองอาวุธที่มีการทำลายล้างสูงและไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจ หรือกลุ่มที่คลั่งไคล้ในความเป็นชาตินิยม แต่คนเหล่านี้ถูกปลูกฝังหลักอากีดะห์ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ความต้องการของพวกเขา คือ การปลดปล่อยผู้คนจากการเป็นทาสของมนุษย์ กลับสู่การเป็นบ่าวของอัลลอฮ์

          ดังนั้นเรากลับมามองมัสยิดในยุคปัจจุบันว่า บทบาทต่างๆที่กล่าวมานั้นได้หายไป มัสยิดเป็นเพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจทางศาสนาเท่านั้น ส่วนบทบาทด้านอื่นๆของมัสยิดนั้นไม่เหลืออยู่เลย มัสยิดเหลือเพียงคนชรา และคนรุ่นหนุ่มทั้งหลายกลับไม่รู้จักมัสยิด

            ขอนำเสนอ ให้ความสำคัญและบทบาทของมัสยิดที่จำเป็น และมุสลิมจะต้องนำกลับคืนมา เพราะความรุ่งเรืองของอิสลามในอดีตนั้นเกิดมาจากความเข้มแข็งขององค์กรมัสยิด หรือแม้กระทั่งนักวิชาการในโลกอาหรับที่มีชื่อด้านความรู้ในยุคปัจจุบัน ล้วนแล้วเป็นผู้ที่ได้ผ่านการศึกษา และอบรมจากมัสยิดทั้งนั้น


          1. เมื่อเรากลับไปดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าสิ่งแรกที่ท่านนะบี รีบเร่งที่สุดเมื่อท่านอพยพมายังเมืองมาดีนะฮ์ คือ การสร้างมัสยิด และมัสยิดนั้นถือว่าเป็นก้าวแรกที่สร้างความเจริญให้แก่สังคมมนุษย์ในยุคนั้น และสร้างความเข้มแข็งในทุกๆ ด้านให้แก่มุสลิม จนกระทั่งมุสลิมสามารถสร้างรัฐอิสลามขึ้นมา เพื่อปกป้องศาสนาอิสลามจากทุกกลุ่มที่มุ่งที่จะทำลายล้างอิสลาม ไม่ว่าจากพวกยะฮูด (ยิว) หรือพวกมุชริก(พวกปฏิเสธศรัทธา) เมื่อได้พิจรณาดูถึงความตกต่ำของมุสลิมในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา คุณธรรมจริยธรรมที่เสื่อมโทรมเนื่องจากความอ่อนแอขององค์กรมัสยิด ความรุ่งเรืองของอิสลามจะกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิมไม่ได้ถ้าเรานำแนวทางของคนรุ่นก่อนมาปฏิบัติ เหมือนที่ท่านอิหม่ามมาลิก รอฮิมาฮุลลอฮฺได้กล่าวไว้ว่า

 
 
  لن يصلح آخر هذه الأمة إلا بما صلح به أولها

“ประชาติสุดท้ายนี้จะรุ่งเรืองขึ้นมาไม่ได้ เว้นแต่ด้วยกับแนวทางที่คนรุ่นก่อนได้รุ่งเรืองมาแล้ว”


          2. บทบาทของมัสยิดในปัจจุบันที่ขาดไป  คือ การส่งเสิมในการอ่าน และการเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ไม่มีการเรียนในหลักการวิธีการอ่านที่ถูกต้อง หรือเรียนรู้ข้อบัญญัติต่างๆ ที่มีอยู่ในอัลกุรอาน เช่นการอธิบายความหมายของมัน หรือ บัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการฟื้นฟูสถาบันมัสยิดจำเป็นที่จะต้องให้มีการสอน และการท่องจำอัลกุรอานให้เกิดขึ้นทุกมัสยิด และบทเรียนที่มาอรรถาธิบายอัลกุรอานเพื่อให้ผู้คนได้เข้าใจอัลกุรอานและได้รู้เกี่ยวกับบทบัญญัติที่มีอยู่ในอัลกุรอาน แต่เป็นเรื่องทีน่าเศร้าที่อัลกุรอานถูกอ่านโดยไม่ทราบความหมาย และได้ถูกอ่านเป็นวาระต่างๆ เช่นเมื่อมีการตายเกิดขึ้นอัลกุรอานได้ถูกอ่านให้คนตายฟัง บางคนไปอ่านให้คนที่อยู่ในกุโบร บางคนอ่านเมื่อจะกินบุญขึ้นบ้านใหม่ ดังนั้นถ้าอัลกุรอานถูกประทานมาเพียงเพื่อสิ่งดังกล่าวข่างต้น อัลกุรอานจะเป็นทางนำให้กับมนุษยชาติได้หรือ เหมือนที่อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า

 آلم * ذلك الكتاب لا ريب فيه هدى للمتقين *

“อะลิฟ ลาม มีม คัมภีร์นี้ ไม่มีความสงสัยใดๆ ในนั้น เป็นทางนำสำหรับผู้ที่มีความยำเกรงเท่านั้น”


         3. เมื่อเรามามองดูในปัจจุบันการตื่นตัวของอิสลามกำลังกลับมาอีกครั้งหลังจากที่หลับใหลมาเป็นเวลานาน และการตื่นตัวที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้ เว้นแต่เราต้องนำบทบาทของมัสยิดกลับมาอีกครั้ง


          4. มีกลุ่มที่พยายามจะขัดขวางการตื่นตัวของอิสลาม พวกเขาใช้ความพยายามเป็นอย่างมากที่ จะให้มุสลิมพยายามเข้าใจว่า มัสยิดนั้นเป็นเพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจเพียงอย่างเดียว แต่มัสยิดไม่ได้มีบทบาทเพียงเท่านั้น
 

          5. และเมื่อเราสังเกตประวัติศาสตร์อิสลาม จะเห็นว่าประชาชาติอิสลามเข้าสู่ยุคอ่อนแอ เนื่องจากบทบาทที่แท้จริงของมัสยิดได้ถูกทำลายลง ดังเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

     • ราชวงค์อุบัยดียีน( ชีอะห์ ) ในยุคท้ายๆ ของราชวงค์นี้ ปีอิจเราะห์ ที่ 564 พวกเขาได้ทำลายเมืองฟิสตอส โดยเฉพาะการทำลายมัสยิด ซึ่งในมัสยิดเป็นห้องสมุดที่เก็บตำรับตำราทางวิชาการเป็นล้านเล่ม เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่ามุสลิมสูญเสียทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมหาศาล

     • พวกตาตาร์ได้บุกเข้าแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงค์อับบาซีย์ พวกเขาบุกเข้ามาเข่นฆ่าผู้คนจำนวนล้านๆคน ทำลายมัสยิด ห้องสมุด แล้วนำตำราต่างๆ ไปทิ้งแม่น้ำ จนกระทั่งแม่น้ำกลายเป็นสีน้ำหมึก และวิธีการนี้พวกอเมริกาได้ใช้ในประเทศอิรักโดยการทิ้งระเบิดใส่มัสยิดเพราะมีเจตนาเพื่อต้องการทำลายศาสนาอิสลาม

     • และการที่อณาจักรอิสลามถูกโค่นล้นในสเปน ในปีอิจเราะห์ ที่ 897 โดยที่มัสยิดได้ถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ และพิพิธภัณฑ์ ตำรับตำราถูกขโมยไปยังโลกตะวันตก

     • และเมื่อคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตได้เข้ายึดครอง ประเทศอิสลาม พวกเขาได้ทำลายมัสยิดจำนวน 27,000 แห่ง โดย 14,000 มัสยิดอยู่ในเอเชียกลาง 7,000 มัสยิดอยู่ในตอนใต้ของไซบีเรีย 4,000 มัสยิด ในอาเซอร์ไบจัน 1,000 มัสยิด อยู่ในอัสกัร

         6. ในปัจจุบันผู้คนได้ให้ความสำคัญในการตกแต่งมัสยิด ด้วยการประดับประดามัสยิด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความสวยงามของมัสยิด หรือความใหญ่โต แต่มัสยิดที่ถูกสร้างมาไม่มีผู้ทำหน้าที่ในมัสยิด และจำนวนผู้ที่มาละหมาดมีเพียงน้อยนิด มัสยิดกลายเป็นที่พบญาติพี่น้องปีละสองครั้งในวันอีด

ดังที่ท่าน อะนัสรอฏิยัลลอฮูอันฮูได้กล่าวว่า

(( يتباهونها ( أي المساجد ) ثم لا يعمرونها إلا قليلا ))

“พวกเขาแข่งขันกันประดับประดามัน ( หมายถึงมัสยิด ) แต่ว่าพวกเขาไม่ได้สร้างชีวิตชีวาให้กับมัน”

          คำว่าให้ชีวิตชีวา คือการสร้างบรรยากาศในมัสยิดให้มีทั้งการอิบาดะห์ และด้านอื่นๆ ที่ท่านเราะซูลุลลอฮ์  ได้ปฏิบัติไว้

ดังนั้นภาระในการนำบทบาทของมัสยิดให้กลับมาเหมือนในอดีต

จึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของมุสลิมทุกคนที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันสุดท้าย เท่านั้น