ความรู้ คือ สิ่งที่จดจำ
  จำนวนคนเข้าชม  4567

 

ความรู้ คือ สิ่งที่จดจำ


 

เชค มุฮัมหมัด อิบนุ ฮาดี อัลมัดคอลี

 

 

        ผมขอสั่งเสียให้ท่านพี่น้องตลอดจนบรรดาลูกหลาน ให้มีความเอาใจใส่ในการจดจำ เพราะการจดจำนั้น เป็นข้อมูลที่จะติดตัวพวกท่านไปตลอด  ความรู้ของผมนั้นอยู่กับผม ไม่ว่าผมจะไปที่ใดผมก็จะพกมันติดไปด้วย ตัวผมนี้แหละคือบรรจุภันฑ์ของมัน หาใช้ที่ว่างของหีบหับไม่ หากผมอยู่ในบ้าน ความรู้ก็อยู่ด้วยกันกับผม หรือ หากผมอยู่ในตลาด ความรู้ก็อยู่กับผมในตลาดด้วย

 

       คุณอย่าไปนั่งพูดแล้วบอกว่า เดี๋ยวขอผมกลับไปทบทวนข้อมูลในประเด็นนี้ก่อนนะครับ สภาพแบบนี้คนสมัยนี้เป็นกันมากในช่วงเวลาปัจจุบัน ในขณะที่วิทยาการมีความแพร่หลายแต่ความรู้กลับลดน้อยถอยลง 

 

ความรู้ คือ สิ่งที่ถูกจดจำเอาไว้ 
 

" ทว่ามันคือ อายาตต่างๆ อันชัดเจน ที่อยู่ในหัวอกของบรรดาบุคคลที่ได้รับความรู้ "
 

(ซูเราะฮฺ อั้ลอันกะบู้ต/49) 

 

       อัลลอฮฺ ญั้ลละวะอลา ตรัสชมเชยประชาชาตินี้ไว้ ในประเด็นเกี่ยวกับการเก็บรักษาความรู้ของประชาชาตินี้ ว่าเป็นการเก็บรักษาโดยการจดจำไว้ข้างในหัวอก ถัดจากนั้นจึงค่อยมีการเก็บรักษาในรูปของการจดบันทึกขึ้นมา ซึ่งการจดบันทึกนั้น ถือเป็นเครื่องมือยืนยันข้อมูลลำดับที่สอง เนื่องจากการจดจำมีด้วยกันสองชนิด การจดจำของหัวอก และการจดจำของตำรา

 

         (ถ้า)คุณทำการบักทึกวิชาความรู้ เสร็จแล้วก็โยนมันเก็บเข้าหีบ โดยที่คุณไม่ได้ท่องและไม่ได้จดจำ (ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นก็คือ) คุณก็จะไม่สามารถ ประสบความสำเร็จได้เลยแม้แต่น้อย จริงๆ แล้วความรู้ของคุณนั้น คือ สิ่งที่คุณจดจำมันได้ต่างหาก(นี่คือประเด็นที่หนึ่ง) พร้อมด้วยความเข้าใจ(นี่เป็นประเด็นที่สอง) และ ตามด้วยการพยายามรักษาไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น (จากตรงนี้ทำให้ทราบว่า) ความรู้ คือ สิ่งที่ถูกจดจำเอาไว้นั่นเอง

 

          คำอธิบายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถือได้ว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ต้องการสร้างความแน่ชัดและแน่นหนาในประเด็นทางวิชาการต่างๆ และในการบันทึกประเด็นต่างๆ เหล่านั้นเก็บเอาไว้  มันจะช่วยให่ผู้ที่รับภาระทางวิชาการ(ผู้รู้) ตลอดจนนักศึกษา สามารถสำเร็จ(ภารกิจ)และลุล่วงไปได้ ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ตะบาร่อกะวะตะอาลา

 

        ได้มีคนมาพูดกับท่านอัลบุคอรีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ว่า อะไรคือสาเหตุที่สำคัญที่สุด(ที่ช่วย)ในการจดจำ ท่านก็ได้แจ้งไว้สองประการด้วยกัน โดยกล่าวว่า (คือ) 
 

        ช่วงเวลาเริ่มแรกของวัยหนุ่มสาว และการหมั่นดู ซึ่งช่วงเวลาเริ่มแรกของวัยหนุ่มสาว ของพวกคุณทุกคนกำลังมีกันอยู่ครบ วะลิ้ลลาฮิ้ลฮัมดฺ ที่เหลืออยู่ก็คือ

        การหมั่นที่จะดู คือ การพยายามทบทวนสิ่งที่ได้จดจำไว้ให้บ่อยๆ ตลอดจนพยายามทบทวนสิ่งที่ได้ทำความเข้าใจไว้แล้วให้มากๆ ด้วย มันจะทำให้ท่านมีความกระจ่างมากขึ้นในข้อมูลที่ได้ทำความเข้าใจไปด้วยกับการทบทวนที่มีขึ้น สำหรับสิ่งที่ได้จดจำไว้แล้วนั้น มันก็จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแม่นยำให้กับท่านมากขึ้น 

 

          ดังนั้น ช่วงเวลาเริ่มแรกของวัยหนุ่มสาว และการหมั่นดู ทั้งสองประการนี้คือ สาเหตุที่สำคัญที่สุดในการแสวงหาความรู้และในการจดจำความรู้ จากจุดนี้เอง

ท่าน อัลฮะซัน อัลบัศรี ได้ฝากข้อความหนึ่งไว้ว่า 
 

 

"ความรู้ในวัยเด็ก เหมือนดั่งการแกะสลักไว้ในหิน ส่วนความรู้ในวัยโตเหมือนการบันทึกและขีดเขียนลงบนน้ำ"

 

      มีใครไหมที่สามารถไปบันทึกไปขีดเขียนไว้บนน้ำได้ ? น้ำ มันไม่นิ่งพอที่จะให้ไปเขียนไปบันทึกอะไรได้ ดังนั้นความรู้ (ที่ได้มา) ในช่วงที่อายุมากแล้ว ส่วนใหญ่มักจะลืม ทั้งนี้เนื่องจากในวัยผู้ใหญ่มักมีธุระต่างๆ มากมายที่จะส่งผลให้เขาเกิดการลืม(ความรู้ที่ได้จดจำมา) การมีธุระเยอะๆ มันจะทำให้เกิดอาการลืมได้ แต่ถ้าเป็นในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวในช่วงเวลาที่ยังเป็นเด็ก ช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็น นาทีทอง เพราะสมาธิยังแน่วแน่อยู่ หัวใจยังโล่งปราศจาก สิ่งรบกวน และสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจตลอดจนสิ่งที่เข้ามาพัวพันต่างๆ 

จากจุดนี้เอง อิบนุ คอลูยะฮฺ จึงได้พูดไว้โดยอ้างอิงจากบทกลอนอันโด่งดังบทนี้ ว่า 

         "ผมเห็นว่าตัวผมเองนั้น ถูกทำให้มีความหลงลืมเกิดขึ้น เมื่อผมเข้ามาทำการศึกษาในขณะที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งผมนั้นคงไม่หลงลืมถ้าหากได้ทำการศึกษาในช่วงวัยเด็ก ถ้าหากว่าหัวใจที่ใฝ่ศึกษาถูกฝังรากไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ความรู้คงเบ่งบานงอกงามในหัวใจดวงนั้น เหมือนดั่งการสลักไว้บนก้อนหิน ส่วนความรู้ที่มีขึ้นหลังจากวัยชรานั้น ก็ไม่ใช่อะไรอื่นใดนอกไปจากความเหนื่อยล้า ยามที่หัวใจของคนๆ นั้น ตลอดจนการได้ยินและสายตาเริ่มล่าถอย

     ♦ และความรู้นั้น ไม่ใช่อื่นใดนอกเสีย แต่คือ ความเข้าใจที่ดี และการสื่อสารที่ดีเท่านั้น

     ♦ และบุคคลผู้หนึ่งนั้น ไม่ใช่อื่นใดเว้นเสียแต่คือ ความเข้าใจที่ดี และการสื่อสารที่ดีเท่านั้น และผู้ใดก็ตามที่พลาดจากทั้งสองสิ่งนี้ เขาผู้นั้นก็ได้พินาศพับลงไปเสียแล้ว"

          การสื่อสารที่ดี หมายถึง การที่ทำการรับฟัง ทำความเข้าใจและพูดสื่อสารออกไปนั่นเอง ดังนั้น จึงต้องเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อที่คุณจะได้รับฟัง และนำมาจดจำ และทำการถ่ายทอดสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้จดจำไว้ให้แก่บรรดาผู้คนต่อไป 

 

 

 

อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง