ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ ประการที่ 7-9
  จำนวนคนเข้าชม  2445

 

ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ  30 ประการ 


 

เขียนโดย : อาอิฏบินอับดิลลาฮฺอัลก็อรนีย์
 

แปลและเรียบเรียงโดย : อาจารย์ อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ


 

ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ ประการที่ 7-9

7. ไม่โจมตีบุคคลต่าง ๆ ด้วยการเอ่ยชื่อเสียงเรียงนามพวกเขา

       คุณลักษณะของนักดะอฺวะฮฺนั้น  จะต้องไม่โจมตีบุคคลด้วยการเอ่ยชื่อพวกเขาบนเวทีต่อหน้าสาธารณะชน  สมควรอย่างยิ่งที่จะทำตามแบบฉบับที่ท่านนบี  ได้กระทำโดยกล่าวว่า  “มันเรื่องอะไรของคนพวกหนึ่งที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้” เพื่อให้ผู้ที่กระทำความผิดจะได้รู้สึกตัวเอง  และเขาไม่รู้สึกว่าถูกประจาน แต่สำหรับผู้ที่กระทำความผิดต่อต้านอัลลอฮฺ  ด้วยข้อเขียน หรือ ด้วยการบิดเบือน  หรือทำการเป็นบิดอะฮฺนอกศาสนา  หรือล้อเลียนในกรณีเช่นนี้ไม่เป็นที่ต้องห้ามที่นักวิชาการจะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา  เพื่อให้ผู้คนได้ทราบถึงอันตรายของบุคคลเหล่านี้ 

        ดังที่นักวิชาการได้แฉเรื่องราวของ  อัลญะฮฺมุบินศ็อฟวาน อิบนุลมุบาร็อก  ได้พูดเกี่ยวกับอัลญะฮฺมุผู้นี้ว่า  “เขาคือผู้ร้ายที่ทำการชักนำผู้คนไปสู่นรก  (อัลฮาวิยะฮฺ)”  เพราะเขาได้กุเรื่องเท็จไม่ถูกต้องในเรื่องศาสนาขึ้น  เขาบอกว่า  “ฉันแปลกใจกับดัจญาลผู้หนึ่ง  ที่เรียกคนไปลงนรกและชื่อของเขาก็เอามาจาก  คำว่า  “ญะฮันนัม”  ดังนั้น  นักวิชาการจึงได้แฉประจาน  อัลญะฮฺมุ  บินดิรฮัม  และได้บันทึกชื่อเขาผู้นี้ในหนังสือฮะดีษหลายเล่ม  นักวิชาการได้ตักเตือนให้ระมัดระวังบุคคลเหล่านี้  ในการประชุมของหลายองค์กรในการประชุมทั้งใหญ่และเล็ก  ดังนั้น  คนเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องถูกกล่าวประจานแฉความชั่วของเขา

       ส่วนกลุ่มคนที่มีประสงค์ดีแต่ผิดพลาด  บุคคลเหล่านี้สมควรปกปิดหรือสงวนสถานะของพวกเขาเอาไว้ หรือบุคคลที่พลาดพลั้งไปโดยขั้นตอนไม่สมควรขึ้นบัญชีรายชื่อคนเหล่านี้ไว้ในบัญชีดำ  เพราะการโจมตีโดยตรงด้วยกับการเอ่ยนาม  อาจทำให้เขาจมอยู่ในความผิดนั้นอย่างไม่อาจถอนตัวได้ เพราะความกลัวเสียศักดิ์ศรีจึงทำให้เขาจมอยู่ในความผิดนั้น


8. นักเผยแพร่ จะต้องไม่คุยโวโอ้อวดยกตนในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัว

       จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดะอฺวะฮฺ  จะต้องไม่คุยโวโอ้อวดตนในที่เมื่ออยู่ต่อหน้าประชาชน  เขาจะต้องสำนึกเสมอว่า  ตนเองนั้นยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์  แม้ว่าจะทำไปมากเพียงใดก็ตาม  และยังต้องสรรเสริญอัลลอฮฺ  ให้มาก ๆ ที่ทรงให้เขาได้มีความสามารถในการปราศรัยสั่งสอนเผยแพร่กับหมู่ชน  เป็นการรับภารกิจช่วงต่อมาจากท่านร่อซูล  โดยขอบพระคุณในเนี้ยะอฺมะฮฺนี้ ซึ่งอัลลอฮฺ  ได้ตรัสแก่ท่านร่อซูล  ของพระองค์ว่า

“และหากมิใช่ความโปรดปรานของอัลลอฮฺแก่พวกเจ้า  และความเมตตากรุณาของพระองค์แล้ว  ก็จะไม่มีผู้ใดเลยในหมู่พวกเจ้าบริสุทธิ์” 

(อันนูร/21)

และได้ตรัสกับร่อซูล  อีกในช่วงสุดท้ายหลังจากที่ท่านปฏิบัติหน้าที่สำเร็จว่า

“เมื่อความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ และการพิชิตได้มาถึงแล้ว และเจ้าได้เห็นประชาชนเข้าใจศาสนาของอัลลอฮฺ  เป็นหมู่ ๆ  

ดังนั้น  จงแซ่ซ้องด้วยการสรรเสริญสดุดีพระเจ้าของเจ้าและจงขออภัยโทษต่อพระองค์เถิด

 แท้จริง  พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ” 

(อันนัศรฺ / 1 – 3)

        นักวิชาการกล่าวว่า  “อัลลอฮฺ  ได้ทรงบัญชาให้ท่านนบี  ขออภัยโทษต่อพระองค์”  เป็นการไม่ถูกต้องและสมควรที่นักดะอฺวะฮฺจะมาสรรเสริญตนเองหรือคุยโวโอ้อวดตนโดยพูดว่า  “ฉันได้เคยใช้พวกท่านตลอดมา  แต่พวกท่านก็ฝ่าฝืนอยู่ประจำ...  ฉันได้เคยห้ามปรามพวกท่านเสมอแต่พวกท่านก็ไม่เชื่อฟังตามที่บอกห้ามนั้น...  ฉันได้สังเกตเห็นพวกท่าน...  ฉันเห็นอยู่ตลอด...  ฉันได้พูดมาตลอด... ฉันบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่าคนเหล่านี้จะฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้ากันไปถึงไหน”

        คำพูดดังกล่าวนี้ เป็นการพูดปัดความผิดให้พ้นตนเอง  เพื่อจะได้ไม่ถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ  เพื่อให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์  พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าผิด  นักดะอฺวะฮฺต้องยอมรับในสิ่งที่ผิดนั้นเป็นของทั้งผู้พูดและผู้ฟังด้วยกัน  ความบกพร่องผิดพลาดนั้นมีอยู่ร่วมกัน โดยพูดว่า พวกเราได้มีส่วนร่วมกัน  ในประเด็นนี้   พวกเราทุกคนผิดพลาดไปแล้ว หน้าที่ของพวกเราทุกคนก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน  เพื่อว่าเขาจะได้ไม่ทำตนเป็นนักดะอฺวะฮฺที่พ้นความผิดดังกล่าวนั้น ไม่ต้องถูกตำหนิหรือถูกต่อว่า  พวกเรานั้นไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นครอบครัวเดียวกัน ในบางครั้งพวกที่นั่งชุมนุมอยู่ด้วยกันนั้นอาจมีคนที่สะอาดบริสุทธิ์กว่านักดะอฺวะฮฺก็ได้ หรือมีคนที่เป็นที่รักของอัลลอฮฺ  เป็นผู้ที่ใกล้ชิดพระองค์ที่สุดอยู่ด้วยก็เป็นได้


9. นักดะอฺวะฮฺต้องไม่ท้อแท้หมดหวัง และล้มเลิกในการทำงาน

         เมื่อใดที่สังคมมีความตกต่ำเสื่อมทราม มีผู้คนทำชั่วมากๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดะอฺวฮะ จะต้องไม่ท้อแม้สิ้นหวัง หรือล้มเลิกการทำงานไปเสียง่ายๆ ในขณะที่ยังมีผู้คนจำนวนมากมาย งมงายสู่การละเล่นเพลิดเพลินสนุกสนานกับโลกดุนยา มีผู้คนเพียงจำนวนน้อยที่ยังคงมุ่งมั่นสู่การเรียน การฟังบรรยายธรรมทางศาสนา ตามแนวทางของอัลลอฮฺ  ในสิ่งสร้างของพระองค์

“...แล้วเจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆในแนวทางของอัลลอฮฺ”   (อัลอะหฺซาบ/62)

         แท้จริง อัลลอฮฺ  ได้ระบุไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า คนชั่วนั้นมีมากกว่าคนดี คนหลงทางนั้นมากกว่าคนไม่หลงทาง คนบ่อนทำลายนั้นมีมากกว่าคนไม่บ่อนทำลาย

“...และส่วนน้อยแห่งปวงบ่าวของเราที่เป็นผู้กตัญญูรู้คุณ” (สะบะอฺ/13)

และได้ตรัสไว้อีกว่า

“และหากเจ้าเชื่อฟังคนส่วนมากในแผ่นดินแล้วพวกเขาก็จะทำให้เจ้านั้นหลงจากทางของอัลลอฮ์”  (อัลอันอาม/116)

และทรงตรัสต่อไปอีกว่า

“และส่วนใหญ่ของมนุษย์จะไม่ศรัทธาต่อเจ้า ถึงแม้เจ้าจะปรารถนาให้พวกเขาเป็นผู้ศรัทธา”  (ยูซุฟ/103)

พระองค์ยังตรัสต่ออีกว่า

“...เจ้าจะบังคับผู้คนจนกว่าพวกเขาจะเป็นผู้ศรัทธากระนั้นหรือ?”  (ยูนุส/99)

ในซูเราะฮฺที่ว่า

“เจ้านั้นมิใช่เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขาแต่อย่างใด” (อัลฆอซิยะฮฺ/22)

และอีกซูเราะห์ที่ว่า

“...ข้านั้นมิใช่เป็นผู้พิทักษ์เจ้าอีก” (อัลอันอาม/66)

และพระองค์ตรัสอีกว่า

“...หน้าที่ของเจ้านั้นมิใช่อื่นใด นอกจากการเผยแพร่เท่านั้น...”  (อัชชูรอ/48)

        ดังนั้น เราไม่มีทั้งกระบองหรือแส้อันใด หรือแม้แต่การลงโทษใดๆ  หรือการคุมขังใดๆ หากแต่เรามีแต่ความรักความเมตตา และการเชิญชวน และความยิ้มแย้มที่จะนำพาผู้คนเข้าสู่สวนสวรรค์ที่ใหญ่ไพศาลดุจท้องฟ้าและผืนแผ่นดิน หากพวกเขาตอบรับเราก็สรรเสริญอัลลอฮ์  หากไม่ตอบรับและต่อต้านเราก็มอบเรื่องของพวกเขาไว้กับอัลลอฮฺ  พระองค์ทรงคิดบัญชีพวกเขาเอง

        นักวิชาการบางท่านบอกว่า “บรรดาพวกปฏิเสธศรัทธานั้นมีมากกว่ามุสลิมที่ศรัทธาที่อาศัยอยู่บนแผ่นดิน พวกทำอุตริในเรื่องศาสนามีมากกว่าอะฮฺลุลซุนนะฮฺ และพวกที่บริสุทธิ์ใจที่มาจากอะฮฺลุลซุนนะฮฺนั้น มีน้อยกว่าพวกที่ไม่บริสุทธิ์ใจ”

       ลักษณะที่ดีอีกส่วนหนึ่งจำต้องมีสำหรับนักดะอฺวะฮฺคือ เขาต้องสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คน เพื่อจะได้พิจารณาดูชีวิตความเป็นอยู่และรับทราบข่าวคราวของพวกเขา  อัลลอฮฺ  ทรงได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า


“...และในทำนองนั้น เราจะแจกแจงโองการทั้งหลาย และเพื่อที่วิถีทางของผู้ที่กระทำผิดจะได้ประจักษ์ชัด”

(อัลอันอาม/55)

         จากการรอบรู้ของอัลลอฮฺ ที่ทรงมอบให้แก่ท่านรอซูล  ของพระองค์ได้ใช้ชีวิตอยู่ใน นครมักกะฮฺ ถึง 40 ปี โดยใช้ชีวิตอยู่ในหุบเขาของนครมักกะฮฺ และในที่ราบลุ่มของนครมักกะฮฺนั้น ท่านจึงทราบถึงวิถีชีวิตของเขาเป็นอย่างดี รู้ทุกเส้นทางทั้งขาออกและขาเข้าของนครมักกะฮฺ และทราบดีอย่างละเอียดเกี่ยวกับปัญหาและวิกฤตที่เกิดขึ้นในนครมักกะฮฺ ท่านทราบดีถึงสภาพบ้านเรือนของชาวมักกะฮ์ ซึ่งชาวมักกะฮฺที่เป็นพวกกาเฟรต่างก็คัดค้านการเป็นนบีของท่านโดยกล่าวว่า
 

“ไฉนเล่า (มะลาอิกะฮฺ) จึงมิได้ถูกประทานลงมาให้แก่เขา...”

        ดังนั้น อัลลอฮฺ ทรงระบุว่า แท้ที่จริงแล้วนบีจะต้องเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เขามีชีวิตอยู่ เป็นความหวังของผู้คน เป็นผู้มาขจัดและคลี่คลายความทุกข์ยากและปัญหาของมนุษย์ และต้องทราบดียิ่งถึงความต้องการของผู้คนทั้งหลาย

       ความจริงอีกประการหนึ่งก็คือ นักดะอฺวะฮฺ จะต้องศึกษาสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี และมีความรู้ในข้อมูลของสังคมตรงนั้นในส่วนที่เป็นประโยชน์ เขาจะต้องรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ ? มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อะไรบ้าง ? ปัญหามันคืออะไร ? เขาจะต้องทราบวิถีการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ การค้าขายต่างๆ ของพ่อค้า ตลอดจนชาวไร่ชาวนา และชนในระดับชั้นต่างๆ และต้องทำการสำรวจในทุกสถานที่ซึ่งมีการรวมตัวของผู้คนในท้องตลาด ในร้านค้า ในมหาวิทยาลัย และในสโมสร เพื่อเขาจะได้เป็นผู้ดูแลที่เข้มแข็ง สามารถพูดสั่งสอนอย่างถูกต้อง ตรงสภาพความเป็นจริงให้ผู้คนทราบ

        ด้วยเหตุนี้นักวิชาการจึงบอกว่า มีความจำเป็นเมื่อนักดะอฺวะฮฺเข้าไปที่ใด เขาต้องศึกษาและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่นั้นเป็นอย่างดี แม้กระทั่งเมื่อนักวิชาการบางท่าน เมื่อจะเดินไปต่างประเทศเขาจะต้องสืบหาข้อมูลจากบันทึกของสถานที่นั้นเป็นประการแรก รวมทั้งรายละเอียดของวันก่อตั้งประเทศ รู้ที่ตั้งของประเทศ แม้แต่สถานที่พักผ่อน และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเมืองว่า พวกเขาดำเนินชีวิตกันอย่างไร ? พวกเขาชอบอะไรและไม่ชอบอะไร ? และพยายามที่จะทราบให้ได้ว่า ในสถานที่นี้สมควรจะใช้วิธีการอบรมสั่งสอนอย่างไร ? เพื่อที่เขาจะได้พูดได้ถูกต้องและตรงประเด็นเหมาะสมกับสภาวการณ์และสังคมที่นั่น

 

 

ที่มา อัลอิศลาห์สมาคม