อุตริกรรมในศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  10289

 

อุตริกรรมในศาสนา

เรียบเรียงโดย  อ.อับดุลบารีย์  นาปาเลน

       บิดอะหฺ หรืออุตริกรรม   ตามหลักความหมายในด้านของภาษาคือ มาจาก " คำว่า  بدع  หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่ได้มีปรากฏมาก่อน " (معجم مقاييس اللغة ของ อิบนูฟาริส) 

 

มีบางโองการในอัลกุรอ่านที่ได้ใช้คำนี้ ดั่งที่พระองค์ได้ตรัสว่า .. 
 

“พระองค์ผู้ทรงประดิษฐ์บรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และเมื่อพระองค์ทรงกำหนดสิ่งใดแล้วพระองค์ก็เพียงแต่ตรัสต่อสิ่งนั้นว่า จงเป็น แล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นขึ้น” 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ /117) 

 

        หมายความว่า พระองค์คือผู้ที่ทรงริเริ่มในการสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน โดยที่ไม่มีผู้ใดได้สร้างมาก่อนหน้า และในโองการหนึ่งที่กล่าวว่า

 

        “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ฉันมิได้เป็นสิ่งใหม่จากบรรดาศาสนทูต และฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นแก่ฉันและแก่พวกท่าน ฉันมิได้ปฏิบัติตามสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ถูกวะฮียฺให้แก่ฉัน และฉันมิใช่ใครอื่นนอกจากเป็นผู้ตักเตือนอันชัดแจ้ง “
 

 (อัลอะห์กอฟ : 9) 

 

         หมายถึง ท่านนบี  มิใช่คนใหม่จากบรรดาศาสนทูต เพราะก่อนหน้าท่านก็มีบรรดานบีมามากมาย ความหมายบิดอะหฺในหลักการของศาสนา หลายคนที่ได้ให้ความหมายที่หลากหลายกันไป และความหมายดังกล่าวก็ไกล้เคียงกัน อาทิเช่น
 

ท่านอิบนูมันศูร (รอฮีมาฮุลลอฮ) ได้กล่าวว่า “ บิดอะฮ์ คือ สิ่งประดิษฐ์และการกระทำที่เกิดขึ้นมาใหม่ในศาสนา หลังจากที่มันได้สมบูรณ์แล้ว”
 

 ( 1/229اللسان العرب ) 
 

          ท่านอีหม่ามนาวาวี (รอฮีมาฮุลลอฮ)ได้กล่าวว่า “ มันคือ การกระทำใหม่ ที่ไม่ได้ปรากฏในยุคของท่านนบี  " (หนังสือ تهذيب الأسماء واللغات 2/22 ) สิ่งที่ทำใหม่ในตรงนี้คือการกระทำในเรื่องของศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดุนยา 

 

ท่านเชคคุลอิสลาม อิบนูตัยเมียะหฺ(รอฮีมาฮุลลอฮ)ได้กล่าวว่า

 

         “ บิดอะหฺในศาสนา คือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ และรอซูลของพระองค์ไม่ได้บัญญัติ และไม่ได้อยู่ในคำสั่งที่เป็นวาญิบ หรือ เป็นสิ่งที่ส่งเสริม ส่วนเรื่องที่เป็นวาญิบหรือเป็นที่ส่งเสริม และรู้ได้ด้วยหลักฐาน สิ่งนั้นคือศาสนาที่มาจากอัลลอฮ์ 

( มัจมูอฺ ฟาตาวา ๔/๑๐๗) 

จากตัวบทฮาดิษ ที่ท่านนบี  ได้มาห้ามการทำบิดอะหฺ 


عَنْ عَائِشَةَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهَا، قَالَتْ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ فِيهِ، فَهُوَ رَدٌّ»

“ผู้ใดอุตริสิ่งใหม่ขึ้นในการงานของเรา โดยที่การงานนั้นไม่มีอยู่ในการงานของเรา ถือว่า(การงานนั้น)ถูกปฏิเสธ” 

(รายงานโดยมุสลิม /๔๕๑๔) 


عن عَائِشَةُ، أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: «مَنْ عَمِلَ عَمَلًا لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ» 


“ผู้ใดปฏิบัติการงานหนึ่งโดยที่ไม่มีแบบอย่างจากเรา(นบีและบรรดาศอฮาบะห์) การงานนั้นย่อมถูกปฏิเสธ”

 (รายงานโดยบุคอรีย์ / ๒๖๙๗. และมุสลิม / ๑๗๑๘) 

          ส่วนการเลยเถิดในเรื่องของศาสนา หรือทิ้งในสิ่งที่เป็นฮาล้าล ก็เข้าไปในเครือข่ายของบิดอะหฺเช่นเดียวกัน เช่น การอดหลับอดนอนในเวลากลางคืนเพื่อยืนละหมาด การละทิ้งเรื่องแต่งงาน หรือการถือศิลตลอดกาล ดังกล่าวนั้นท่านนบี  ได้ห้ามศอฮาบะหฺมิให้ทำสิ่งดังกล่าว พร้อมกับพูดอย่างรุนแรง 


عن أنس رضي الله عنه أَنَّ نَفَرًا مِنْ أَصْحَابِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ سَأَلُوا أَزْوَاجَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ عَمَلِهِ فِي السِّرِّ فَقَالَ بَعْضُهُمْ لَا أَتَزَوَّجُ النِّسَاءَ، وَقَالَ بَعْضُهُمْ لَا آكُلُ اللَّحْمَ وَقَالَ بَعْضُهُمْ لَا أَنَامُ عَلَى فِرَاشٍ، فَحَمِدَ اللهَ وَأَثْنَى عَلَيْهِ، فَقَالَ: «مَا بَالُ أَقْوَامٍ قَالُوا كَذَا وَكَذَا، لَكِنِّي أُصَلِّي وَأَنَامُ وَأَصُومُ وَأُفْطِرُ وَأَتَزَوَّجُ النِّسَاءَ، فَمَنْ رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي» 


        “มีศอหาบะฮฺของท่านนบี กลุ่มหนึ่งได้ถามบรรดาภรรยาของท่านนบี เกี่ยวกับการกระทำของท่านนบี  ที่เขาไม่ทราบ (แต่หลังจากที่พวกเขาทราบ) บางคนในหมู่พวกเขาได้กล่าวว่า ฉันจะไม่แต่งงานกับสตรีอีกต่อไป,บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า ฉันจะไม่กินเนื้อสัตว์, และบางคนก็กล่าวว่า ฉันจะไม่นอนบนที่นอน (หลังจากที่ข่าวนี้ถึงท่านนบี  ท่านจึงได้เรียกมารวมตัวกัน) 

ท่านได้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญอัลลอฮฺและสดุดีต่อพระองค์แล้วกล่าวว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับกลุ่มชนที่พวกเขากล่าวอย่างนั้น อย่างนี้(ตามที่พวกเขาตั้งใจที่จะกระทำ) 

ท่านนบี  จึงกล่าวว่า "แต่ทว่าฉันละหมาดและฉันก็นอน ฉันถือศีลอดแล้วก็ฉันก็ละศีลอด และฉันก็แต่งงานกับสตรี ดังนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาอื่นจากแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่พวกของฉัน” 

(รายงานโดยบุคอรีย์ / 2487) 

        หากการละทิ้งเรื่องดังกล่าวและคิดว่ามันเป็นเรื่องศาสนา ทำแล้วได้ผลบุญ ถือเป็นบิดอะหฺทันที และมันก็ตรงกับข้อห้ามที่พระองค์ได้กล่าวว่า

“ผู้ที่ศรัทธาทั้งหลาย ! จงอย่าได้ให้เป็นที่ต้องห้าม ซึ่งบรรดาสิ่งดี ๆ ในสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงอนุมัติแก่พวกเจ้า

และพวกเจ้าจงอย่าละเมิด แท้จริงอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบบรรดาผู้ละเมิด “

( อัลมาอีดะห์ )

        โองการนี้ได้บ่งบอกถึงการกระทำดังกล่าว ว่ามันเป็นสิ่งที่ละเมิด และอัลลอฮนั้นไม่ชอบผู้ที่ละเมิดทั้งหลาย เช่นเดียวกับการปลีกตัวมาเป็นพระของพวกนะศอรอ ที่พวกเขาปลีกตัวจากโลก ด้วยกับอาศัยอยู่ในวัดในโบส โดยที่พระองค์มิได้ลงบัญชาสั่งแต่อย่างใด 


ส่วนการถือสันโดษนั้น เรามิได้บัญญัติมันขึ้นมาแก่พวกเขา (เว้นแต่) พวกเขาประดิษฐ์มันขึ้นมา เพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺ

แต่พวกเขามิได้เอาใจใส่เท่าที่ควรจะกระทำมัน กระนั้นก็ดีเราก็ได้ประทานรางวัลของพวกเขาแก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเขา แต่ส่วนมากของพวกเขาเป็นผู้ฝ่าฝืน “

 

 (อัลฮาดีด)