พึงระวังการอุตริในศาสนา
  จำนวนคนเข้าชม  3437

 

พึงระวังการอุตริในศาสนา

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

        อิสลามที่บริสุทธิ์ยังคงได้รับการปกป้องจากอัลลอฮ์ ด้วยกับการที่พระองค์รับประกันที่จะรักษาอัลกุรอานไม่ให้ถูกทำลาย หรือถูกแก้ไขบิดเบือนดั่งดำรัสของพระองค์ที่ว่า


إِنَّا نَحْنُ نَزَّلْنَا الذِّكْرَ وَإِنَّا لَهُ لَحَافِظُونَ ( 9 )


"แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน(อัลกุรอาน)ลงมา และแท้จริงเราเป็นผุ้รักษามันอย่างแน่นอน"

(สูเราะห์ อัลหิจร์ อายะห์ที่ ๙)

        นี่คือการยืนยันจากอัลลอฮ์ ที่พระองค์จะรักษาอัลกุรอานไว้ แน่นอนเมื่ออัลกุรอานที่ถูกประทานลงมายังถูกรักษาไว้ซึ่งเป็นหลักประกันว่า อิสลามที่ถูกต้องยังคงถูกรักษาไปจนถึงวันกิยามะห์ แต่ความพยายามของผู้ที่ไม่หวังดีต่ออิสลามก็ยังมีความพยายามที่จะบิดเบือนอิสลาม และสาเหตุอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นเหตุให้มีสิ่งเจือปนกับคำสอนของอิสลาม 

          บางครั้งสิ่งที่มาเจือปนอาจจะมาจากการที่อิสลามได้ขยายอณาเขตไปยังแคว้นต่างๆ ที่มีผู้คนหลากหลายความเชื่อ หลากหลายวัฒนธรรม เมื่ออิสลามเข้าไปยังพื้นที่ต่างๆ ผู้คนก็ได้เข้ารับอิสลาม ซึ่งบางคนที่เข้ารับอิสลามแล้วแต่ความเชื่อเดิมๆ ก็ยังหลงเหลืออยู่  จึงนำเข้ามาผสมผสานกับคำสอนอิสลาม จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากหลักคำสอนอิสลาม และด้วยกับการที่ท่านนบี มูฮัมหมัด ได้มีความเป็นห่วงประชาชาติของท่าน ท่านจึงได้เตือนประชาชาติของท่านให้ระวังการอุตริขึ้นมาและยึดเอาสิ่งนั้นเป็นหลักคำสอนของศาสนา


قَالَ: رَسُولُ اللَّهِ - صلى الله عليه وسلم - "مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ"؛ رَوَاهُ الْبُخَارِيُّ [رقم: 2697]، وَمُسْلِمٌ [رقم: 1817].

ท่านรอซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า "ใครได้เริ่มขึ้นมาในกิจการงานของเรา(ในศาสนา) ซึงไม่ได้มาจากศาสนา ดังนั้นมันก็ถูกปฏิเสธ"
 

(บันทึกโดย มุสลิม)

        ในยุคของท่านนบี ไม่มีใครกระทำในเรื่องของศาสนาที่เป็นการอุตริขึ้นมา แต่ท่านนบี ได้บอกถึงอนาคตข้างหน้าจะมีการอุตริขึ้นมา และยึดสิ่งนั้นเป็นศาสนา ด้วยกับความเป็นห่วงของท่านนบี  ที่มีต่อประชาติของท่าน ท่านจึงได้เตือนเรื่องนีเอาไว้ ดังนั้นมุสลิมเรานั้นในการที่จะปฏิบัติสิ่งใดในเรื่องศาสนา จำเป็นต้องมีที่มาและหลักฐานบ่งชี้ จากแหล่งที่มาของการวางบทบัญญัติอิสลาม เช่น จากอัลกุรอาน จากอัซซุนนะห์ และมติของปวงปราชญ์ หลักเปรียบ(กิยาส)ในฮุกุมในกรณีที่ไม่มีหลักฐานตรงๆในเรี่องนั้นๆ

          แต่คำว่า บิดอะห์ (การอุตริในศาสนา) ได้มีข้อโต้แย้งในหมู่มุสลิม บางคนถือว่า การอุตริที่ดีในศาสนานั้นมี และบางคนถือว่า การอุตริที่เป็นสิ่งไม่ดี และเป็นความหลงผิด ไม่มีบิดอะห์ที่ดี (บิดอะห์ หาสานะห์)

          หากเราได้ศึกษาวิถีชีวิตของเหล่าศอหาบะห์ในการปฏิบัติศาสนานั้นพวกเขาให้ความสำคัญ และเอาใจใส่ในคำสอนของท่านนบี มูฮัมหมัด  กลัวเป็นอย่างมากที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ โดยการคิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาแล้วมายึดถือเป็นเรื่องศาสนา แต่แล้วเมื่อยุคสมัยหลังจากการจากไปของท่านนบี  สิ่งที่ท่านได้เตือนไว้ก็ได้เกิดขึ้น โดยได้มีหลายสิ่งหลายอย่างได้เกิดขึ้นมา และผู้คนต่างยึดถือเป็นเรื่องศาสนา


สาเหตุที่กระทำให้บิดอะห์แพร่กระจายพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

     ๑. บรรดาผู้ที่มีความรู้นิ่งเฉยกับบิดอะห์ที่อุตริขึ้นมาในศาสนา เมื่อผู้คนทั่วไปเห็นว่า ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือนในเรื่องนั้นทำให้เขา เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

     ๒. มีบุคคลอยู่ในแวดวงของวิชาการ แต่ด้วยกับผลประโยชน์อยู่เหนือความถูกต้อง ทำให้เขายอมที่จะปฏิบัติ รณรงค์ให้มีการกระทำสิ่งที่เป็นการอุตริกรรมทางศาสนา จนกระทั่งบุคคลธรรมดาทั่วไปเข้าใจสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะผู้รู้ยังปฏิบัติสิ่งเหล่านั้น ผู้คนก็เลยปฏิบัติโดยไม่ถามหาหลักฐานจากผู้ที่มีความรู้

     ๓. การได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจทางการเมืองในบิดอะห์ทางศาสนาบางอย่าง โดยบรรดานักการเมืองหวังผลคะแนนจากประชาชนที่เขาสนับสนุนในเรื่องนั้น หรือในยุคคอลีฟะห์มะมูน ก็ได้คล้อยตามหลักความเชื่อของมัวะตาซิละห์ที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ และยังมีความเชื่อว่าอัลกุรอาน คือ มัคลูคสิ่งที่ถูกสร้าง จนกระทั่งคอลีฟะห์มะมูนได้สนับสนุนบิดอะห์เหล่านั้นให้แพร่กระจาย

     ๔. การอุตริที่ผู้คนกระทำมันได้กลายเป็น คล้ายกับประเพณีปฏิบัติในสังคมที่แยกออกจากกันไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้คนนั้นอนุรักษ์บิดอะห์เหล่านั้น เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

     ๕. ขาดแคลนผู้มีความรู้ ในบางสังคมขาดผู้รู้คอยชี้แนะ สอนสั่งในเรื่องศาสนา ผู้คนจึงปฏิบัติศาสนาตามความรู้ที่มีอยู่ ซึงบางครั้งความรู้ที่มีอยู่เป็นความรู้ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาที่ถูกต้อง และก็ไม่มีใครสามารถแยกแยะบอกกล่าวในสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านั้นได้

และอีกมากมายจากสาเหตุของการทำให้บิดฮะห์การอุตริในศาสนาได้กระจายในสังคมมุสลิม


         ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงได้รับประกันในการปกป้องรักษาอัลกุรอานให้คงอยู่ตลอดไป และการปกป้องอัลกุรอานรวมไปถึงการปกป้องอัลหะดีษ ของท่านนบี  ที่ได้มาทำการอรรถธิบายอัลกุรอานในสิ่งที่อัลกุรอานบอกไว้แบบรวมๆ อัลหะดีษจะมาขยายความอัลกุรอานและบอกถึงรายละเอียดต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีสิ่งเจือปนเข้ามาปะปนกับหลักคำสอนของอัลอิสลาม บรรดานักวิชาการผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง และผู้ที่ปฏิบัติตามความรู้ก็จะสามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นการอุตริกรรมได้ และได้ยึดมั่นสิ่งนั้นเป็นศาสนา ดังแนวทางที่จะทำให้เรารอดพ้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการอุตริในศาสนา คือการยึดมั่นอัซซุนนะห์ 

ดังคำพูดของท่านนบี  ที่ว่า


وعن العرباض بن سارية رضي الله عنه قال: وعظنا رسول الله صلى الله عليه وسلم موعظة بليغة، قلنا: يا رسول الله كأنها موعظة مودع فأوصنا قال: « أُوصِيكُمْ بِتَقْوَى اللهِ، وَالسَّمْعِ وَالطَّاعَةِ وَإنْ تَأمَّر عَلَيْكُمْ عَبْدٌ حَبَشِيٌّ، وَإِنَّهُ مَنْ يَعِشْ مِنْكُمْ فَسَيَرَى اختِلافاً كَثيراً، فَعَليْكُمْ بسُنَّتِي وسُنَّةِ الخُلَفاءِ الرَّاشِدِينَ المَهْدِيِيِّنَ عَضُّوا عَلَيْهَا بالنَّواجِذِ، وَإِيَّاكُمْ وَمُحْدَثَاتِ الأُمُورِ؛ فإنَّ كلَّ بدعة ضلالة ». [أخرجه : أبو داود ( 4607 ) ، وابن ماجه ( 43 ) ، والترمذي ( 2676 ) وقال: حديث حسن صحيح]


         มีรายงานจากท่าน อัลอิรบาฎ บิน ซารียะห์ รอฎิยัลลอฮุอันฮู ได้กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  ได้ให้คำตักเตือนแก่พวกเรา เป็นคำตักเตือนที่ลึกซึ้ง

เราได้กล่าวว่า โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ  เสมือนว่า มันเป็นคำตักเตือนอำลา ดังนั้นท่านโปรดสั่งเสียแก่พวกเราเถิด

 

♥ ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ให้มีการเชื่อฟังปฏิบัติตาม หากแม้นว่าเขาเป็นทาสชาวหาบาชีย์ได้เป็นผู้นำแก่พวกเจ้า

♥ และแท้จริงใครมีชีวิตอยู่จากพวกเจ้า แล้วเขาจะได้เห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างมากมาย

♥ ดังนั้นจำเป็นสำหรับพวกท่านจะต้องยึดมั่นต่อซุนนะห์ของฉัน และซุนนะห์ของบรรดาคูลาฟาฮฺอัรรอชีดีน(คอลีฟะห์ที่ได้รับการชี้นำอยู่ในทางนำที่ถูกต้อง)

♥ พวกท่านจงกัดมัน ด้วยกับฟันกราม

♥ และพวกท่านพึงระวัง จากการกระทำขึ้นมาใหม่ของกิจการงาน (อุตริขึ้นมาในศาสนา) เพราะว่าทุกการอุตริ คือความหลงผิด "


(บันทึกโดย อาบูดาวุด หะดีษที่ ๔๖๐๗ อิบนูมายะห์ดีษที่ ๔๓ อัตติรมีซีย์ หะดีษที่ ๒๖๗๖ อัตติรมีซีย์ได้กล่าวไว้หะดีษนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้อง)