ข้อชี้แนะ สำหรับเยาวชน
  จำนวนคนเข้าชม  4096

 

ข้อชี้แนะ สำหรับเยาวชน

 

เขียนโดย : อับดุลอะซีซ บิน มุฮัมมัด อัสซัดฮาน
 

แปลและเรียบเรียง : อาจารย์ยาซิร กรีมี


 

          เยาวชนทั้งหลาย ในเมื่อท่านคือ ผู้ใหญ่ในอนาคต  ในอนาคตท่านคือผู้ใหญ่ คือนักวิชาการ คือผู้นำ ผู้ชี้นำสังคม ท่านจะต้องมีบุคลิกภาพ มีความรู้ และมีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะทำให้ท่านเป็นบุคลากรของอิสลามที่ดีมีคุณภาพ เราจึงขอแนะนำและชี้แนะบางประการที่อาจเป็นประโยชน์ต่อท่าน ดังนี้


 

1. แบบอย่างในการไปละหมาดญะมาอะฮฺ

 

          มิได้หมายถึง ท่านไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิดเท่านั้น แต่แบบอย่างที่ดีและสมบูรณ์นั้น หมายถึง ท่านจะต้องไปทันตั๊กบีร่อตุ้ลเอี๊ยะหฺรอม และในสังคมปัจจุบัน คนเรามักจะมองข้ามความสำคัญตรงนี้ไป บางคนมาหลังตั๊กบีร่อตุ้ลเอี๊ยะหฺรอม บางคนมาร็อกอะฮฺที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ บางคนมาไม่ทันญะมาอะฮฺ ที่แย่ไปกว่านั้น บางคนอาจประวิงเวลาไปจนเกือบหมดเวลา หรืออาจะพลาดละหมาดในเวลานั้นไปเลยก็มีให้เห็น ท่านจะต้องมีสำนึกในเรื่องละหมาดให้มาก ๆ เพื่อให้ผู้คนเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้

          หากเราลองย้อนมองในประวัติศาสตร์ เราจะพบกับแบบฉบับอันดีงามขอลกัลป์ยาณชนในยุคแรกของอิสลาม พวกเขาเหล่านั้นระมัดระวังและให้ความสำคัญกับตั๊กบีร่อตุ้ลเอียะหฺรอมเป็นอย่างมาก จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ ได้จารึกการกระทำของบุคคลเหล่านั้น พร้อมทั้งชื่นชมในวิถีชีวิตของผู้เป็นบรรพชน คนต้นแบบแห่งโลกอิสลาม

 

 

          ♦ ในหน้าประวัติศาสตร์ของอิมามอัลอะฮฺมัช (สุไลมาน บิน มะฮฺรอน มีชีวิตอยู่ช่วง ฮ.ศ. 61 - 148 ผู้รู้จากเมืองอัลกูฟะฮฺ เป็นตาบิอีนรุ่นหลัง ๆ) บันทึกไว้ว่า ท่านไม่เคยพลาดตั๊กบีร่อตุ้ลเอียะหฺรอม เป็นเวลาถึง 70 ปี

 

          ♦ ในหน้าประวัติศาสตร์ของอัลกอฏีย์ ตะกียุดดีน (สุไลมาน บิน ฮัมซะฮฺ บิน อะหฺมัด อัลมักดิซีย์ อบูอัลฟัฎล์ มีความชำนาญในเรื่องฟิกฮฺ) กล่าวไว้ว่า “ฉันมิเคยละหมาดคนเดียว (หมายถึงไปร่วมญะมาอะฮฺตลอด) ยกเว้น 2 ครั้งเท่านั้น ดูเสมือนว่า 2 เวลานั้น ฉันไม่ได้อรรถรสใด ๆ เลย” (ท่านบอกว่า การละหมาดก็เหมือนมิได้ละหมาด เพราะว่าพลาดผลบุญการตอบแทนอันยิ่งใหญ่) ทั้ง ๆ ที่ท่านอายุใกล้ เก้าสิบปีแล้ว

 

          ♦ ในหน้าประวัติศาสตร์ของ มุฮัมมัด บิน สะมาอะฮฺ (มีชีวิตในช่วง ฮ.ศ. 130 - 233) ท่านพูดว่า “เป็นระยะเวลา 40 ปี ฉันมิเคยพลาดตั๊กบีรแรกเลย ยกเว้นมีอยู่ 1 วันเท่านั้นที่ไม่ทัน”

 

          ♦ ในหน้าประวัติศาสตร์ของ ท่านสะอี๊ด บิน อัลมุซัยยิบ (อบูมุฮัมมัด อัลกุเราะซีย์ อัลมัคซูมีย์ ตาบิอีนรุ่นต้น ๆ ผู้รู้แห่งเมืองมะดีนะฮฺ มีชีวิตช่วง ฮ.ศ. 14 - 94) เล่าว่า เป็นระยะเวลา 40 ปี ท่านตั้งเจตนา (เหนียต) ละหมาดในขณะที่ท่านอยู่ในมัสยิด ก่อนเสียงอะซานแต่ละเวลา (หมายถึงท่านอยู่ในมัสยิดก่อนเสียงอะซาน เป็นการเตรียมตัว และให้ความสำคัญกับตั๊กบีรแรกของการละหมาด เป็นระยะเวลา 40 ปี)
 

          ♦ และคนสุดท้ายที่จะนำมาเป็นตัวอย่าง คือ อิบรอฮีม บิน มัยมูน อัศซออิฆ (อบูอิสฮาก) เมื่อท่านกระทำงานใด ประกอบอาชีพใดก็ตาม เมื่อท่านได้ยินเสียงอะซาน ท่านจะละทิ้งหรือหยุดงานนั้นโดยทันที แล้วรีบรุดไปมัสยิดเพื่อละหมาดทันที

            มาชาอัลลอฮฺ เยาวชนทั้งหลาย เมื่อได้รับทราบข้อมูลข้างต้นแล้ว ท่านรู้สึกอย่างไรกับการกระทำของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งทำให้อิสลามเจริญรุ่งเรืองในอดีต ท่านสมควรจะยึดพวกเขาเหล่านั้นเป็นแบบฉบับ อ่านประวัติศาสตร์แล้วย้อนมองดูตัวเราว่าเป็นอย่างไร เราจะพบการกระทำก่อน เราจะพบความรู้ควบคู่การปฏิบัติ สมกับคำพูดที่ว่า แบบอย่างที่ดีนั้นมีค่ามากกว่าคำสอนที่ปราศจากการกระทำ


2. แบบอย่างในการละหมาดวันศุกร์ การรีบเร่งไปละหมาดวันศุกร์แต่เนิ่น ๆ

          ปัจจุบันเราพบเห็นในสังคมมุสลิม ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ให้ความสำคัญในการรีบเร่งไปละหมาดวันศุกร์ บางคนไปหลังอะซาน บางคนไปหลังจากที่ค่อฏีบกล่าวคุตบะฮฺ บางคนไปในช่วงคุฏบะฮฺที่สอง หรือไม่บางคนอาจไปก่อนอิกอมะฮฺเพียงเล็กน้อย บางคนตลอดชีวิตมีพฤติกรรมในลักษณะนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย

          เยาวชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺ เถิด ผู้ใดที่พฤติกรรมดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น พึงทราบเถิดว่า แท้จริงชัยฏอนนั้นคอยหลอกล่อเราให้พลาดคุณความดีในทุก ๆ รูปแบบไปจนถึงให้เราเลิกทำความดีแล้วถลำอยู่ในความชั่วตลอดเวลา

          เยาวชนทั้งหลาย หากเราย้อนมองดูประวัติศาสตร์ ดูการกระทำของชาวสะลัฟ ในเรื่องการละหมาดวันศุกร์ การเตรียมพร้อมในวันศุกร์และการให้ความสำคัญต่อวันศุกร์ เราจะพบว่า พวกเขารีบเร่งไปละหมาดวันศุกร์ กระจายกันไปตามมัสยิดต่าง ๆ ตั้งแต่หลังละหมาดศุบฮฺ อันเนื่องมาจาก พวกเขาตระหนักถึงผลบุญของการรอคอยละหมาดวันศุกร์ และความสำคัญของวันศุกร์นั่นเอง


3. แบบอย่างในการติดต่อสัมพันธ์เครือญาติ

          เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนส่วนใหญ่ละเลย หลงลืม หรือหละหลวม ทั้ง ๆ ที่บัญญัติศาสนากำชับให้มุสลิมทุกคนสัมพันธ์กับเครือญาติกันและกัน ทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา ไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง พร้อมทั้งคาดโทษกับบรรดาผู้ไม่ใยดีเครือญาติ ตัดสัมพันธ์ญาติมิตร

อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“ดังนั้น หวังกันว่าหากพวกเจ้าผินหลังให้กับการศรัทธาแล้ว พวกเจ้าก็จะก่อความเสียหายในแผ่นดิน และตัดความสัมพันธ์ทางเครือญาติของพวกเจ้ากระนั้นหรือ ?” 

(มุฮัมมัด 47 : 22)

ท่านนบี  กล่าวว่า “ผู้ที่ตัดขาดเครือญาติจะไม่ได้เข้าสวนสวรรค์”

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ ฮะดีษหมายเลข 5984, และมุสลิม ฮะดีษหมายเลข 2556)

          เยาวชนที่รัก จงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่าง เป็นผู้ฟื้นฟูการติดต่อเครือญาติเถิด เพื่อจะเป็นที่รักที่ชื่นชมของคนในสังคมและญาติพี่น้อง แล้วที่สุดคือ อัลลอฮฺ และร่อซูล ของพระองค์พอใจในการกระทำ


4. แบบอย่างนี้สำคัญมาก คือ การกตัญญู ทำดีต่อบุพการี

          เป็นเรื่องแปลกยิ่งในสังคมปัจจุบัน ที่บุคคลหนึ่งในภายนอกมีบุคลิกภาพดี พูดจา วาจาสุภาพ มารยาทงาม เอื้อเฟื้อใจบุญต่อบุคคลรอบข้าง แต่ในอีกด้าน เขากลับเป็นคนเย็นชา เมินเฉย หรือในบางครั้งก็หยาบคายต่อบิดามารดา บุคคลจำพวกนี้จะได้รับความสำเร็จ หรือได้รับเตาฟีกจากอัลลอฮฺ  ได้อย่างไร เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ การอกตัญญูต่อบิดามารดา เป็นสิ่งถูกห้ามให้ได้รับคุณความดี ดังดำรัสของอัลลอฮฺ 

“และพระผู้อภิบาลของเจ้าได้บัญชาว่า สูเจ้าทั้งหลายอย่าได้เคารพภักดีผู้ใด นอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว และจงทำดีต่อบิดามารดา” 

(อัสอิสรออฺ 17 : 23)

          เยาวชนที่รัก พึงให้ความสำคัญและให้คุณค่าต่อการทำดีต่อบิดามารดา กตัญญูรู้คุณ สุภาพ อ่อนโยน ทำให้ท่านทั้งสองพอใจในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าหากคนหนึ่งคนใดเสียชีวิตแล้ว หน้าที่ของผู้เป็นลูกคือ ดุอาอฺและติดต่อญาติ และสหายของบิดาหรือมารดาที่สิ้นชีวิตไปแล้ว

          การกตัญญูต่อบิดามารดานั้น บรรดานบีท่านก่อน ๆ ก็ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน ซึ่งอัลลอฮฺ  ได้ตรัสชมเชยไว้ในคัมภีร์ของพระองค์  ดังที่พระองค์ตรัสถึงนบีนูหฺ ไว้ความว่า

“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่ข้าพระองค์ และพ่อแม่ของข้าพระองค์ และผู้ที่เข้ามาในบ้านของข้าพระองค์ที่เป็นผู้ศรัทธา

และบรรดาผู้ศรัทธาชายและบรรดา ผู้ศรัทธาหญิง และพระองค์ท่านอย่าได้เพิ่มอันใดแก่บรรดาพวกอธรรม นอกจากความพินาศหายนะเท่านั้น"

(นูฮ 71 : 28)

ตรัสถึงนบียะฮฺยา ว่า

“และเป็นผู้กระทำความดีต่อบิดามารดาของเขา”

(มัรยัม 19 : 14)

และตรัสถึงนบีอีซา ว่า

“และทรงให้ฉันทำดีต่อมารดาของฉัน” 

(มัรยัม 19 : 32)

          เยาวชนที่รักทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า บรรดาสะลัฟโดยเฉพาะผู้ที่เป็นอุละมาอฺ นักวิชาการในยุคก่อน ล้วนแต่ให้ความสำคัญต่อการทำความดีแก่บิดามารดา กตัญญูรู้คุณท่านทั้งสอง และถือว่าเป็นงานที่สำคัญและยิ่งใหญ่

          ♦ ท่านมันศูร บิน อัลมุอฺตะมัร (อบูอิตาบ อัซซุลละมีย์ อัลกูฟีย์ ตาบิอีน เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 133) หนึ่งในบรรดาผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ท่านเคยหวีผม สระผมให้กับมารดาของท่าน (แสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ และทำดีต่อมารดา)

          ♦ ท่านฮัยวะฮ์ บิน ชุรอยหฺ (อิบนุ ศ๊อฟวาน อัลอิมาม อัรรอบบานีย์ อบูซัรฮ์ เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 158) อุละมาอฮฺผู้คอยให้การอบรมตักเตือน ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านอยู่ในวงสนทนาธรรม ให้การสั่งสอนแก่ ผู้มาฟังมารดาของท่าน ก็ได้เข้ามาแล้วกล่าวว่า “โอ้ ฮัยวะฮ์ ลุกขึ้นแล้วช่วยเอาอาหารไปให้ไก่ด้วย” ท่านฮัยวะฮ์ตอบรับคำสั่งของมารดาทันทีไม่รีรอ รีบเอาอาหารไปให้ไก่ แล้วหยุดการเรียนการสอนเอา ไว้ก่อน

          ♦ ท่าน ฮุจร์ บิน อัลอัดบัร (อบูอับดุรเราะหฺมาน ฮุจร์ บิน อะดีย์ เศาะฮาบีย์ เสียชีวิตปี ฮ.ศ. 53) ก่อนที่จะนำมารดาเข้านอน ท่านจะตรวจสอบที่นอนและหมอนก่อนว่า มีอะไรเป็นอันตราย มีก้อนหิน ก้อนกรวดหรือเปล่า เมื่อแน่ใจว่าเรียบร้อยปลอดภัยแล้ว ท่านจึงนำมารดาล้มตัวลงนอน เพื่อให้หลับพักผ่อนอย่างสบาย

          พวกท่านทราบหรือไม่ว่า เหตุใดพวกเขาจึงปรนนิบัติต่อมารดาเช่นนี้ ? เพราะเขาเหล่านั้นตระหนักดีว่า การกตัญญูต่อบิดามารดาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ได้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ และเป็นเหตุให้ชีวิตของเขามีความจำเริญ ได้รับความผาสุกที่แท้จริง ทั้งในดุนยาและอาคีเราะฮฺ


5. แบบอย่างในการตักเตือนกันและกัน กำชับให้ทำความดี ละทิ้งความชั่ว ให้คิดว่าเรื่องนี้เป็น สิ่งสำคัญในความเป็นมุสลิม

ท่านนบี  กล่าวว่า “ศาสนาคือการตักเตือน" 

เรา (ศ่อฮาบะฮฺ) จึงกล่าวว่า “เพื่อใคร ?” 

ท่านนบี  ได้กล่าวว่า “เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อร่อซูลของพระองค์ และเพื่อบรรดาผู้นำมุสลิม และเพื่อมุสลิมทั่วไป” 

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขฮะดีษ 55)

          เยาวชนที่รัก จงแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจในศาสนา ตักเตือน สั่งสอน อบรมกันและกัน จงทำจุดเริ่มต้นของเราให้เหมือนจุดเริ่มต้นของศ่อฮาบะฮฺ ที่ชีวิตจิตใจของพวกเขามีแต่การศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอีมานที่เพิ่มพูน  ดังคำพูดของศ่อฮาบะฮฺบางท่าน ที่กล่าวกับสหายของท่านว่า 

“มาร่วมวงสนทนากับเรา มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อใช้เวลาให้พวกเรามีอีมานที่เพิ่มพูน”

          สังคมใดที่ผู้ร่วมสนทนา ผู้รับฟัง มีผู้ตักเตือนที่บริสุทธิ์ใจนั้น จะทำให้ได้รับความรู้ที่แท้จริง เพิ่มพูนความเป็นพี่น้องกันในอิสลามเหนียวแน่น สังคมจะมีคุณภาพ และเป็นแบบอย่างในอนาคต


6. แบบอย่างในการให้ความสำคัญกับเวลา

          เราควรระมัดระวัง ในการที่จะให้ตนเองทำสิ่งอนุมัติ แต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การสนทนา การพูดคุยเรื่องไร้สาระ ไม่มีความดี เราควรคิดเสมอว่า เมื่อเวลาในแต่ละวันหมดไป อายุขัยของเราก็สั้นลง ฉะนั้น เราควรหวงแหนเวลาในแต่ละวัน เห็นคุณค่าของมัน เพราะว่า แท้จริงนั้น เวลาเป็นสิ่งมีค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองเสียอีก เพราะหากมันผ่านไปแล้วก็ไม่สามารถเรียกกลับมาได้ ส่วนทรัพย์สินนั้น เมื่อหมดไปก็หามาทดแทนได้


7. แบบอย่างด้านความประพฤติ บุคลิกภาพ การวางตัวในสังคม

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเข้าสังคม หรืออยู่ต่อหน้าสาธารณะชน อย่าประพฤติตน หรือแสดงกิริยาอันไม่พึงประสงค์ต่อหน้าสาธารณะชน อย่าเป็นคนพูดมาก หัวเราะมาก พูดหยอกล้อเกินควร เพราะจะทำให้ความน่าเกรงขาม ความเคารพนับถือหมดไป จากผู้ที่เคยเคารพ เคยเกรงใจ ท่านจะต้องระวัง สุขุม รอบคอบ พูดเฉพาะสิ่งที่ควรพูด วางตนให้เหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วผู้คนก็จะให้ความเคารพนับถือท่าน แล้วท่านก็จะเป็นคนน่าเกรงขาม


8. แบบอย่างด้านการทำงาน การรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย

          เพราะคนส่วนใหญ่มักจะละเลยและบกพร่อง โดยเฉพาะหากท่านเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนจากหน่วยงาน ท่านจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์ เพราะมันคือหน้าที่รับผิดชอบ ที่ท่านจะต้องถูกสอบสวน อีกทั้งยังทำให้ได้รับคำชมเชย จากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน และยึดเอาการกระทำของเราเป็นแบบอย่าง ในหน่วยงานนั้น ๆ


9. แบบอย่างในการให้เกียรตินักวิชาการ อุละมาอฺ

          เราต้องให้เกียรติอุละมาอฺ เพราะพวกเขาคือ ผู้รับมรดกทางวิชาการมาจากท่านนบี  เราต้องไม่ ดูถูก ไม่ตำหนิพวกเขาเหล่านั้น  เพราะท่านนบี  กล่าวว่า

“ไม่ใช่พวกของเรา ผู้ที่ไม่เคารพยกย่องให้เกียรติผู้ใหญ่ของเรา ไม่เอ็นดูเมตตาต่อเด็ก (ผู้น้อย) ของเรา และผู้ไม่รู้ สิทธิ์ที่พึงปฏิบัติต่ออุละมาอฺของเรา” 

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์)


          ดังนั้น ต้องปกป้อง คุ้มครองเกียรติของพวกเขา ช่วยกันเผยแผ่ความรู้ที่รับมาจากพวกเขา หากว่าความรู้นั้น เป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ และพึงระวังการด่าว่า การให้ร้ายต่ออุละมาอฺ เพราะนั่นหมายถึง ความหายนะที่จะประสบกับตัวท่านเอง โดยเฉพาะการตำหนิ การให้ร้ายอุละมาอฺรอบบานีย์ ที่ประชาชาติอิสลามให้ความเชื่อถือ ให้ความไว้ใจ ให้การรับรอง ทั้งทางด้านวิชาการและมารยาทของพวกเขา

          ท่านอิมามอิบนุอะซากิร (อบูอัลกอเซ็ม อะลี บิน อัลหะซัน อัดดิมิซกีย์ มีชีวิตช่วง ฮ.ศ. 499 – 571) ได้กล่าวว่า ความว่า “พึงรู้เถิดว่าเลือดเนื้อของอุละมาอฺนั้นอาบยาพิษ” (หากใครกินมันด้วยการตำหนิ ต่อว่า ให้ร้ายแล้ว ผู้นั้นย่อมกินยาพิษเข้าไปในร่างกาย)

          ฉะนั้น เราจะต้องไม่ล่วงเกินอุละมาอฺคนหนึ่งคนใดเป็นอันขาด หากเรายังคงดื้อดึง คิดว่ามันไม่เป็นไร ไม่เป็นโทษแต่อย่างใด พึงทราบเถิดว่า นั่นคือ การที่อัลลอฮฺ  ทรงลงโทษเรา ให้จิตใจของเราตายด้าน แยกผิดชั่วไม่ออก จนกระทั่งวาระสุดท้ายของเรามาถึง - ขอพระองค์ทรงปกป้องเราให้พ้นจากพฤติกรรมแบบนี้ด้วยเถิด


          เยาวชนที่รัก มุสลิม มุสลิมะฮฺ ที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ วันนี้พวกเธออยู่ในฐานะนักเรียน นักศึกษา พรุ่งนี้อนาคตข้างหน้าอันใกล้ อินชาอัลลอฮฺ ใครคนหนึ่งอาจเป็นอุละมาอฺ เป็นนักวิชาการของโลกอิสลามต่อไป เพราะเยาวชนวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า นี่คือสัจธรรมความจริง ดังนั้นพวกเธอพึงรักษาสิทธิที่ต้องปฏิบัติต่ออุละมาอฺ ผู้รู้ในสังคมอิสลาม ไม่ล่วงเกินด้วยคำพูดที่ปราศจากความจริง แล้วต่อไปอัลลอฮฺ ก็จะทรงคุ้มครองพวกเธอ ดังที่พวกท่านคุ้มครองอุละมาอฺ บรรดาผู้รู้นักวิชาการ เพราะการกระทำกรรมใด ก็ได้รับผลกรรมเช่นนั้น แน่แท้อัลลอฮฺ  มิได้ทรงอธรรมต่อบ่าวคนใด นอกจากบ่าวคนนั้นเป็นผู้อธรรมต่อตนเอง

 

 

 

ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม
 

อ้างอิง www.islamselect.net