สตรีในอิสลามต่อการสร้างสังคมสันติภาพ
  จำนวนคนเข้าชม  8521

สตรีต่อการสร้างสังคมสันติภาพ


        ท่ามกลางกระแสมนุษยชาติกำลังถูกท้าทายด้วยลัทธิบูชาอารมณ์อันไร้ขอบเขต ศีลธรรม จริยธรรมมักเป็นคำถามที่พูดกัน แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตจริง จนกลายเป็นเหยื่อของความสูญเสียที่ต้องแลกกับคำว่า “การพัฒนา” และ “ความเจริญ” สตรีจึงเป็นตัวละครเอก ที่เพิ่มอรรถรสและสร้างสีสันความเข้มข้นของเนื้อหา ตลอดจนเป็นแม่เหล็กสำคัญ ที่สามารถดึงดูดผู้คนให้ติดตามบทละครน้ำเน่าบทหนึ่งเท่านั้น

       ท่ามกลางความล้มเหลวของระบบสังคมยุคดิจิตอลในการสรรค์สร้างสังคมคุณธรรม อิสลามได้มอบภารกิจหลักนี้ให้แก่สตรี ด้วยการยกย่องและให้เกียรตินางในฐานะมนุษย์ร่วมโลก รวมทั้งวางมาตรการปกป้องรักษา ตลอดจนให้ความคุ้มครองอย่างครบวงจรเพื่อให้นางปฎิบัติหน้าที่ในการจรรโลงสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

       อิสลามเชื่อว่าภายใต้อ้อมแขนของนางเท่านั้นที่สามารถสร้างความอบอุ่นและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทารกน้อยในการปกป้องภยันตรายทั้งปวง ด้วยความอ่อนโยนและความเมตตาของนางเท่านั้นที่สามารถรับภาระให้การอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ความนุ่มนวลของนางจึงเปรียบเสมือนกำแพงอันแข็งแกร่งที่คอยปกป้องภัยคุกคามภายนอกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

        หากเปรียบเทียบโลกนี้คือตึกหลังหนึ่ง หน้าที่ของผู้ชายคือการเป็นวิศวกรของสังคมที่คอยวางระบบโครงสร้างตลอดจนควบคุมการดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ แต่การที่จะมีอาคารเด่นสง่าสักหลังหนึ่ง เป็นไม่ได้ที่จะอาศัยความชำนาญของวิศวกรเพียงผู้เดียว มัณฑนากรต่างหากที่คอยจัดวางและตกแต่งอุปกรณ์ เพื่อความสมบูรณ์ของอาคารหลังนั้น


         สตรีในอิสลามจะได้รับเกียรติอันสูงส่งไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม มารดาจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากลูกๆ บุตรสาว พี่สาว หรือน้องสาว จะได้รับการคุ้มครองจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด และหากเป็นผู้สูงอายุเธอจะได้รับการปรนนิบัติจากลูกหลานอย่างดีเช่นเดียวกัน

        อัลลอฮ์ ได้ทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ทำหน้าที่เป็นบ่าวที่ดี ดังนั้นทั้งสองจะต้องเกื้อกูลและอุดหนุนระหว่างกันเพื่อทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้สมบูรณ์ หากปราศจากเพศใดเพศหนึ่ง จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮ์ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

 อัลลอฮ์ ตรัสไว้ ความว่า :

          “ และหนึ่งในสัญญาณแห่งเดชานุภาพของพระองค์ คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงให้มีความรักใคร่ และความเมตตาระหว่างกัน แท้จริงสิ่งดังกล่าวย่อมเป็นสิ่งเตือนใจสำหรับผู้ใคร่ครวญ”  ( อัลกุรอาน 30 : 21 )

 อัลลอฮ์ ตรัสไว้ ความว่า :

         “ ขอสาบานด้วยเวลากลางคืน เมื่อมันปกคลุม และด้วยเวลากลางวันเมื่อมันประกายแสง และด้วยผู้ทรงบังเกิดเพศชายและเพศหญิง แท้จริงการงานของพวกเจ้านั้นย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน ”  (อัลกุรอาน92 :  1-4 )

 อัลลอฮ์ ตรัสไว้ ความว่า :

          “พวกนางเป็นอาภรณ์สำหรับพวกท่านทั้งหลาย และพวกท่านทั้งหลายก็เป็นอาภรณ์สำหรับนาง” ( อัลกุรอาน 2 : 187 )

         เสื้อผ้าอาภรณ์นอกจากจะปกปิดอวัยวะ และสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้ว เสื้อผ้าจะสะท้อนถึงรสนิยม บุคลิกอุปนิสัยใจคอ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างบารมี และการมีสง่าราศีของผู้สวมใส่อีกด้วย

           อัลลอฮ์ ผู้ทรงสร้างมนุษย์ทั้งเพศชายและเพศหญิง และพระองค์เป็นผู้กำหนดแนวทาง และ ศาสนบัญญัติ คำสอนทุกคำจึงเป็นมาจากผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาสามารถ เป็นคำสอนที่สอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ และสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องฝืน หรือขัดกับสามัญสำนึกของปุถุชนทั่วไป

          อิสลามจึงมอบภารกิจหลักแก่สตรีโดยคำนึงถึงความแตกต่างจากเพศชาย ไม่ว่าทางด้านสรีระ ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ หรือแม้กระทั่งต้นกำเนิดช่วงปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ

         ดังนั้นอิสลามจึงกำหนดบทบาทของสตรีที่สอดคล้องกับธรรมชาติของนางที่สุด คือ การให้การอบรมและเลี้ยงดูลูกๆในบ้าน

        มีคำถามว่า การให้สตรีมีภาระเลี้ยงดูลูกที่จำกัดแต่ในบ้านเป็นการลิดรอนศักดิ์ศรีของสตรีหรือไม่?

       ขอตอบว่า “ การที่อารยประเทศได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยเฉพาะนักวิจัยด้านต่างๆ เพื่อค้นคว้าวิทยาการใหม่ๆในห้องทดลอง โดยที่รัฐบาลอำนวยความสะดวก และให้สวัสดิการที่เพียบพร้อมอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆที่กำหนดหน้าที่การทำวิจัยให้แก่เหล่าคณาจารย์โดยที่ให้ค่าตอบแทน และสวัสดิการเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เราสามารถสรุปได้ว่านั่น คือ การให้เกียรติสูงสุด ที่นักวิชาการได้รับ”

           เช่นเดียวกันกับอิสลาม การกำหนดให้สตรีอยู่ในบ้านและมอบภารกิจสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูบุตรและปรนนิบัติสามี โดยที่สามีเป็นฝ่ายให้สวัสดิการและให้ปัจจัยยังชีพ นับเป็นการจัดสรรภาระหน้าที่ที่ถูกต้องและยุติธรรมที่สุด

สตรีกับฮีญาบ

           ฮีญาบ คือ กำแพงที่สร้างความปลอดภัยของสตรี เป็นสัญลักษณ์แห่งศักดิ์ศรีและความมีคุณค่าของสตรี ฮีญาบ คือ ปัจจัยสร้างความสงบสุขของสังคม ความสูงส่งของอิสลาม สังคมมุสลิมถูกรุมเร้าจากอารยธรรมไร้ศีลธรรม ถ้าหากแผนการ “ ปิดอัลกุรอาน เปิดฮีญาบ ” ประสบผลสำเร็จ  ฮีญาบ คือ บทบัญญัติแห่งพระผู้เป็นเจ้า และมาตรการป้องกันโดยวิถีอิสลามในการแก้วิกฤตสังคม

สตรีในฐานะภรรยา

         สตรีในฐานะภรรยา มีภาระหน้าที่ในการปรนนิบัติ และเชื่อฟังสามีในสิ่งที่ดี อิสลามได้เน้นหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

          มีสตรีนางหนึ่งเข้าพบนะบีมุฮัมมัด และกล่าวว่า “บรรดาผู้ชายสามารถออกญิฮาดได้ หากพวกเขาประสบชัยชนะ  พวกเขาจะได้รับการตอบแทนอันมากมาย หากเขาพ่ายแพ้หรือเสียชีวิต (ในสมรภูมิ) พวกเขาจะได้เข้าสวรรค์ด้วยผลบุญอันล้นพ้น ในขณะที่พวกเราไม่ได้รับผลบุญอันใดเลย” 

นะบีมุฮัมมัด จึงตอบว่า

“จงบอกแก่สตรีทั้งหลายว่า  การเชื่อฟังและปฏิบัติตามสามี และการยอมรับสิทธิที่สามีพึงได้จากภรรยา  สามารถทดแทนผลบุญของการญิฮาดได้  แต่น้อยคนนักในหมู่ของพวกนางจะสามารถปฏิบัติได้”  (รายงานโดยบัซซาร และเฏาะบารอนี)

สตรีในฐานะมารดา

          สตรีคือแหล่งอนุบาลแห่งแรกของลูก เป็นผู้สร้างและดูแลอนุชนผู้ศรัทธา เป็นผู้จัดระเบียบในบ้าน ที่สำคัญอิสลามถือว่าสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา

สตรีในฐานะลูกสาวหรือสมาชิกในครอบครัว

         นางจะต้องได้รับการดูแลและอบรมเป็นอย่างดีจากผู้ปกครอง ผู้ปกครองของนางจะต้องเป็นผู้วางแผนให้นางประสบผลสำเร็จในชีวิตด้วยการแสวงหาสามีที่ดีและมีคุณธรรม ตามหะดีษความว่า :
 
         “หากมีผู้ที่ท่านพอใจในมารยาทและศาสนาของเขามาหาท่าน(เพื่อขอแต่งงานลูกสาวท่าน) ท่านจงแต่งงานให้เขาเถิด หากพวกท่านไม่กระทำ ก็จะเกิดความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน และความระส่ำระสายอย่างใหญ่หลวง” (รายงานโดยอิบนุมาญะฮ์)

          สตรีเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม นางจึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา การที่อิสลามให้ความสำคัญและเน้นหนักให้นางมีหน้าที่ดูแลอบรมลูก และปรนนิบัติสามีเพียงแต่ในบ้านนั้น ไม่ได้มีความหมายว่านางจะถูกสกัดกั้นมิให้ออกนอกบ้าน และไม่มีบทบาทในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่สังคมกำลังต้องการสตรีในการดำเนินกิจการด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมสงเคราะห์และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่เหมาะสมกับนาง แต่ทั้งนี้นางจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่หลักของนางมิให้บกพร่องหรือขาดเลยไป

        อิสลามให้ความสำคัญแก่สตรีมิได้ยิ่งหย่อนกว่าบุรุษ เพราะสตรี คือ ส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคม สตรีเป็นผู้ให้กำเนิดนักวิชาการที่ปราชญ์เปรื่อง ผู้นำที่อาจหาญ และบุคคลสำคัญในสาขาต่างๆมากมาย และด้วยสองมือของนางนี่เอง ที่จะต้องให้การเลี้ยงดู อบรมเยาวชนในรุ่นต่อไป และจะมาเป็นกำลังสำคัญของสังคมในอนาคต

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน  มาหะมะ