หัวใจที่มีชีวิตชีวา
  จำนวนคนเข้าชม  8137

 

หัวใจที่มีชีวิตชีวา

โดย.... อ.อารม  ทรัพย์สมาน

          จิตใจคนเรานั้นจะไม่เกิดการเบิกบาน และได้รับความถูกต้อง จนกว่าคนผู้นั้นจะได้รับรู้ความจริงอย่างชัดเจน และมีความปราถนาในความจริงนั้น พร้อมกับมีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งตรงข้ามกับความถูกต้อง  ดังนั้นหัวใจจึงมีสองพลังด้วยกัน

พลังที่ หนึ่ง คือ พลังแห่งความรู้ที่จำแนกได้ ระหว่างความถูกต้อง และ ความผิด

พลังที่ สอง คือ ถือว่าเขาเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งจะได้รับประโยชน์ในสิ่งที่ดี คุณงามความดี และความผาสุขก็จะกลับไปสู่เขา

         ดังนั้น ผู้ที่มีหัวใจที่เบิกบาน สมบูรณ์แบบ เขาจะต้องมีพลังแห่งความรู้ ซึ่งความรู้นั้นทันต่อเหตุการณ์ สามารถแยกได้ระหว่างความจริง และความเท็จ และการที่มนุษย์ได้มีพลังอันแรงกล้า รักในการเสาะแสวงหาความถูกต้อง พร้อมทั้งรักในความถูกต้องนั้นด้วย  ใครก็ตามที่ไม่รู้ความจริง (ในเรื่องศาสนา) และมีพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับ เขาก็เป็นผู้ที่อัลลอฮ์ ทรงโกรธกริ้ว และถ้าผู้ใดมีความจริง(ความถูกต้อง) และปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกต้องนั้น เขาจะเป็นผู้ที่ได้รับความโปรดปราน จากพระองค์ อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮุว่าตะอาลา

          อัลลอฮ์ ทรงใช้บ่าวของพระองค์ ให้ขอพรต่อพระองค์ในเวลาละหมาด ว่า ให้พระองค์ทรงให้ทางนำแก่พวกเรา มิใช่ทางของผู้ที่ถูกกริ้ว และไม่ใช่ทางของผู้ที่หลงผิด (หมายถึง พวกยะฮูดี และ พวกนะซอรอ) เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ปฏิบัติฝ่าฝืน บัญญัติของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ พวกนะซอรอ จึงถูกขนานนามว่า เป็นผู้ที่หลงผิด พวกเขาเป็นประชาชาติที่โง่เขลา ส่วนพวกยะฮูดี ถูกขนานนามว่า เป็นกลุ่มชนที่ถูกกริ้ว เนื่องจากไม่ประพฤติตนตามบัญญัติของพระองค์ อัลลอฮ์ ดังนั้นทั้งสองกลุ่ม จึงเป็นประชาชาติที่ไม่ได้รับความโปรดปราน จากพระองค์อัลลอฮ์ 

         ท่าน ซุฟยาน อิบนุ อุยัยนะห์ ได้กล่าวว่า ใครก็ตามที่ทำลาย ผู้ที่ทำอิบาดะฮ์ ต่อพระองค์ อัลลอฮ์ แน่นอน เขาผู้นั้น เป็นผู้ที่ทำตัวคล้ายคลึง พวกนะซอรอ และใครก็ตามที่ทำร้ายผู้รู้ (อิสลาม) แน่นอน เขาผู้นั้น ทำตัวคล้ายคลึงกับพวก ยะฮูดี  เนื่องจากพวกะซอรอ ปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่ใช้ความรู้  ส่วนพวกยะฮูดีรู้ความถูกต้อง แต่ไม่ปฏิบัติตามความถูกต้องนั้น 

 

มีรายงานจาก ตริมีซีย์ เป็นฮะดิษ จากท่าน อะดี อิบนิ ฮาติม ว่า ท่านนะบี  กล่าวว่า

"พวกยะฮูดี เป็ผู้ที่ถูกโกรธกริ้ว และ พวกนะซอรอ เป็นพวกที่หลงผิด(จากพระองค์อัลลอฮ์)"

 

         และพระองค์ ได้รวมบุคคลสองจำพวกนี้ ไว้ในอัลกุรอาน หลายตอนด้วยกัน ดังที่พระองค์ ตรัสในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์  ความว่า

 "และเมื่อบ่าวของข้าถามเจ้า (มุฮัมมัด) ถึงข้าว่า (อัลลอฮ์) แท้จริง(มุฮัมมัดจงตอบเถิดว่า)ข้านั้นอยู่ใกล้

 (อัลลอฮ์) ข้าจะตอบรับคำวิงวอน ของผู้ที่วิงวอนขอต่อข้า

 ดังนั้น พวกเขาจงตอบรับข้าเถิด  และจงศรัทธาต่อข้า (อัลลอฮ์) เพื่อว่าพวกเขาจะได้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง"

 

         พระองค์ ทรงรวบรวม บุคคลสองจำพวกที่กล่าวมานั้นในอัลกุรอาน เพื่อว่าให้พวกเขาเหล่านั้น ยอมรับการเรียกร้องของพระองค์ ให้ศรัทธาต่อท่านนะบี มุฮัมมัด  พระองค์ ตรัสไว้ในอัลกุรอาน ความว่า

"ดังนั้น บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา (มุฮัมมัด) และให้ความสำคัญแก่เขา และช่วยเหลือเขา

และปฏิบัติตามแสงสว่าง(อัลกุรอาน) ที่ถูกประทานลงมาให้แก่เขา และชนเหล่านั้นแหละ คือบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จ"

 

         และยังมีโองการอื่นอีกมากมาย ซึ่งสามารถค้นหาได้ในอัลกุราน

ดังที่อัลลอฮ์  ตรัสความว่า

" อะลิฟ ลาม มีม (*1*) คัมภีร์นี้ ไม่มีความสงสัยใด ๆ ในนั้น เป็นคำแนะนำสำหรับบรรดาผู้ยำเกรงเท่านั้น

คือบรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ(*2*)และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และส่วนหนึ่งจากสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขานั้น พวกเขาก็บริจาค 

และบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า(*3*) และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า(*4*) และต่อวันปรโลกนั้นพวกเขาเชื่อมั่น 

ชนเหล่านี้ คือ ผู้ที่(ตั้ง)อยู่บนคำแนะนำ(*5*)ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และชนเหล่านี้คือผู้ที่บรรลุผล  "

 


(1)  คำนี้มิใช่เป็นคัพท์ที่ถูกกำหนดให้มีความหมายดังเช่นคำอื่น ๆ หากแต่เป็นพยัญชนะโดด ๆ ซึ่งถูกนำมารวมกัน เพื่อให้อ่านออกสียงพยัญชนะเหล่านี้ต่อเนื่องกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องอ่านออกเสียงคำนี้เป็นพยัญชนะโดด ๆ ว่า อะลิฟ ลาม มีม ส่วนความมุ่งหมายอันแท้จริงของคำนี้และคำอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น อะลิฟ ลาม รอเป็นต้นนั้น ไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ เพราะท่านนะบีมิได้อธิบายไว้ แต่กระนั้นก็ยังมีนักปราชญ์บางท่านพยายามหาความเข้าใจ โดยนำพยัญชนะอื่น ๆ มาประกอบเพื่อให้มีความหมายในการนนี้ย้อมทำให้ความหมายของแต่ละพยัญชนะแตกต่างกันไป ซึ่งไม่เป็นที่ยึดถือได้ ยังมีอีกทรรศนะหนึ่งของนักปราชญ์บางท่านว่า พยัญชนะเหล่านี้ถูกนำมาระบุไว้ในตอนต้นของ ซูเราะฮฺ เพื่อเตือนผู้คนให้หันมาสนใจและสดับฟังโองการของอัลลอฮฺที่จะอ่านให้ฟังต่อไปคล้ายกับคำที่ใช้เตือนให้เตรียมตัวว่า หนึ่ง สอง สาม กระนั่น นี่ก็เป็นเพียงทรรศนะของนักปราชญ์ที่ต้องการจะให้ความหมาย แต่ความหมายที่แท้จริงนั้นไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
(2)  หมาถึงสิ่งที่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ เช่น อัตตะของอัลลอฮฺ มลาอิกะฮฺของพระองค์ และสภาพของปรโลก ตลอดจนการสอบสวนของมุงกัรฺ และนะกีรฺ แก่ผู้ที่เสียชีวิตไม่ว่าจะถูกฝังไว้ในสุสานหรือถูกเก็บไว้ในที่อื่นใดก็ตาม พร้อมด้วยการตอบแทน และลงโทษบุคคลเหล่านั้นในเบื้องต้นก่อนดัวย 
(3)  คือ คัมภีร์ อัล-กรุอานาที่ถูกประทานลงมาแก่นะบี
(4)  ได้แก่คัมภีร์ เตารอดและอินญีล และคัมภีร์อื่น ๆ 
(5)  ผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำที่มาจากอัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของพวกเขา 

 

 

และยังมีอีกซูเราะฮ์ หนึ่งที่พระองค์ ตรัสความว่า

"ขอสาบานด้วยกาลเวลา (*1*) แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน (*2*) นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย

และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน (*3*) "

 


(1)  อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงสาบานด้วยกาลเวลาอัลอัศรฺ คือกาลเวลาทั้งหมด เวลากลางคืน กลางวัน เช้า เย็น และกาลเวลาที่มีสิ่งแปลกประหลาด และสิ่งที่เป็นบทเรียน และข้อคิดต่าง ๆ ก้อตาดะฮฺกล่าวว่า อัลอัศรฺคือยามสุดท้ายของเวลากลางวัน พระองค์ทรงสาบานด้วยเวลาอัลอัศรฺ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงสาบานด้วยเวลาอัฎฎฮา เพราะในเวลาทั้งสองเป็นการยืนยันถึงเดชานุภาพของพระองค์ และเป็นข้อเตือนสติที่ดี 
(2)  คือมนุษย์นั้นอยู่ในสภาพที่ขาดทุนและหายนะ เพราะเขามีชีวิตอยู่ในความยากลำบาก และเมื่อตายไปก็จะอยู่ในนรก ดังนั้นเขาจึงขาดทุนทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตของเขาที่อยู่ในทรวงอกของเขา 
(3)  เว้นแต่บุคคล 4 ประเภท คือ ผู้ศรัทธา กระทำความดี สั่งเสียกันในสัจธรรม และสั่งเสียกันให้มีความอดทน บุคคลที่มีคุณลักษณะดังกล่าวเป็นผู้ประสบชัยชนะหรือได้รับความสำเร็จ เพราะพวกเขายอมเสียสละสิ่งที่ไม่มีค่าด้วยสิ่งที่มีค่า หรือยอมแลกเปลี่ยนความใคร่ใฝ่ต่ำที่อยู่ใกล้มือด้วยความดีที่อยู่ยงตลอดไป และตักเตือนหรือสั่งเสียซึ่งกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมซึ่งเป็นความดีทั้งหมด เช่น การศรัทธา การเชื่อมั่น การเคารพภักดีต่อพระผู้ทรงกรุณาปรานี และตักเตือนหรือสั่งเสียซึ่งกันและกันให้มีความอดทนต่อความยากลำบาก การปฏิบัติสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม  
 

 

         ดังนั้นเราทราบได้จากความหมายของซูเราะฮ์นี้ว่า พระองค์ทรงสาบานต่อการเวลา ซึ่งในกาลเวลานั้น มีทั้งการกระทำที่มีกำไร และขาดทุน เว้นแต่ผู้ที่มีพลังแห่งความรู้ ด้วยการศรัทธาต่ออัลลอฮ์  และพลังแห่งความรู้ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ จึงถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ทำความสมบูรณ์ให้แก่ตัวเขาเอง และผู้อื่นด้วย โดยการตักเตือนในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และตักเตือนโดยควบคุมอารมณ์ ด้วยการอดทน
 

          ผู้ที่ปฏิบัติตนเช่นนี้จะถือได้ว่า ผู้นั้นเป็นบุคคลที่ทำความสมบูรณ์ ให้กับตนเองโดยใช้ความรู้ที่เป็ประโยชน์ และการปฏิบัติงานที่ดี และเช่นเดียวกันเขาได้ทำให้ผู้อื่นเป็นบุคคลที่สมบูรณ์แบบ โดยสั่งสอนให้เขาปฏิบัติตามบทบัญญัติ และตักเตือนให้มีความอดทน ด้วยเหตุนี้ อิมามชาฟิอีย์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

"ถ้าหากว่า มนุษย์ได้คำนึงถึงความหมาย ในซูเราะฮ์ อัลอัศร์ แน่นอนก็เป็นที่พอเพียงแก่เขาแล้ว"

 

         ดังนั้น โองการต่างๆ จากอัลกุรอานที่ได้นำมากล่าวนั้น อัลลอฮ์  ทรงบอกให้เราทราบว่า แท้จริงผู้ที่มีความสุข คือ ผู้ที่รู้ความถูกต้อง และปฏิบัติตามความถูกต้องนั้นด้วย ส่วนผู้ที่มีแต่ความทุกข์นั้น คือ ผู้เขลาจากความจริง และหลงผิดออกจากความจริง รู้ความจริงแต่เขาฝ่าฝืนคำสอนที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามแนวทางที่ไม่ถูกต้อง


          ฉะนั้น มนุษย์เราจะมีหัวใจที่เบิกบาน หรือมีจิตใจที่มีชีวิต ชีวา จำเป็นที่มนุษย์เราจักต้องรู้กฏเกณฑ์  คือ มีพลังแห่งความรู้ ที่เท่าทันต่อความถูกต้อง มิเช่นนั้นเขาผู้นั้นก็ปฏิบัติสิ่งผิดอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้มนุษย์เป็นผู้รักษาความถูกต้อง และจะต้องจริงจังต่อความถูกต้องอีกด้วย