ซะกาตฟิฎเราะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  102841

 

ซะกาตฟิฏเราะฮฺ

เรียบเรียงโดย   ดร.อุษมาน  อัล-อัมร์

บทบัญญัติและวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)

ซะกาตฟิฏเราะฮ์ตามมติเอกฉันท์ของอุลามะอ์ถือเป็นฟัรฎู(จำเป็น) ดังรายงานจากท่านอิบนุอุมัรว่า

         "ท่านเราะซูล ได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ เป็นผลอินทผลัมจำนวน 1 ทะนาน(ศออ์) หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน 1 ทะนาน จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนมิว่าจะเป็นทาส เป็นไท ชาย หญิง เด็ก หรือผู้ใหญ่ และท่านได้สั่งใช้เรื่องดังกล่าวนี้ให้ทุกคนปฎิบัติให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนทั้งหลายจะออกสู่การละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์)"

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

รายงานจากท่าน อิบนุอับบาส กล่าวว่า

         "ท่านเราะซูล ได้กำหนดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้กับผู้ที่ถือศีลอด เพื่อเป็นการชำระคำพูดที่เหลวไหล และหยาบคาย เป็นอาหารให้กับผู้ที่ขัดสน บุคคลใดที่จ่ายซะกาตก่อนละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์) ถือว่าเป็นซะกาตที่ได้รับการตอบรับ และบุคคลใดที่จ่ายซะกาตหลังละหมาด(อีดิ้ลฟิตร์) ถือว่าเป็นการทำศอดาเกาะฮ์อย่างหนึ่ง จากบรรดาศอดาเกาะฮ์ต่างๆ"

(หะดิษฮะซัน บันทึกโดย อบูดาวูด อิบนุมาญะฮ์ อัลฮากิม)

รายงานจากท่าน วะเกี๊ย บินญะร่อฮ์ กล่าวว่า

          "ซะกาตฟิตเราะฮ์ สำหรับเดือนรอมาฏอน เหมือนกับสูญูดซะวีย์ในละหมาด เป็นการรักษาสิ่งที่บกพร่องในการถือศีลอด เช่นเดียวกับสุญูดซะวีย์ เป็นการรับกษาสิ่งที่บกพร่องในละหมาด"

 

        ใครบ้างที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฎเราะฮ์ ? 

 ซะกาตฟิฎเราะฮฺ  ตามมติฉันท์ของอุละมาอ์ถือเป็นฟัรฏู(จำเป็น) ดั่งรายงานจากท่านอิบนุอุมัร กล่าวว่า :

 

"ท่านเราะซูล ได้กำหนดการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺเป็นผลอินทผลัมจำนวน  1  ทะนาน(ศออ์) หรือข้าวบาเล่ย์จำนวน  1  ทะนาน 

จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนมิว่าจะเป็นทาส  เป็นไท  ชาย  หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ 

และท่านได้สั่งใช้เรื่องดังกล่าวนี้ให้ทุกคนปฏิบัติมันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนทั้งหลายจะออกไปสู่การละหมาด(อีดุลฟิฏรีย์)” 

 (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)

           สำหรับบุคคลที่ลำบาก  เขาไม่ต้องจ่ายฟิฏเราะฮฺโดยปราศจากทัศนะใดๆที่ขัดแย้ง  ส่วนกรณีผู้ที่มีอาหารเพียงน้อยนิด คือมีแค่อาหารที่เขาเก็บไว้ใช้บริโภคสำหรับคืนก่อนวันอีดและวันอีด เช่นหากมีข้าวสารจำนวนเท่ากับจำนวน  1  ศออ์ขึ้นไป  ย่อมถือว่าผู้นั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจ่ายได้  แต่หากเขาไม่มีข้าวสารหรืออาหารใดๆเลยในเวลาดังกล่าวนั้นถือว่าเขาคือผู้ลำบาก  และไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตในขณะนั้น  เพราะไม่ครบเงื่อนไขที่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตคือครบจำนวนนิศอบของซะกาต  นี้คือทัศนะของบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่(ญุมหูร)ซึ่งมีเพียงนักวิชาการสายมัซฮับหะนะฟีย์เท่านั้นที่เห็นต่างออกไป

           สรุป คือบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่ถือว่า หากบุคคลใดมีอาหารหรือข้าวสารไม่ครบนิศอบ(คือ 1 ศออ์ขึ้นไป)ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ  ในที่นี้รวมถึงทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาก็ไม่ต้องจ่าย  แต่หากผู้ปกครองสมัครใจจะจ่ายให้ย่อมถือเป็นซุนนะฮฺ เนื่องจากมีปรากฏการกระทำของท่านอุษมาน  บินอัฟฟาน ซึ่งตรงกับทัศนะของบรรดานักวิชาการสายมัซฮับหัมบะลีย์

           สำหรับคนใช้ไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย ที่ถูกจ้างวานให้ทำงานโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายวัน หรือรายเดือนก็ตาม  กรณีนี้นายจ้างไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบการจ่ายซะกาต เพราะถือเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างซึ่งต้องรับผิดชอบตัวเอง  แต่หากนายจ้างใจบุญประสงค์จะจ่ายซะกาตแทนให้ ก็กระทำได้แต่จำเป็นต้องบอกกล่าวให้ลูกจ้างรับทราบด้วย เพราะการจ่ายซะกาตถือเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง  การกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการแสดงถึงความเมตตาต่อลูกจ้างนับเป็นการกุศลที่ผู้กระทำย่อมได้รับการตอบแทนความดีอย่างแน่นอน


 

อัตราของซะกาตฟิฏเราะฮฺ

           อัตราซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือ   1  ศออ์(ทะนาน)จากชนิดอาหารหลักที่ใช้บริโภคในประเทศ   จำนวน   1  ศออ์ของท่านนบี ศ็อลฯเท่ากับ  4   มุด ( หรือ  4  กอบมือขนาดปานกลาง) นักวิชาการบางท่านให้ทัศนะว่าเท่ากับ  2.5  กิโลกรัม และบางท่านก็เทียบเท่ากับ  3   กิโลกรัม

           ทั้งนี้จากรายของท่านอิบนุอุมัร ว่า :

"ท่านเราะซูล  ได้กำหนดซะกาตฟิฏเราะฮฺเท่ากับผลอินทผลัม  1  ศออ์ หรือข้าวบาเล่ย์   1  ศออ์

บังคับสำหรับมุสลิมทั้งที่เป็นทาสและเป็นไท  ชาย-หญิง หรือเด็กและผู้ใหญ่ 

โดยท่านได้สั่งให้ปฏิบัติมันให้เสร็จสิ้นก่อนที่ผู้คนจะเดินทางออกไปละหมาด”

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์)


  

สามารถจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺด้วยเงินแทนอาหารได้หรือไม่  ?

           มัซฮับชาฟิอีย์เห็นว่าไม่อนุญาติให้จ่ายเป็นอย่างอื่นนอกจากอาหาร  ซึ่งใช้บริโภคประจำวันในประเทศเท่านั้น  มัซฮับมาลิกีย์เห็นตรงกับมัซฮับชาฟิอีย์เช่นกัน คือให้จ่ายได้เป็นอาหารเท่านั้น สำหรับนักวิชาการในสายมัซฮับหัมบะลีย์  เช่นอิบนุกุดามะฮฺกล่าวไว้ในหนังสือ “อัล-มุฆ์นีย์” ว่า

“หากผู้ใดสามารถจ่ายเป็นผลอิมทผลัม  ผลองุ่นแห้ง   ข้าวสาลี   ข้าวบาเล่ย์หรือเนยแข็งได้ แต่ใช้สิ่งอื่นแทน การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่ถูกอนุญาติ”

 ท่านกล่าวอีกว่า

         “สำหรับเราแล้ว คือตามที่ท่านนบี  ได้กำหนดเป็นทานฟิฏเราะฮฺด้วยชนิด(อาหาร)ที่เจาะจงเฉพาะ  มิอาจเทียบเป็นสิ่งอื่นได้ รวมทั้งการออกเป็นราคาอาหารก็เช่นกัน เพราะการที่เอ่ยถึงชนิดอาหาร หลังจากกล่าวถึงบทบัญญัติ เท่ากับเป็นการอธิบายได้อย่างดีถึงสิ่งที่พึงปฏิบัติ”

           สำหรับทัศนะที่แตกต่างไปจากนี้ เช่นท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) ถือว่าสามารถเทียบค่าของอาหาร(ซะกาตฟิฏเราะฮฺ)นั้นและจ่ายเป็นตัวเงินได้  ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าหากเป็นผลประโยชน์สำหรับบรรดาคนยากจนเอง  ดังปรากฏในตำราของท่าน คือ “อัล-ฟะตาวา อัลกุบรอ” ส่วนทัศนะของมัซฮับหะนาฟียะฮฺ ถือว่า สามารถจ่ายเป็นเงินได้ในทุกกรณี


 

เวลา และสถานที่จ่ายซะกาตฟิฎเราะฮฺ

           คือให้จ่ายในช่วงเวลาก่อนการละหมาดอีด  สำหรับอุละมาอ์สายมัซฮับมาลิกียะฮฺ และหะนาบีละฮฺอนุญาติให้จ่ายล่วงหน้าก่อนวันอีดสัก  2-3 วันได้ ส่วนอุละมาอ์สายชาฟิอียะฮฺมีทัศนะว่าสามารถจ่ายได้ตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนรอมฏอน  แต่ที่ดีที่สุดควรจ่ายก่อนการละหมาดอีด

           เช่นกันตามทัศนะของอุละมาอ์สานหะนาฟียะฮฺ อนุญาติให้จ่ายในเวลาก่อนเดือนรอมฏอนได้  ดังนั้นหากใครไม่จ่ายกระทั่งเวลาล่วงเลยจนหมดรอมฏอนไปแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นยังมีภาระและบาปติดค้างคาอยู่กับตัวที่เขาจำเป็นต้องสะสาง  คือหากชดใช้เมื่อความผิดบาปก็หมดไปเมื่อนั้น

           สำหรับเรื่องสถานที่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้น  มีปรากฏในตำรา “อัล-มุเดาวะนะฮฺ” ถามว่า หากบุคคลผู้นั้นเป็นชาวแอฟริกา และเขาเดินทางมายังประเทศอียิปต์ในช่วงที่ต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺพอดี  เขาจะต้องจ่ายซะกาตที่ไหน ?

อิม่ามมาลิกตอบว่า “เขาอยู่ที่ไหน ก็ให้จ่ายที่นั้น  แต่หากครอบครัวของเขาที่แอฟริกาจะจ่ายแทนให้แก่เขา  ก็ถือว่าสามารถทำได้”

เช่นกันท่านอิบนุกุดามะฮฺ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ)ให้ทัศนะว่า

ในกรณีของซะกาตฟิฏเราะฮฺนั้นจำเป็นต้องแจกจ่ายไปในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่เท่านั้น  ไม่ว่าสมบัติของเขาจะมีอยู่ในประเทศนั้นหรือไม่ก็ตาม”

           ซึ่งทัศนะที่หนักแน่นที่สุดของอุละมาอ์สานชาฟิอียะฮฺ  คือ ซะกาต(ฟิฏเราะฮฺ)มิสามารถเคลื่อนย้าย(ไปจ่ายในอีกท้องที่หนึ่งได้)  ส่วนทัศนะรองถือว่าอนุญาติทำได้ทั้งนี้เพื่อให้ถึงแก่บรรดาคนยากจน(ฟุกอรออ์)เป็นสำคัญตามที่ปรากฏในอายะฮฺ  ซึ่งเป็นทัศนะของบรรดาอุละมาอ์มากมายหลายท่านด้วยกัน

         เช่นคำกล่าวของท่านอัร-รูยานีย์ในหนังสือ “อัล-บะห์รุ” ว่า  : อนุญาติให้เคลื่อนย้ายได้แน่นอน  สำหรับบุคคลที่ประสงค์จะจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺของเขาให้แก่ญาติซึ่งอยู่ต่างถิ่น  ทั้งที่ในประเทศที่เขาอาศัยอยู่นั้นก็มีคนยากจนอยู่  โดยมีเงื่อนไขว่าประเทศที่เขาอาศัยอยู่ขณะนั้นต้องไม่เดือดร้อนหรือจำเป็น(ต่อซะกาต)มากกว่า  แต่หากความจำเป็นเท่าๆกันระหว่างญาติของเขากับคนยากจนในท้องที่นั้น  ก็ให้เขาแบ่งครึ่งและแจกจ่ายไปทั้งสองฝ่ายนั้นได้ – อัลลอฮุอะอ์ลัม .

           บรรดาอุละมาอ์สายหะนาฟียะฮฺกล่าวว่า : อนุญาติให้ปฏิบัติได้หากประเทศที่เขาส่งซะกาตไปนั้นมีความจำเป็นมากกว่า  โดยเฉพาะในประเทศดังกล่าวนั้นมีญาติอาศัยอยู่ และญาติก็มีฐานะลำบากด้วย แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าซะกาตนั้นจะต้องถึงไปยังคนยากจนก่อนเวลาละหมาดเป็นสำคัญ


  

บุคคลผู้มีสิทธิได้รับซะกาตฟิฏเราะฮฺ

♥  ซะกาตฟิฏเราะฮฺสามารถแจกจ่ายไปให้แก่บุคคลทั้ง  8  ประเภทเช่นเดียวกับในกรณีของซะกาตุลมาล  นี้คือทัศนะของบรรดาอุละมาอ์ส่วนใหญ่(ญุมหูร)

♥  ขณะที่อุละมาอ์สายมาลิกียะฮฺมีทัศนะตามสายรายงานของอิม่ามอะห์มัด คือการแจกจ่ายซะกาตเจาะจงเฉพาะบุคคลที่ยากจน(ฟุเกาะรออ์)และขัดสน(มะซากีน)

♥  ส่วนอิม่ามอัช-ชาฟิอีย์เห็นว่า ซะกาตฟิฏเราะฮฺสามารถแจกจ่ายให้แก่บุคคลประเภทต่างๆเหมือนเช่นซะกาตุลมาลนั้นได้  และไม่อนุญาตแก่บุคคลประเภทอื่น

♥  ท่านอิม่ามมาลิกกล่าวว่า ไม่มีข้อห้ามอันใดที่บุคลลหนึ่งๆจะมอบซะกาตของตัวเอง และซะกาตของครอบครัวของเขาให้แก่คนยากจนคนเดียวกัน

♥  และมีระบุว่าอิม่ามอะหมัด อนุญาติให้แจกจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺจำนวนศออ์หนึ่งให้แก่บุคคลหลายคน หรือจะจ่ายฟิฏเราะฮฺจำนวนหลายศออ์ให้แก่บุคคลคนเดียวก็ได้

 

 สำหรับบุคคลที่มิพึงได้รับซะกาตฟิฏเราะฮฺมี  5  ประเภทด้วยกัน คือ

     1. คนร่ำรวย หรือบุคคลที่ไม่มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับเงิน หรือการทำงานหาปัจจัยใดๆอีกแล้ว  เนื่องปรากฏหะดีษหนึ่งที่ท่านนบี  กล่าวว่า

"การบริจาคทานมิอาจให้แก่คนร่ำรวย และบุคคลที่มีความเข้มแข็งสมบูรณ์อยู่แล้ว”

(หะดีษหะซัน บันทึกโดยอะหมัด  อบูดาวุด  อัต-ติรมิซีย์ และอัด-ดารอมีย์)

     2. ทาส หรือทาสี เนื่องเขาอยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบของผู้เป็นนายอยู่แล้ว และสภาพของตัวเขาเองก็มิอาจถือครองทรัพย์สินใดๆได้ด้วย

     3. บุคคลในตระกูลบนูฮาชิม หรือบนูอัล-มุฏเฏาะลิบ  เนื่องคำกล่าวของท่านนบี กล่าวว่า

“แท้จริงทานบริจาค(เศาะดะเกาะฮฺ)ไม่สมควรได้แก่ลูกหลานของมุฮัมมัด  เพราะแท้จริงแล้วมันคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องด่างพร้อย”

(บันทึกโดยมุสลิม)

     4. บุคคลซึ่งอยู่ภายใต้เลี้ยงดูของผู้จ่ายซะกาต  หมายถึงเขาจะจ่ายซะกาตนั้นให้แก่ผู้อยู่ภายใต้การปกครองในนามของคนยากจน(ฟุเกาะรออ์)หรือคนขัดสน(มิสกีน)มิได้

     5. บุคคลผู้ปฏิเสธ(หรือกาฟิร) เนื่องหะดีษหนึ่งท่านนบี กล่าวว่า

“...ดังนั้นพึงบอกให้พวกเขาทราบเถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงกำหนดให้พวกเขาบริจาคประเภทหนึ่ง 

ซึ่งรับมาจากบรรดาผู้ร่ำรวยของพวกเขา เพื่อแจกจ่ายในระหว่างบรรดาคนยากจนของพวกเขา”

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม)