หลักสูตร และเทคนิคการสอนของนะบี
  จำนวนคนเข้าชม  16799

 

 

 

 

หลักสูตร และเทคนิคการสอนของนะบีมุฮัมมัด

 

หลักสูตรสมัยนะบี

         วิชาต่าง ๆ ที่มีสอนในสมัยของท่านนะบี  ได้แก่วิชากุรอาน หะดีษ ตัจญวีด พลศึกษา ( การยิ่งธนูการว่ายน้ำ การขี่ม้า ) การอ่าน การเขียน ภาษาอาหรับ เตาฮีด และอัคลาก เป็นต้น

          ในสมัยดังกล่าวนี้นอกจากหลักสูตรทั่วไปแล้ว ยังมีหลักสูตรการศึกษาเฉพาะด้านอีกด้วย (Bilgrimi and Ashraf, 1985 : 18) ผู้ใดที่ประสงค์จะศึกษาวิชาอัล กุรอาน เขาจะต้องไปเรียนกับครูที่มีความรู้เฉพาะด้าน หากใครที่ต้องการเรียนตัจญวีด หรือวิชาชะรีอะฮ เขาก็ต้องไปเรียนกับครูที่มีความถนัดในด้านนี้ โดยเฉพาะวิชาตัจญวีดเขาจะต้องไปเรียนกับครูที่มีความรู้และอ่าน อัล กุรอานได้ถูกต้อง

          การศึกษาในสมัยของท่านนะบี  นั้นยังไม่มีหลักสูตรที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เราสามารถจะวิเคราะห์จากหะดีษต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งบางเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าหลักสูตรในสมัยนี้เป็นอย่างไร


เทคนิคการสอนของนะบี

           วิธีการสอนของท่านนะบี นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ แม้ท่านไม่ได้เรียนรู้วิชาจิตวิทยาจากสถาบันการศึกษาใด ๆ แต่ท่านสามารถนำวิชาจิตวิทยามาใช้กับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี  สำหรับการเรียนการสอนของท่านนะบี นั้น ท่านจะเลือกเวลาที่เหมาะสม เพื่อโน้มน้าวบรรดาเศาะหาบะฮ์ให้ตั้งใจในบทเรียน ดังหะดีษรายงานโดยอิบนุ มัซอูด (Ibnu Masud) ความว่า  

“ ท่านนะบี เอาใจใส่ในการเผยแผ่ของท่าน โดยการเลือกเวลาที่เหมาะสม เพื่อว่าพวกเราจะได้ไม่เบื่อ

(ท่านจะหลีกเลี่ยงที่จะรบกวนพวกเราด้วยการเทศนาและให้ความรู้ตลอดเวลา) 

 (รายงานโดย อัล บุคอรี) 

เทคนิคการสอนของท่านศาสดามีมากมาย แต่ขอยกตัวอย่าง ณ ที่นี้เพียงเทคนิคบางประการเท่านั้น คือ


          (1) เทคนิคการย้ำ หากท่านเห็นว่าเรื่องใดมีความสำคัญ ท่านก็จะกล่าวย้ำหลาย ๆ ครั้งและบ่อยครั้งที่ท่านปฏิบัติเช่นนี้ ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งมาหาท่าน และขอให้ท่านนะบี วะศียะฮ์แก่เขา ท่านนะบี กล่าวว่า لا تغضب แปลว่า “ ท่านจงอย่าโกรธ ” ชายคนนั้นก็พยายามที่จะขอคำวะศียะฮอีก ท่านนะบี ได้กล่าวคำเดิมว่า لا تغضب เทคนิคการย้ำนี้จะได้รับการปฏิบัติเสมอมา ท่านจะกล่าวย้ำหากสิ่งนั้นมีความสำคัญหรือจะย้ำข้อความบางตอน เพื่อที่จะทำให้บรรดาเศาะหาบะฮเข้าใจสิ่งที่ท่านต้องการสอนอย่างถ่องแท้


          (2) เทคนิคการตั้งคำถาม บางครั้งเมื่อท่านต้องการดึงดูดความสนใจของผู้เรียน ท่านก็จะเริ่มด้วยการตั้งคำถามดังปรากฏในหะดีษรายงานโดยมุสลิมว่า 

عن ابى هريرة رضى الله عنه عن النبى صلى الله عليه وسلم قال : من اصبح منكم اليوم صائما ؟ قال ابوبكر : انا ، قال من تبع منكم اليوم جنازة . قال ابوبكر انا ، قال فمن اطعم منكم اليوم مسكينا ؟ قال ابوبكر : انا ، قال فمن عاد منكم اليوم مريضا ؟ قال ابوبكر : انا فقال رسول الله صلى عليه وسلم ما اجتمعن في امرى الادخل الجنة. رواه مسلم

แปลว่า “ อบู ฮุรอยเราะฮเล่าจากท่านนะบี  ท่านได้ถามว่า มีใครบ้างจากพวกท่านในวันนี้ที่ตื่นขึ้นมาในสภาพถือศีลอด ?

อบู บักร ได้กล่าวว่า “ ข้าพเจ้า ”

ท่านได้ถามว่า  มีใครบ้างจากพวกท่านในวันนี้ได้ติดตามศพ ?

อบู บักร ได้กล่าวว่า “ ข้าพเจ้า ”

ท่านได้ถามว่า มีใครบ้างจากพวกท่านในวันนี้ที่ได้ให้อาหารแก่คนยากจน ?

อบู บักรได้กล่าวว่า “ ข้าพเจ้า ”

ท่านได้ถามว่า มีใครบ้างจากพวกท่านในวันนี้ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วย ?

อบู บักรตอบว่า “ ข้าพเจ้า ”

ท่านเราะซูลุลอฮ์ ได้กล่าวว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่อยู่ในผู้ใดนอกจากเขาได้เข้าสวรรค์ ”

(รายงานโดยมุสลิม)
 

         (3) เทคนิคการอุปมา บ่อยครั้งที่ท่านนะบี ได้ใช้เทคนิคนี้ในการสอนหลักการทางศาสนาแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ เพราะวิธีนี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจหลักคำสอนได้อย่างแท้จริง ดังวัจนะของท่านเราะซูลุลลอฮ  กล่าวว่า

“ ท่านทั้งหลายเห็นอย่างไร หากมีน้ำคลองสายหนึ่งผ่านประตูบ้านของคนหนึ่งคนใดในพวกท่าน แล้วเขาอาบน้ำชำระล้างในคลองนั้นทุกวันๆละ 5 ครั้ง มันจะมีเหงื่อไคลเหลืออยู่อีกไหม ?

พวกเขา ( เหล่าเศาะหาบะฮ ) ตอบว่า "คงไม่มีเหงื่อไคลเหลืออยู่เลย"

 ท่านเราะซูล  กล่าวว่า ก็เช่นเดียวกัน อุปมาการละหมาด 5 เวลา อัลลอฮ์ ทรงลบล้างความผิดต่าง ๆ ด้วยละหมาดทั้ง 5 นั้นแหละ ”

( รายงานโดย บุคอรี มุสลิม ติรมีษี นะซาอี และ อิบนุ มาญะฮจากหะดีษอุษมาน )


        (4) เทคนิคการใช้บทบาทสมมุติ

          ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านนะบี  กำลังนั่งอยู่กับบรรดาเศาะหาบะฮ์ ได้มีบุรุษท่านหนึ่งแต่งกายชุดขาวและผมสีดำมานั่งใกล้กับท่าน แล้วสนทนากับท่าน โดยบุรุษท่านนั้นได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการศาสนา หลักการศรัทธา และหลักการอิหซาน ทุกครั้งที่ท่านนะบี ตอบคำถามของเขา เขาก็จะพูดว่าถูกต้อง

หลังจากนั้นบุรุษดังกล่าวได้ถามเกี่ยวกับวันกิยามะฮ ท่านตอบว่าคนที่ถามรู้ดีกว่าคนที่ถูกถาม หลังจากการสนทนาระหว่างท่านนะบี และบุรุษผู้นั้นได้สิ้นสุดลง ท่านได้บอกบรรดาเศาะหาบะฮ์ว่า บุรุษผู้นั้นคือญิบรีลทูตแห่งอัลลอฮ์

          จากบทสนทนาและบทบาทสมมุติที่ท่านนะบี และญิบรีลได้แสดงให้เห็นนั้น ได้ดึงดูดความสนใจของเหล่าเศาะหาบะฮ และทำให้เขาเข้าใจหลักคำสอนของท่านได้ดียิ่งขึ้น ( รายละเอียดดูหะดีษที่สองในหนังสือมัตน อัล อัรบะอีน โดยอิมาม นะวะวี )


          (5) ใช้สื่อการเรียนการสอน ในการเรียนการสอนของท่านนะบี  บางครั้งท่านจะนำสื่อการเรียนการสอนมาใช้เพื่อประกอบการอธิบาย ซึ่งครั้งหนึ่งปรากฏว่า ในขณะที่ท่านกำลังสอนบรรดาเศาะหาบะฮ์ ท่านนะบี    ได้วาดภาพลงบนพื้นดิน เป็นภาพที่เกี่ยวกับสิ่งที่ท่านต้องการจะสอนให้แก่บรรดาเศาะหาบะฮ

ท่านได้ขีดเส้นตรง แล้วกล่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮ์ว่า นี่คือหนทางของอัลลอฮ์ ( صراط الله)

จากนั้นท่านได้ขีดเส้นคดไปคดมา แล้วท่านกล่าวแก่บรรดาเศาะหาบะฮว่า นี่คือหนทางของชัยฏอน (سبل الشيطان)

ต่อมาท่านได้วาดรูปสี่เหลี่ยมแล้วกล่าวว่านี่คือ อายุขัยของมนุษย์ (اجل الانسان)

ในรูปสี่เหลี่ยนนั้นท่านได้วาดรูปวงกลมแล้วกล่าวว่านี่คือลูกหลานของอา ดัม (ابن آدم)

ส่วนนอก กรอบสี่เหลี่ยมท่านได้วาดรูปวงกลมอีกรูปหนึ่งแล้วกล่าวว่านี่คือความปรารถนาของมนุษย์ ( ا مل)

หลังจากนั้นท่านได้ขีดเส้นตรงระหว่างรูปวงกลมทั้งสอง แล้วกล่าวว่านี่คือความต้องการของมนุษย์ (الاعراض)

ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำหรับมนุษยชาติ และมนุษย์จะเสียชีวิตก่อนที่จะบรรลุซึ่งความต้องการและความปรารถนาของพวกเขา

 ( อับดุลคอลิก , 1983 : 19)

         การที่ท่านนะบี  ได้วาดรูปภาพประกอบการสอนในครั้งนี้เพราะท่านมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้บรรดาเศาะหาบะฮได้เห็นภาพวงจรชีวิตของมนุษย์ และการใช้ภาพประกอบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

 

Islamic Information center of psu Fathoni