ความเป็นมาของราชวงค์ อุมัยยะฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  13341

ความเป็นมาของราชวงค์ อุมัยยะฮ์

 

          หลังจากเคาะลีฟะฮอุษมานถูกพวกกบฎสังหาร อะลี อิบนุ อบี ฏอลิบได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮคนที่สี่ บรรดาผู้นำและนักปราชญ์มุสลิม รวมทั้งกลุ่มกบฏที่เกี่ยวพันกับการฆาตกรรมเคาะลีฟะฮอุษมานได้เข้าร่วมให้สัตยาบันกับท่านอะลี  การมาร่วมกล่าวสัตยาบันของกลุ่มกบฏในครั้งนี้ได้ทำให้มุสลิมบางกลุ่มไม่พอใจ และโกรธเคืองท่านอะลีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะฎอลฮะฮ (Talhah) และอัล - สุบัยร (al Zubayr) ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวบัยอะฮกับท่านอะลี  เมื่อทั้งสองรู้ว่ากลุ่มกบฎเข้าร่วมกล่าวสัตยาบันกับท่านอะลี ท่านทั้งสองจึงไม่พอใจ และได้เรียกร้องให้ท่านอะลีลงโทษกลุ่มกบฏ ที่พัวพันกับการฆาตกรรมท่านอุษมาน ความไม่พอใจและความโกรธเคืองต่อท่านอาลีในครั้งนี้ได้ทวีความรุนแรง

          ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยฏอลฮะฮและอัล - สุบัยร ฝ่ายหนึ่งกับท่านอะลีอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านหญิงอาอิชะฮก็เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมกับฝ่ายฎอลฮะฮและอับ - สุบัยร เพื่อทำสงครามต่อต้านท่านอะลี  สงครามนี้รู้จักในนามสงครามญะมัล ( สงครามอูฐ ) สงครามครั้งนี้ท่านเคาะลีฟะฮ อะลี เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ส่วนอาอิชะฮ์มารดาแห่งศรัทธาชนตกเป็นเชลย แต่ท่านหญิงได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเคาะลีฟะฮอะลี และต่อมาท่านหญิงอาอิชะฮ์ก็ถูกส่งกลับไปยังมะดีนะฮโดยสวัสดิภาพ (Yahaya and Halimi, 1994 195)


          มุอาวิยะก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ไม่พอใจกับท่านอะลี และได้หยิบยกประเด็นการสังหารเคาะลีฟะฮอุษมานมาปลุกระดมบรรดามุสลิมให้ลุกขึ้นต่อต้านท่านอะลี  โดยมุอาวิยะฮได้กล่าวว่ากลุ่มกบฏที่สังหารอุษมานยังลอยนวล อีกทั้งยังร่วมให้บัยอะฮ ( กล่าวสัตยบัน ) กับท่านอะลี  การปลุกเร้าของอุมาวิยะฮในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้มุสลิมจำนวนมากให้การสนับสนุนท่านมุอาวิยะฮ  จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างเคาะลีฟะฮอะลีกับมุอาวิยะฮ  สงครามครั้งนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ สงครามศิฟฟีน ”

          ก่อนที่สงครามศิฟฟีนจะยุติฝ่ายมุอาวิยะฮเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเกือบจะพ่ายแพ้ แต่ด้วยไหวพริบของอัมร อิบนุ อาศ (Amr Ibnu As) ทำให้มุอาวิยะฮสามารถผ่านภาวะวิกฤตนี้ได้  ท่านอัมร อิบนุ อาศได้ยื่นข้อเสนอให้ยุติข้อพิพาทระหว่างท่านอะลีกับมุอาวิยะฮ  ด้วยการหันมาเจรจาโดยสันติวิธี และการยุติข้อพิพาทดังกล่าวจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอาน โดยมอบหมายให้มัจญลีซตะหกีมเป็นผู้ตัดสิน อัมร อิบนุ อาศ ตระหนักดีว่าหากยื่นข้อเสนอดังกล่าว ทหารของท่านอะลีจะแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจะสนับสนุนข้อเสนอ อีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิเสธ  แม้ท่านอะลีจะรู้ว่าข้อเสนอของอัมร อิบนุ อาศเป็นอุบายสงคราม เพราะในขณะนั้นทหารของมุอาวิยะฮเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ท่านอะลี มิอาจที่จะปฏิเสธข้อเสนอนี้ได้ ด้วยเหตุผลสองประการคือ หากปฏิเสธข้อเสนอ ท่านอะลีจะถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่ผู้ศรัทธาที่แท้จริง เหตุผลที่สองคือ ได้เกิดความแตกแยกท่ามกลางทหารของท่าน ฝายหนึ่งสนับสนุนข้อเสนอ อีกฝ่ายปฏิเสธ หากท่านเคาะลีฟะฮอะลียังยืนกรานที่จะทำสงครามอีกท่านอาจเพลี้ยงพล้ำได้


          การยอมรับข้อเสนอให้ยุติข้อพิพาททางการเมืองด้วยสันติวิธีในครั้งนี้ ทำให้ผู้ที่เคยสนับสนุนท่านอะลีบางกลุ่มไม่พอใจ และได้ถอนตัวออกไป  กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในนาม “ เคาะวาริจญ ” (Khawarij) เงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเคาะวาริจญไม่พอใจคือ การกำหนดเงื่อนไขของมัจญลีซตะหกิมที่ได้กำหนดว่า ในระหว่างการพิจารณาข้อพิพาทระหว่างท่านอะลีกับมุอาวิยะฮในมัจญลีซตะหกิมนั้น หากมีคนหนึ่งคนใดระหว่างทั้งสองเสียชีวิต ผู้ที่ยังมีชีวิตจะดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ จากเงื่อนไขข้อนี้ทำให้พวกเคาะวาริจญถอนตัวจากการสนับสนุนท่านอะลี โดยพวกเคาะวาริจญได้กล่าวว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะสร้างกฏของอัลลอฮ์ได้ และไม่มีกฎใด ๆ นอกจากกฎของอัลลอฮ์เท่านั้น


          การหาข้อยุติทางการเมืองในครั้งนี้ ท่านอะลีได้ส่งอบู มูซา อัล อัชอารี (Abu Musa al Ash ari) ให้เป็นตัวแทนของท่าน ส่วนมุอาวิยะฮได้ส่งอัมร อิบนุ อาศ (Amr Ibnu As) แต่การยุติข้อพิพาทด้วยสันติวิธีที่แท้จริงก็ไม่เกิดขึ้น


          ต่อมาพวกเคาะวาริจญได้รับข่าวว่า ท่านอะลีจะปฏิเสธข้อเสนอการยุติข้อพิพากโดยผ่านมัจญลิสตะหกีม พวกเขาจึงเดินทางเพื่อไปพบท่านอะลี  ในระหว่างทางพวกเคาะวาริจญได้สังหารอับดุลลอฮ อิบนุ คอบบาบ (Abd Allah Ibnu Khabbab) เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงท่านอะลี  ท่านจึงบัญชาให้พวกเคาะวาริจญส่งตัวผู้สังหารอิบนุ คอบบาบ  แต่พวกเคาะวาริจญกลับดื้อดึงและกล่าวว่าพวกเขาทุกคนเป็นคนฆ่า  หลังจากนั้นท่านอะลีจึงยกทัพมาทำสงครามกับพวกเคาะวาริจญ การสู้รบในครั้งนั้นพวกเคาะวาริจญถูกสังหารเป็นจำนวนมาก และเป็นเหตุทำให้พวกเคาะวาริจญโกรธแค้นท่านอะลีเป็นอย่างยิ่ง  และความโกรธแค้นที่มีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณนี้ได้กลายเป็นชนวนของการสังหารท่านอะลีในเวลาต่อมา

          หลังจากการสู้รบ พวกเคาะวาริจญ ได้ขบคิดแผนชั่วที่จะทำการฆาตกรรมเคาะลีฟะฮอะลี  มุอาวิยะฮ และอัมร อิบนุ อาศ  มือสังหารที่ส่งไปสังหารท่านอะลีประสบความสำเร็จ และสามารถฆาตกรรมท่านได้เมื่อวันที่ 17 รอมฎอน อ . ศ . 40 ตรงกับวันที่ 24 มกราคม ค . ศ . 661 ส่วนฆาตกรที่ส่งไปสังหารมุอาวิยะฮและอัมร อิบนุ อาศประสบกับความล้มเหลว  เมื่อเคาะลีฟะฮอะลีได้เสียชีวิต มุอาวิยะฮ อิบนุ อบี ซุฟยาน จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์สืบต่อจากท่านอะลี และมุอาวิยะฮท่านนี้ก็คือเคาะลีฟะฮคนแรกแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ คำว่า “ อุมัยยะฮ ” นั้นมาจากชื่อทวดของท่าน มุอาวิยะฮ อิบนุ อบี ซุฟยาน ฮัรบ อิบนุ อุมัยยะฮ (Mu awiyah Ibnu Abi Sufyan Harb Ibnu Umayyah)

 

 


ที่มา : Islamic information center of psu Fathoni