การจ่ายหรือออกซะกาต
  จำนวนคนเข้าชม  117092

 

 

การจ่ายหรือออกซะกาต


มารยาทในการจ่ายซะกาต

          ให้จ่ายซะกาตเมื่อถึงเวลาที่วาญิบต้องจ่าย และจ่ายด้วยความพึงพอใจ โดยจ่ายสิ่งที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุดจากทรัพย์ที่ต้องจ่าย เป็นสิ่งที่เขารักที่สุด ที่มีความเป็นหะลาลมากที่สุด ทำให้ผู้รับพึงพอใจ ให้ผู้จ่ายมองว่าสิ่งที่ให้ไปเป็นสิ่งที่เล็กน้อยเพื่อให้พ้นจากความลำพองใจ และพยายามปิดบังเพื่อให้พ้นจากการโอ้อวด แต่เปิดเผยบ้างเป็นบางครั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เห็นสิ่งที่เป็นวาญิบนี้(ซะกาต) และเป็นการกระตุ้นให้คนร่ำรวยได้ปฏิบัติตาม และต้องไม่ทำลาย(ผลบุญ)มันด้วยการลำเลิกและการก่อความเดือดร้อนแก่ผู้รับ


 

ผู้รับซะกาตที่ดีที่สุด

          ที่ดีที่สุดก็คือให้ผู้จ่ายซะกาตเลือกจ่ายแก่คนที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺมากที่สุด คนที่เป็นญาติใกล้ชิดที่สุด มีความจำเป็นมากที่สุด และเลือกให้ทานของเขาแก่คนที่จะทำให้ทานนั้นเจริญงอกงามจากบรรดาญาติที่ใกล้ชิด มีความยำเกรง เป็นผู้ศึกษาหาความรู้ คนยากจนที่ไม่ยอมขอ ครอบครัวใหญ่ที่มีความขัดสนเป็นต้น โดยที่เขาควรที่จะจ่ายซะกาตหรือให้ทานก่อนที่จะมีสิ่งกีดขวางมา(ทำให้ไม่สามารถจ่ายหรือให้ได้) และเมื่อใดที่มีคุณสมบัติที่คู่ควรจะรับซะกาตมากขึ้นในบุคคลหนึ่งๆ ก็จะยิ่งทำให้เขาคู่ควรในการรับซะกาตมากกว่า เช่นยากจนและเป็นญาติ ยากจนและเป็นผู้กำลังศึกษา เป็นต้น

อัลลอฮฺไตรัสไว้ความว่า

“และจงบริจาคสิ่งที่เราได้ให้ปัจจัยยังชีพและพวกท่านก่อนที่ความตาย

จะมาเยือนคนใดคนคนหนึ่งในหมู่พวกท่าน แล้วเขาก็จะกล่าวว่า โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งข้า

หากพระองค์ทรงยืดเวลาให้กับข้าอีกสักระยะเวลาหนึ่งอันใกล้

แล้วข้าก็จะจ่ายทานและข้าจะเป็นหนึ่งในหมู่ผู้มีคุณธรรม”

(อัลมุนาฟิกูน : 10)


เวลาในการจ่ายซะกาต

     1- วาญิบที่จะต้องรีบจ่ายซะกาตทันที่วาญิบ ยกเว้นหากมีเหตุจำเป็น

     2- อนุญาตให้จ่ายซะกาตก่อนเวลาวาญิบหลังจากที่มีมูลเหตุวาญิบ ดังนั้นจึงอนุญาตให้จ่ายซะกาตสัตว์ ทองคำและเงิน  และสินค้าที่เตรียมค้าขายหากมีการครอบครองครบพิกัด

     3- อนุญาตให้จ่ายซะกาตก่อนเวลาหนึ่งปีหรือสองปี และให้แก่คนยากจนในรูปของเงินเดือนหากว่าการทำเช่นนั้นจะเกิดประโยชน์

     4- ใครที่มีทรัพย์ซึ่งได้มาในเวลาที่ต่างกันเช่น เงินเดือน ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์  และมรดก ให้เขาจ่ายซะกาตทรัพย์ทุกประเภทนี้หลังจากครบรอบปี และถ้าหากว่าเขาพอใจและยอมเสียสละเพื่อคนยากจนและคนอื่นๆ ให้เขากำหนด(รายได้ของ)เดือนหนึ่งในรอบปีสำหรับการจ่ายซะกาตของเขาเช่น (รายได้ของ)เดือนเราะมะฎอน เขาก็จะได้ผลบุญที่ยิ่งใหญ่


หุก่มการกระจายซะกาต

          อนุญาตให้มอบซะกาตแก่คนเป็นกลุ่มในสิ่งที่จำเป็นเหนือบุคคลหนึ่งคน(คือซะกาตที่พอจ่ายสำหรับคนหนึ่งคนสามารถแบ่งมอบให้กับผู้รับหลายคนได้) และในทางกลับกัน(คืออนุญาตให้มอบซะกาตที่สามารถจ่ายให้คนหลายคน แก่บุคคลรับซะกาตเพียงคนเดียวได้) แต่ที่ดีก็คือให้เขากระจายซะกาตด้วยตัวเองอย่างลับๆ หรือเปิดเผยก็ได้ตามความเหมาะสม และตามหลักการเดิมให้ทำเป็นความลับยกเว้นเพื่อต้องให้เกิดประโยชน์หนึ่งๆ ในการเปิดเผยนั้น


หุก่มการมอบซะกาตแก่ผู้ปกครอง(รัฐ)

     1- อนุญาตให้ผู้ปกครองหากเป็นผู้ที่มีความยุติธรรมและเชื่อใจได้ในการรักษาประโยชน์ของมวลมุสลิม ที่เขาจะจัดเก็บซะกาตจากคนรวยแล้วแจกจ่ายให้แก่แหล่งแจกจ่ายต่างๆ ที่ศาสนากำหนด และวาญิบที่ผู้ปกครองจะต้องส่งคนจัดเก็บซะกาตที่เป็นทรัพย์เปิดเผย เช่นปศุสัตว์ พืชผล และผลไม้ เป็นต้น เพราะบางคนอาจจะไม่มีความรู้เรื่องการวาญิบซะกาต บางอาจจะไม่ขยันที่จะจ่าย และบางคนอาจจะหลงลืม

     2- หากผู้ปกครองให้เรียกร้องซะกาตจากคนร่ำรวย ถือว่าวาญิบที่จะต้องส่งมอบให้ และถือว่าเขาได้หลุดพ้นจากภาระและได้ผลบุญ และบาปกรรมจะตกแก่ผู้ที่ทำการสับเปลี่ยนซะกาต(โดยไม่ทำตามหลักศาสนา)


หุก่มการค้ำประกันซะกาต

         ซะกาตหลังจากที่วาญิบแล้วถือเป็นความรับผิดชอบในมือของผู้ที่จะต้องจ่าย ถ้าหาก(ทรัพย์ซะกาต)เกิดความเสียหาย ต้องดูว่าถ้าเกิดจากการละเมิดหรือละเลยของเขาถือว่าเขาต้องชดใช้ แต่หากเขาไม่ได้ละเมิดหรือละเลยเขาก็ไม่ต้องชดใช้


จะจ่ายซะกาตที่ใหน?

          ที่ดีที่สุดคือจ่ายซะกาตทรัพย์ทั้งหมดให้แก่คนยากจนในเมืองของผู้จ่าย แต่อนุญาตให้นำไปแจกจ่ายยังเมืองอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือเพื่อญาติสนิท หรือเพราะความขัดสนอย่างยิ่งของเมืองนั้น และที่ดีก็คือให้แจกจ่ายเอง แต่อนุญาตให้มอบอำนาจให้ผู้อื่นแจกจ่ายแทนได้


ลักษณะการจ่ายซะกาตหนี้สิน

     1- ใคร(เจ้าหนี้)ที่มีหนี้สินอยู่กับคนที่มีทรัพย์ที่จะชดใช้หนี้ได้ ให้ทำการจ่ายซะกาตเมื่อเขาได้รับการชดใช้หนี้นั้นสำหรับซะกาตปีที่ผ่านๆ มา แต่ที่ดีเขาควรจ่ายแม้ก่อนที่จะได้รับการชดใช้ก็ตาม แต่ถ้าหากหนี้นั้นอยู่กับคนที่มีความลำบากไม่มีทรัพย์ หรืออยู่กับคนที่ไม่ยอมจ่าย ก็ให้เขาจ่ายซะกาตทรัพย์ที่เป็นหนี้นั้นเมื่อเขาได้รับการชดใช้โดยคิดเพียงซะกาตหนึ่งปีเท่านั้น

     2- ไม่อนุญาตแก่ผู้ที่มีทรัพย์สินเหนือบุคคลหนึ่ง และบุคคลนั้นไม่อาจจ่ายหนี้ได้ ในการที่เขา(เจ้าหนี้)จะอนุโลมหนี้ ด้วยการตั้งเจตนาว่ามันเป็นซะกาตสำหรับลูกหนี้คนนั้น


หุก่มทรัพย์ที่เจ้าของไม่มีความสามารถในทรัพย์นั้น

         ทรัพย์สินที่เจ้าของยังไม่มีความสามารถเหนือทรัพย์นั้นถือว่าเขาไม่ต้องจ่ายซะกาตจนกว่าจะรับมันมา ดังนั้นถ้าบุคคลใดที่มีทรัพย์แต่ยังไม่ครอบครองด้วยมูลเหตุที่ไม่ใช่เพราะตัวเขาเอง เช่นการได้ส่วนแบ่งในอสังหาริมทรัพย์ หรือมรดก ถือว่าเขายังไม่ต้องจ่ายจนกว่าเขาจะครอบครอง และจะเริ่มนับรอบปีใหม่เมื่อเขาเข้าครอบครองทรัพย์นั้น เพราะก่อนหน้านั้นเขายังไม่ได้มีอำนาจในการใช้จ่ายทรัพย์นั้น

     - ซะกาตทรัพย์สินนั้นมีความเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน ดังนั้นจึงต้องจ่ายแจกในเมืองที่ทรัพย์นั้นอยู่ ส่วนซะกาตฟิฏรฺนั้นเกี่ยวข้องกับร่างกาย(ตัว)ผู้จ่าย ดังนั้นมุสลิมจึงต้องทำการจ่ายในสถานที่ใดก็ตามที่ตัวเขาพำนักอยู่(ขณะจ่ายซะกาต)


โทษของผู้ที่ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายซะกาต

    1- ใครที่ไม่ยอมจ่ายซะกาตโดยปฏิเสธการวาญิบของมัน ในขณะที่เขารู้หุก่มของมันดีถือว่าเขาเป็นกาฟิร ต้องทำการเก็บซะกาตจากเขา และต้องโทษประหารหากเขาไม่กลับตัวเตาบัตเพราะเขาได้ตกจากศาสนาแล้ว แต่หากเขาไม่ยอมจ่ายเพราะความตระหนี่ถือว่าไม่ตกจากศาสนา และต้องทำการจัดเก็บจากเขาพร้อมกับลงโทษด้วยการยึดทรัพย์ของเขาครึ่งหนึ่ง

     2- วาญิบเหนือผู้ที่ครอบครองทรัพย์ครบพิกัดที่จะต้องทำการจ่ายซะกาตของทรัพย์นั้น เพราะอัลลอฮฺได้สัญญาด้วยการลงโทษที่แสนสาหัสสำหรับทุกคนที่ไม่ยอมจ่ายซะกาต

อัลลอฮฺตรัสไว้ความว่า

 “บรรดาผู้ที่สะสมทองและเงิน และไม่จ่ายมันในทางของอัลลอฮฺนั้น

จงแจ้งข่าวแก่พวกเขาเถิดด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด วันที่มันจะถูกเผาด้วยไฟนรกแห่งญะฮันนัม

แล้วหน้าผากของพวกเขา และสีข้างของพวกเขาและหลังของพวกเขาจะถูกนาบด้วยมัน

นี่แหละคือสิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้ เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นจงลิ้มรสสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้เถิด”

(อัลเตาบะฮฺ 34-35)

รายงานโดยอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَنْ آتَاهُ الله مَالاً فَلَـمْ يُؤَدِّ زَكَاتَـهُ مُثِّلَ لَـهُ يَومَ القِيَامَةِ شُجَاعاً أَقْرَعَ لَـهُ زَبِيبَتَان، يُطَوِّقُهُ يَومَ القِيَامَةِ، ثُمَّ يَأْخُذُ بِلِـهْزِمَتَيْـهِ -يَـعْنِي بِشِدْقَيْـهِ-، ثُمَّ يَـقُولُ: أَنَا مَالُكَ، أَنَا كَنْزُكَ»، ثُمَّ تَلا (ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ...) الآية. أخرجه البخاري.

 

"ใครที่อัลลอฮฺได้ประทานทรัพย์สินแก่เขาแล้วเขาไม่ทำการจ่ายซะกาตของมัน

มันจะถูกจำแลงแก่เขาในวันกิยามะฮฺให้เป็นงูหัวล้าน มีสองเขี้ยว มันจะรัดเขาในวันกิยามะฮฺ

แล้วรัดที่ขากรรไกรของเขาทั้งสองข้างแล้วมันจะกล่าวว่า ข้าคือทรัพย์ของเจ้า ข้าคือสิ่งที่เจ้าสะสมไว้"

แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺนี้    (ﯲ ﯳ ﯴ ﯵ...) จนจบอายะฮฺ”

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1403)

อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«مَا مِنْ صَاحِبِ كَنْزٍ لا يُؤَدِّي زَكَاتَـهُ إلا أُحْـمِيَ عَلَيْـهِ فِي نَارِ جَهَنَّمَ، فَيُـجْعَلُ صَفَائِحَ، فَيُكْوَى بِـهَا جَنْبَاهُ وَجَبِينُـهُ، حَتَّى يَـحْكُمَ الله بَيْنَ عِبَادِهِ، فِي يَوْمٍ كَانَ مِقْدَارُهُ خَـمْسِينَ ألْفَ سَنَةٍ». أخرجه مسلم

“ไม่มีผู้ใดที่เป็นผู้สะสมทรัพย์แล้วไม่จ่ายซะกาตของมันยกเว้นมันจะถูกเผาในไฟนรก

แล้วมันถูกทำให้แบนแล้วถูกนำมารีดกับสีข้างของเขาและหน้าผากของเขา

จนกว่าอัลลอฮฺจะตัดสินระหว่างบ่าวของพระองค์ ในวันที่หนึ่งวันของมันมีความยาวเท่ากับห้าหมื่นปี”

(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 987)

รายงานจากท่านอบู ซัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ، أوْ: وَالَّذِي لَا إلَـهَ غَيْرُهُ -أوْ كَمَا حَلَفَ- مَا مِنْ رَجُلٍ تَـكُونُ لَـهُ إبِلٌ، أوْ بَقَرٌ، أوْ غَنَمٌ، لا يُؤَدِّي حَقَّهَا، إلا أُتِيَ بِـهَا يَوْمَ القِيَامَةِ أعْظَمَ مَا تَـكُونُ وَأسْمَنَـهُ، تَطَؤُهُ بِأخْفَافِهَا، وَتَنْطَحُهُ بِقُرُونِـهَا، كُلَّـمَا جَازَتْ أُخْرَاهَا رُدَّتْ عَلَيْـهِ أُولاهَا، حَتَّى يُـقْضَى بَيْنَ النَّاسِ». متفق عليه

“ขอสาบานด้วย(อัลลอฮฺ)ผู้ที่ชีวิตฉันอยู่ในมือเขา หรือ ขอสาบานด้วยผู้ที่ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์

ว่าไม่มีผู้ใดที่มีอูฐ วัวหรือแพะแล้วเขาไม่จ่ายสิทธิ์ของมัน นอกจากมันจะถูกนำมาในวันกิยามะฮฺ

ในลักษณะที่ใหญ่มากและอ้วนมากแล้วมันจะเยียบเขาด้วยเท้า และขวิดด้วยเขาของมัน

ทุกครั้งที่ตัวสุดท้ายผ่านไปตัวแรกก็จะหวนกลับคืนมา จนกว่าจะมีการตัดสินระหว่างมนุษย์”

(มุตตะฟะกุนอะลัยฮฺ บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1460 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และมุสลิม หมายเลข 987)

 

 


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์  แปลโดย : อิสมาน  จารง   /  Islam House