การแสดงความเสียใจปลอบโยนญาติผู้ตาย
  จำนวนคนเข้าชม  63072

 

 

การแสดงความเสียใจและปลอบโยนญาติผู้ตาย

 

ช่วงเวลาการตะอฺซิยะฮฺ  แสดงความเสียใจและปลอบโยนญาติผู้ตาย 

          ส่งเสริมให้ทำการตะอฺซิยะฮฺให้กับญาติผู้ตายก่อนทำการฝังหรือหลังการฝังศพ โดยให้กล่าวกับพวกเขาดังเช่นดุอาอ์ว่า

 

«إنَّ لله مَا أَخَذَ، وَلَـهُ مَا أَعْطَى، وَكُلُّ شَيْءٍ عِنْدَهُ بِأَجَلٍ مُسَمَّى، فَلْتَصْبِرْ وَلْتَـحْتَسِبْ». متفق عليه

 

“แท้จริงแล้ว เป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ในสิ่งที่พระองค์ได้เอาไป และสิ่งที่พระองค์มอบให้มา และทุกๆ สิ่ง ณ ที่พระองค์นั้นมีอายุที่แน่นอน

ดังนั้นขอท่านจงอดทนและจงคิดว่ามันจะเป็นผลบุญที่ท่านจะได้รับเถิด”

 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 7377 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 923)


หุก่มของการตะอฺซิยะฮฺ

          สุนัตหรือส่งเสริมให้ตะอฺซิยะฮฺแก่ญาติของผู้ตายและไม่มีเวลาหมดวาระตายตัวสำหรับเรื่องนี้ การตะอฺซิยะฮฺให้ทำด้วยสิ่งที่คิดว่าสามารถปลอบโยนพวกเขาได้ และช่วยบรรเทาอาการโศกเศร้าของพวกเขา ในกรอบที่บทบัญญัติอนุมัติให้ทำ และให้พยายามให้กำลังใจพวกเขาเพื่อให้มีความอดทนและพอใจในกำหนดของอัลลอฮฺ พร้อมทั้งขอดุอาอ์ให้กับผู้ตายและผู้ที่ประสบกับบททดสอบแห่งความทุกข์นั้น


 

สถานที่ของการตะอฺซิยะฮฺ

          อนุญาตให้ตะอฺซิยะฮฺได้ทุกที่ อาทิ ที่กุบูรฺ ที่ตลาด ที่มุศ็อลลา ที่มัสยิด ที่บ้าน รวมทั้งอนุญาตให้ญาติของผู้ตายชุมนุมกันที่บ้านหรือที่สถานที่ใดที่หนึ่ง เพื่อให้มิตรสหายได้มาทำตะอฺซิยะฮฺ และเมื่อตะอฺซิยะฮฺเสร็จก็ให้แยกย้ายกันกลับไป

     * ไม่อนุญาตให้บรรดาเครือญาติของผู้เสียชีวิตเจาะจงเครื่องแต่งกายเฉพาะเพื่อการตะอฺซิยะฮฺ เช่น การแต่งชุดดำ เป็นต้น เนื่องเป็นการแสดงความไม่พอใจในสิ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดไว้

 
 

การตะอฺซิยะฮฺให้กับผู้ไม่ใช่มุสลิม

          อนุญาตให้ทำการตะอฺซิยะฮฺหรือแสดงความเสียใจกับผู้ไม่ใช่มุสลิมได้ โดยไม่มีการขอดุอาอ์ให้ผู้ตายแต่อย่างใด ในกรณีที่ผู้ไม่ใช่มุสลิมดังกล่าวนั้นไม่ได้แสดงความเป็นศัตรูต่ออิสลามและชาวมุสลิม

     * ส่งเสริมให้คนอื่นทำอาหารมอบให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และมักรูฮฺที่จะให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตทำอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาเยี่ยมและชุมนุมกันเพื่อเลี้ยงอาหาร


 

การร้องไห้ให้กับผู้ตาย

          อนุญาตให้มีการร้องไห้เนื่องจากการเสียชีวิตกรณีที่การร้องไห้นั้นไม่ได้ทำร่วมกับการตบตีร่างกายหรือคร่ำครวญส่งเสียงดัง การหลั่งน้ำตานั้นเป็นความเมตตาอย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺ ได้มอบให้กับจิตใจของบ่าวที่มีความเมตตาของพระองค์ และห้ามทำการฉีกเสื้อผ้า ทำร้ายร่างกาย และส่งเสียงดังเป็นต้น เนื่องจากผู้ตายจะถูกทรมานในหลุมฝังศพหากมีการส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญให้กับเขาจากการสั่งเสียของเขาเอง

     عن عبدالله بن جعفر رضي الله عنهما أن النبي صلى الله عليه وسلم  أَمْهَلَ آلَ جَعْفَرٍ ثَلاثاً أَنْ يَأْتِيَـهُـمْ، ثُمَّ أَتَاهُـمْ فَقَالَ: «لا تَبْكُوا عَلَى أَخِي بَـعْدَ اليَومِ»، ثم قال: «ادْعُوا لِي بَنِي أَخِي» فَجِيءَ بِنَا كَأَنَّا أَفْرُخٌ فقال: «ادْعُوا لِي الحَلَّاقَ» فأمره فحلق رؤوسنا. أخرجه أبو داود والنسائي

     จากอับดุลลอฮฺ บิน ญะฟัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา แท้จริงท่านนบี ได้ปล่อยเวลาให้ครอบครัวของญะฟัรเป็นเวลาสามคืน(ให้พวกเขาร้องไห้และโศกเศร้า)เพื่อไปหาพวกเขา

เมื่อครบสามคืนท่านก็ไปหาพวกเขา แล้วกล่าวว่า “พวกท่านอย่าได้ร้องไห้ให้กับน้องชายของฉัน(หมายถึงญะฟัรฺ)อีกหลังจากวันนี้ไป”

แล้วท่านก็กล่าวว่า “พวกท่านจงเรียกลูกๆ ของน้องชายฉันมา” แล้วพวกเราก็มาหาท่านในสภาพที่เหมือนกับลูกนกที่เพิ่งมีขน

แล้วท่านก็กล่าวว่า “พวกท่านจงเรียกคนโกนผมมาให้ฉัน แล้วท่านก็สั่งให้ช่างทำการโกนหัวพวกเรา”

(หะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด หมายเลข 4192 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ อัน-นะสาอีย์ หมายเลข 5227)
 

     . وعن عمر بن الخطاب رضي الله عنه عن النبي صلى الله عليه وسلم قال: «المَيِّتُ يُـعَذَّبُ فِي قَبْرِهِ بِمَا نِيحَ عَلَيْـهِ». متفق عليه

 

        จากท่าน อุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ จากท่านนบี กล่าวว่า

“แท้จริงผู้ตายนั้นจะถูกทรมานในสุสานของเขา เนื่องจากการนิยาหะฮฺหรือการคร่ำครวญร่ำไห้รำพันให้กับเขา”

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 1292 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม หมายเลข 927)

 


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

 แปลโดย : รุสดี การีสา  / Islam House