การครองงาน
  จำนวนคนเข้าชม  11322

 

การบริหารงานบุคคลตามหลักการศาสนาอิสลาม โดยใช้หลักที่ว่า

การครองตน            การครองคน            การครองงาน 

 

การครองงาน

โดย... อ.อรุณ  บุญชม


(1) การทำงานเป็นอิบาดะห์

          หมายถึงเป็นความดี โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการทำงานที่เป็นอิบาดะห์แท้ๆเช่น ละหมาด หรือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ  อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

 {إِنَّ الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ إِنَّا لا نُضِيعُ أَجْرَ مَنْ أَحْسَنَ عَمَلا} الكهف : 30

“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย

เราจะไม่ให้การตอบแทนของผู้กระทำความดีสูญหายอย่างแน่นอน” 

การทำงานจึงเป็นสิ่งที่สูงส่งสำหรับมุสลิม 

 

(2) งานสุจริตเป็นงานที่มีเกียรติ (العمل هي العبادة) 

          อิสลามใช้ให้มุสลิมแสวงหาปัจจัยที่ฮาลาล(ที่ศาสนาอนุมัติ) เพราะสิ่งที่นำมาบริโภคนั้นจะกลายเป็นเลือดเนื้อของเขา หากได้มาในทางที่ทุจริต หรือในทางที่ศาสนาไม่อนุมัติ เช่นลักขโมย ฉ้อโกง ก็จะมีผลทำให้ความดีที่เขากระทำไม่ได้รับการตอบสนอง  ท่านนะบี  ที่ได้กล่าวสนับสนุนการทำงานที่สุจริตไว้มีความว่า

( ما أكل أحد طعاماً قط خيراً من أن يأكُل من عمل يديه ) رواه البخاري
 

“ ไม่มีผู้ใดได้รับประทานอาหารใด ที่ประเสริฐยิ่งกว่า รับประทานสิ่งที่เขาหามาได้ด้วยการทำงานของสองมือของเขา”

และท่านได้กล่าวว่า

( لأن يحتطب أحدكم حزمة على ظهره خير له من أن يسأل أحدا فيعطيه أو يمنعه) متفق عليه 
 
“การที่คนใดจากพวกท่านหาฟืนแล้วแบกขึ้นบนหลังเอาไปขายนั้น

ย่อมดีกว่าการเที่ยวขอจากผู้อื่น ซึ่งเขาอาจให้หรือไม่ให้ก็ได้ ”


 

(3) ทำงานด้วยใจรักและประณีต (الإتقان في العمل)  

ท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

( إن الله يحب إذا عمل أحدكم عملا أن يتقنه) رواه البيهقي

“แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรักเมื่อใครคนหนึ่งได้ทำงานใดๆ ด้วยความประณีต”

         การทำงานด้วยความประณีตคือการทำงานด้วยความพิถีพิถันและด้วยใจรัก เมื่อรักงานที่ทำก็จะทำด้วยความสุขและสนุกเพลิดเพลินไปกับการทำงานนั้น


 

(4) มีความรู้ความสามารถในการทำงาน (العلم قبل العمل)    

          อิสลามได้กำหนดหลักการไว้ชัดเจนว่าต้องมีความรู้ก่อนที่จะลงมือทำงาน หากลงมือทำงานโดยไม่มีความรู้ก็จะไม่มีผลตอบแทนใดๆ ให้แก่การทำงานนั้น และบางกรณีต้องรับผิดชอบและชดใช้ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกด้วยดังท่านนะบี  ได้กล่าวว่า

( من تطبب وهو لا يعلم منه طب ، فهو ضامن)  رواه أبوداود
 

“ผู้ใดทำการรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีความรู้ เขาจะต้องชดใช้ความเสียหาย” 

มุสลิมจะต้องมีความตื่นตัวในการทำงาน การศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ.