เมื่อคนในบ้านป่วยเป็น 'โรคจิตเภท'
  จำนวนคนเข้าชม  43674

 

เมื่อคนในบ้านป่วยเป็น 'โรคจิตเภท'
 

 
 
       คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยนนี้เป็นยุคของการแข่งขันที่รายล้อมไปด้วยความกดดันมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะทำให้คนมีอาการเครียดได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานจิตใจไม่แข็งแรง อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือในรายที่รุนแรงอาจถึงขึ้นมีอาการทางจิต คือ หลุดออกจากความจริง เช่น มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง เป็นต้น
      
       นอกจากนี้อาการทางจิตยังพบได้บ่อยในคนที่ใช้ยาเสพติดเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะยาเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น ยาบ้า โคเคน เป็นต้น ยังมีความผิดปกติทางจิตที่พบบ่อย อีกชนิดหนึ่งที่มีอาการเรื้อรัง ซึ่งหลายคนอาจจะเคยพบเห็นมาแล้วแต่ยังไม่ค่อยรู้จักหรือเข้าใจ นั่นก็คือ
'โรคจิตเภท'
      
       สำหรับกลุ่มอาการของโรคจิตเภท "นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย" กรรมการผู้จัดการ และจิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ความรู้กับทีมงาน Life and Family ว่า โรคจิตเภทเป็นความผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อย ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 4-5 แสนคน เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ต้องมีอาการนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
      
       อาการของโรคจิตเภท สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

         กลุ่มอาการทางบวกและกลุ่มอาการทางลบ สำหรับกลุ่มอาการทางบวก ได้แก่ อาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดหรือด่าว่า อาการพูดคนเดียว เป็นต้น อาการหลงผิด เช่น คิดว่ามีคนมาปองร้าย คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้สร้างโลก เป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิด มาโปรดสัตว์ เป็นต้น
      
       ส่วนอาการทางลบ ได้แก่ อาการเฉยเมย พูดน้อยหรือไม่พูด ขาดความสนใจในกิจกรรมทุกชนิด นั่งเหม่อลอยได้ทั้งวัน ไม่สนใจดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก เป็นต้น อาการผิดปกตินี้เมื่อเป็นอยู่นานก็จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต เป็นภาวะเสื่อมถอย ไม่สามารถรับผิดชอบการเรียน หน้าที่การงาน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเองได้
      
       นอกจากนี้ นพ.ไกรสิทธิ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุของโรคจิตเภทว่ายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า สาเหตุใหญ่เกี่ยวข้องกับระดับของสารเคมีในสมองผิดปกติซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ภาวะแทรกซ้อน ระหว่างตั้งครรภ์ที่มีผลต่อสมองของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เช่นบรรยากาศในครอบครัวและสังคมที่สับสน ไม่อบอุ่น มีภาวะกดดันมาก ก็อาจมีส่วนกระตุ้นความผิดปกติให้แสดงอาการออกมาด้วย

 
 
       สำหรับการดำเนินโรค คุณหมอได้กล่าวว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเริ่มเป็นครั้งแรกในผู้ชาย มักพบในช่วง 15-25 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ในช่วง 20-30 ปี อาการเริ่มต้นส่วนใหญ่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีบางรายก็มีอาการมากแบบเฉียบพลันเลย อาการผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป
      
       อาทิเช่น แยกตัวออกจากสังคม ขาดความสนใจในการเรียน การงาน ไม่ดูแลสุขอนามัย มีพฤติกรรมทางสกปรก มีพฤติกรรมผิดปกติ พูดแปลกๆ พูดคนเดียว มีวิธีคิดหรือความเชื่อแปลกๆ ญาติๆ จะเห็นว่าผู้ป่วยต่างไปจากคนเดิม นานเข้าอาการจะชัดเจนขึ้นคือ มีหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง การดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน ความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนเป็นๆ หายๆ บางคนก็สามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้ ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินโรคคือ การติดตามการรักษา สม่ำเสมอและการเอาใจใส่ของครอบครัว
      
       ดูแลอย่างไร? เมื่อคนในบ้านเป็น 'โรคจิตเภท'
      
       สำหรับในกรณีการดูแลผู้ป่วย คุณหมอจะพูดถึงการดูแลหลังการรักษาจากจิตแพทย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณหมอบอกว่า ‘ครอบครัว’ ถือเป็นตัวยาสำคัญ พร้อมกันนี้คุณหมอได้ฝากหลักการดูแลผู้ป่วย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ และญาติพี่น้อง ดังนี้
      
       1. พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องควรดูแลการกินยาของลูกหลานที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท เพื่อให้กินยาตรงเวลา และสม่ำเสมอ
      
       2. กระตุ้นเรื่องหน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวเด็กที่ป่วย เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ทั้งนี้ ต้องอย่าคาดหวัง หรือใช้อารมณ์ในการกระตุ้น เช่น "ทำไมขี้เกียจแบบนี้ งานการไม่ยอมทำ" แต่ควรใช้วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไป บวกกับมีความอดทน เพื่อให้ร่างกาย และจิตใจผู้ป่วย ค่อยๆ ฟื้นกลับคืนสภาพเดิมได้อย่างปกติสุข
      
       3. พาไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อประเมินพฤติกรรม พร้อมกับรับฟังคำแนะนำในการดูแลจากจิตแพทย์
      
       4. ถ้ามีโอกาส ควรพาผู้ป่วยออกไปเที่ยว หรือสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง เพื่อให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย และเกิดความสบายใจขึ้น
      
       จิตแพทย์แนะปิดทางเสี่ยง ก่อนลูก 'มีอาการทางจิต'
      
       1. สำหรับลูกเล็ก คุณพ่อคุณแม่ ควรให้เวลาคุณภาพกับลูก ด้วยการทำกิจกรรม และทำให้ลูกรู้สึกว่า ตัวเขาเองมีคุณค่า เช่น ชมเชยด้วยคำพูด หรือสิ่งของ เมื่อลูกทำในสิ่งที่ดีงาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำสิ่งที่ดีต่อไป
      
       ขณะที่ลูกโต และเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กในช่วงวัยนี้ จะต้องรับมือกับการเปลี่ยนหลายด้าน พร้อมกับต้องรับความกดดันด้านต่างๆ ไม่ว่าจะการเรียน และการสอบ จึงเป็นวัยที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ และใช้เหตุผลในการพูดคุย
      
       2. พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก พร้อมกับสร้างความไว้ใจ และความศรัทธาของพ่อแม่ให้เกิดขึ้นในตัวลูก ด้วยการเปิดใจกว้าง และมีใจเป็นกลาง เพราะเวลาลูกเจอปัญหา เขาจะเข้ามาปรึกษาพ่อแม่ แทนที่จะเข้าไปปรึกษาคนอื่น
      
       3. การจะเลี้ยงลูกให้ดีทั้งร่างกาย และจิตใจนั้น นอกจากความหวังดีแล้ว พ่อแม่ต้องมีความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วย เช่น ใช้คำพูดอย่างไรให้ลูกรู้สึกดี หรือลูกมีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหนบ้างต้องใส่ใจ หรือควรระวัง
      
       "ดังนั้น การเลี้ยงลูก เปรียบได้กับคนรักต้นไม้ ถ้ามีแต่รัก แต่ไม่มีความรู้ ต้นไม้อาจตายได้ นั่นเพราะ ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ต้นไหนคือต้นไม้ในร่ม หรือต้นไหนเป็นต้นไม้แดด ดังนั้นเมื่อไม่มีความรู้ ทำให้มีการเลี้ยงดูที่ผิดวิธี ส่งผลให้ต้นไม้เฉาตายได้ในที่สุด"
      
       4. ประการสุดท้าย ควรสังเกตพฤติกรรมลูกอยู่ตลอดเวลา เพราะอาการทางจิต เป็นบาดแผลที่มองไม่เห็น ถ้าพบความผิดปกติ เช่น ลูกซึมเศร้า หรือไม่สนใจคนรอบข้างเหมือนเมื่อก่อน ขั้นแรกต้องคุยกับลูก แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปพบจิตแพทย์ เพื่อดูอาการ และทำการรักษาต่อไป เร็วเท่าไร การรักษาจะมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสหายเป็นปกติได้เร็วเท่านั้น

 
 
 manager online / life & family