'5 อาการผิดปกติ' ที่แม่ใกล้คลอด ต้องรีบไปพบแพทย์!
  จำนวนคนเข้าชม  730962

'5 อาการผิดปกติ' ที่แม่ใกล้คลอด ต้องรีบไปพบแพทย์ !
 
 

 
       ช่วงประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ถือเป็นช่วงที่มีความสุข เพราะจะได้เห็นหน้าลูกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง และสังเกตุอาการที่ผิดปกติเป็นพิเศษด้วย เพราะนั่น อาจจะส่งผลให้เด็กคลอดก่อนกำหนดได้ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ขี้โรค ป่วยบ่อย พัฒนาการช้า และที่สำคัญ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษา เนื่องจากลูกคลอดก่อนกำหนดต้องเข้าตู้อบ เพื่อให้ออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ
      
       ทั้งนี้ เพื่อให้ (ว่าที่) คุณแม่ทุกคน รู้เท่าทันอาการผิดปกติก่อนที่จะสายเกินไป ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 เขตบางเขน เกี่ยวกับอาการผิดปกติที่คุณแม่ใกล้คลอด หรือมีอายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
      
       โดยจะมีอาการผิดปกติที่พบได้บ่อยอยู่ 5 อาการด้วยกัน คือ เลือดออกทางช่องคลอด น้ำเดินก่อนคลอด ปวดท้อง หรือท้องแข็งตึง บวมเนื่องจากความดันโลหิตสูง รวมไปถึงลูกดิ้นน้อยผิดปกติ ซึ่งแต่ละอาการที่เกิดขึ้นนั้นขออธิบายรายละเอียดให้เข้าใจ ตามแต่ละอาการที่จะต้องรีบไปพบแพทย์ดังต่อไปนี้
      
       *** เลือดออกทางช่องคลอด
      
       อาการดังกล่าวนี้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งปกติ รกจะรอกตัวออกจากผนังมดลูกหลังจากเด็กคลอดออกมาแล้ว แต่ถ้ารกลอกตัวก่อนตัวเด็กจะคลอด เนื่องจากครรภ์เป็นพิษ หรือถูกกระแทกบริเวณท้องอย่างรุนแรง จะทำให้มีเลือดไหลออกในโพรงมดลูก อาจทำให้เด็กในครรภ์ขาดออกซิเจนไปเลี้ยง จนเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีเลือดออกทางช่องคลอด ปวดหน้าท้อง หน้าท้องแข็งตึง หรือกดแล้วเจ็บ มดลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีเลือดขังอยู่ภายใน ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
      
       ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ รกเกาะต่ำ เป็นภาวะที่รกบางส่วน หรือทั้งหมด เกาะอยู่ที่ตอนล่างของมดลูก แทนที่จะเกาะที่ผนังตอนบนของมดลูก โดยอาการที่จะต้องรีบไปพบแพทย์นั้น คือ จะมีเลือดออกทางช่องคลอดเหมือนกัน แต่จะไม่เจ็บครรภ์ ซึ่งถ้าเลือดออกมาก แพทย์จะต้องเอาเด็ก และรกออกให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เลือดหยุดไหล
      
       *** บวม-ความดันโลหิตสูง
      
       อาการบวม เกิดจากโรคพิษแห่งครรภ์ จะพบในคุณแม่ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีความดันโลหิตสูง คุณแม่ที่เป็นเบาหวาน และคุณแม่ที่มีครรภ์แฝด สำหรับอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ คุณแม่จะมีอาการบวม ตั้งแต่หลังเท้า มือบวม นิ้วบวม ปวดหัว สายตาพร่ามัว ซึ่งถ้าหากมาพบแพทย์ช้า ตัวคุณแม่เอง อาจชักหมดสติ และเสียชีวิตได้
      
       *** ลูกในท้องดิ้นน้อยผิดปกติ
      
       ปกติลูกในท้อง จะต้องดิ้นมากกว่า 10 ครั้ง/วัน ซึ่งการดิ้นของลูก บ่งบอกว่า ลูกยังมีชีวิตอยู่ หรือมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยลูกจะดิ้นมากหลังจากที่คุณแม่กินอาหารเสร็จใหม่ๆ อย่างไรก็ดี การนับลูกดิ้นนั้น ให้นับตั้งแต่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไป ควรนับ 3 เวลา หลังอาหารเช้า-กลางวัน และเย็น แต่ละครั้งให้สังเกต 1 ชั่วโมง โดยมีวิธีการนับลูกดิ้นดังนี้ คือ ลูกดิ้นในเวลาเดียวกัน ให้นับเป็น 1 ครั้ง เช่น ตุ๊บ ตุ๊บ พัก ให้นับเป็น 1 ครั้ง หรือ ตุ๊บ ตุ๊บ ตุ๊บ ก็ให้นับเป็น 1 เช่นกัน ทั้งนี้จะนับหลังอาหาร 1 ชั่วโมง ถ้านับแล้วไม่ถึง 3 ครั้ง ให้นับต่อไปอีก 1 ชั่วโมง และถ้ายังไม่ถึง 3 ครั้งอีก ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ต่อไป
 
       *** น้ำเดินก่อนกำหนด
      
       น้ำเดิน คือ การที่มีน้ำใสๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ (แต่ไม่ใช่น้ำปัสสาวะ) ไหลออกมาทางช่องคลอด นั่นแสดงว่า ถุงน้ำคร่ำแตกรั่ว ซึ่งจะไม่เป็นมูก หรือว่าตกขาว ดังนั้น เมื่อมีอาการน้ำเดิน คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากทิ้งไว้ เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าไปในโพรงมดลูกจนเกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้แม่ และลูกอาจเสียชีวิตได้
      
       อย่างไรก็ดี คุณแม่บางคนเกิดข้อสงสัยว่า น้ำเดินอย่างไร จึงควรจะต้องไปพบแพทย์ สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำคร่ำไหลน้อย ออกมาตามหน้าขา ให้คุณแม่ใส่ผ้าอนามัย สังเกต 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรเดินมาก ซึ่งถ้ายังไหลอยู่ ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์ ในส่วนของคุณแม่ที่น้ำคร่ำไหลมาก ควรอยู่นิ่งๆ จนกว่าน้ำคร่ำจะหยุดไหล ใส่ผ้าอนามัย แล้วรีบให้สามี หรือญาติพาไปพบแพทย์ ไม่ต้องรอให้เจ็บครรภ์เช่นกัน ในภาวะนี้ คุณแม่ไม่ควรเดิน เพราะอาจเกิดสายสะดือย้อย ทำให้ทารกเสียชีวิตได้

      
       *** ปวดท้อง-ท้องแข็งตึง
      
       อาการปวดท้องในที่นี้ คือ การปวดบริเวณท้องน้อย มดลูก หรือหัวหน่าว ส่วนท้องแข็งตึงนั้น คือ การที่มดลูกบีบรัดตัวแข็งเป็นก้อนกลม ซึ่งหากทิ้งไว้นาน จะทำให้ปากมดลูกเปิด เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
      
       นอกจากนี้ อาการปวดท้อง หรือท้องแข็งตึงนั้น ยังเกิดจากการร่วมเพศอย่างรุนแรง ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เป็นผลทำให้มดลูกหดรัด และอาจแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ดี ในคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติ อาจมีอาการท้องแข็งตึงได้บ้าง เช่น เวลาผลิกตัว หรือลูกดิ้น แต่หากรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยกว่าปกติ ควรนอนพักผ่อนให้มากๆ และถ้าหากนอนพักแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการท้องแข็งตึงทุกครึ่งชั่วโมงติดๆ กัน เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ควรให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะจะเป็นสาเหตุให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้
      
       *** วิธีลดความเสี่ยง เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
      
       - ถ้าสูบบุหรี่ แนะนำให้งด หรือสูบให้น้อยลง
      
       - พักผ่อนให้มากๆ ไม่ควรทำงานหนัก โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในความเสี่ยง เช่น มีโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รกเกาะต่ำ ตั้งครรภ์แฝด ภาวะแห้งคุกคาม เป็นต้น
      
       - ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพื่อป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ก่อให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดได้
      
       - งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงอายุครรภ์ 20-36 สัปดาห์ขึ้นไป (ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด)
      
       - คุณแม่ต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
      
       - สำหรับในรายที่ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูก การรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ (เฉพาะครั้งแรกเท่านั้น ควรับประทานยาครึ่งเม็ด และนอนพักผ่อน เนื่องจากจะทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่นได้)
      
       จะเห็นได้ว่า อาการผิดปกติดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย แต่ควรรู้เท่าทัน ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เลือดออกจากช่องคลอด น้ำเดิน ปวดท้อง ท้องแข็งตึง บวม ลูกดิ้นน้อย อาการใดอาการหนึ่ง ให้ควรไปรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้ ทีมงานขอเป็นกำลังใจให้กับ (ว่าที่) คุณแม่ทุกคนด้วยนะครับ
 
 


Life & Family / Manager online