ข้อพิพาทบางประการเกี่ยวกับการรวบรวมอัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  5529

ความพยายามของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ในการรวบรวมอัลกุรอาน (7)


โดย....ยูซุฟ  อบูบักร


ตอบโต้ข้อพิพาทบางประการเกี่ยวกับการรวบรวมอัลกุรอานที่เกิดขึ้นในสมัยเคาะลีฟะฮฺอุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ


ประการแรก  มีกลุ่มบุคคลกล่าวตำหนิว่าร้ายต่างๆ นาๆ ในกรณีที่เคาะลีฟะฮฺอุษมานได้มีคำสั่งให้เผาอัลกุรอานฉบับอื่นทิ้ง


คำตอบ 

          สำหรับคัมภีร์อัลกุรอานหรือมุศหัฟที่ท่านอุษมานได้สั่งเผาทิ้งเป็นอัลกุรอานซึ่งมีบางส่วนที่ถูกยกเลิกในด้านการอ่าน โดยที่ยังมีเศาะหาบะฮฺบางท่านคงเก็บรักษาไว้ และเป็นฉบับที่มีการจัดลำดับโองการต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามการจัดลำดับจากการนำเสนอครั้งสุดท้ายของญิบรีลที่ได้นำเสนอแก่ท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม บางฉบับมีคำอรรถาธิบายของเศาะหาบะฮฺบางท่านรวมอยู่ด้วย อันเนื่องมาจากเหตุผลดังที่กล่าวมาท่านอุษมานจึงมีคำสั่งให้เผาอัลกุรอานฉบับต่างๆ ที่มีความผิดปกติทิ้ง และให้คัดลอกขึ้นใหม่เป็นรูปเล่มที่มีแบบเดียวกัน

         อิบนุ อัล-อะรอบีย์ ได้กล่าวถึงการรวบรวมอัลกุรอานและการสั่งเผาฉบับอื่นที่เหลือว่า การกระทำดังกล่าวนับได้ว่าเป็นความดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพราะแท้จริงเป็นการกำจัดความขัดแย้ง และอัลลอฮฺทรงปกปักษ์รักษาอัลกุรอานไว้ด้วยกับมือทั้งสองของเขา

         สำหรับการสั่งเผาหรือการทำลายอัลกุรอานฉบับอื่นนอกเหนือจากฉบับของอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ถือว่าเป็นที่อนุญาตหากว่าการคงเหลือฉบับอื่นเอาไว้แล้วจะนำไปสู่ความเสียหาย หรือว่าในฉบับนั้นมีส่วนอื่นที่ไม่ใช่อัลกุรอานรวมอยู่ด้วย หรือยังมีส่วนที่ถูกยกเลิก หรือไม่ได้จัดเรียบเรียงตามลำดับ สำหรับเรื่องดังกล่าวแล้วบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหมดรอดพ้นจากความผิดอันนี้

 

ประการที่สอง  มีกลุ่มบุคคลกล่าวหาว่าการรวบรวมอัลกุรอานของเคาะลีฟะฮฺอุษมานเป็นการทำอุตริกรรมขึ้นใหม่ (บิดอะฮฺ)


คำตอบ 

          การรวบรวมอัลกุรอานของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ไม่ถือว่าเป็นการทำอุตริกรรมขึ้นใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ อัศศิดดีก เคยทำมาก่อนแล้ว และเช่นเดียวกันท่านก็ไม่ได้ทำตามอำเภอใจเพียงลำพังหากทว่าได้ผ่านการปรึกษาหารือกับบรรดาแกนนำเศาะหาบะฮฺจนตกผลึกแล้วจึงลงมือทำการรวบรวม พวกเขาต่างรู้สึกประหลาดใจและยอมรับต่อผลงานอันยิ่งใหญ่ชิ้นนี้พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญยกย่อง

 

ประการสาม  มีบุคคลบางกลุ่มกล่าวหาว่าอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด มีความเห็นที่ขัดแย้งในเรื่องการรวบรวมอัลกุรอานกับเคาะลีฟะฮฺอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา


คำตอบ 

          ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด มีความเห็นที่ขัดแย้งกับเคาะลีฟะฮฺอุษมานในเรื่องดังกล่าว สายรายงานทั้งหมดที่บอกเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งของบุคคลทั้งสองนี้ เป็นสายรายงานที่อ่อนแอเชื่อถือไม่ได้ (เฏาะอีฟ อัล-อิสนาด)

 

ประการสี่  พวกชีอะฮฺกล่าวว่า ท่านอิมามอะลีย์  ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะได้รวบรวมอัลกุรอานไว้ตามลำดับของการประทานโองการและนำแสดงให้ประชาชนได้รู้เห็น แต่ทว่าไม่ได้รับการยอมรับ อีกทั้งพวกเขามิได้ให้ท่านอิมามอะลีย์  เข้าร่วมในการรวบรวมอัลกุรอานทั้งสองวาระ... (เอาสำนวนมาจากข้อเขียนของชีอะฮฺ)


คำตอบ 

          เคาะลีฟะฮฺอุษมานได้เชิญชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศอรเพื่อประชุมปรึกษาหารือเรื่องการรวบรวมอัลกุรอานประกอบด้วยกลุ่มบุคคลระดับแกนนำ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และบรรดาอุละมาอฺของเศาะหาบะฮฺ อาทิ อะลีย์ บิน อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคาะลีฟะฮฺอุษมานได้บอกถึงความขัดแย้งนี้จะเป็นเหตุนำไปสู่การทำลายความเป็นเอกภาพของประชาชาติ...ศึกษาวิเคราะห์ ถกเถียงวิพากษ์ จนกระทั่งแต่ละฝ่ายต่างรู้ถึงเป้าหมายซึ่งกันและกัน...  นี่คือหลักฐานเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาที่ว่าเคาะลีฟะฮฺอุษมานกีดกันไม่ให้ท่านอะลีย์เข้ามีส่วนร่วมในการรวบรวมอัลกุรอาน ถือว่าเป็นการใส่ไคล้จากกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำลายอิสลาม

         ท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคยห้ามปรามผู้ที่ได้ตำหนิต่อท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ในเรื่องดังกล่าว ท่านกล่าวว่า โอ้มนุษยชาติพวกท่านทั้งหลายอย่าได้เกินเลยต่ออุษมาน อย่าพูดถึงเขานอกจากในเรื่องที่ดีงาม ขอสาบานต่ออัลลอฮฺเขาได้กระทำในสิ่งที่ไม่เคยมีผู้ใดกระทำ (เรื่องเกี่ยวกับอัลกุรอาน) ....ขอสาบานต่ออัลลอฮฺหากว่าฉันได้รับการแต่งตั้งฉันก็จะกระทำเสมือนกับที่เขาได้กระทำ

 

ประการสุดท้าย  คัมภีร์อัลกุรอานเป็นการดลใจจากพระเจ้า หรือว่ามนุษย์เป็นผู้ประพันธ์ขึ้น ?


คำตอบ 

          อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ของศาสนาอิสลามที่ประมวลบทบัญญัติ เกี่ยวกับหลักศีลธรรม และจริยธรรมอิสลามอย่างครบถ้วน สามารถยืนยันได้ว่าคัมภีร์อัลกุรอานเป็นการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ แล้ว การเชื่อมั่นและการศรัทธาในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ศัตรูอิสลามทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างใช้ความเพียรพยายามที่จะปฎิเสธความถูกต้องและที่มาของคัมภีร์อัลกุรอาน โดยพวกกราบไหว้เจว็ดรูปปั้นชาวมักกะฮฺที่ต่อต้านอิสลามในสมัยนั้นได้ใช้ความพยายามที่จะปฏิเสธว่าแท้จริงคัมภีร์อัลกุรอานไม่ใช่วะหฺยูหรือการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า ตามคำบอกกล่าวที่ปรากฏในอัลกุรอานสูเราะฮฺอัล-ฟุรกอน โองการที่ 4 ความว่า

 

"และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธากล่าวว่า แท้จริงอัลกุรอานนี้มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการโกหกที่มุหัมมัดได้กุขึ้นเอง

และกลุ่มชนอื่นๆ ได้ช่วยเขาในเรื่องนี้ ดังนั้นแน่นอนพวกเขาได้นำมาซึ่งความอยุติธรรมและการโกหก"

และโองการที่ 5 ความว่า

 

"และพวกเขากล่าวว่าอัลกุรอานเป็นนิยายของประชาชาติสมัยก่อนๆ ที่เขียนกันขึ้น แล้วถูกนำมาอ่านให้ขึ้นใจทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น"

 

รวมทั้งการกล่าวหาท่านนบีมุหัมมัดตามปรากฏในอัลกุรอานสูเราะฮฺอัล-นะหฺลุโองการที่ 103 ความว่า

 

 "และโดยแน่นอนเรารู้ที่พวกเขากล่าวว่า แท้จริงสามัญชนคนหนึ่งสอนเขา ภาษาที่พวกเขาพาดพิงไปถึงนั้นเป็นภาษาต่างถิ่น และนี่เป็นภาษาอาหรับที่ชัดแจ้ง"

 

          หรือว่าแท้จริงอัลกุรอานนั้น เป็นผลงานของนักมายากลหรือพวกที่ใช้ไสยศาสตร์ โดยที่พวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะหาทางปฏิเสธว่าคัมภีร์อัลกุรอาน ไม่ใช่การดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานผ่านมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อเป็นทางนำแก่มวลมนุษย์ชาติ       

          นักบูรพาคดีกลุ่มหนึ่งที่มีอคติต่ออิสลามได้สนับสนุนข้ออ้างที่ผิดๆ ที่พวกกราบไหว้เจว็ดรูปปั้นชาวมักกะฮฺ โดยได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางทำให้คัมภีร์อัลกุรอานว่าไม่ใช่การดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานผ่านมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งที่อัลกุรอานได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง

 

          มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า แท้จริงมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นผู้ซึ่งไม่รู้หนังสือ เหตุนี้ท่านจึงมอบหมายให้บรรดาเศาะหาบะฮฺและผู้ใกล้ชิดจดบันทึกการดลใจ และหากว่าท่านเป็นผู้รู้หนังสือแล้วคงไม่วานให้ผู้อื่นดำเนินการ ส่วนการกล่าวหาว่าท่านได้นำเรื่องบางเรื่องในคัมภีร์ยิวและไบเบิลมาใช้ในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องที่ไร้สาระและไร้เหตุผลสิ้นดี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ไม่รู้หนังสือจะสามารถอ่าน เข้าใจและถ่ายทอดเนื้อหาของคัมภีร์อื่นได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงเห็นได้ชัดว่าข้ออ้างต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงหรือมีข้อพิสูจน์ใดๆ ได้เลย

          ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เผยแผ่ศาสนาอิสลามในนครมักกะฮฺเป็นเวลา 13 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าท่านเคยติดต่อกับชาวยิวเลยตลอดระยะเวลาดังกล่าว สำหรับชาวคริสต์นั้นมีหลักฐานระบุว่าท่านเคยได้ติดตามลุงชื่อว่าอบูฏอลิบ เดินทางไปค้าขายที่ซีเรีย ในขณะนั้นท่านมีเพียงอายุ 9 ปี หรือ 12 ปีเท่านั้น โดยระหว่างที่กองคาราวานหยุดพักท่านได้พบและสนทนากับบาทหลวงบูไฮรี่เพียงไม่กี่นาที เด็กอายุขนาดนั้นจะเข้าใจหลักเกณฑ์ บทบัญญัติและพื้นฐานของศาสนาในระหว่างการพบปะช่วงสั้นๆ นั้นได้อย่างไร และเพราะเหตุใดที่บาทหลวงดังกล่าวจึงได้เลือกเด็กผู้ชายผู้นี้เป็นคู่สนทนา ทั้งที่มีผู้ใหญ่จำนวนมากในกองคาราวาน เพื่อให้รู้จักหลักการของศาสนาคริสต์ นอกจากนั้นก็ยังมีคำถามอีกว่าทำไมท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงต้องรอคอยเป็นเวลาถึง 30 ปีเพื่อที่จะประกาศศาสนาอิสลาม

          เรื่องดังกล่าวจึงเชื่อถือไม่ได้ นักบูรพาคดีผู้หนึ่งชื่อ Huart ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าวโดยสิ้นเชิงและเห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น โดยกล่าวว่าเอกสารและบันทึกภาษาอาหรับที่ถูกค้นพบศึกษาและเผยแผ่นั้น ต่างระบุว่าข้อความข้างต้นนั้นเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย

          อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ซึ่งสอดคล้องกับศาสนาอื่นๆ ที่มีการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า และศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว โดยพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระองค์ จึงจะต้องกลับไปหาพระองค์แต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ดี อัลกุรอานได้ปฏิเสธคำสอนหลายประการของศาสนายิวและคริสต์ เหตุใดเล่าจึงมีผู้กล่าวว่ามุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงได้เลียนแบบศาสนายิวและคริสต์ ถ้าสมมุติฐานดังกล่าวเป็นความจริง ก็ย่อมหมายความว่าความแตกต่างระหว่างศาสนาเหล่านั้นไม่มีความหมาย

           ไม่มีคัมภีร์อื่นใดที่ระบบเนื้อหาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ในบทบัญญัติกว่า 1,400 ปี เนื่องจากว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพิ่งจะถูกค้นพบในกลางศตวรรษที่ผ่านมา เมื่อนักดาราศาสตร์ไม่สามารถที่จะใช้คำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้นทางวิชาการจึงได้ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้น เป็นผลจากพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรเล่าที่ศาสดาผู้ไม่รู้หนังสือจะสามารถมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำหน้า นอกจากนี้คงกล่าวอ้างไม่ได้ว่าแหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านั้นเกิดจากคัมภีร์ของยิวหรือคริสต์ ซึ่งมิได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้เลย

 

 ดังนั้นที่มาของบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน จึงมีบ่อเกิดมาจากอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพลานุภาพ และมิได้เกิดมาจากน้ำมือของมนุษย์อย่างแน่นอน

 

บทสรุป


          หลังจากที่เราได้รู้ถึงวิธีการรวบรวมอัลกุรอานซึ่งต้องใช้ความทุ่มเทพยายามจากเหล่าเศาะหาบะฮฺอย่างจริงจัง ได้ก้าวผ่านอุปสรรคนานัปการ ต้องติดตามรวบรวมและก่อนจะบันทึกต้องมีพยานมายืนยันถึงความถูกต้อง เราในฐานะผู้ศรัทธาเชื่อมั่นเสมอว่าคัมภีร์แห่งฟากฟ้าที่ถูกประทานลงมาจากอัลลอฮฺผ่านมายังท่านรอสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นฉบับที่ถูกต้องดั้งเดิม ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่มีบิดเบือนหรือขาดหายแต่ประการใด เป็นคัมภีร์ที่ล้ำสมัยจะไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือสังคายนา จะไม่มีการตัดทอนหรือต่อเติมอีกแล้ว ดั่งที่อัลลอฮฺได้การันตีด้วยกับพระองค์ ความว่า

 

“แท้จริงเราได้ประทานข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) นี้ลงมา และแท้จริงเราจะเป็นผู้พิทักษ์รักษามันไว้อย่างแน่นอน”

 

          ผลจากความทุ่มเทพยายามของบรรดาเศาะหาบะฮฺในการจัดเก็บรวบรวมและบันทึก นับได้ว่าเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ สร้างคุณูปการอย่างล้นพ้น และสามารถนำประชาชาติอิสลามสู่ความเป็นเอกภาพ แต่..ยังมีกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีต่ออิสลามกลับใส่ไคล้โจมตีหาว่าเป็นการทำอุตริกรรมขึ้นใหม่บ้าง ตำหนิการเผาอัลกุรอานไปต่างๆ นาๆ ในที่สุดเป็นสาเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เคาะลีฟะฮฺอุษมานถูกสังหาร

 

         บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ใช้ความพยายามทุ่มเทอย่างหนักในการที่จะปกปักษ์รักษาคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺเอาไว้ โดยการจัดเก็บรวบรวม บันทึก คัดลอกอัลกุรอานขึ้นใหม่เพื่อจะได้มาถึงพวกเราในยุคปัจจุบัน  คำถามกลับมาที่พวกเรา มุสลิมในวันนี้ได้ศึกษาค้นคว้าหรือพิจารณาใคร่ครวญอัลกุรอานมากน้อยเพียงใด?? หน้าที่จัดเก็บรวบรวมพ้นไปแล้ว เหลือหน้าที่อย่างเดียวของพวกเราคือใคร่ครวญและปฏิบัติตาม เรากำลังยืนอยู่ตรงจุดไหนของประวัติศาสตร์??

 

          หลายคนเคยท่องจำอัลกุรอานมาแล้วหลายญุซอฺ หลายสูเราะฮฺ แต่..มันก็ได้หายไปพร้อมกับผลสอบรายวิชาอัลกุรอาน ภารกิจการรวบรวมอัลกุรอานเป็นหน้าที่ของพวกเขาได้ก้าวผ่านอุปสรรคนานัปการด้วยความลำบากเหนื่อยยาก ส่วนหน้าที่การปฏิบัติตามความหมายแห่งคัมภีร์เป็นหน้าที่ของมุสลิมในยุคปัจจุบันนี้ต้องตระหนัก

 

          อัลกุรอานไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาเก็บโชว์ไว้ในตู้ แต่..เป็นคัมภีร์ที่รอการนำมาปฏิบัติใช้เป็นครรลองในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่ท้าทายรอให้พิสูจน์ความเร้นลับอีกมากมายอย่างไม่มีวันสิ้นสุด


          การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล การเศาะละวาตและความศานติจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเรา รวมถึงบรรดาวงศาคณาญาติ และบรรดาอัครสาวกของท่านทั้งหมดด้วยเทอญ

 

 

 

 

 

 

 
 

 

 

 

 

 


 

บรรณานุกรม

ภาคภาษาไทย
- สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ,  ฮ.ศ. 1419.  พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานพร้อมคำแปลภาษาไทย.  มะดีนะฮฺ : ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกุรอาน
- ศ.ดร.มะหฺมูด ฮัมดี ซักซูก,  พ.ศ. 2545.  คำชี้แจงข้อเท็จจริงในศาสนาอิสลาม.  แปลโดย   สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโรและสมาคมนักเรียนไทยไคโร. ไคโร.
- มุนีร มูหะหมัด , พ.ศ. 2551.  เคาะลีฟะฮฺทั้งสี่. (พิมพ์ครั้งที่ 4) กรุงเทพ : สมาคมนักเรียนเก่าศาสนวิทยา.


ภาคภาษาอาหรับ
- อัลกุรอานุลกะรีม.
- ญะลาลุดดีน อับดุรเราะหฺมาน อัส-สุยูฏีย์. 2007.  มุกตะศ็อร อัล-อิตกอน ฟี อุลูมิลกุรอาน.อัช-ชาริเกาะฮฺ : อัล-มุนตะดา อัล-อิสลามีย์.
- ชัมสุดดีน มุหัมมัด อิบนิ อะหฺมัด อิบนิ อุษมาน อัซซะฮะบียฺ. 1998.  สิยัร อะลามิน นุบะลาอ์.  (พิมพ์ครั้งที่ 11)  เบรุต :  มุอัสสะสะ อัร-ริสาละฮฺ.
- อะลีย์ มุหัมมัด อัศ-ศ็อลลาบียฺ. 2007.  อุษมาน บิน อัฟฟาน ชัคศียะตุฮฺ วะอัศรุฮฺ. อัช-ชาริเกาะฮฺ : มักตะบะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ.
- อุษมาน บิน มุหัมมัด อัล-คุมัยยิส. 2008.  หุกบะฮฺ มินัต ตารีค. (พิมพ์ครั้งที่ 2) อัช-ชาริเกาะฮฺ : มักตะบะฮฺ อัศ-เศาะหาบะฮฺ.
- ดร.มุหัมมัด อัล-ฆ็อบบาน. 1999.  ฟิตนะฮฺ มักตัล อุษมาน บิน อัฟฟาน. ริยาฏ : มักตะบะฮฺ อัล-อุบัยกาน.
- อะหฺมัด บิน อะลีย์ บิน หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์. 1999. ฟัตหุลบารีย์ ชัรหฺ เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรีย์.เบรุต : ดาร อัล-กุตุบ อัล-อิลมียะฮฺ.