อันตรายของความเคลือบแคลงสงสัย
  จำนวนคนเข้าชม  14061

อันตรายของความเคลือบแคลงสงสัย


แปลและเรียบเรียงโดย : ซาฮาร์


         สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดของความเคลือบแคลงสงสัย คือ การนำทางผู้ศรัทธาไปสู่การทำบาป  วาซวาซาทางความคิดประกอบกับความเคลือบแคลงสงสัยนี้เอง มีผลกระทบให้เขาผู้นั้นมองผู้อื่นว่าเป็นคนบาป เป็นผู้ประพฤติบาป และยังผลให้ต้องการลงโทษผู้ทำบาปนั้น ความเคลือบแคลงสงสัยสามารถชักนำผู้คนให้สังหารผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะคิดว่าเขาผู้นั้นเป็นคนบาปในทัศนคติ ในวาซวาซาของเขาที่สร้างขึ้นเอง

         เรามิควรประมาทผู้ที่ชอบระแวงสงสัยผู้อื่น เพราะในบางครั้งผู้ที่ชอบระแวงสงสัยผู้อื่นนั้นสามารถเข้าข่ายคนวิกลจริตได้ และสามารถนำความเสียหายมาสู่สังคมได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง สามีเคลือบแคลงในตัวภรรยา และนี่คือบาปใหญ่ เช่น เมื่อมีชายผู้หนึ่งเดินสวนทางพวกเขา และสามีได้พูดราวกับคนเสียสติขึ้นมาว่า "ชายผู้นั้นมองมาที่เธอ" นี่คือพฤติการณ์ของผู้ที่ถูกครอบงำด้วยวาซวาซา หรือแม้แต่ในบางครั้งที่ภรรยาเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวสามี ว่าด้วยสามีอาจมีอายุมากขึ้นและมีความต้องการทางเพศที่ลดลง ทำให้เธอหวาดระแวงในตัวเขาและเมื่อเขากลับมาบ้าน เธอก็ร่ำไห้ต่อว่า ว่าเขาแอบไปมีภรรยาลับ และฟาดหัวฟาดหางว่าเขาไปทำอะไรมาในช่วงเวลาที่หายไป เช่นนี้เป็นต้น


ต่อไปนี้คือตัวอย่างเรื่องราวอันที่เกิดขึ้นจริงในสังคมมุสลิม ที่เกิดจากการถูกครอบงำด้วยวาซวาซา

        มีสามีภรรยาคู่หนึ่งนอนเล่นดูดาวด้วยกัน ณ ระเบียงบ้านยามค่ำคืน เป็นที่รู้กันว่า ดวงดาวทั้งหลายจะเรียงตัวกันผินไปทางกิบลัตต์ สามีเอ่ยถามภรรยาว่า “เธอว่าการร้อยเรียงของดวงดาวเหล่านี้สำคัญอย่างไร” ภรรยากล่าวตอบด้วยสายตาที่ชื่นชมบนดวงดาวนั้นๆ “มีคนบอกว่า มันเป็นเครื่องชี้นำทางไปสู่กิบลัตต์ หากเมื่อเหล่าผู้ฮัจจีหลงทาง ดวงดาวเหล่านี้ก็จะนำทางให้เขาไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง” เมื่อสามีได้ฟังคำตอบนั้น เขาก็โมโห และเริ่มทุบตีภรรยา และด่าทอด้วยเสียงอันดัง “ฉันรู้แล้วว่า ทำไมเธอถึงให้ฉันมานอนที่นี่ เธอคิดจะผลักฉันไปให้ตกลงไปให้พวกฮัจจีฆ่า แล้วเธอจะได้แต่งงานใหม่ใช่ไหม” ถึงแม้ว่านี่อาจเป็นเพียงเรื่องเล่าของสามีภรรยาคู่หนึ่ง แต่หากเรื่องนี้ เผยให้เห็นถึงสามีผู้ตกเป็นเหยื่อของการถูกครอบงำด้วยวาซวาซา และภรรยาก็ตกเป็นเหยื่อของพฤติกรรมของวาซวาซาที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจและมลทิลในใจ

ต่อมา สามีภรรยาคู่นี้ได้มาขอคำปรึกษาจากอิมาม อิมามได้ให้แนะนำภรรยาว่า วาซวาซานั้นแบ่งออกเป็นสองนัยยะ คือวาซวาซาทางความคิดและพฤติกรรม อันนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยในทั้งสองกรณี ฝ่ายชายถูกครอบงำทางความคิดด้วยวาซวาซา ส่วนภรรยาถูกครอบงำด้วยการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ยังผลให้สามีเกิดความระแวงสงสัยในตัวเธอ และอิมามจึงบอกแก่เธอว่าจงทำตามคำแนะนำของเขา ภายในหกเดือนนี้พวกเขาจะดีขึ้น หากกลับกลายเป็นว่า สามีมองอิมามผู้นี้ด้วยความเคลือบแคลงไม่กล่าวตอบรับสิ่งใดและเดินจากไป หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ชายผู้นั้นได้โทรศัพท์มาหาอิมามและกล่าวแก่เขาว่า ฉันรู้นะว่าท่านจะแนะนำให้ภรรยาของฉันไปอยู่กับท่านหกเดือนเพื่อเยียวยาเธอ และท่านก็จะทำให้เธอหย่าขาดจากฉันแล้วมาแต่งงานกับท่านใช่ไหม ชายผู้นี้กล่าวหาอิมามราวกับคนบ้า และมีคนอีกมากมายที่มีชีวิตที่ปั่นป่วนเช่นนี้ ในสังคมครอบครัวทั่วไป

อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเมื่อสามีภรรยาเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวกันและกันขึ้น พวกเขาก็สามารถเห็นคู่ครองเป็นดั่งหัวขโมยได้เช่นกัน มีตัวอย่างอยู่ว่า เมื่อสามีใช้เงินไปและเขาลืมว่าตนเองใช้จ่ายไปกับสิ่งใด หรือแม้แต่หากว่าเงินของเขาหล่นหาย เขาก็จะกล่าวโทษและมุ่งชี้ไปว่าภรรยาของเขานั้นเองที่เป็นคนขโมยเงินของเขาไป เขากล่าวหาเธอว่าเป็นหัวขโมย เป็นหญิงที่นอกใจสามี และไร้ยางอาย ในทำนองเดียวกันกับภรรยาผู้ระแวงสามีด้วยพฤติการณ์เช่นนี้ ก็สามารถพูดได้ว่า เธอได้ตกลงไปสู่การครอบงำจาก วาซวาซาแล้ว

 

สิ่งนี้เป็นบาปใหญ่ซึ่งมีกล่าวไว้ในกุรอานว่า

وَ لَا تَقْفُ مَا لَيْسَ لَكَ بِهِ عِلْمٌ إِنَّ السَّمْعَ وَ الْبَصَرَ وَ الْفُؤَادَ كلُ‏ُّ أُوْلَئكَ كاَنَ عَنْهُ مَسُْولا

“และอย่าติดตามสิ่งที่เจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น แท้จริงหู และตา และหัวใจ ทุกสิ่งเหล่านั้นจะถูกสอบสวน”

(Sura al-’Isra’, 17: 36)

จงอย่าพูดว่า"ฉันเห็น"เมื่อท่านไม่เห็นกับตา

อย่าพูดว่า"ฉันได้ยิน"เมื่อท่านไม่ได้ยินกับหูเอง

 และอย่าพูดว่า"ฉันรู้"ในเมื่อท่านไม่รู้

เพราะอัลลอฮ์  จะทรงถามท่านในเรื่องนั้นทั้งหมด


          หากสามีเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในตัวภรรยาแต่เขาก็มิได้ทำสิ่งใดให้เธอรับรู้ หรือแม้แต่บอกกล่าวกับผู้ใด เมื่อถึงวันแห่งการพิพากษา หัวใจของเขาจะเป็นพยานว่าเขาผู้นี้เคยเคลือบแคลงสงสัยในตัวภรรยา ในศาสนาอิสลามมีข้อห้ามที่เข้มงวดมากกับการเคลือบแคลงสงสัยในตัวผู้อื่น มุสลิมที่ดีไม่ควรที่จะกล่าวโทษผู้ใดด้วยเพียงสิ่งที่เขาสงสัยในคนผู้นั้น

อัลกุรอาน กล่าวว่า

ْ وَ ظَنَنتُمْ ظَنَّ السَّوْءِ وَ كُنتُمْ قَوْمَا بُورًا

"หามิได้พวกเจ้าคิดว่า อัรรอซูลและบรรดามุอมินผู้ศรัทธาจะไม่กลับไปยังครอบครัวของพวกเขาเป็นอันขาด

และนั่นได้ถูกทำให้เป็นที่เพริศแพร้วในจิตใจของพวกเจ้า และพวกเจ้าได้คิดร้ายและพวกเป็นหมู่ชนที่วิบัติ"

( Sura al Fath, 48: 12)

         มีอรรถาธิบายซูเราะฮ์นี้ว่า พวกมุนาฟิกีนคิดกันว่า ท่านรอซูล และบรรดาสาวกจะไม่มีทางกลับไปหาครอบครัวของพวกเขาในนครอัลมะดีนะฮ์เป็นอันขาด โดยคิดว่าพวกมุชริกีนมักกะฮ์จะฆ่าพวกเขาจนหมดสิ้น ในการคิดร้ายของพวกมุนาฟิกีนเช่นนี้ย่อมจะนำความพินาศมาสู่พวกเขา เป็นการสมควรแล้วที่พวกเขาได้รับความกริ้วและการลงโทษจากพระองค์


         ในสังคมที่ความเคลือบแคลงสงสัยถูกทำให้เจริญขึ้นย่อมนำพาความเสียหายมาสู่สังคมนั้นๆ อย่างแน่นอน และมันจะนำพาความเย็นยะเยือก อ้างว้าง และเปล่าเปลี่ยวให้กับชีวิตของพวกเขาทั้งบนโลกและชีวิตหลังความตาย ซึ่งสิ่งนี้เป็นดังเชื้อโรคที่แพร่ระบาดไปในหัวใจของมนุษย์ แม้เมื่อเขาได้ตายไป ความเคลือบแคลงจะเป็นประดุจหนอนรังไหมซึ่งถักทอหุ้มห่อเขาไว้ในรังแห่งความทุกข์นี้มิรู้จบ  เมื่อความเคลือบแคลงเกิดขึ้น จงกล่าวกับหัวใจท่านเถิดว่า

"ผู้ที่กล่าวเท็จแก่ท่านนบี จะถูกสาปแช่ง คือบรรดาผู้ที่พวกเขาอยู่ในการสับสนหลงลืม (เรื่องวันอาคิเราะฮ)"

(Sura Zaariyaat, 51: 10 – 11)

อรรถาธิบายถึงซูเราะห์นี้ว่า คือผู้ที่ถูกหันเหออกจากการฮิดายะฮ์ และถูกห้ามจากความสุข เขาจะถูกหันเหออกจากการอีหม่านต่ออัลกุรอานและมุฮัมมัด

          ดังเช่นหนอนไหม หากผู้ใดยังคงชักพันใยล้อมรอบความคิดของตนไว้ด้วยรังไหมของความเคลือบแคลงและความหลงผิดแล้วไซร้ เขาเองจะเป็นผู้ไร้อากาศหายใจจนวันตายด้วยตัวของเขาเอง ท่านรอซูล  กล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงชี้แจงถึงสิ่ง ฮะรอม ที่อันเกิดขึ้นต่อมุอมิน อยู่สามประการ นั้นคือ

1.    การฆ่าผู้บริสุทธิ์ นั้นคือ ฮะรอม

2.    ช่วงชิงสมบัติของผู้บริสุทธิ์ นั้นคือ ฮะรอม

3.    เคลือบแคลงสงสัยในผู้อื่น นั้นคือ ฮะรอม

         ท่านรอซูลได้ยกระดับความร้ายแรงของการฆ่าผู้บริสุทธิ์ การช่วงชิงสมบัติ และการเคลือบแคลงสงสัยผู้อื่น ไว้ในระดับเดียวกัน อันกำลังบ่งบอกถึงความสำคัญที่ควรระวังรักษาตัวให้พ้นไปจากการตกลงสู่ความเคลือบแคลงสงสัย ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ในอิสลาม และอัลลอฮ์ทรงห้าม

          ถ้ามุสลิมผู้เป็นสามีได้กล่าวหาภรรยาผู้บริสุทธิ์เพียงหนึ่งประโยค จะเป็นเหตุให้เธอไม่มีวันลืมประโยคนี้ ถึงแม้เธอจะพยายามให้อภัยเขาและพยายามจะลืมมันก็ตาม ถ้าหากผู้เป็นภรรยาเป็นมุอมินและถูกกล่าวหาหรือเคลือบแคลงแล้วไซร้ สิ่งนี้มิเพียงจะทำลายความรักที่เธอมีต่อสามี หากแต่เขาเองจะเป็นผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังลงสู่หัวใจเธอด้วยตัวของเขาเอง  หรือทำนองเดียวกันกับสามีของหญิงผู้ถูกความเคลือบแคลงครอบงำ เธอเองก็จะเป็นผู้นำพาความเสียหายมาสู่ตนเช่นเดียวกัน


         ผู้ใดที่กระเสือกกระสนดิ้รนทำงานด้วยความเหนื่อยยาก เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และหากพวกเขาได้รับความเคลือบแคลงเป็นการตอบแทน นั่นก็มิใช่ความหลักแหลมอันใดนอกจากความโง่เขลาของบุคคลในครอบครัวนั้นๆ เอง ดังอัลกุรอานกล่าวไว้ว่า

وَ إِنَّ الشَّيَطِينَ لَيُوحُونَ إِلىَ أَوْلِيَائهِمْ لِيُجَدِلُوكُمْ وَ إِنْ أَطَعْتُمُوهُمْ إِنَّكُمْ لمَُشرِْكُون

"....และแท้จริงบรรดาชัยฏอนนั้นจะกระซิบกระซาบแก่บรรดาสหายของมัน เพื่อพวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้า

และถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังพวกเขา แน่นอนพวกเจ้าก็เป็นผู้ให้มีภาคีขึ้น"

(Sura al An'am, 6: 121)

          เมื่อชัยตอนได้กระซิบกระซาบแก่ในหัวอกของผู้ใด เพื่อกระตุ้นให้เธอตกลงไปสู่การกระทำที่ผิด ภรรยาผู้ชาญฉลาดมิควรที่จะหาเรื่องอันใดที่จะนำพาความเสียหายมาสู่ความรักของสามีโดยที่ให้ความใส่ใจกับเสียงกระซิบกระซาบที่ล่อหลอกนั้น ขออัลลอฮ์  ทรงโปรดคุ้มครองมุสลิมีนและมุสลิมะห์จากการตกลงไปสู่ความเคลือบแคลงในกันและกันด้วยเถิด


          การเคลือบแคลงในคู่ครองของตนที่จะนำไปสู่บาปใหญ่ของมุสลิมนั้น โดยปกติแล้วภรรยาจะไม่คิดเคลือบแคลงว่าสามีจะมีชู้ หากแต่จะกล่าวโทษเพราะกลัวว่าเขาต้องการแต่งงานอีกมากกว่า แต่หากสามีสงสัยว่าภรรยาคบชู้ และกล่าวหาเธอ นักกฎหมายสามารถสั่งลงโทษด้วยการเฆี่ยน ระหว่าง ๒๙ ถึง ๗๙ ครั้งได้ เนื่องเพราะการสงสัยในบุคคลอื่นนั้นเป็นบาปใหญ่ และกุรอานก็ระบุไปถึงว่า มันสามารถเป็นเหตุทำให้ถึงแก่ความตายได้ ด้วยเหตุนี้เองเป็นความจำเป็นที่ไม่ควรให้เกิดความเคลือบแคลงใดๆขึ้นในครอบครัวของมุสลิม คนในครอบครัวไม่ควรสงสัยกันเองและไม่ควรพาดพิงเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกบ้านด้วยเช่นกัน