ความหมายของไสยศาสตร์
  จำนวนคนเข้าชม  9893

ความหมายของไสยศาสตร์


โดย...  อ.ยะฮ์ยา  คอเดร์


         หากพูดถึงเรื่องของไสยศาสตร์หรือมนต์ดำในยุคปัจจุบันอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องเหล่านี้จะหมดหายไปจากสังคมมนุษย์เสียเลยทั้งหมด อวิชชาที่ว่านี้ยังคงหลงเหลือให้มนุษย์ใจบาปนำมาใช้เป็นอาวุธทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ บางครั้งก็สร้างความสับสนให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาวุธร้ายประเภทนี้พอสมควร

         หลายคนไม่เข้าใจวิธีรักษาเยียวยา และไม่เข้าใจเสียด้วยซ้ำว่าการใช้ไสยศาสตร์หรือมนต์ดำ ญินและไชฏอนเหล่านี้มนุษย์ใจบาปนำมาเป็นอาวุธทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และการรักษาที่กระทำกันอยู่ก็ผิดหลักการทางศาสนา เป็นเรื่องต้องห้ามในอิสลาม


ความหมายของไสยศาสตร์

          ไสยศาสตร์หรือมนต์ดำ หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติโดยทั่วไป เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ใจบาปโดยผ่านวิธีการเฉพาะ(การใช้ญินไซฏอนมารร้ายมาเป็นเครื่องมือ)เพื่อให้เกิดปรากฏผลร้ายกับเป้าหมายที่ตนเองปองร้าย

         บรรดานักวิชาการอิสลาม(ญุมฮูรุลอุละมาอฺอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์)ได้ให้ทัศนะว่า ไสยศาสตร์หรือมนต์ดำสามารถทำให้มีผลเกิดขึ้นได้จริงกับเป้าหมายที่ผู้กระทำปองร้ายด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์


คำวินิจฉัยในการใช้ไสยศาสตร์หรือมนดำ

         นักวิชาการอิสลามได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการนำเอาไสยศาสตร์หรือมนต์ดำแขนงนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายและมาถ่ายทอดเรียนรู้ว่า เป็นที่ต้องห้าม(ฮะรอม)เพราะอัลลอฮ์  ทรงสาปแช่งนักไสยศาสตร์ไว้ในอัลกุรอานว่า

“และนักไสยศาสตร์หรือมนต์ดำนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จไม่ว่าเขาจะมาจากทางไหนก็ตาม”

 และอีกอายะฮฺหนึ่งอัลลอฮ์ ตรัสไว้ว่า

“และพวกเขา(ชาวยิว)ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรดาชัยฏอนในสมัยสุลัยมานอ่านให้ฟัง และสุลัยมานหาได้ปฏิเสธการศรัทธาไม่

แต่ทว่าชัยฏอนเหล่านั้นต่างหากที่ปฏิเสธการศรัทธา โดยสอนประชาชนซึ่งวิชาไสยศาสตร์

และสิ่งที่ถูกประทานลงมา(วิชาไสยศาสตร์)แก่มะลาอิกะฮ์ทั้งสอง คือฮารูตและมารูต ณ เมืองบาบิล

 และเขาทั้งสองจะไม่สอนให้แก่ผู้ใดจนกว่าจะกล่าวว่า

แท้จริง เราเพียงเป็นผู้ทดสอบเท่านั้น จงอย่าปฏิเสธการศรัทธาเลย(ด้วยการปฏิบัติตามไสยศาสตร์)

 

ความแตกต่างระหว่าง ไสยศาสตร์ กับ กะรอมะฮฺ (ปาฏิหาริย์)และ มุอฺญิซาต(อภินิหาร)


           ไสยศาสตร์หรือมนต์ดำ หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติโดยทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นจากศาสตร์ของคนใจบาป ที่มีแต่จุดประสงค์เพื่อปองร้ายต่อผู้อื่น โดยผ่านการท่องมนต์คาถาอาคมหรือวิธีการเฉพาะเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองประสงค์ให้เกิดขึ้นกับใครคนใดคนหนึ่ง


           กะรอมะฮฺ (ปาฎิหาริย์) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติโดยทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นจากผู้ที่อัลลอฮ์ทรงรัก(วะลียุลลอฮ) ผู้ที่เคารพภักดีและมีความใกล้ชิดกับอัลลอฮ โดยการเคารพภักดีนั้นไม่มีเจตนารมณ์อื่นใดนอกจากเพื่ออัลลอฮแต่เพียงประการเดียว


           มุอฺญิซาต(อภินิหาร) หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ผิดแผกไปจากธรรมชาติโดยทั่วไปซึ่งเกิดขึ้นกับศาสดาหรือศาสนทูตของอัลลอฮ เพื่อเป็นเครื่องมือในการท้าทายต่อสถานการณ์(ในขณะนั้นเวลานั้น)และเพื่อเป็นสัญญาณยืนยันในความสัจจริงของการเป็นนบีหรือรอซูลท่านนั้นๆ


           วะลียุลลอฮ หมายถึง ผู้ที่อยู่ในภาวะที่มีความยำเกรงและเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์  ตลอดเวลา อีกทั้งยังยึดมั่นต่อซุนนะฮ์ของท่านรอซูล  ปฏิบัติตัวห่างไกลจากสิ่งบิดอะฮ์ (การกระทำที่ไม่มีหลักการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน)และละทิ้ง สิ่งไร้สาระหรืออารมณ์ร้าย (ฮะวาอ์นัฟซู)