การมีจรรยามารยาทดีต่อพระผู้ทรงสร้าง
  จำนวนคนเข้าชม  10523

การมีจรรยามารยาทดีต่อพระผู้ทรงสร้าง


โดย : ฟะฎีละตุชเชค  มุฮัมมัด  บินซอและห์  อัลหุษัยมีน


วิถีทางที่จะทำให้มีมารยาทที่ดี

           คนส่วนมากมีความเข้าใจว่า การมีมารยาทดีนั้นใช้เฉพาะอยู่กับการสังคมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองเท่านั้น  โดยไม่มีการปฏิบัติด้วยจรรยามารยาทที่ดีงามกับพระผู้ทรงสร้าง  ความเข้าใจดังกล่าวนี้  ถือว่าเป็นความเข้าใจที่คับแคบเกินไป  เพราะการมีจรรยามารยาทที่ดีสวยงามนั้นจะต้องมีกับมนุษย์ด้วยกัน  และต้องมีกับพระผู้ทรงสร้างญัลละวะอะลา  จึงสมควรที่จะต้องให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวนี้ให้มาก


ประการหนึ่ง  การมีจรรยามารยาทดีในการปฏิบัติต่อพระผู้ทรงสร้างญัลละวะอาลา

 การมีจรรยามารยาทที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้ทรงสร้างนั้นมีสามเรื่องคือ

 1.  มีความยินรับการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ  ของอัลลอฮฺ  โดยความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง

 2.  มีความยินดีรับเอาข้อชี้ขาดของพระองค์  ด้วยการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ

 3.  มีความยินดีรับกฎสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ  ด้วยความอดทนและพึงพอใจ

ทั้งสามประการนี้เป็นแกนหลักของเรื่อง  การมีจรรยามารยาทดีกับอัลลอฮฺ

 

           1.  มีความยินดีรับเอาการบอกเล่าเรื่องต่างๆ  ของอัลลอฮฺ  โดยความเชื่อมั่นอย่างแท้จริง  ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ  หรือเกิดความไม่แน่ใจในความเชื่อมั่น 

         เพราะการบอกเล่าของพระองค์ มาจากความรอบรู้ของพระองค์  ซึ่งอัลลอฮฺ  เป็นผู้ที่สัตย์จริงที่สุด  ดังที่ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับพระองค์เองใน  ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ  อายะฮ์ที่  87 ความว่า

  “...และใครเล่าที่จะพูดจริงยิ่งกว่าอัลลอฮฺ”

          จึงจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จะต้องมีความเชื่อมั่นในการบอกเล่าของอัลลอฮฺ โดยที่ผู้นั้นจะต้องมีความมั่นใจแน่วแน่กับการบอกเล่าพร้อมปกป้องต่อสู้กับความศรัทธานั้น  กับสิ่งที่สวนทางกันอย่างไม่มีความเคลือบแคลงใดๆ  ในการบอกข่าวคราวของอัลลอฮฺ หรือท่านนบี  และเมื่อบ่าวนั้นมีผู้ไม่ประสงค์ดีมาหลอกลวง จากเรื่องราวของพระองค์อัลลอฮฺ  และเรื่องราวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ไม่ว่าจะเป็นแม้แต่บรรดามุสลิมที่ทำอุตริในทางศาสนาของอัลลอฮฺ  ด้วยกับสิ่งที่ไม่มีที่มาในเรื่องศาสนา หรือได้มาจากทางอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม  ซึ่งมักจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย  หรือความไม่ปลอดโปร่งในหัวใจของมุสลิม

 ตัวอย่างหนึ่ง  :  มีรายงานในหนังสือศอเฮียะหฺ  บุคอรีย์  จากฮะดีษของอบีฮุรอยเราะฮฺ ว่าแท้จริงท่านนบี ได้กล่าวว่า

 “เมื่อแมลงวันตกลงไปในเครื่องดื่มของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านแล้ว เขาจะกดให้มันจมลง ต่อจากนั้นก็เอามันทิ้งไป 

เพราะแท้จริงที่ปีกข้างหนึ่งของมันมีเชื้อโรค และอีกข้างหนึ่งมียารักษา”

           นี่คือ  คำบอกเล่าของท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นความเร้นลับ  โดยที่ท่านมิได้พูดจากความรู้สึกของตัวท่านเอง  หากแต่ว่าท่านพูดตามคำสั่ง (วะฮียฺ) ของอัลลอฮฺ ที่มีมายังท่าน  เพราะท่านนั้นเป็นผู้ไม่มีความรู้ในเรื่องความเร้นลับ  อัลลอฮฺ  ได้ตรัสแก่ท่านในซูเราะฮฺอัลอันอาม  อายะฮ์ที่  50  ความว่า

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า ฉันจะไม่กล่าวแก่ท่านว่าที่ฉันมีบรรดาคลังสมบัติของอัลลอฮ  และทั้งฉันก็ไม่รู้สิ่งเร้นลับ

และฉันก็ไม่กล่าวแก่พวกท่านว่า  ฉันคือมะลัก ฉันไม่ปฏิบัติตามนอกจากสิ่งที่ถูกให้เป็นโองการแก่ฉันเท่านั้น”

          ดังนั้น  การบอกเล่าเรื่องนี้จึงมีความจำเป็นแก่เรา  ที่จะต้องรับรู้เรื่องที่บอกเล่านั้นด้วยจรรยามารยาทที่ดี  การมีจรรยามารยาทที่ดีในเรื่องการบอกเล่าครั้งนี้ คือ  เราต้องยึดถือพร้อมมีความเชื่อมั่นว่า  สิ่งที่ท่านนบี  กล่าวในฮาดีษบทนี้เป็นเรื่องจริงอย่างแน่นอน  แม้ว่าจะมีผู้คัดค้านก็ตาม  และเราต้องยอมรับอย่างมั่นคงในจิตใจเลยว่า  สิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่เป็นรายงานจากท่านรอซูลุลลอฮฺ  นั้น คือ ความเป็นเท็จ เพราะอัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ใน ซูเราะฮฺยูนุส อายะห์ที่  32  ความว่า

“...ฉะนั้นหลังจากความจริงแล้วจะมีอะไรอีกเล่านอกจากความหลงผิดเท่านั้น  แล้วทำไมเล่าพวกท่านจึงถูกให้หันเหออกไปอีก”


อีกตัวอย่างหนึ่ง  ที่มีการบอกถึงเรื่องวันกิยามะฮฺ  ท่านนบี ได้บอกว่า

“แท้จริงดวงอาทิตย์  จะอยู่ใกล้กับมนุษย์ทั้งหลายในวันกิยามะฮฺขาดเพียงไมล์เดียว”

           ดังนั้น ไม่ว่า  คำว่า “ไมล์”  คำนี้ จะเป็นไมล์ที่เกี่ยวกับระยะทางที่ทราบกัน  หรือว่าไมล์ที่สั้นเท่าที่ควักยาออกจากประปุกก็ตาม หมายความว่า  เป็นระยะทางระหว่างดวงอาทิตย์กับศีรษะของมนุษย์ที่เป็นระยะทางที่สั้น  พร้อมกันนั้น  ก็ไม่มีการเผาไหม้จากความร้อนของดวงอาทิตย์  ซึ่งในขณะนี้ถ้าดวงอาทิตย์ขยับใกล้กับโลกอีกสักองคุลีเดียวโลกดุนยาก็จะไหม้เป็นจุณไป

           บางครั้งมีผู้กล่าวว่า  ดวงอาทิตย์จะอยู่ใกล้กับศีรษะของมนุษย์ทั้งหลายในวันกิยามะฮฺ  ด้วยระยะทางอันใกล้อย่างนี้ และผู้คนก็ยังอยู่อีกระยะหนึ่ง  การมีจรรยามารยาทดีเกี่ยวกับฮะดีษบทนี้คืออะไร? การมีจรรยามารยาทที่ดีงามต่อฮะดีษบทนี้  คือ  เราจะต้องรับฮะดีษมีความเชื่อมั่นอย่างแนวแน่ในฮะดีษ และในหัวใจของเราจะต้องไม่มีอุปสรรคใดๆ  ที่จะมาทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นหรือร้อนรุ่มไม่แน่ใจ และจะต้องทราบว่า ที่ท่านนบี  บอกนั้นคือความจริง  เป็นไปได้ที่เราจะเอาสภาพของวันอาคีเราะฮฺ  มาเปรียบเทียบกับสภาพของโลกดุนยานี้เพราะมีข้อแตกต่างกันมาก  ซึ่งเราทราบดีว่า ผู้คนทั้งหลายนั้น  จะยืนอยู่ในวันกิยามะฮฺถึงห้าหมื่นปี  ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบของโลกดุนยานั้นจะเป็นไปได้หรือ  ที่ผู้คนจะหยุดยืนได้ถึงห้าหมื่นปี

           คำตอบ  คือ  เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย  ในข้อแตกต่างอันยิ่งใหญ่นี้เมื่อคำตอบเป็นเช่นนั้นแล้ว  แท้จริง  คนมุอฺมินก็ต้องรับการบอกเล่านี้ด้วยหัวใจที่เบิกบานและสงบอบอุ่น  มีความเข้าใจอย่างปลอดโปร่งและด้วยหัวใจที่เปิดรับเต็มที่

 

 2.  มีความยินยอมรับเอาข้อขี้ขาดของพระองค์  ด้วยการปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอ  ไม่มีการปฏิเสธข้อใดในอุก่มต่างๆ ของอัลลอฮฺ 

          เพราะการปฏิเสธข้อหนึ่งข้อใด จากข้อชี้ขาดของพระองค์นั้น  แสดงถึงการมีจรรยามารยาทที่เลวต่ออัลลอฮฺ แม้ว่าการไม่รับเอาข้อชี้ขาดนั้น  เป็นการปฏิเสธไม่ต้องการข้อชี้ขาด หรือไม่รับด้วยความหยิ่งจองหองที่จะปฏิบัติตามหรือความมักง่ายเพิกเฉยในการที่จะนำไปใช้ปฏิบัติ ทั้งหมดนั้นเป็นการสวนทางกับการมีจรรยามารยาทที่ดี  กับอัลลอฮฺ 

            อีกตัวอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือการปฏิบัติตนของมุสลิมในเดือนรอมฎอน  จากการอดทนลำบากเรื่องการถือศีลอด ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีความลำบากต่อจิตใจ  เพราะมนุษย์ต้องงดเว้นสิ่งที่ตนเคยชินและชื่นชอบ  ทั้งอาหาร  เครื่องดื่ม และการมีเพศสัมพันธุ์ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากสำหรับมนุษย์  หากแต่ว่ามุอฺมินนั้น สำหรับพวกเขาที่มีจรรยามารยาทที่ดีต่ออัลลอฮฺ จะยินดีกับการบังคับใช้ข้อนี้  หรือพูดอย่างถูกต้องคือ  เขารับเอาการให้เกียรติอันสูงส่ง จากอัลลอฮฺ   โดยยินดีน้อมรับด้วยหัวใจที่เบิกบานและสงบเสงี่ยมด้วยความชื่นชม จะเห็นว่าเขาจะทำการถือศีลอดในวันต่างๆ  ในฤดูร้อนที่ยาวนาน ด้วยความพึงพอใจ  ด้วยความปลอดโปร่ง  เพราะเขามีจรรยามารยาทดีกับพระเจ้าของเขา  แต่สำหรับผู้ที่มีมารยาทที่ไม่ดีต่ออัลลอฮฺ  จะมีปฏิกิริยาตอบโต้การทำอิบาดะฮฺดังกล่าว  ด้วยความเอะอะโวยวาย  และฝืนใจทำ ถ้าหากว่าเขาไม่เกรงว่าจะมีเรื่องที่ไม่น่าสรรเสริญเกิดขึ้นตามมาที่หลังแล้ว เขาคงจะไม่ถือศีลอดอีกเลยตลอดกาล

          ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง  คือ การทำละหมาด  ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นภาระที่หนักสำหรับบางคน และเป็นภาระหนักสำหรับบรรดามุนาฟิกีน  ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า

“การละหมาดที่หนักที่สุดต่อพวกมุนาฟิกีน  คือ ละหมาดอิซาอฺและละหมาดฟัจรฺ”

         สำหรับมุอฺมินนั้น  การละหมาดมิใช่เป็นเรื่องหนัก  อัลลอฮฺ ตรัสไว้ใน  ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะห์ที่  45-46 ความว่า

“ และพวกเจ้าจงอาศัยความอดทน  และการละหมาดเถิด  และแท้จริงการละหมาดนั้นเป็นสิ่งยิ่งใหญ่  นอกจากบรรดาผู้ที่นอบน้อมเท่านั้น

คือบรรดาผู้ที่คาดคิดว่าแน่นอนพวกเขาจะพบกับพระเจ้าของพวกเขา  และแน่นอนพวกเขาจะเป็นผู้กลับไปสู่พระองค์”

          ดังนั้น  การละหมาด จึงไม่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ลำบากหนักหนาสำหรับบุคคลดังกล่าวนี้  แต่เป็นเรื่องที่สะดวกง่ายดาย  ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวไว้ว่า  :  

 “ได้ถูกให้เป็นแก้วตาขวัญใจแก่ฉันในการละหมาด”

           ดังนั้น  การมีมารยาทดีกับอัลลอฮฺ  ในเรื่องการละหมาด  ท่านจะต้องปฏิบัติละหมาดโดยที่หัวใจของท่านเบิกบานสงบนิ่ง  ดวงตาของท่านมีความสุข  ท่านมีความยินดีเมื่อคิดถึงการละหมาด  และรอคอยเมื่อเวลาการทำละหมาดมาถึง   

เมื่อท่านได้ละหมาดฟัจรฺแล้ว  ก็คิดถึงละหมาดบ่าย 

เมื่อท่านได้ละหมาดบ่ายแล้ว  ก็คิดถึงละหมาดอัศรฺ 

เมื่อท่านได้ละหมาดอัศรฺแล้ว  ก็คิดถึงละหมาดมัฆริบ 

เมื่อท่านละหมาดมัฆริบแล้ว ก็คิดถึงละหมาดอิซาอฺ 

          เมื่อท่านละหมาดอิซาอฺแล้ว ก็คิดถึงละหมาดฟัจรฺ วนเวียนเป็นเช่นนี้อยู่ตลอดในหัวใจของท่านที่ผูกพันอยู่กับการละหมาด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การปฏิบัติดังกล่าวนี้เป็นมารยาทดีต่ออัลลอฮฺ

          ตัวอย่างที่สามเกี่ยวกับเรื่องของสังคม  คือ  การห้ามกินดอกเบี้ย แท้จริงอัลลอฮฺ  ทรงห้ามมุสลิม เรื่องการกินดอกเบี้ยเป็นการห้ามอย่างชัดแจ้งในคัมภีร์อัลกุรอาน  ดังที่อัลลอฮฺ  ตรัสไว้ ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะที่  275  ความว่า :

 “...และอัลลอฮฺนั้น  ทรงอนุมัติการค้าขายและทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย  ดังนั้นผู้ใดที่การตักเตือนจากพระเจ้าของเขาได้มายังเขา  แล้วเขาก็เลิก

สิ่งที่ล่วงแล้วมาก็เป็นสิทธิของเขา และเรื่องของเขานั้นย่อมกลับไปสู่อัลลอฮฺ

และผู้ใดกลับ (กระทำ)อีกชนเหล่านี้แหละคือชาวนรก  โดยที่พวกเขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล”

           อัลลอฮฺ   ได้ทรงคาดโทษ  คนที่กลับไปสู่การกินดอกเบี้ยหลังจากที่ได้มีคำสอนมาถึงเขา  แล้วทราบข้อชี้ขาดเป็นอย่างดี  พระองค์ได้ขู่คาดโทษเขา  ด้วยการอยู่ในไฟนรกอันยาวนานตลอดกาล  วัลอิยาซุบิลลาฮฺ

          คนมุอฮมินจะรับเอาข้อชี้ขาดนี้ ด้วยหัวใจที่ปลอดโปร่งด้วยความยินดีและยอมจำนน  ส่วนคนที่มิใช้มุอฺมินจะไม่รับเอาข้อชี้ขาด และในหัวใจของเขาก็ไม่รับเอาข้อชี้ขาดนี้เช่นกัน  ดังนั้นในหัวใจของเขาจะรู้สึกคับแค้น  หรือในบางครั้งก็จะมีความลังเล  และได้นำเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงเพื่อหลีกเลี่ยงข้อชี้ขาดนี้มาใช้  เนื่องจากเขาทราบดีว่า  การกินดอกเบี้ยนั้นเป็นการแสวงหาแน่นอน  มิใช่เป็นเพียงการนึกคิดเอาเอง  หากแต่ว่าความจริงแล้วคือ  เป็นการแสวงหาของคนหนึ่งและเป็นการกดขี่คนอื่น  ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้  ในซูเราะฮฺ  อัลบะเกาะฮฺ  อายะฮฺที่  279  ความว่า

“...และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้วสำหรับพวกเจ้าก็คือ  ต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า  โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรม  และไม่ถูกอธรรม”


 
3.  มีความยินดีรับกฎสภาวะของอัลลอฮฺ  ด้วยความอดทนและมีความพึงพอใจ และเป็นเรื่องที่สาม  ของการมีจรรยามารยาทที่ดี  กับอัลลอฮฺ 

         ทุกคนในหมู่ของพวกเราทราบดีว่า  แท้จริงกฎสภาวะของอัลลอฮฺ  ที่ทรงควบคุมมันในหมู่สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างนั้น ซึ่งทั้งหมดอาจไม่เหมาะสมแก่ทุกคนเสมอไป  ดังนั้นทุกเรื่องที่ถูกกำหนดไว้จากอัลลอฮฺ จะเหมาะสมแก่เราหรือไม่?  หมายความว่า  จิตใจของเรานั้น จะยอมรับว่าเหมาะสมแก่เราหรือไม่?  ความเป็นจริงก็คือไม่  เช่นความเจ็บป่วยก็คงไม่เหมาะสมกับมนุษย์  เพราะธรรมชาติของมนุษย์ ชอบที่จะอยู่อย่างสบายไม่เจ็บป่วย  เช่นเดียวกัน  ความทุกข์และความยากจนก็ไม่ใช้เรื่องที่เหมาะสมกับมนุษย์  เพราะมนุษย์ชอบที่จะมีความสุขความร่ำรวย และความโง่เขลาก็ไม่เหมาะกับมนุษย์  เพราะมนุษย์ชอบที่จะเป็นคนใฝ่รู้ หากแต่ว่ากฎสภาวะของอัลลอฮฺ  เป็นไปด้วยความรอบรู้อย่างหลากหลายของพระองค์  มีทั้งที่มนุษย์ถูกใจ  เพราะทำให้เขาสบายใจตรงกับอุปนิสัยใจคอที่เขาชอบ  และอีกบางส่วนก็ไม่เป็นเช่นนั้น

           การมีมารยาทดีกับอัลลอฮฺ  ที่เกี่ยวกับกำหนดต่างๆ ของสภาวะลิขิต  คือ  ท่านจะต้องพึงพอใจตามที่อัลลอฮฺ  ทรงกำหนดให้เกิดกับท่าน  ท่านจะต้องมีความสงบอบอุ่นใจกับสิ่งที่เกิดกับท่าน นอกจากพระองค์ทรงรอบรู้และมีเป้าหมายที่ดี  และต้องสรรเสริญพระองค์และขอบพระคุณพระองค์

 

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้  การมีมารยาทดีต่ออัลลอฮฺ  เกี่ยวกับเรื่องของกำหนดลิขิตของพระองค์นั้น  คือ  จะต้องยอมรับสิ่งที่ถูกกำหนดด้วยความพอใจ  ยอมจำนนและสงบใจ  ดังที่อัลลอฮฺ ได้ทรงชมเชยบรรดาผู้อดทนทั้งหลาย  ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะ  อายะห์ที่  155-156   ความว่า  :

“แล้วเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือ บรรดาผู้ที่เมื่อมีเคราะห์ร้ายมาประสบแก่พวกเขา 

พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ  และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์”

 

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย  :  อับดุลฆอนี   บุณมาเลิศ

ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม