รากฐานของความสงบในจิตใจ
  จำนวนคนเข้าชม  9587

รากฐานของความสงบในจิตใจ


โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์


         ความปลอดโปร่งแห่งหัวใจที่นำมาซึ่งความสุขนั้น เกิดจากสภาวะที่บุคคลไร้ความวิตกกังวล ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าสุขภาพที่อ่อนแอและฐานะที่ยากจนมักทำให้บุคคลที่มีความวิตกกังวลทุกข์ร้อนอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นแม้สุขภาพจะดี และมีฐานะที่ร่ำรวย ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะมีความสุขขึ้นมาทันที ทั้งนี้เพราะจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุประการเดียว แต่ยังต้องอาศัยคุณธรรมความดีต่าง ๆ คอยหล่อเลี้ยงเป็นสำคัญด้วย

         เหตุดังกล่าวนี้เองเราจึงพบเห็นอยู่เสมอว่า หลายครั้งคนที่เพียบพร้มบริบูรณ์ด้วยวัตถุแต่จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย นั้นเป็นเพราะจิตใจของคนเหล่านั้นขาดที่พึ่งและไม่อาจแสวงหาความสงบแก่จิตใจตนเองได้ อันจิตใจของคนเราจะสงบได้ก็ด้วยเชื่อมั่นในผลแห่งความดีที่ตนกระทำ เราเรียกจิตใจแบบนี้ว่า “จิตสงบ” อันเป็นจิตที่องค์อัลเลาะฮฺ  พระผู้ทรงเป็นเจ้าทรงมีพระราชดดำรัสเรียกในวันตัดสินว่าความว่า

" โอ้ชีวิตที่สงบ จงกลับไปสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้าอย่างสุขสำราญเถิด แล้วเจ้าจงเข้าไปอยู่ในกลุ่มบ่าวแห่งข้า และจงสถิตย์ ณ สวรรค์ของข้าเถิด”

(ซูเราะฮฺ อัลฟัจรฺ โองการที่ 27,30)

จิตที่สงบต้องยืนอยู่บนฐานที่สำคัญ 2 ประการคือ

1. ความรู้และความศรัทธา

         ความอวิชชาดุจดั่งกำแพงแห่งความมืด ปิดบังมิให้คนเรารู้แจ้งเห็นจริง ชีวิตที่ว่ายวนอยู่ในวังวนแห่งความมืดมิด ย่อมยากจะหาความสงบเย็นใจได้ ความรู้แจ้งในสัจธรรม จึงดุจดั่งแสงประทีปที่ส่องให้เห็นทาง บุคคลจึงสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ด้วยความศรัทธา และเชื่อมั่นในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีความรู้ใดที่ประเสริญกว่าการรู้จักอัลเลาะฮฺ  และเป็นความรู้ที่นำสู่การศรัทธามั่นในพระองค์ ด้วยความศรัทธาที่แน่วแน่ ช่วยให้บุคคลสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคง ไม่โอนเอนไปตามกระแสและไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค์ที่มาประสบกับชีวิต

         ทั้งนี้เพราะหัวใจเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า การกระทำความดีของตนย่อมได้รับการตอบแทนที่ดีแน่นอน ขณะที่ความชั่วทุกอย่างก็จะได้รับการตอบแทนที่สาสมดุจเดียวกัน

 

2. เจตนารมณ์อันแน่วแน่ และการปฏิบัติที่สม่ำเสมอ

          ศรัทธาที่ไร้การปฏิบัติ ย่อมไม่อาจส่งผลให้จิตใจสงบได้ และการปฏิบัติโดยไม่มีพื้นฐานความศรัทธาที่ถูกต้อง ก็มีแต่จะทำให้วิตกทุกข์ร้อน ความศรัทธาในอิสลามจึงต้องอยู่คู่กับการปฏิบัติเสมอ ดังที่พระองค์อัลเลาะฮฺ ทรงดำรัสไว้ความว่า

“ผู้ที่ทรงไว้ซึ่งความศรัทธาและปฏิบัติในสิ่งที่ดี”

          แม้แต่ความสุขจอมปลอมที่ผู้คนทั้งหลายไขว่คว้าหาใส่ตัว ยังต้องอาศัยการลงมือทำงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่จะไปตักตวงความสุขเหล่านั้น แล้วความสุขที่แท้จริงและเป็นนิรันดรเช่นในสวรรค์ของอัลเลาะฮฺ ไหนเลยบุคคลจะคิดได้มาเพียงแค่การอ้างตนเป็นมุสลิม โดยไม่คิดลงมือปฏิบัติตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญญัติ แน่แท้การเป็นมุสลิมโดยไร้การปฏิบัติที่ถูกต้องย่อมไม่ส่งผลให้เกิดความสุขยั่งยืนได้ มีแต่รอวันประสบความหายนะ และล่มจมจนอับปางเท่านั้น

          ดังนั้นบุคคลพึงหาความสุขอันยั่งยืนบนฐานแห่งความศรัทธามั่นต่ออัลเลาะฮฺ และการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามบัญญัติแห่งพระองค์ พึงหลีกเลี่ยงการแสวงหาความสุขจอมปลอม ฉาบฉวยเถิด เพราะความสุขประเภทนี้รังแต่จะนำความเสื่อมเสียและล่มจมมาสู่ชีวิตทั้งโลกนี้และปรโลก

 

          คำสอนจากอัลกุรอานว่าด้วยความสุข อันที่จริงการมีชีวิตก็คือการมีต้นทุนที่สำคัญที่สามารถแสวงหาความสุข และบริหารจัดการต้นทุนให้เกิดประโยชน์ แต่กระนั้นก็ตามมนุษย์ต่างมีความเข้าใจ และต้องการความสุขที่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่าบางกลุ่มบางสำนักให้คำนิยามความสุขว่า การรวบรวมเงินทอง การแสวงหาเงินทอง บางกลุ่มมองว่า ความสุขคือ การมีความสามารถสนองตอบอารมณ์ได้ทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ฮาล้าลหรือฮะรอมก็ตาม  จริง ๆ แล้วทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำให้มีความสุข แม้บางสิ่งบางอย่างเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ของมันจะให้ความอภิรมย์สุขสมบ้าง ในเวลาเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ความเจ็บปวดรวดร้าว ความทุกข์ทรมานที่ได้รับจากบั้นปลายของมันคือ ความทุกข์อันเป็นความระทมทุกข์มากมายเหลือเกิน

          โดยความเป็นจริงแล้ว ความสุขที่จริงแท้ คือ ชีวิต อันหมายถึงต้นทุนของเรามีความสุข พอใจหัวใจของเรามีความสงบ ซึ่งความสุขที่นิรันดรและอมตะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นนอกจากต้องมีศรัทธาในอัลเลาะ  มีโอกาสได้ปฏิบัติตามที่เชื่อ หัวใจมีความรักในอัลเลาะฮฺ ยินดีในกฎแห่งสภาวการณ์ของอัลเลาะฮฺ ตลอดจนตระหนักดีว่า โลกนี้แท้ที่จริงแล้วคือทางผ่าน มิใช่สถานที่พำนักอันถาวรอื่นใดเลย

          ดังนั้นใครก็ตามที่รู้จักโลกนี้ถูกต้องแล้วเขาก็จะไม่เสียดาย ไม่เสียใจกับการจากไปของมัน หรือกับการที่เราต้องจากมันไป นอกจากนั้นก็ไม่ดีใจที่ได้มันมา เพราะรู้ดีว่ามันกำลังจะจากเราไป มันไม่ได้อยู่กับเรา หรือมาเป็นของเราอย่างถาวร แต่ทว่าความสุขความดีใจที่จริงแท้ที่อยู่กับเราตลอดไปก็คือ ความสุขที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เชื่อฟังและรักในพระองค์ อันเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เกิดความสุขที่จริงแท้ ดังอัลกุรอานกล่าวความว่า

"แท้จริงด้วยสิ่งนั้นพวกเขาจงปลื้มใจเถิดนั่นแหละย่อมดียิ่งกว่าใด ๆ ที่พวกเขาสะสมไว้"

(ซูเราะฮฺ ยูนุส โองการที่ 58)

การมีชีวิตที่ดีคือต้นทุนแห่งความสุข ดังที่อัลกุรอาน กล่าวไว้ความว่า

" ผู้ใดประพฤติความดีทั้งบุรุษหรือสตรีก็ตามโดยเขาเป็นผู้ศรัทธา แน่นอนเราจะฟื้นฟูชีวิตที่ดีแก่เขา

และแน่นอนเราจะตอบแทนรางวัลแก่พวกเขา เพราะความดีงามที่พวกเขาเคยประพฤติไว้"

(ซูเราะฮฺ อัน-นะห์ลิ โองการที่ 97)

 


สำนักจุฬาราชมนตรี